การศึกษาคือบันไดทางสังคม ที่เด็กเยาวชนทุกคนควรเข้าถึงอย่างเสมอภาค

การศึกษาคือบันไดทางสังคม ที่เด็กเยาวชนทุกคนควรเข้าถึงอย่างเสมอภาค

จากครั้งหนึ่งเคยคิดล้มเลิกความฝันอยากเป็น ‘พยาบาล’
ถูกปรามาสว่าไม่น่าจะได้เรียนสูงไปกว่าชั้น ม.6
ชีวิตคงเวียนวนอยู่กับงานรับจ้างรายวัน

…เช่นเดียวกับที่ครอบครัวเธอเป็น เหมือนเป็นเรื่องราวที่กำหนดไว้แล้ว และไม่น่าจะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้ ว่าอนาคตของเธอไม่น่าจะหนีพ้นไปจากสิ่งที่ ‘ต้องเป็น’ ไม่มีทางไปได้ดีกว่านี้อีก

แต่เวลาเพียงสามปีกว่า หลังน้อง ‘เกตุ’ นัยนา ปานนอก คว้าโอกาสในการเข้าเป็นนักศึกษา ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มหาวิทยาลัยบูรพา ไว้ได้ เส้นกราฟชีวิตของเธอก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง

เกตุเรียนจบในสองปี เริ่มทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล ก่อนไต่เส้นทางอาชีพไปข้างหน้าไม่หยุด จนวันนี้ ความอดทนพยายามของเธอกำลังผลิดอกออกผล เมื่อน้องเกตุกำลังจะมีบ้านหลังแรกของตัวเอง ซึ่งเธอขอมอบให้กับ ‘แม่’ ผู้ทำงานเลี้ยงดูเธอมาเพียงลำพัง ด้วยงานรับจ้างแลกค่าแรงวันละ 100-200 บาท

เกตุเคยบอกไว้ว่า ‘โอกาสทางการศึกษา’ คือสิ่งที่พาเธอข้ามพ้นทุกขีดจำกัด คือหนทางเดียวที่จะคิดถึงได้ว่าเป็นโอกาสของการได้พัฒนาตนเอง ได้เรียนรู้ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากอาจารย์ จากรุ่นพี่ จากเพื่อน ๆ และการันตีอนาคตว่าถ้าสามารถเรียนจบตามหลักสูตร เธอจะมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ รองรับ สามารถดูแลตัวเอง ดูแลแม่ และมี ‘สิทธิ์’ ที่จะสานต่อความฝันในการ ‘เรียนพยาบาล’ เพื่อประกอบอาชีพตามที่ตั้งใจเอาไว้

“หนึ่งปีที่ได้ทุนเรียนผู้ช่วยพยาบาล อาจไม่ใช่ฝันแรก ๆ ของเรา แต่ก็เป็นที่ที่ทำให้เราได้พักวางความฝัน ได้ตั้งหลักในชีวิตและรอวันที่ตนเองพร้อมที่จะลุกขึ้นมาสู้ต่อ”

เกตุกล่าวไว้บนเวที Youth Talk ที่เธอขึ้นไปบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง และฝากกำลังใจไปถึงน้อง ๆ อีกหลายคนที่มีฝัน และพร้อมต่อสู้พยายามเพื่อทำให้เป็นความจริง

พิสูจน์แล้วว่า ‘การศึกษาคือบันไดทางสังคม’

“มันแตกต่างกันเยอะมากค่ะ กับวันที่เคยช่วยแม่หาเงินค่ากินอยู่ประจำวัน หาค่าใช้จ่ายเดือนชนเดือน ต้องเก็บไว้ให้พอค่าเล่าเรียน ค่าอะไรต่าง ๆ ที่จะทำให้เรายังอยู่บนเส้นทางการเรียนหนังสือได้ต่อไป” น้องเกตุเล่า

“แต่พอเรียนจบ ได้ทำงานเฉพาะทางที่มีวุฒิการศึกษารองรับ แน่นอนว่าอย่างแรกเรามีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตครอบครัวดีขึ้น มั่นคงขึ้น เราสามารถซื้อสิ่งของที่จำเป็น ของที่อยากได้ซึ่งตอนเด็ก ๆ ไม่เคยมี แล้วเมื่อก่อนเราทำได้เพียงตัดใจ หรืออดทนรอ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือความเปลี่ยนแปลงในเรื่องข้อกำหนดของการวางแผนอนาคต ว่าเราจะพาชีวิตไปต่ออย่างไรได้บ้าง ขณะที่เดิมเราได้แต่ติดอยู่กับเพดานความเป็นไปได้ที่จำกัดมาก ๆ”

เมื่อถามถึงผลลัพธ์แห่งความพยายามที่น้องเกตุภูมิใจที่สุดในวันนี้ เธอบอกว่าคือ ‘บ้านหลังแรก’ ของครอบครัว ซึ่งเคยเป็นเพียงฝันอันไกลห่าง แต่วันนี้เธอทำให้เป็นไปได้แล้ว

