เปิดเทอมใหม่ โรงเรียนต้อง ‘ปลอดภัย’ สำหรับทุกคน
โดย : กานต์ธีรา ภูริวิกรัย
ภาพ : ชุติกาญจน์ บุญสุทธิ

เปิดเทอมใหม่ โรงเรียนต้อง ‘ปลอดภัย’ สำหรับทุกคน

วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันเปิดเทอมของภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563

แม้ฟังดูปกติ แต่ก็มีความไม่ปกติบางอย่างซ่อนอยู่ในนั้น เพราะ ‘โลก’ กำลังเผชิญกับ ‘โรค’ ระบาดอย่างโควิด-19 ทำให้นอกจากระยะเวลาเปิดเทอมที่เลื่อนมาจากเดือนพฤษภาคมแล้ว ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง ยังต้องกลับสู่โรงเรียนด้วยการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ ที่หน้ากากอนามัยกลายเป็นเครื่องแบบที่ต้องสวม และเจลล้างมือกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพกประหนึ่งเป็นอุปกรณ์การเรียน

ตั้งแต่เจอโรคระบาดมา เราได้ยินกันจนคุ้นหูว่า ทุกคนต้อง ‘เว้นระยะห่างทางสังคม’ แต่เมื่อนึกถึงธรรมชาติของโรงเรียนและเด็กนักเรียน การเว้นระยะห่างดูจะเป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก และอาจมีผลทำให้ประโยชน์ของการมาโรงเรียนลดลงอย่างน่าใจหาย โรงเรียนจึงต้องมีมาตรการที่รัดกุมที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นในโรงเรียน พร้อมๆ กับยังคงรักษาธรรมชาติของการเรียนรู้ไม่ให้ถดถอยจนเกินไป

101 สำรวจมาตรการรับมือโควิด-19 ของโรงเรียนเพลินพัฒนา และ โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ – ก่อนเด็กจะกลับเข้าสู่รั้วโรงเรียน พวกเขามีมาตรการรับมือโควิดอย่างไร เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้สูงสุดใต้กรอบของความปลอดภัย

ชวนเดินเข้าสู่รั้วโรงเรียนพร้อมกัน ในวันที่การเปิดเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกต่อไป

โรงเรียนเพลินพัฒนา

-1-

ตั้งแต่ทำงานที่โรงเรียนมา นี่เป็นช่วงเวลาที่ คุณครูปวีณา ชมภูพันธ์ ส่วนสื่อสารองค์กร จากโรงเรียนเพลินพัฒนา นิยามว่า ‘ยุ่งที่สุด’ ช่วงหนึ่งเท่าที่เคยมีมา

“ตั้งแต่โควิดเข้ามา เราก็เริ่มปรับตัวกันแล้วค่ะ” ครูปวีณาเล่าให้ฟัง ระหว่างที่พาเราเดินไปตามทางเดินยาวสีน้ำตาล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง และมีลูกศรระบุทางเดินเข้า-ออก ชัดเจน แต่ที่เพิ่มจากเดิมคือสติกเกอร์สีขาวที่ติดไว้เป็นสัญลักษณ์บอกให้ผู้ใช้ทางเดิน ‘เว้นระยะห่างทางสังคม’ ซึ่งเป็นมาตรการที่เราได้ยินกันจนคุ้นหู

“ตรงนี้เป็นทางเดินของนักเรียน และผู้ปกครองที่จะเข้ามาส่งบุตรหลาน” ครูปวีณาอธิบายให้ฟัง ระหว่างที่พาเดินไปตามทางเดินสีน้ำตาลที่มีลูกศรสีขาวชี้บอกทางไว้ “ปกติเรามีลูกศรชี้บอกทางเดินอยู่แล้ว แต่พอมีโควิด เราเลยต้องเพิ่มเส้นคั่นให้เว้นระยะห่างกันด้วย”

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ครูปวีณาเปรียบโรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นเหมือน ‘บ้านหลังใหญ่’ ที่มี ‘บ้านหลังเล็ก’ 4 หลัง อยู่รวมกัน บ้านหลังเล็กที่ว่าคือช่วงชั้นอนุบาล ประถมต้น (ป.1-3) ประถมปลาย (ป.4-6) และมัธยมศึกษา แต่ละช่วงชั้นจะมีหัวหน้าที่ดูแลบริหารจัดการและตัดสินใจในช่วงชั้นของตนเอง โดยมีส่วนสนับสนุนเป็นผู้ดูแลภาพรวมส่วนกลางของโรงเรียน และเพราะเป็นเช่นนี้ มาตรการรับมือโควิดของโรงเรียนจึงมีตั้งแต่มาตรการรับมือของส่วนกลาง ไปจนถึงมาตรการรับมือของแต่ละช่วงชั้น

“มาตรการป้องกันของเราจะเริ่มตั้งแต่การรับส่งนักเรียน คือผู้ปกครองจะต้องส่งนักเรียนที่ด้านหน้า และให้เดินเข้ามาตามทางเดินนี้ แต่ตอนนี้ เรากำลังจะเพิ่มเครื่องวัดอุณหภูมิที่เป็น face-bot (ยืนและวัดอุณหภูมิ) ด้วย”

คุณครูบุษกร แพทย์กลาง หัวหน้าแผนกสุขภาวะของโรงเรียน ผู้รับผิดชอบมาตรการในส่วนกลาง อธิบายให้ฟัง ซึ่งนอกจากมาตรการวัดอุณหภูมิและเว้นระยะห่างที่คล้ายคลึงกับสถานที่อื่นแล้ว โรงเรียนเพลินพัฒนายังใช้วิธี ‘สลับวันเรียน’ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษา รวมถึงจัด ‘เรือนชุมชน’ ซึ่งเป็นโรงอาหารเก่า ไว้เป็นที่พักสำหรับนักเรียนที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงเกินกว่ากำหนด เพื่อรอผู้ปกครองมารับกลับบ้านต่อไป

“เราจะเน้นเรื่องสุขอนามัยเด็กเป็นหลัก ถ้าเป็นเรื่องการล้างมือ เราจัดเตรียมอ่างล้างมือนอกสถานที่ประมาณ 19 จุด ใช้ก๊อกน้ำระบบเซนเซอร์เพื่อลดการสัมผัส และเพิ่มจุดจ่ายเจลล้างมืออัตโนมัติเข้าไปประมาณ 146 จุด ที่หน้าห้องเรียนทุกห้อง รวมถึงทุกอาคารจะมีป้ายให้เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างชัดเจน”

ทั้งนี้ ความร่วมมือของผู้ปกครองก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยทางโรงเรียนได้แจ้งผู้ปกครองให้จัดหาหน้ากากอนามัย เพื่อให้นักเรียนสวมใส่มาโรงเรียนทุกวัน รวมถึงเตรียมหน้ากากอนามัยสำรองไว้เผื่อเปลี่ยนระหว่างวันด้วย

-2-

จากการเดินสำรวจพื้นที่โดยรอบโรงเรียน ครูปวีณาพาเราเดินเข้าสู่อาณาเขตของ ‘ช่วงชั้นอนุบาล’ ที่เป็นอาคารโล่งโปร่ง มีต้นไม้ร่มรื่น และมีบ่อทรายขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง

“ช่วงชั้นอนุบาลของเราดูแลเด็กที่อายุประมาณ 2-6 ปี ซึ่งมีเด็กหลายคนที่เพิ่งเข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรก ทำให้ผู้ปกครองบางท่านจะกังวลมาก เราจึงต้องเตรียมการทำงานอย่างเป็นระบบที่สุด” คุณครูจันทนา เภกะสุต หัวหน้าช่วงชั้นอนุบาล เล่าให้ฟังพลางพาเดินดูบ้านหลังใหญ่ที่ชื่อว่าช่วงชั้นอนุบาลแห่งนี้

ระหว่างที่เดินผ่านห้องเรียนด้านล่าง เราสังเกตเห็นคุณครูนั่งล้อมวงกัน (แบบห่างๆ) ที่พื้นห้อง และกำลังง่วนกับการบรรจุของลงกล่อง ซึ่งครูจันทนาอธิบายว่า ของเหล่านี้เรียกว่า กล่อง ‘Plearn Learning Box’ หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ‘กล่องเพลิน’ ซึ่งจะเป็นกล่องที่ช่วยสนับสนุนการเรียนของเด็กตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมไปจนถึงหลังเปิดเทอม ผ่านทางแนวคิด Home-Based Learning Community (HBLC) ที่มุ่งสร้างชุมชน (community) โดยมีบ้าน (home) เป็นฐานสำคัญ ผ่านทางการที่ผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ซึ่งทางโรงเรียนได้เริ่มนำส่งกล่องเพลินให้ผู้ปกครองมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยให้ผู้ปกครองขับรถเข้ามารับกล่องในโรงเรียนผ่านทางระบบ drive-thru

สำหรับการเปิดเทอมที่จะมาถึง ครูจันทนาชี้ว่า แม้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น แต่ยังถือว่าไม่ได้ปลอดภัยทั้งหมด ทางช่วงชั้นอนุบาลจึงต้องมีมาตรการรับมือโควิด-19 เริ่มตั้งแต่การผ่านจุดคัดกรองที่ประตูทางเข้า โดยจะมีพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้คัดกรอง

“เรามีมาตรการคัดกรองกลุ่มเด็กอนุบาลมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนจะมีโควิดแล้วค่ะ” ครูจันทนาว่า “เพราะเด็กอนุบาลเป็นเด็กเล็ก ซึ่งจะมีพวกโรคติดต่อในเด็ก เช่น โรคมือ เท้า ปาก อยู่แล้ว อีกทั้งก่อนหน้านี้ที่เจอปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เราก็ฝึกเด็กให้ใส่หน้ากากอนามัยมาตั้งแต่ตอนนั้น”

อีกหนึ่งวิธีที่ทางช่วงชั้นอนุบาลใช้คือ การให้เด็กสลับวันกันมาเรียน ซึ่งห้องเรียนของนักเรียนชั้นอนุบาลจะมีนักเรียนห้องละ 25 คน เด็กจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม A และ B (กลุ่มละ 12-13 คน) กลุ่มแรกจะมาเรียนวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ส่วนกลุ่มที่สองจะมาเรียนวันอังคารและวันศุกร์ และในวันพุธที่เด็กทั้งสองกลุ่มหยุดตรงกัน จะใช้การเรียนรู้จากกล่องเพลินผ่านทางแนวทางแบบ HBLC ส่วนคุณครูก็จะใช้วันดังกล่าวเพื่อเตรียมสื่ออุปกรณ์การสอนในกล่องเพลิน รวมถึงทำความสะอาดข้าวของทุกอย่างด้วย

“ถามว่า ทำไมไม่จัดให้เด็กมาติดกัน เช่น กลุ่มแรกมาวันจันทร์และอังคาร แบบนี้อาจจะจัดการง่าย แต่การเรียนรู้ต้องใช้เวลาตกตะกอน ตอกย้ำซ้ำทวน ดังนั้น เมื่อกลุ่มแรกมาเรียนวันจันทร์แล้ว เราก็จะให้เขาทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในกล่องเพลิน เมื่อเจอกันอีกทีในวันพฤหัสบดี เขาก็มีโอกาสเล่าเรื่องให้เราฟังว่า เขาไปทำอะไรมา แต่ถ้าจัดให้มาติดกัน 2 วันเลย เด็กจะห่างครูเกินไป เราจำเป็นต้องมีจังหวะและคงสัมพันธภาพของเด็กกับครูเอาไว้ด้วย”

ในเรื่องการทำกิจกรรม ครูจันทนาอธิบายต่อว่า เด็กทั้งหมดต้องกระจายตัวกัน และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทุกกิจกรรมจะต้องเว้นระยะห่าง และจะมีคุณครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบความปลอดภัย ทั้งนี้ อาณาบริเวณของช่วงชั้นอนุบาลเป็นพื้นที่เปิดโล่ง เน้นธรรมชาติ และไม่มีการใช้เครื่องปรับอากาศอยู่แล้ว ทำให้อากาศสามารถหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี และป้องกันเชื้อโรคได้

“เด็กอนุบาลจะใช้อุปกรณ์ที่ทางโรงเรียนจัดไว้ให้ แต่จะเป็นแบบของใครของมัน ซึ่งเราก็มีแม่บ้านคอยเก็บล้างและอบฆ่าเชื้ออุปกรณ์ไว้ให้ ส่วนข้าวของส่วนตัว เช่น กระติกน้ำ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เด็กจะต้องนำมาเอง แบบวันต่อวัน”

มาจนถึงตรงนี้ นอกจากเห็นถึงความใส่ใจทุกขั้นตอนของช่วงชั้นอนุบาลแล้ว เรายังสังเกตเห็นแววตาของครูจันทนาเปล่งประกายทุกครั้งที่พูดถึงเด็กๆ ของเธอ จึงอดจะตั้งคำถามนี้ปิดท้ายขึ้นมาไม่ได้

“คุณครูคิดถึงลูกศิษย์แล้วหรือยังคะ”

ครูจันทนายิ้ม เราเห็นคำตอบของเธอฉายชัดในแววตาก่อนที่เจ้าตัวจะพูดเสียอีก

“คิดถึงมาก”

คุณครูจันทนา เภกะสุต หัวหน้าช่วงชั้นอนุบาล

-3-

ต่อจากช่วงชั้นอนุบาล เราเดินต่อเข้าสู่อาณาเขตของ ‘ช่วงชั้นประถม’ ในช่วงเวลาของการปิดเทอมแบบนี้ บางห้องเรียนปิดเงียบ แต่บางห้องเรียนมีคุณครูหลายท่านนั่งประจำแต่ละโต๊ะแบบห่างๆ กัน สวมหูฟัง และกำลังสอนออนไลน์ผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยทางโรงเรียนเพลินพัฒนาเริ่มจัดการเรียนออนไลน์ในรูปแบบ HBLC ซึ่งจะมีคุณครูช่วยกันสอน ทั้งสอนจากที่บ้านและมาสอนที่โรงเรียน ส่วนในกรณีของชั้นประถมศึกษา การเรียนออนไลน์จะไม่ได้เน้นที่รายวิชามาก แต่จะเน้นการทำวิจัยโดยให้นักเรียนหาหัวข้อที่สนใจ ฝึกตั้งคำถาม หาคำตอบ และนำเสนอกระบวนการ รวมถึงชิ้นงานในช่วงเปิดภาคเรียน

สำหรับการเปิดเทอมที่จะมาถึง เราได้คุยกับ คุณครูศรัณธร แก้วคูณ หัวหน้าช่วงชั้นที่ 1 (ประถมศึกษาปีที่ 1-3) และ คุณครูณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์ หัวหน้าช่วงชั้นที่ 2 (ประถมศึกษาปีที่ 4-6) ที่ยืนยันแนวคิดว่า “ถ้าเด็กมาโรงเรียนเมื่อไหร่ เด็กจะต้องได้เรียนรู้ ภายใต้กรอบความปลอดภัยที่มากที่สุด และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด”

เช่นเดียวกับนักเรียนชั้นอนุบาล เด็กนักเรียนชั้นประถมจะสลับกันวันมาเรียน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในพื้นที่ที่มีจำกัด โดยโต๊ะเรียนในห้องจะมีระยะห่างจากขอบโต๊ะตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่งประมาณ 1 เมตร และระยะห่างจากศีรษะของเด็กคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งจะห่างกันประมาณ 1.5-1.6 เมตร ซึ่งเป็นการจัดพื้นที่ให้เด็กเห็นว่า นี่คือพื้นที่ส่วนตัวของเขาที่จะไม่ให้คนอื่นมาใช้ปะปนกัน นอกจากนี้ เด็กทุกคนจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยอนุญาตให้ถอดได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น จิบน้ำหรือทานอาหาร

คุณครูศรัณธร แก้วคูณ หัวหน้าช่วงชั้นที่ 1 (ประถมศึกษาปีที่ 1-3)

อีกประเด็นที่คุณครูณัฐทิพย์ชี้ให้เห็นคือ ตัวครูผู้สอน ที่จะต้องยืนห่างจากเด็กที่นั่งอยู่แถวหน้าสุด 2 เมตร เพราะการที่คุณครูพูดหน้าชั้นเรียนอาจจะทำให้เกิดละอองน้ำลายฟุ้งออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ทางโรงเรียนจึงมีมาตรการบังคับตรงนี้ให้เกิดความปลอดภัยแก่เด็กสูงสุด

“จริงๆ เราจะงดกิจกรรมการเล่นของเด็กไปเลย แต่เราก็คำนึงด้วยว่า เด็กอาจจะเกิดความเครียด จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบว่า ถ้าจะต้องมีกิจกรรมให้เล่นจริงๆ เราจะไม่ปล่อยให้เล่นอิสระเหมือนที่ผ่านมา แต่จะให้คุณครูพาเด็กออกไปเป็นกลุ่มเพื่อเล่นเครื่องเล่นแทน”

ทั้งนี้ คุณครูทั้งสองท่านชี้ให้เห็นว่า นอกจากกิจกรรมทางวิชาการและมาตรการรักษาสุขอนามัยที่ดีแล้ว ทางโรงเรียนจะมุ่งพัฒนา ‘ภายใน’ ของเด็กให้พร้อมรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป โดยนักเรียนชั้นประถมจะต้องเรียนรู้ทั้งความนึกคิดของตัวเอง และทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น ผ่านทางการบูรณาการกันระหว่างกลุ่มพัฒนาชีวิตและหน่วยวิชาแสนภาษา (ศิลปะและดนตรี)

คุณครูณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์ หัวหน้าช่วงชั้นที่ 2 (ประถมศึกษาปีที่ 4-6)

“เราไม่ใช้คำว่าศิลปะตรงๆ เพราะเด็กอาจจะคิดถึงทักษะการวาดรูปแทน แต่เรามองว่า ศิลปะเป็นสื่อหนึ่งที่มนุษย์สื่อสารกันได้ เราอาจจะให้เด็กดูภาพสักภาพ หรืออยู่กับสภาพแวดล้อม เรียนรู้ความรู้สึกของตนเอง และเด็กก็จะทำความเข้าใจว่า เขาสามารถหาความสุขจากความเรียบง่ายนี้ได้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่ตึงเครียดแบบนี้”

“เราไม่ได้เป็นครูที่ดูแลแค่การเรียนรู้เชิงวิชาการ แต่เราดูเรื่องความเป็นมนุษย์ด้วย”

-4-

‘ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และปิดแอร์’ คือมาตรการหลักรับมือของช่วงชั้นมัธยมศึกษา

“เราได้พูดคุยและปรึกษาหารือกับแพทย์และบุคลากรทางสุขภาพหลายท่าน จนได้ข้อสรุปว่า เด็กจะต้องเว้นระยะห่างประมาณ 1-2 เมตร ทั้งในห้องเรียนหรือในการทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนคุณครูก็จะต้องยืนอยู่ห่างจากนักเรียน 2 เมตร ขณะทำการสอนที่ต้องใช้เสียงด้วย” คุณครูภูริทัต ชัยวัฒนกุล หัวหน้าช่วงชั้นมัธยมศึกษา อธิบายให้ฟัง

แม้ชั้นมัธยมศึกษาจะเป็นช่วงชั้นเดียวที่มีเด็กมาเรียนพร้อมกัน แต่ครูภูริทัตชี้ว่า ความท้าทายของโรงเรียนอยู่ตรงที่ว่า มีนักเรียนบางคนที่อาจจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และยังไม่สะดวกมาโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงต้องหาวิธีการจัดการเพื่อที่จะไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่ไม่มาโรงเรียน กับ เด็กที่มาโรงเรียนตามปกติ

“เรามุ่งให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (collaborative learning) ถึงจะมาเรียนในห้องได้แล้ว ครูผู้สอนก็จะต้องใช้โน้ตบุ๊กเพื่อถ่ายทอดการสอนผ่านโปรแกรม zoom หรือกระบวนการอื่นๆ เพื่อให้เด็กที่ยังอยู่บ้านได้เรียนด้วย ส่วนเด็กที่มาเรียนในห้องเรียน ด้วยความที่แต่ละคนยังมีปฏิสัมพันธ์กันใกล้ชิดไม่ได้ เราก็อาจจะใช้แอปพลิเคชันบางตัว เช่น google suit เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน”

อย่างไรก็ดี ครูภูริทัตเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘ทักษะการกำกับตัวเอง’ ของนักเรียน และเป็นคุณลักษณะพื้นฐานที่สำคัญของนักเรียน การกำกับตัวเองยังเป็นทักษะที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป ยิ่งนักเรียนกำกับตัวเองได้ดีมากเท่าไหร่ มาตรการของโรงเรียนก็จะผ่อนปรนลงไปเรื่อยๆ ซึ่งบุคลากรจะประชุมกันทุกสัปดาห์ โดยคำนึงถึงการเรียนรู้และความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ ดังที่ครูภูริทัตให้คำจำกัดความว่า “กรอบในการฝึกฝนการกำกับตนเองที่ดีควรเริ่มจากกรอบแคบๆ และค่อยๆ ขยายกรอบออกไป เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนตนเองบนการเรียนรู้เรื่องกติกา หน้าที่ สิทธิ และเสรีภาพของตนเองตามลำดับ”

คุณครูภูริทัต ชัยวัฒนกุล หัวหน้าช่วงชั้นมัธยมศึกษา (ซ้าย) และคุณครูพิพัฒน์ น้อยพิทักษ์ ครูมานุษและสังคมศึกษา (ขวา)

-5-

ถ้าเพลินพัฒนาเปรียบเป็น ‘บ้านหลังเล็กในบ้านหลังใหญ่’ หน้าที่ของ คุณครูวีณา ว่องไววิทย์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายสำนักอำนวยการ ก็เปรียบเสมือนหัวเรือใหญ่ที่คอยดูแลบ้านหลังนี้

“เมื่อเกิดวิกฤตจะมีปัจจัย 2 ตัวใหญ่ๆ คือความเครียดและความกลัว ซึ่งเป็นจุดที่เราต้องเคลียร์กับบุคลากรของเราก่อน เพราะถ้าบุคลากรยังคลายตรงนี้ไม่ได้ เราจะเตรียมอะไรให้นักเรียนพันกว่าคนไม่ได้เลย”

