ครม.เตรียมแต่งตั้งบอร์ดกองทุน กสศ. ชุดใหม่ภายใน ต้น กค.นี้

ครม.เตรียมแต่งตั้งบอร์ดกองทุน กสศ. ชุดใหม่ภายใน ต้น กค.นี้

ครม.เตรียมแต่งตั้งบอร์ดกองทุน กสศ. ชุดใหม่ภายใน ต้น กค.นี้

“ประจิน” เผย กองทุน พร้อมสร้าง BIG DATA เด็กยากจน ด้อยโอกาส 4.3 ล้านคน เน้นช่วยเหลือถูกคน ตรงจุด  ด้าน กอปศ. หวังให้กองทุน เริ่มงานได้ภายในปีงบ 61 ขณะที่ ศธ. พร้อม โอนงบแก้ปห.เหลื่อมล้ำ ให้ กสศ. จัดการต่อ

ภายหลังจากที่ พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561  เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ได้มีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นครั้งแรก โดยพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินงานใน 2 เรื่องสำคัญ คือ การโอนสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เป็นสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ตามที่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้ข้อเสนอแนะต่อยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน 5 ปี รวมถึงแนวทางการขอรับทุนประเดิมและเงินอุดหนุน ปีงบประมาณ 2561-2562 โดยให้มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ทั้งนี้ตามขั้นตอนจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เพื่อให้ทันต่อการเริ่มดำเนินงานของกองทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2561 นี้

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตองพลอากาศเอก ประจิน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานของกองทุนนั้นต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เกี่ยวกับการจัดตั้งและแนวทางในการดําเนินงานของกองทุน กสศ. อย่างเคร่งครัด และรองรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงทิศทางการพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยต้องไม่ซ้ำซ้อน แต่เป็นการสมทบเงินเดิม เพิ่มเติมสิทธิ์ใหม่ ให้เกิดความเสมอภาค เน้นช่วยเหลือกลุ่มคนที่ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.3 ล้านคน ได้แก่ กลุ่มเด็กแรกเกิด – 3 ปี จำนวน 770,000 คน, กลุ่มเด็กอนุบาล จำนวน 610,000 คน, กลุ่มนักเรียนประถม – มัธยมต้น จำนวน 1,800,000 คน, กลุ่มนักเรียน ม.ปลาย/ปวช. จำนวน 360,000 คน, กลุ่มเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษา จำนวน  670,000 คน, กลุ่มวัย 18 ปีขึ้นไป จำนวน 150,000 คน  โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีโอกาสสำเร็จการศึกษาและการพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ

วิธีที่จะแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ยั่งยืนมีประสิทธิภาพที่สุดนั้น ต้องปฏิรูประบบให้ได้ ภารกิจเร่งด่วนสำคัญในช่วงปีงบประมาณ 2561 กองทุน กสศ. จึงให้น้ำหนักกับการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ BIG DATA ของกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทั้งในและนอกระบบการศึกษา มากกว่า 4 ล้านคนทั่วประเทศ พร้อมข้อมูลความยากจนและด้อยโอกาสของครอบครัว สถานศึกษาในทุกมิติ รองรับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐทั้ง 6 กระทรวง (ศธ. มท. สธ. พม. กค. รง.) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำ ช่วยเหลือถูกคน ตรงจุด โปร่งใสตรวจสอบได้อย่างเต็มที่

หลังจากนี้คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนชุดใหม่ จำนวน 17 คน ภายใน  60 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 โดยล่าสุดทราบว่าคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้นำเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ก็จะสามารถพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของกองทุน รวมถึงระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จต่อไป คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้ กองทุนจะสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานอนุกรรมการกองทุน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวว่า กอปศ. ได้เสนอร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 3 ฉบับ ให้แก่คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อทราบและดำเนินการใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการจัดทำระเบียบที่เกี่ยวข้องตาม มาตรา 53 ของ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561

“กอปศ.คาดหวังจะเห็นกองทุนเริ่มทำงานได้โดยเร็วภายในปีงบประมาณ 61 เพราะในขั้นตอนกว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้ กอปศ.ได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ต่างเห็นตรงกันว่า กองทุนจะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประเทศได้เพราะเป็นการแก้ไปถึงต้นเหตุของปัญหา ณ วันนี้กฎหมายให้อำนาจมาแล้ว มีความจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรให้ความสนับสนุนให้กองทุนสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบประมาณ และกลไกที่เกื้อหนุนให้ทำงานได้อย่างคล่องตัว แน่นอนว่าในอนาคต การหาช่องทางระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ในระยะแรก รัฐบาลควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณให้กองทุนสามารถแสดงศักยภาพขององค์กรซึ่งจะนำมาสู่ความน่าเชื่อถือในการทำงานต่อไป”

 

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์2ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคนที่หนึ่ง กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการพร้อมทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะโอนงบประมาณ และเงินกองทุนที่เกี่ยวข้องในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพราะที่ผ่านมา สสค.ซึ่งตอนนี้ปฏิบัติหน้าที่ใน ฐานะสำนักงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีผลการทำงานวิจัยร่วมกับ สพฐ. เรื่องการคัดกรองนักเรียนยากจนที่ช่วยให้ สพฐ. สามารถคัดกรองและจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนได้เป็นรายบุคคลได้สำเร็จ โดยนอกจากงบประมาณในส่วนนี้ กสศ. ควรมีแผนงานในการระดมทุนที่ยั่งยืนจากทุกภาคส่วน ไม่ให้ทับซ้อนกับงบประมาณของประเทศในส่วนอื่น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากนี้ ศธ. และ กสศ. จะหารือร่วมกันถึงแนวทางการขยายขอบเขตความร่วมมือต่อไปในอนาคต