เหล่านี้คือผลสืบเนื่องมาจากการที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาในวันนั้น

“ดีใจค่ะ ที่คว้าโอกาสไว้ได้ แม้จะมาทางผู้ช่วยพยาบาลก่อน แต่แค่ได้เข้าไปเรียนเท่านั้น เส้นทางอื่น ๆ ก็เปิดกว้างจนเราเดินต่อมาได้ การได้มีเงินเก็บ มีทุนสำรองสำหรับแผนการฉุกเฉินในชีวิต ได้รับรู้ถึงความรู้สึกว่าการมีบ้านไม่ได้เป็นแค่ความฝัน คือเส้นกราฟของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แล้วตอนนี้เราสามารถเรียนต่อสาขาพยาบาล นี่คือการเติมเต็มฝันอย่างที่สุด เพราะพยาบาลเป็นอาชีพที่คิดไว้ตั้งแต่เด็กว่าอยากทำ แต่ก็ด้วยข้อจำกัด ด้วยอุปสรรคมากมาย ทำให้เรายอมเลิกคิดเลิกฝันไป”

‘ทุน’ เป็นพลังหนุนให้เด็กเยาวชนทุกคนเข้าถึงสิทธิ
ในการยกระดับชีวิตอย่างเสมอภาค

อย่างไรก็ตาม น้องเกตุเชื่อว่า ยังมีเด็กเยาวชนอีกมากมายที่ต้องการโอกาสเช่นเดียวกับที่เธอได้รับ ในการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา อันจะช่วยเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิต และยกระดับครอบครัวขึ้นมาได้ ในเจเนอเรชันของพวกเขา

“ครั้งหนึ่งเมื่อจบ ม.6 แม้ได้โอกาสเรียนแล้ว แต่เราเองตอนนั้นก็ยังลังเลอยู่บนทางแยกที่ต้องช่างใจระหว่างรายได้ที่ช่วยประคองครอบครัวของเรา กับการเรียนซึ่งต้องใช้เวลารอคอยผลลัพธ์อย่างน้อย ๆ ก็สองถึงสี่ปี คือเราทำงานช่วยครอบครัวตั้งแต่ ม.2 ถึง ม.6 ทีนี้พอต้องเรียนในระดับสูงขึ้น ก็ต้องใช้ทั้งเวลาและความพยายามมากขึ้น ซึ่ง ณ ขณะนั้นเรายังไม่รู้ว่าปลายทางจะคุ้มค่าแค่ไหน เมื่อยอมตัดใจแลกแล้วจะสำเร็จสมหวังดังใจหรือเปล่า แล้วถ้าระหว่างทางมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับครอบครัว เราจะยังอยู่บนระบบการศึกษาต่อไปได้หรือไม่        

“เพราะในความเป็นจริงชีวิตมันมีค่าใช้จ่ายมากมายที่รายล้อมอยู่ นอกจากเรื่องของค่าเทอม จึงคิดว่ารัฐควรสนับสนุนด้านการศึกษา ด้วยการออกแบบทุนที่รองรับเด็กเยาวชนที่ต้องการโอกาสเหล่านี้ สำหรับเรา ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่ได้รับ ซึ่งมีทั้งค่าเทอม ค่าใช้จ่ายรายเดือน มีทุนสนับสนุนค่าเครื่องแบบ อุปกรณ์การเรียน การฝึกงาน ถือว่าเพียงพอและเป็นต้นแบบที่ดี ส่วนนอกจากนี้คิดว่าควรมีกองทุนฉุกเฉินเพื่อการศึกษา ที่รองรับกรณีจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ด้วย เพราะบางคนเขาอาจต้องเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิด เจอความเปลี่ยนแปลงกะทันหันระหว่างที่เรียนอยู่เราเองมีเพื่อนบางคนที่ต้องเลิกเรียนไปทั้งที่ยังไม่จบเพราะพ่อแม่ป่วย หรือที่ผ่านมาช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็ทำให้หลายคนมีความสุ่มเสี่ยงกับการได้เรียนต่อ”

นอกจากนี้ น้องเกตุยังเสนอว่า ‘รัฐ’ จำเป็นต้องขยายทุนที่มีอยู่ ให้เข้าถึงผู้ต้องการโอกาสทางการศึกษามากขึ้น เนื่องจากยังมีเยาวชนอีกมากมายที่ต้องการแรงสนับสนุนที่จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงในชีวิต

“ทุกวันนี้เหมือนกับว่าเราต่างต้องดิ้นรนแย่งชิงโอกาสกันด้วยตัวเอง หรือต้องไขว่คว้าฝ่าฟันระหว่างกันเพื่อให้ได้เรียนหนังสือ ทั้งที่การศึกษาควรเป็นสิทธิโอกาสที่ใครก็ตามสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคถ้วนหน้า ดังนั้นถ้าพูดจากประสบการณ์ส่วนตัวของเราเอง คิดว่าถ้าประเทศของเราเดินหน้าไปในทางนี้ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา และจะมีเด็กเยาวชนอีกมากที่ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการศึกษาได้ในช่วงชีวิตของเขา”