ข้างต้นคือคำตอบของครูวีณา เมื่อถูกถามถึงภาพใหญ่ในการจัดการโควิด เพราะแม้การจัดมาตรการป้องกันไวรัสให้นักเรียนจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นกันคือสภาพจิตใจของบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งทางเพลินพัฒนาได้ทำงานกับบุคลากร โดยเริ่มตั้งแต่การสำรวจความเครียด และให้ข้อมูลเท่าที่เป็นไปได้เพื่อลดความวิตกกังวล

ความยากของเรื่องนี้คือ ความหลากหลายของข้อมูล ทางโรงเรียนจึงเลือกคาดการณ์ถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (worst-case scenario) และเลือกใช้วิธีที่ปลอดภัยที่สุดก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ คลายความเข้มงวดลงเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังใช้วิธีชวนผู้ปกครองให้เตรียมความพร้อมแก่เด็กตั้งแต่ที่บ้าน ไล่เรียงตั้งแต่การใส่-ถอดหน้ากากอนามัย ไอจามให้ถูกวิธี ไปจนถึงการรู้จักเว้นระยะห่าง และงดสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น

“แต่แค่การปรับตัวยังไม่พอนะคะ” ครูวีณาบอก “เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสุข คุณมีความสุขยังไง หาความสุขแบบไหน เรื่องนี้ต้องชวนกันคิดเลย การจะมีความสุขแบบเดิมๆ ใช้วิธีการแบบเดิมๆ ในสิ่งแวดล้อมแบบเดิมๆ จะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เพราะสิ่งแวดล้อมแบบเดิมจะไม่กลับมาอีกแล้ว เราต้องพร้อมปรับตัวตลอดเวลา”

นี่จึงเป็นที่มาของการเรียนรู้แบบ HBLC ที่เพลินพัฒนาใช้สู้โควิด เป็นชุมชน (community) ที่มีชีวิตและมีประสบการณ์ร่วมกัน เป็นชุมชนที่ก้าวไปด้วยกัน เพราะสักวันหนึ่ง อาจมีใครสักคนในเพลินพัฒนาติดโควิดขึ้นมา ทำให้ทางโรงเรียนต้องออกแบบวิธีการอยู่ร่วมกันด้วย

นอกจากมาตรการรับมือโควิด-19 ในการเปิดเทอมที่จะมาถึง ทางโรงเรียนยังได้มองไกลไปถึงการเรียนแบบใหม่ๆ เช่น การเรียนที่ไม่จำเป็นต้องมาเรียนทุกวัน หรือการมาเรียนในวันเสาร์ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเจอกับคนทำงานเก่งๆ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบที่ได้รับการพูดคุยกันต่อไปในอนาคต

โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ

-1-

“ในช่วงเปิดเทอม คนที่มาโรงเรียนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งเด็กและผู้ปกครองจะต้องเดินผ่านถาดน้ำยาฆ่าเชื้อด้านหน้า และวัดอุณหภูมิก่อนเข้าโรงเรียน เด็กคนไหนที่อุณหภูมิเกิน 37.5 จะต้องอยู่พักที่ห้องรับรองก่อน และผู้ปกครองก็จะต้องอยู่รอด้วย” พรหมพิมาน ไชยหงษ์คำ ผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ อธิบายให้ฟัง “ต่อมา เราจะวัดอุณหภูมิเด็กในห้องรับรองด้วยเทอร์โมมิเตอร์อีกที หากอุณหภูมิยังเกิน 37.5 เหมือนเดิม ก็จะให้ผู้ปกครองที่รออยู่รับเด็กกลับบ้านไป”

จากจุดคัดกรองและกดเจลล้างมือที่หน้าโรงเรียน ผอ.พรหมพิมานพาเราเดินต่อเข้ามาอีกเล็กน้อยก่อนจะหยุดที่บริเวณเส้นสีเขียวและเส้นสีแดงที่แปะไว้ที่พื้น เส้นสองสีนี้เป็นการแบ่งแถวเด็กที่มาถึงโรงเรียนแล้ว ถ้าเด็กที่จะเดินขึ้นอาคารเรียน จะเดินไปตามเส้นสีเขียว แต่ถ้าเด็กต้องการรับประทานอาหาร จะต้องเดินตามเส้นสีแดงเพื่อไปยังบริเวณที่จัดไว้เพื่อรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ตามทางเดินยังมีจุดสีเหลืองที่แปะห่างกันไว้ 1 เมตรตลอดทาง เพื่อรักษาระยะห่างและลดความแออัดยัดเยียด

เราเดินตามผอ.พรหมพิมานไปตามเส้นสีแดง และเจอกับภาพของโต๊ะอาหารสีฟ้าที่ถูกเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ โดย ผอ. เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ นักเรียนจะนั่งด้วยกันเป็นกลุ่มๆ แต่ตอนนี้ โต๊ะแต่ละตัวมีฉากกั้น หรือที่เรียกว่า ‘table shield’ ซึ่งเป็นตัวจำกัดให้เด็กนั่งได้แค่ 4 คนต่อโต๊ะเท่านั้น

“เวลาทานอาหาร เราจะแบ่งว่า เด็กชั้นอนุบาล-ป.2 จะทานบนห้องเรียน เด็กป.3-4 จะลงมาทานที่โรงอาหารได้ ส่วนป.5-6 จะใช้ระบบให้เดินเรียงแถวมารับถาดอาหาร และนำกลับขึ้นไปทานบนห้อง เด็กทุกคนต้องมีของใช้ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นช้อนส้อม น้ำดื่ม หรือผ้าเช็ดหน้า”

-2-

“ตั้งแต่โควิดเริ่มเข้ามา เราก็เตรียมพร้อมรับมือกันบ้างแล้ว ทุกคนต้องมาประชุมเพื่อหาวิธีทำให้ลูกศิษย์ของเราปลอดภัยที่สุด เพราะถ้าไม่ปลอดภัยเมื่อไหร่ โรงเรียนจะกลายเป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว”

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ผอ.พรหมพิมานแบ่งการรับมือของโรงเรียนก่อนเปิดเทอมออกเป็น 2 ช่วงหลักๆ ช่วงแรกคือช่วงที่โควิดเริ่มระบาด แต่ยังไม่มีคำสั่งปิดโรงเรียน และยังไม่มีการล็อกดาวน์ ในตอนนั้น โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจก็เริ่มตื่นตัวกับเรื่องนี้กันแล้ว โดยคุณครูได้นำความรู้เรื่องการปฏิบัติตัวในช่วงโรคระบาดไปบูรณาการในบทเรียนเพื่อสอนนักเรียน อีกทั้ง ทางโรงเรียนยังได้วางแผนล่วงหน้าด้วยการจัดการเรียนการสอนและสอบค่อนข้างไว ทำให้เมื่อมีคำสั่งปิดโรงเรียนออกมาจากฝั่งกรุงเทพมหานคร เด็กนักเรียนก็ไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไหร่ เพราะสอบกันเสร็จแล้ว

พอมาถึงช่วงที่สอง หรือที่เรียกกันให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ช่วงล็อกดาวน์ ทางโรงเรียนได้ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเขตคลองเตยในการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ รวมถึงใช้นโยบาย 4 on ของทางกรุงเทพมหานคร คือ online, on air, on hand และ on site เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนควบคู่ไปด้วย

พรหมพิมาน ไชยหงษ์คำ ผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ

“เราให้คุณครูทุกท่านออกเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคน ครูต้องมีเบอร์ผู้ปกครองทุกท่าน และติดต่อสื่อสารกันผ่านทาง Facebook หรือ line อยู่ตลอด นอกจากนี้ เรายังมีการเรียนออนไลน์ด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนออนไลน์ก็อาจจะเจอความท้าทายบ้าง เพราะเด็กหลายคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี หรือถ้าเป็นเด็กเล็ก ก็อาจจะเรียนออนไลน์ได้ไม่มีประสิทธิภาพขนาดนั้น เราเลยนำวิธี on hand เข้ามาใช้ คือให้ใบงานไปทำ และนำมาส่งตามวันที่นัดหมาย”

“แต่ถ้าที่บ้านเด็กไม่พร้อมด้านเทคโนโลยีจริงๆ เราก็บอกเสมอว่า ไม่ต้องไปหาซื้ออะไรเพิ่ม แต่ให้ครู walk-in เข้าไปหา ไปเยี่ยมถึงบ้าน เพื่อมอบหมายและนัดวันส่งงานกัน ทุกอย่างก็โอเค ผู้ปกครองก็แฮปปี้ดี”

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผอ.พรหมพิมานเน้นย้ำคือ แม้โรงเรียนจะมีมาตรการรับมืออย่างดี แต่ผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญมากเช่นกัน โดยผู้ปกครองจะต้องตรวจดูลูกหลานว่ามีอาการ ไอ จาม หรือไม่ อุณหภูมิร่างกายเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการคัดกรองขั้นต้นก่อนจะมาถึงโรงเรียน

