หัวใจ ‘จิตอาสา’ ที่งอกงามจากการได้รับโอกาส

หัวใจ ‘จิตอาสา’ ที่งอกงามจากการได้รับโอกาส

เพราะเคยเกือบต้องตัดใจจากอนาคตที่วาดไว้ จนได้รับโอกาสที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิต เธอจึงตั้งปณิธานว่าทุกครั้งที่สามารถเป็น ‘ผู้ให้’ หรือเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของใครสักคนหนึ่งได้ เธอจะพร้อมตอบรับโอกาสนั้น และทำให้ดีที่สุด

‘น้องตี’ นโรฮายาตี วาเด็ง นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่น 1 หลักสูตรอนุปริญญา สาขาเทคโนโลยีการเกษตร ปี 2 จากวิทยาลัยชุมชนยะลา บอกว่า การทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม คือสิ่งที่เธอหลงใหลควบคู่ไปกับการเรียน ซึ่งยืนยันได้จากการเป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการ Uncommon Youth ที่รับปรึกษาปัญหาด้านสภาพจิตใจ ให้กับเพื่อนๆ น้องๆ วัยมัธยม โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ที่น้องตีทำมาตั้งแต่เข้าเรียน วชช.ปี 1 นอกจากนี้ยังสละเวลาไปอ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตาได้ฟัง รวมถึงในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา เธอยังใช้เวลาช่วงกักตัวทำงานอาสาสมัครออนไลน์ ช่วยประสานงานเพื่อหาเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

งานช่วยเหลือคนทำให้เรามีความสุข โดยเฉพาะการทำให้ใครสักคนสามารถเข้าใจปัญหาของตัวเอง และมองเห็นทางออกในการแก้ไขปัญหามากขึ้น เพราะเราเป็นคนหนึ่งที่เคยผ่านช่วงเวลานั้นมาก่อน จนเข้าใจว่าการที่มีคนหยิบยื่นโอกาส หรือความช่วยเหลือมาให้เป็นเรื่องที่ดีเพียงใด” น้องตีเผยความรู้สึกที่ได้รับจากการทำงานจิตอาสา

 

เพราะเคยผิดหวังมาก่อน …และได้รับโอกาสอีกครั้ง

น้องตีเล่าว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้หันมามุ่งมั่นในงานจิตอาสาเพื่อสังคม มาจากเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนช่วงก่อนเข้าเรียนชั้นอนุปริญญา ซึ่งเธอบอกว่า “เป็นช่วงที่สับสนมากที่สุดของชีวิต”

“เชื่อว่าตอนกำลังจะจบชั้น ม.6 ทุกคนต้องมีความฝันที่จะได้เรียนต่อในสาขาที่ตั้งใจ เราเองก็เป็นคนหนึ่ง ซึ่งตัวเราในตอนนั้นอยากเรียนพยาบาลมาก จึงไปสอบคัดเลือกจนติดถึงสองที่ เราดีใจว่าสอบได้ในสาขาที่ต้องการ เหมือนอนาคตด้านการเรียนกำลังเป็นไปด้วยดี”

“แต่พอเรากลับบ้านมาบอกครอบครัว กลายเป็นว่าทางบ้านอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถส่งเราเรียนต่อไหวแล้ว ตอนนั้นรู้สึกเคว้งคว้างมาก สับสนว่าจะเอายังไงต่อดี เราก็คิดกับตัวเองพักใหญ่ แล้วก็ตัดสินใจว่าจะหยุดเรียนแล้วหางานทำ คิดว่าเราพอมีพื้นฐานภาษาอังกฤษกับภาษาจีนจากตอนเรียน ม.ปลายที่พอใช้สื่อสารได้ น่าจะพอทำให้มีงานทำ”

น้องตีบอกว่าแม้ระหว่างนั้นจะรู้สึกท้อ แต่ก็ยังไม่ยอมถอย เธอพยายามมองหาทุนต่างๆ ทำทุกทางที่คิดว่าจะได้เรียนต่อ จนวันหนึ่งก็มีครูเข้ามาแนะแนวเกี่ยวกับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. น้องตีจึงรีบสมัครทันที

“ตอนนั้นถ้าไม่ได้มาเจอทุนนี้ ตอนนี้เราคงไปทำงาน ไม่ได้เรียนต่อแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นมันเหมือนว่าเรากำลังเคว้งคว้างที่สุด แล้วมีมือที่ยื่นมาช่วยเหลือ มอบโอกาสให้เราอีกครั้ง ซึ่งมันสำคัญมากๆ ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น” น้องตีกล่าว

 

“การมีใครสักคนรับฟัง จะช่วยให้เราหาทางออกที่ดีที่สุดได้”

จุดเปลี่ยนครั้งนั้นได้ทำให้ทัศนคติด้านจิตอาสาภายในตัวเธอค่อยๆ เติบโตขึ้น เพราะเห็นแล้วว่าผลของการให้ได้นำมาซึ่งความสุขของผู้ได้รับได้มากมายขนาดไหน น้องตีจึงพาตัวเองเข้าไปหางานจิตอาสาทุกรูปแบบเท่าที่ทำได้ เพื่อตอบแทนสิ่งที่ได้รับ ด้วยการ ‘ให้’

“ทุกครั้งที่มีเวลาจะไปอ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตาฟังเป็นประจำอยู่แล้ว แต่งานที่ทำบ่อยที่สุด คือรับปรึกษาปัญหาเรื่องการเรียนและเรื่องต่างๆ ในโครงการ Uncommon Youth งานนี้ทำให้เราได้คุยกับคนรุ่นๆ เดียวกันและรุ่นน้องที่เขามีปัญหาจากการเรียน ให้เขาได้มาเล่า มาระบาย ซึ่งเราก็จะช่วยรับฟังและมองหาทางออกไปด้วยกัน”

“เรื่องที่เจอเยอะที่สุด คือปัญหาเรื่องเรียน มีทั้งคนที่ครอบครัวไม่เข้าใจ ไม่ได้เรียนต่อในสาขาที่อยากเรียนจริงๆ หรือบางคนมีปัญหาเรื่องที่จะไม่ได้เรียนต่อ หลายครั้งเราก็สามารถเอาประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาร่วมแบ่งปันกับเขาได้ สำคัญที่สุด คือเราจะช่วยรับฟังจนกว่าเขาจะค้นหาความต้องการของตัวเองพบ หรือแนะนำให้เขาพยายามสื่อสารพูดคุยกับครอบครัวให้มากๆ บอกความต้องการของตัวเองออกไป เราคิดว่าการที่มีใครสักคนช่วยรับฟัง จะช่วยให้เขามองเห็นทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาได้ และที่ขาดไม่ได้เลยคือให้กำลังใจ ซึ่งผลที่ออกมา ส่วนใหญ่เขาก็จะผ่านเรื่องราวต่างๆ ไปได้ดีขึ้น เราก็ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเขาได้”

นอกจากนั้น ช่วงกักตัวจาก COVID-19 ที่ผ่านมา น้องตียังใช้เวลาที่ต้องอยู่บ้านกับการเรียนคลาสออนไลน์ และแบ่งเวลาไปช่วยทำงานประสานงานออนไลน์กับ The Volunteer เพื่อช่วยหาเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน รวมถึงยังเข้าร่วมกลุ่มลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้ผู้ได้รับผลกระทบอีกด้วย

 

ตอบแทนการเป็น ‘ผู้รับ’ ด้วยการ ‘ให้’

อีกกิจกรรมหนึ่งที่น้องตีแบ่งเวลาไปทำ คือการนำความรู้ที่เรียนมาเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ โดยเข้าไปสอนทำปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์ จนชาวบ้านสามารถทำกันเองได้

“การได้เรียนเกี่ยวกับพืชหรือสัตว์ เป็นสิ่งใกล้ตัวที่เราซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ในพื้นที่ของเราอาชีพของคนส่วนใหญ่คือ เกษตรกรรม ยิ่งเรียนเราก็ยิ่งเห็นความสำคัญของวิชาชีพนี้ ตั้งใจว่าหลังเรียนจบจะเอาความรู้ออกไปทำประโยชน์ให้มากที่สุด”

น้องตีอธิบายว่างานจิตอาสาถือเป็นส่วนนหึ่งของชีวิตไปแล้ว เมื่อรู้ว่ามีงานเพื่อสังคมที่ไหน เธอจะพร้อมยื่นมือเข้าไป ด้วยคิดตลอดเวลาว่าครั้งที่ตนเองขาดโอกาส ไม่มีทางไป เธอเคยได้รับ นั่นทำให้อยากตอบแทน อยากเห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น

ทุกครั้งที่ทำงานอาสา เราจะรู้สึกว่าได้รับบางสิ่งคืนกลับมาด้วย บางครั้งเพียงรอยยิ้มเราก็รู้สึกว่างานสำเร็จแล้ว มีบ้างที่งานหนัก รู้สึกเหนื่อย แต่พอได้เห็นคนเขาดีขึ้น สุขขึ้น เราก็สุขตามไปด้วย ก็ตั้งใจว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ”

เรามองว่าความสำคัญของการได้รับทุน คือทำให้เรารู้จักทั้งการเป็นผู้รับและผู้ให้ที่ดีในเวลาเดียวกัน สิ่งนี้ได้เติมเต็มเรื่องการทำงานจิตอาสาในใจเรา ทำให้เราอยากทำเพื่อคนอื่นให้มากขึ้นๆ อยากตอบแทนสังคมให้ได้มากที่สุด น้องตีกล่าวปิดท้าย

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค