“พวกเขาล้วนมีความเป็นอัจฉริยะ” คำยืนยันจากครูสารพัดช่าง ถึง ‘เด็กสายพิเศษ’ ผู้มากความสามารถพร้อมทำงานจริง

“พวกเขาล้วนมีความเป็นอัจฉริยะ” คำยืนยันจากครูสารพัดช่าง ถึง ‘เด็กสายพิเศษ’ ผู้มากความสามารถพร้อมทำงานจริง

ด้วยข้อจำกัดบางด้าน อาจทำให้เด็กๆ บางกลุ่มขาดโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะเพื่อประกอบอาชีพ แต่หากเปิดใจและเปิดโอกาส ความสำเร็จทางการศึกษาเพื่อเปิดทางสู่ความก้าวหน้าทางอาชีพย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ต่างจากเด็กๆ กลุ่มอื่น

ฟังความประทับใจที่ไม่เล็กจาก ‘ครูเล็ก’ ที่มีถึงเหล่าลูกศิษย์โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่กำลังจะจบการศึกษาออกไปในปีนี้เป็นรุ่นแรก 

“เด็กเหล่านี้เหมือนมีความอัจฉริยะอยู่ในตัวแทบทุกคน อย่างเรื่องคอมพิวเตอร์ เขามีความสามารถเหนือกว่าคนอื่นเลย คนที่มาเรียนในวิทยาลัยสารพัดช่างจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นหลักสูตรระยะสั้น พอได้เรียนด้วยกัน เขาจะมองว่าโอ้โหเด็กกลุ่มนี้เก่งมาก มันเป็นภาพที่น่าตื่นเต้นและท้าทาย เมื่อเราได้เห็นเด็กกลุ่มนี้ทำงานอย่างจริงจัง มอบหมายงานอะไรไปทำได้หมดและทำได้ดี ไม่ว่างานเอกสารหรืองานอื่นๆ คนที่เห็นจากเดิมไม่คิดฝันว่าเด็กเหล่านี้จะทำได้ แต่พวกเขาทำได้จริงๆ”

“ทุนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเงินเท่านั้น แต่ได้ช่วยเรื่องการเสริมทักษะ เสริมความมั่นใจ เสริมคุณภาพต่างๆ ให้กับทางวิทยาลัยด้วย ช่วยสนับสนุนการพัฒนาคุณครูและพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับที่ตลาดแรงงานต้องการ สำคัญที่สุดคือสร้างโอกาสให้เด็กมีงานทำ เราเองก็ได้เครือข่าย ได้เพื่อนที่ทำในเรื่องที่เกี่ยวข้อง”

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ต้องบอกว่าระหว่างทางนั้นไม่ง่ายเลย

(ขวา) ครูสุรีรัตน์ ทักษะวสุ หรือ ‘ครูเล็ก’
แห่งวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่

คนที่ไม่เคยคลุกคลีกับผู้มีความต้องการพิเศษ จะจินตนาการไม่ออกเลยว่าเด็กๆ กลุ่มนี้มีความพิเศษอย่างไรบ้าง

ครูสุรีรัตน์ ทักษะวสุ หรือ ‘ครูเล็ก’ แห่งวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ กล่าวถึงลูกศิษย์ของเขาด้วยใบหน้าแห่งความภูมิใจ จากประสบการณ์เป็นครูที่สอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษมาร่วม 15 ปี ในวิชาคอมพิวเตอร์ Application รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ครูเล็กบอกว่า ความจริงแล้ว เด็กกลุ่มนี้ หากได้รับโอกาสให้เข้ารับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป เขามีความสามารถที่จะทำอะไรต่างๆ ได้ไม่แพ้คนปกติทั่วไปเลย แถมบางเรื่องยังมีอะไรๆ พิเศษกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ

“ครูเล็กเรียนจบสายเทคโนโลยีการศึกษา ไม่ได้เรียนมาทางด้านการสอนเด็กพิเศษ แต่เราสอนเด็กเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2550 ตอนนั้นยังไม่มีทุนอะไรให้กับเด็กกลุ่มนี้ แต่มีกฎหมายรองรับว่าหากเด็กกลุ่มนี้เขาต้องการเรียน เขาก็ต้องได้เรียน มีสิทธิ์ทางการศึกษาเทียบเท่ากับคนปกติทั่วไป รัฐต้องจัดการศึกษาให้พวกเขา สถานประกอบการเองก็มีกฎหมายว่าต้องมีพื้นที่มีตำแหน่งให้กับคนกลุ่มนี้ได้เข้าทำงาน ช่วงที่เริ่มสอนเมื่อตอนปี 2550 มีเด็กกลุ่มนี้เข้ามาเรียนประมาณ 10 คน มีความพิการด้านต่างๆ ครบทุกอาการ พิการซ้อนก็มี ตอนนั้นก็เรียนรวมกันหมด”

ครูเล็ก เล่าย้อนกลับไปถึงตอนที่ได้มาสัมผัสกับเด็กกลุ่มนี้ใหม่ๆ ว่า ด้วยการที่ไม่เคยสอนเด็กกลุ่มนี้มาก่อน รอบข้างเรา ในครอบครัว ญาติพี่น้อง ก็ไม่เคยมีคนที่พิเศษแบบนี้ จึงไม่รู้ว่าน้องมีอารมณ์ ร่างกาย สุขภาพเป็นอย่างไร เราก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเขา เราต้องปรับตัวครู ปรับตัวเด็ก ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน

แต่พอได้สอนน้องๆ แนวคิดก็เริ่มเปลี่ยนไปทันทีว่าอยากให้โอกาส เพราะเขาไม่สามารถเข้าไปเรียนในระบบทั่วไปที่เข้าถึงง่ายกว่านี้ได้ วิทยาลัยสารพัดช่างจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเขาได้ แค่ 10 คน 5 คน หรือ 3 คน แต่การทำให้เขาได้มีอาชีพ เราก็ภูมิใจแล้ว ไม่ใช่เป็นความภูมิใจของครูผู้สอนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความภูมิใจของทั้งวิทยาลัย ภูมิใจกันทั้งองค์กร เอาใจช่วยกันมากทีเดียว

เคล็ดลับการสอน ต้องเปิดใจและใช้ความเมตตา

ครูเล็กแนะนำว่าการเป็นครูให้กับน้องๆ กลุ่มนี้จะต้องเปิดใจและใช้ความเมตตา อย่ามองว่าพวกเขาไม่เหมือนคนอื่น อย่ามองว่าพวกเขาไม่ปกติ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เด็กๆ เหล่านี้สามารถพัฒนาได้ในธรรมชาติแบบเขา และบางสิ่งเขาอาจทำได้ดีกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ

“ถามว่ายากไหมหากจะทำให้เด็กกลุ่มนี้เกิดความรู้ความเข้าใจในวิชาที่เรียน จะว่ายากก็ไม่ยากเสียทีเดียว แต่จะว่าง่ายก็ไม่ง่ายนัก มันต้องใช้ใจ ใช้ความเมตตา ใช้ความเข้าใจ เพราะถ้าทำได้ต่อไปมีอะไรเขาก็จะกล้าบอกเรา ถามเรา กล้าที่จะเข้าถึงเราเหมือนกับเราเป็นญาติเป็นพี่น้อง เป็นแม่ เป็นพี่ เป็นเพื่อน เราต้องมีใจให้เขาก่อน พอเราเปิดใจ เด็กก็จะเปิดใจกับเราด้วย เหมือนกับเป็นครอบครัวแห่งการเรียนรู้ ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นโดยไม่ยากเลย ถึงแม้จะมีปัญหาก็จะสิ้นไปถ้าเราคุยกัน เข้าใจกัน ช่วยเหลือกัน”

ครูเล็ก ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ต้องทำพร้อมกันเพื่อช่วยปูทางให้เขาต่อไปคือ การเปลี่ยนความเข้าใจของสังคม ดังนั้น เวลาที่เจอคนปกติทั่วไปก็จะสร้างมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่อเด็กกลุ่มนี้ ไปไหนก็มักจะพูดให้เห็นถึงศักยภาพ เพราะการมองภายนอกแค่ทางกายภาพว่าเป็นเด็กพิการแล้วจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ เรียนไม่ได้นั้นไม่ใช่เลย เรายืนยันได้ด้วยประสบการณ์ของเรา อยากให้เขามีมุมมองใหม่ว่า เด็กเหล่านี้ไม่มีอะไรที่แตกต่างแถมบางอย่างยังมีความพิเศษกว่าเราอีก โดยเฉพาะความพยายามที่มากกว่าคนทั่วไปซึ่งจะเป็นสิ่งขัดเกลาให้เขามีทักษะเชี่ยวชาญในสิ่งที่เขาทำ

“สมมุติว่าเราพยายามแค่ 2 ครั้ง แต่พวกเขาใช้ความพยายาม 5 ครั้งบ้าง 10 ครั้งบ้าง ในการทำอะไรสักอย่างหนึ่ง พอสำเร็จแล้ว เขาจะรู้จริง มีเทคนิคจริงในเรื่องเหล่านั้นไปเลย เวลาที่พูดกับผู้เรียนที่เป็นประชาชนทั่วไป ก็จะบอกให้ดูเด็กกลุ่มนี้เป็นตัวอย่าง เพราะตอนเริ่มเขาอาจจะช้ากว่า ผิดพลาดมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าหลังจากนี้เขาจะเร็วและชำนาญกว่าคุณไม่ได้”

คือโลกที่ทุกคนเรียนรู้ไปพร้อมกัน

ตอนนี้ครูเล็กสามารถสื่อสารด้วยภาษามือกับเด็กพิการทางหูได้ เท่ากับตัวครูเองก็ได้มีความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้นมา 1 อย่าง คือการสื่อสารด้วยภาษามือที่เรียนรู้มาจากลูกศิษย์กลุ่มนี้ ครูเองสามารถไปเรียนรู้กับเด็ก เด็กก็สามารถสอนครูได้เช่นกัน

ครูเล็ก บอกว่า อยากบอกพ่อแม่ที่มีลูกมีความต้องการพิเศษว่า พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญ อย่าคิดว่าเรามีลูกเป็นแบบนี้แล้วจะเป็นส่วนที่จะเหมือนเป็นปมด้อย อยากให้พ่อแม่ภูมิใจว่า เราเลี้ยงดูเขา และสามารถพัฒนาให้เขาไปถึงระดับมีอาชีพ มีงานทำได้ เดี๋ยวนี้ทุกวิทยาลัยมีเครือข่ายให้ความช่วยเหลือ สามารถให้คำปรึกษาได้ จึงไม่อยากให้ท้อ ยิ่งตอนนี้มีโอกาสเปิดกว้างเพิ่มขึ้นมากมาย

“เด็กๆ มีพลังในตัวของเขาเอง ถ้าเราช่วยดึงพลังนั้นออกมาได้ เขาจะได้ใช้ศักยภาพของเขาเอง แล้วคนก็จะเปลี่ยนมุมมอง ไม่ได้มองด้วยความสงสารเหมือนแต่ก่อน แต่มองเพราะเห็นความสามารถ ไม่ได้มองว่าเด็กคนนี้พิการ เดี๋ยวต้องไปขายล็อตเตอรี่นะ ไม่ใช่เลย เด็กเหล่านี้กลายเป็นอะไร เป็นนักโปรแกรมเมอร์ เป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ หรือบางคนก็มีอาชีพเป็นครูแบบที่ครูเล็กเป็น”

ครูเล็ก เล่าว่า การมาอยู่ตรงนี้กลายเป็นครูเองที่มีโอกาสได้พัฒนาตัวเอง ไม่หยุดการเรียนรู้อยู่กับที่ อย่างครูเล็กด้วยความที่ไม่ได้จบมาทางนี้โดยตรง เมื่อมาสอนเด็กก็จำเป็นต้องเพิ่มทักษะให้ตัวเอง ตอนนี้มีอาจารย์จากทางมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยให้คำแนะนำทำให้ได้ความรู้เพิ่มในหลายด้านที่นำไปปรับใช้ได้กับทั้งคนทั่วไปและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

“แต่ก่อนหน้านี้คนที่สอนเราก็คือเด็กๆ เพราะครูเล็กสอนเด็กเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2550 ต่อมา ก็มีศูนย์ชื่อ DSS หรือศูนย์บริการนักเรียนนักศึกษาพิการ เด็กจากศูนย์นี้ก็จะมาหาเรา มาช่วยสอนเรา พื้นฐานภาษามือจึงได้มาจากจุดเริ่มต้นแบบนี้”

พวกเขาทุกคน ล้วนมีความอัจฉริยะ

ยิ่งมีโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ จาก กสศ. ซึ่งลูกศิษย์ของครูเล็กได้รับทุนนี้เป็นรุ่นแรกและกำลังจะจบการศึกษา ครูเล็ก บอกว่า ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการศึกษาให้เด็กๆ ได้อีกมาก

“ทุนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเงินเท่านั้น แต่ได้ช่วยเรื่องการเสริมทักษะ เสริมความมั่นใจ เสริมคุณภาพต่างๆ ให้กับทางวิทยาลัยด้วย ช่วยสนับสนุนการพัฒนาคุณครูและพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับที่ตลาดแรงงานต้องการ สำคัญที่สุดคือสร้างโอกาสให้เด็กมีงานทำ เราเองก็ได้เครือข่าย ได้เพื่อนที่ทำในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

“บทบาทของ กสศ. สามารถช่วยเด็กได้มากเลย โดยที่ไม่มีเงื่อนไขว่าเด็กจบมาแล้วต้องใช้ทุน เด็กต้องมีงานทำ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่วิทยาลัยจะรู้เลยว่า เราสอนเด็กแล้วเราจะต้องผลักดันให้เด็กมีงานทำให้ได้ หรือจบไปเรียนต่อในชั้นที่สูงๆ ขึ้นไปให้ได้  สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของวิทยาลัย”

ในส่วนของผู้ประกอบการ ยอมรับว่ามีบ้างที่ยังไม่สามารถรับเด็กกลุ่มนี้เข้าไปทำงานได้ อาจเป็นเพราะว่าก่อนหน้านี้เราเองก็ไม่รู้ว่าสถานประกอบการต้องการเด็กทำงานประเภทไหน ดังนั้น ในส่วนของครูจึงปรับตัวและยกระดับในเรื่องของวิธีการใหม่

“ครูจะไปถามสถานประกอบการก่อนเลยว่าคุณมีความต้องการเด็กที่มีความสามารถตรงไหน เราจะพัฒนาเด็กให้ตรงกับที่ผู้ประกอบการต้องการ เราไม่อยากให้ทางผู้ประกอบการมองว่าต้องรับเด็กพิการเข้าไปเพียงเพื่อว่าให้ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนด เพราะถ้าเป็นแบบนั้นสภาพในการทำงานของเด็กๆ จะกลายถูกมองเป็นภาระและจะกลับมากัดกินความรู้สึกของตัวเด็กเอง”

“เราอยากให้เขารับด้วยการเปิดใจว่าเด็กพวกนี้มีความสามารถจริงๆ รับผิดชอบ ขยัน และซื่อสัตย์ เราอยากให้รับเพราะพิจารณาที่ศักยภาพของเด็ก ตอนนี้หลายสถานประกอบการเปลี่ยนความคิด เขาพร้อมรับเด็กเหล่านี้เข้าทำงานเพราะเห็นความสามารถในตัวจริงๆ คนที่ยังไม่เคยลองก็อยากให้ลองรับเด็กเหล่านี้เข้าทำงานดู”

“ความจริงเด็กเหล่านี้เหมือนมีความอัจฉริยะอยู่ในตัวแทบทุกคน อย่างเรื่องคอมพิวเตอร์เขามีความสามารถเหนือกว่าคนอื่นเลย คนที่มาเรียนในวิทยาลัยจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นหลักสูตรระยะสั้น พอได้เรียนด้วยกันเขาจะมองว่าโอ้โหเด็กกลุ่มนี้เก่งมาก มันเป็นภาพที่น่าตื่นเต้นและท้าทายเมื่อเราได้เห็นเด็กกลุ่มนี้ทำงานอย่างจริงจัง มอบหมายงานอะไรไปพวกเค้าทำได้หมดและทำได้ดี ไม่ว่างานเอกสารหรืองานอื่นๆ คนที่เห็น เดิมไม่คิดฝันว่าเด็กเหล่านี้จะทำได้ แต่พวกเขาทำได้จริงๆ”