“พอถึงเวลากลับบ้าน เราจะไม่ให้เข้าแถวสวดมนต์เหมือนเมื่อก่อน แต่จะให้เด็กแต่ละระดับชั้นเดินเรียงแถวลงมา จะมีจุดมาร์กไว้เลยว่า ยืนตั้งแถวยังไง เราจะให้ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โตที่สุดลงมาก่อน เพราะเด็กโตจะทำอะไรได้ค่อนข้างไว และจะกำชับให้ผู้ปกครองมารับเร็วและตรงเวลาด้วย เพราะเราจะต้องทำความสะอาดโรงเรียนในรอบหลังเลิกเรียน”

-3-

“นี่คือพื้นที่สำหรับเด็ก 1 คนค่ะ” คุณครูประจำห้องเรียนอนุบาลแนะนำด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม “เด็กเล็กต้องใช้พื้นที่ในการเล่น เราเลยต้องจัดพื้นที่ให้เขาค่อนข้างกว้างหน่อย แต่ถ้าเด็กต้องใช้โต๊ะเขียนหนังสือ เราก็จะพาเขาไปเขียนหนังสือที่โต๊ะด้านนอก ซึ่งมี table shield เช่นกัน”

ทั้งนี้ เราได้รับการเน้นย้ำว่า เมื่อเปิดเทอมแล้ว จะไม่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศในห้องเรียนเด็ดขาด แต่จะเปิดหน้าต่างและใช้พัดลมแทนเพื่อให้อากาศได้ถ่ายเท

ขณะที่ห้องเรียนชั้นอนุบาลค่อนข้างโล่งโปร่งเพราะไม่มีโต๊ะในห้อง ห้องเรียนชั้นประถมกลับมีความแตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยมีโต๊ะเรียนตั้งเรียงห่างกัน และมี table shield ทุกโต๊ะเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ผอ.พรหมพิมานชี้ว่า การที่มีแผ่นพลาสติกกั้นอยู่ด้านหน้า อาจจะทำให้เด็กบางคนมีปัญหามองเห็นกระดานไม่ชัดเจน ทางโรงเรียนจึงแก้ปัญหาด้วยการออกนโยบายให้คุณครูเขียนกระดานให้น้อยที่สุด และใช้ใบงานทดแทน

นอกจากห้องเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษาแล้ว เรายังได้มีโอกาสแวะเวียนเข้าไปดูห้องเรียนของเด็กพิเศษ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 คนทั้งโรงเรียน และห้องคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้ง 2 ห้องล้วนมีมาตรการรับมือที่เข้มงวดไม่ต่างจากบริเวณอื่นของโรงเรียน

“ตอนนี้ ทางโรงเรียนเตรียมมาตรการรับมือทั้งหมดไว้แล้ว แต่ถ้าเราเจอปัญหาอะไร ก็พร้อมที่จะปรับแก้ไปตามสถานการณ์เสมอ ซึ่งพอเปิดเทอมแล้ว เราจะมีประชุมครู ทุกคนต้องช่วยกันติดตามข่าวสาร และมาสรุปสถานการณ์กันแบบรายวัน”

“วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เราพร้อมเปิดเทอมแล้วแน่นอน” ผอ.พรหมพิมานเน้นย้ำ

-4-

ภาพของสนามเด็กเล่นที่ว่างเปล่า มีจุดมาร์กสีเหลืองให้นั่งเว้นระยะห่างกัน คือภาพสุดท้ายที่เราเห็นก่อนจะร่ำลาทุกคนและเดินออกจากโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ

หากเป็นเวลาปกติ สนามเด็กเล่นคงเงียบเหงาแค่ช่วงปิดเทอม และกลับมาคึกคัก มีชีวิตชีวาอีกครั้งในช่วงเปิดเทอม แต่เปิดเทอมปีนี้ เด็กนักเรียนจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นเครื่องเล่น เพื่อลดความแออัดยัดเยียด และการสัมผัสใกล้ชิดที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นไปเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของเด็ก

แม้จะฟังดูแปลก แต่อย่างที่รู้กันว่า นี่ไม่ใช่การเปิดเทอมในช่วงเวลาปกติ เพราะทุกคนล้วนต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ที่กำลังจะมาถึง รวมถึงการกลับสู่รั้วโรงเรียนในครั้งนี้ ที่จะต้องอยู่ภายใต้มาตรการด้านสุขอนามัยที่ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี

และทุกคนรู้ดีว่า นี่เป็นเพียงก้าวแรก ความท้าทายที่แท้จริงคือโลกหลังเปิดเทอม

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world