โลกอนาคต หุ่นยนต์จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โลกอนาคต หุ่นยนต์จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หนุ่มน้อยหัวใจนักประดิษฐ์ ที่ออกเดินทางมุ่งหน้าตามความฝัน จนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อเขาตัดสินใจเลือกเข้าเรียนในสาขา “อิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม” วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) ซึ่งช่วยเปิดทักษะใหม่แห่งโลกอนาคตชุบชีวิตหุ่นยนต์รถให้วิ่งได้ตามใจมนุษย์สั่ง

ความสำเร็จก้าวแรกกับรางวัล​เหรียญทองสายโรบอต นอกจากจะเป็นเครื่องการันตีความสามารถ และยืนยันว่าเส้นทางที่เขาเลือกเดินนั้นมาถูกทางแล้ว ช เป้าหมายต่อไป​คือการมุ่งมั่นเรียนให้สุดถึงปริญญาโท “วิศวกรเมคคาทรอนิกส์” ประดิษฐ์ออโตโรบอตมาเพื่อช่วยเหลือสังคม

พล พลสุข” หนุ่มน้อยหน้าตี๋เด็กชานเมือง จาก “โรงเรียนวัดอุดมรังสี” เขตหนองแขม  กรุงเทพมหานคร เกือบฝันค้างไม่ได้เรียนต่อระดับอาชีวศึกษา เ​แต่ได้รับคำแนะแนวจากครูที่โรงเรียนให้ไปสมัครขอทุนการศึกษาจาก “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รับการคัดเลือกมีโอกาสได้เรียนต่อในระดับ ปวช. และ ปวส. สาขา “อิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม” วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)

จุดเปลี่ยนนี้ทำให้เขากลับมามีพลังใจมุมานะตั้งใจเรียน จนฉายแววเข้าตาอาจารย์ประจำแผนกวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ สายงานตรงเกี่ยวกับงานประดิษฐ์คิดค้น “หุ่นยนต์อัตโนมัติ” จึงส่งชื่อ “พล” นักเรียน ปวช. ปี 2 ลงสู่สังเวียน การแข่งขันทักษะวิชาชีพศึกษาเอกชน ครั้งที่ 34 ระดับ ปวช. จัดโดยสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวเอกชนแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์

แม้ “พล” จะลงสนามแข่งเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่สามารถคว้าชัยชนะ “เหรียญทอง” ด้วยสิ่งประดิษฐ์ “หุ่นยนต์รถเดินตามเส้น” ประเภทสาขาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม หอบรางวัลและความดีใจกลับมามอบให้กับครอบครัว สถาบันการศึกษา และ กสศ.ได้อย่างภาคภูมิใจ

 

โลกอนาคต หุ่นยนต์จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หากย้อนกลับไปก่อน “พล” จะขึ้นสังเวียนประชันความสามารถจนประสบความสำเร็จกลายเป็นนักประดิษฐ์หุ่นยนต์รุ่นจิ๋ว นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสู่รั้ววิทยาลัยจากทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 “พล” หมายมั่นเลือกเรียนสายอาชีพ “อิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม” เพราะถนัดเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นทุนเดิม

ช่วงแรกๆ ไม่คิดว่าจะได้เรียนต่อด้วยซ้ำ เพราะการเรียนต่อสายอาชีวะค่าใช้จ่ายสูงกว่าเรียนสายสามัญ คิดเพียงว่าอยากมีงานทำไปประกอบอาชีพช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือหาเลี้ยงชีพในฐานะพี่คนโตต้องเป็นเสาหลักให้กับครอบครัว

แต่เมื่อมีโอกาสเรียนต่อจึงได้แสวงหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ 3 สาขาวิชาที่ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เปิดทางให้เลือก อาทิ ยานยนต์, เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม จากการศึกษาข้อมูล “พล” พบว่า วิชาชีพแห่งอนาคตในโลกยุคใหม่ โลกที่ทุกอย่างต้องใช้หุ่นยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สาขาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมโดดเด่นที่สุด เนื่องจากเป็นสาขาที่มีส่วนสำคัญในการทำให้หุ่นยนต์มีชีวิต ทำตามคำสั่งของมนุษย์ได้ นั้นคือ การประกอบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีสอนอยู่ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม นอกจากนี้อุปกรณ์ต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น อาทิ โทรศัพท์มือถือ เครื่องเสียง คอมพิวเตอร์  แม้แต่โปรแกรมหุ่นยนต์ จึงขยันตั้งใจเรียนตั้งแต่นั้นเรื่อยมา เพราะมั่นใจว่าวิชานี้เข้าทางชีวิตตัวเองที่สุด

 

ทักษะการต่อแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
จุดชี้ขาดใครแพ้ใครชนะ ​

ความขยันมุมานะสะท้อนออกเป็นผลลัพธ์ให้ “พล” ได้รับเลือกเป็นตัวแทนสถาบันการศึกษาไปประชันทักษะ ทันทีที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าแข่งขัน 2 สัปดาห์แรก “พล” ยอมรับว่า ฝึกหนักมาก ทั้งต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเองตลอดเวลา เข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาทุกวันเพื่อขอคำแนะนำว่าควรไปศึกษาเรื่องใดเพิ่มเติม รวมถึงต้องไปปรึกษาหารือกับรุ่นพี่ที่เก่งและเชี่ยวชาญด้านการต่อแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์  

โดยเฉพาะ “ทักษะการต่อแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์” นับว่าเป็นงานยากและเครียดที่สุดก็ว่าได้ เพราะการเชื่อมบัดกรีแผงวงจรพลาดไปเพียงจุดเดียว อาจลัดวงจรช็อตเสียหายยกแผง การเชื่อมแต่ละจุดหรือตำแหน่ง อาทิ ตัวต้านทาน, ตัวเก็บประจุ, ไดโอด, ทรานซิสเตอร์ ฯลฯ แต่ละตัวตำแหน่งต้องถูกต้องและแม่นยำคลาดเคลื่อนมิได้ เพราะถ้าพลาดต้องรื้อออกมาประกอบใหม่จะทำให้เสียเวลา เพราะนี่คือ จุดเชือดเฉือน ที่สำคัญจะทำให้ใครเป็นฝ่ายแพ้ หรือ ชนะในการแข่งขัน เพราะหากสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นในสนามแข่ง นั้นคือ ลางร้ายแห่งความพ่ายแพ้

“ก่อนการแข่งขันแม้เวลากระชั้นชิดเตรียมตัวแค่ 2 สัปดาห์ แต่ผมมุ่งมั่น มุมานะ อดทน และตั้งใจฝึกซ้อมเต็มที่ เพราะการทำผิดพลาดเพียงจุดเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้หุ่นยนต์ไม่เคลื่อนที่ทำงาน จำเป็นต้องถอดทุกชิ้นส่วนมาประกอบใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงเป็นใครคงหัวเราะไม่ออก”

 

กำลังใจจากครูอาจารย์ ครอบครัว เพื่อน คลายความเครียดและกดดัน

แม้จะมีความเครียดและกดดันสูง แต่นั้นมิได้ทำให้ “พล” ถอดใจกลับฮึกเหิมเพราะครูบาอาจาร์ทั้งแผนก เพื่อนร่วมชั้น รวมถึงพ่อแม่และน้องต่างให้กำลังใจกันอย่างเต็มเปี่ยมทุกคนล้วนตั้งความหวังไว้สูงว่า “พล” ต้องคว้าชัยชนะกลับมาบ้าน จึงทำให้ทุกนาทีในสนามแข่ง 6 ชั่วโมงเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและกดดัน

จากโจทย์ “หุ่นยนต์รถเดินตามเส้น” ​ที่ทางคณะกรรมการได้ขีดเส้นทางเป็นสีดำกับสีขาวให้หุ่นยนต์รถได้แล่นตามเส้นที่ทาสีไว้ โดยต้องไม่แฉลบ หรือ ออกนอกลู่เส้นทางที่ลากไว้จนไปสู่ที่หมาย ดังนั้นการประกอบเซนเซอร์ การต่อแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การเก็บงานสายไฟ บัดกรี หรือ งานตกแต่งรูปลักษณ์ต้องสวยงามปราณีตด้วยถึงจะได้แต้มคะแนนเต็ม โดยคณะกรรมให้เวลา 1 วันเต็มกับภารกิจพิชิตเหรียญทองออโตโรบอตในวันนั้น

ในที่สุดหุ่นยนต์จากทักษะ ฝีมือและไอเดียอันสุดปังของ “พล” ​​จากการต่อแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ​ได้กลายเป็นกุญแจดอกสำคัญนำไปสู่ชัยชนะในเกมนี้

 

ฉายแวว “วิศวกรโรบอต”
เดินหน้าสู่ปริญญาโทสร้างความภูมิใจให้ครอบครัว

จากเด็กหนุ่มที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง และ ฐานะทางบ้านค่อนข้างลำบาก คิดว่าชีวิตนี้คงลงเอยเป็นได้แค่เด็กซ่อมโทรศัพท์มือถือตามห้างสรรพสินค้า กลับฉายแวว “วิศวกรโรบอต” คือ เป้าหมายและความตั้งใจสูงสุดที่ “พล” จะก้าวไปให้ได้ด้วยความมุ่งมั่น มุมานะ และอดทนศึกษาหาความรู้และประสบการณ์เรียนต่อไปให้ถึงระดับปริญญาโท

“พ่อแม่สอนผมเสมอว่าเราต้องเรียนให้สูงๆ จะได้มีงานทำดีๆ จะได้มีรายได้มาเลี้ยงน้อง ครอบครัวจะได้ไม่ต้องลำบาก เพราะยิ่งเราเรียนต่ำเท่าไรการหางานที่ดีและมีรายได้สูงย่อมหายาก แต่ยิ่งเรียนสูงมากเท่าไรจะหางานง่าย ผมจึงตั้งใจจะเรียนไปให้สุดจบปริญญาโท เพื่อทำให้ครอบครัวได้ภูมิใจในตัวลูกชายคนนี้”

 

วางแผนนำความรู้มาสร้างหุ่นยนต์แบ่งเบาภาระ
ลดความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19

นับแต่คว้าแชมป์ประดิษฐ์หุ่นยนต์กลับมาได้ ในหัว “พล” เกิดไอเดียมากมาย เช่น คิดอยากทำธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับสาขาอิเล็กทรอนิกส์ เช่น รับจ้างทำแผงวงจรเครื่องเสียง ซึ่งกำลังหาแนวร่วมกับกลุ่มเพื่อนมาร่วมกันกรุทางทำธุรกิจเล็กๆ หารายได้ระหว่างเรียน พร้อมกับอยากตั้งหน้าตั้งตาเรียนให้ได้เกรดเฉลี่ยดีๆ ไปเลย

วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์” คือ หมุดหมายปลายทางที่ “พล” เลือกเดินในก้าวถัดไปหลังเรียนจบ เนื่องจากเป็นสาขาสหวิทยาการที่ประยุกต์องค์ความรู้ของวิศวกรรมศาสตร์ อาทิ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมการควบคุมอัตโนมัติ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อออกแบบ “หุ่นยนต์” ที่ “พล” ตั้งใจว่าควรนำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาตอบแทนสังคมด้วย เช่น หุ่นยนต์ที่เป็นผู้ช่วยแพทย์เข้ามาแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ  COVID–19 เป็นต้น หรือ บางครั้งก็อยากนำความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยมาช่วยเหลือสังคมด้วย ซึ่งในขณะนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะทำสิ่งใดได้บ้าง เพราะยังขาดประสบการณ์ แต่ด้วยแรงบันดาลใจที่เต็มเปี่ยมหากมีผู้ใหญ่ใจดีเห็นแววเข้ามาชักชวนชี้แนะ “พล” ตอบรับทันทีอย่างมั่นใจว่า ผมพร้อมครับ!

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค