สร้างโอกาสให้เด็กๆ ตามความแตกต่างเหมาะสมตามศักยภาพ

สร้างโอกาสให้เด็กๆ ตามความแตกต่างเหมาะสมตามศักยภาพ

เป้าหมายปลายทางที่คาดหวังคือ ให้น้องๆ อยู่รอดในสังคมด้วยตัวเอง โดยได้รับการช่วยเหลือตามศักยภาพของแต่ละคนที่แตกต่างกันมากกว่า  เพราะจากข้อมูลกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะมีโอกาสเรียนสูงน้อยมาก ส่วนใหญ่เรียนไม่สูงและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เป็นเยาวชนกลุ่มใหม่ที่ทางกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กำลังเข้าไปช่วยเหลือหยิบยื่นโอกาสให้เข้ามารับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งพบว่าในเด็กกลุ่มนี้สอดรับกับการเรียนสายอาชีวศึกษา เพราะถนัดการทำงานในภาคปฏิบัติมากกว่าภาควิชาการ และยังมีโอกาสในการประกอบอาชีพมากกว่าคนปกติอีกด้วย

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผอ.สำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ในปีแรกมีเด็กที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง 2,000 คน ซึ่งเมื่อไปดูรายละเอียดจะพบว่ากลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่มีฐานะยากลำบาก ยังเข้ามารับทุนจำนวนน้อยมาก กสศ. เลยตั้งใจจะเปิดทุนนี้เพิ่ม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับอาชีวศึกษา

อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาที่เปิดในปัจจุบันยังขาดตัวช่วยในเรื่องนี้ กสศ. จึงลองริเริ่มเจาะกลุ่มเป้าหมายด้วยจำนวนที่ไม่เยอะมาก รุ่นแรก 80 คน ​ร่วมกับ 5 วิทยาลัย ได้แก่ ​วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ ​วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่  วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จ.นครปฐม วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก กรุงเทพฯ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ จ.ชลบุรี

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผอ.สำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.

จับมือ 5 วิทยาลัยอาชีวศึกษาพัฒนาโมเดลดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาโมเดลช่วยเหลือน้องๆ ที่มีความต้องการพิเศษ ทั้งกลุ่มพิการทางร่างกาย บกพร่องทางการได้ยิน มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว บกพร่องทางสติปัญญา ว่าหากจะเข้ามาเรียนสายอาชีพจะต้องมีระบบอะไรที่เข้ามารองรับ ครูจะต้องเตรียมตัวอย่างไร มีเทคนิคการสอนอย่างไร

“เด็กกลุ่มนี้เหมาะกับการเรียนสายอาชีพ เหมาะกับภาคปฏิบัติ ไม่เหมาะกับงานวิชาการ อาชีวะศึกษาจึงตอบโจทย์เรื่องนี้  แต่ยังต้องการการสนับสนุนเจาะลงลึก ทำเป็นโมเดล โดยเราอยากเปลี่ยนพลังของเขาให้สามารถอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้มองการเรียนเป็นเชิงสงเคราะห์ ให้เขาได้มีทักษะการทำงานที่แท้จริง”

 

กฎหมายเปิดทางให้ผู้ประกอบการต้องรับเด็กลุ่มนี้เข้าไปทำงาน

ที่สำคัญในแง่ของกฎหมายการจ้างงานกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษเข้าไปทำงานในสัดส่วนที่กำหนด

แต่อาชีวศึกษายังไม่ได้ใช้โอกาสตรงนี้เท่าไหร่ เมื่อมีน้องๆ กลุ่มนี้เข้ามาเรียนอาชีวะศึกษาและมีเงื่อนไขกฎหมายตรงนี้ กสศ. ก็จะเข้าไปช่วยสนับสนุนพัฒนาหลักสูตรให้เด็กได้มีทักษะการทำงานได้จริง

“เราน่าจะได้รูปแบบที่ส่งเสริมน้องๆ ให้เรียนสายอาชีวะมากขึ้น น่าจะฟีดเข้านโยบายได้ เปิดโอกาสให้น้องกลุ่มนี้ โดยดูว่าเราน่าจะต้องมีห้องเรียนแบบไหน งบประมาณเป็นอย่างไร มีการวิจัยค่าใช้จ่ายต่อหัวควรจะเป็นเท่าไหร่ที่เหมาะสมมากที่สุด เท่าที่คุยกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตอนนี้มีเพียงแค่ประมาณ​10 วิทยาลัยที่เปิดสอนน้องกลุ่มนี้ เราเริ่มจาก 5 วิทยาลัยก่อนแล้วน่าจะขยายได้ต่อไป”

 

สอดรับกับแนวคิด Inclusive Education ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ผอ. สำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา มองว่า  ตรงนี้ยังสอดรับกับ Inclusive Education หรือการศึกษาเพื่อเด็กทุกคนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นทิศทางที่สำคัญ อย่างประเทศฟินแลนด์ประเทศเขาคนเกิดน้อย กลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษก็ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญ ประเทศไทยก็เช่นกันที่ตอนนี้เด็กเกิดน้อย น้องๆ กลุ่มนี้จึงมีความสำคัญ ที่จะโตขึ้นไปเป็นพลเมืองต่อไปในอนาคต   

“เป้าหมายปลายทางที่คาดหวังคือให้น้องๆ อยู่รอดในสังคมด้วยตัวเอง  โดยได้รับการช่วยเหลือตามศักยภาพของแต่ละคนที่แตกต่างกันมากกว่า  เพราะจากข้อมูลกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะมีโอกาสเรียนสูงน้อยมาก ส่วนใหญ่เรียนไม่สูงและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้”

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค