ก้าวสู่ปีที่ 3 ครูรัก(ษ์)ถิ่น ต้นแบบพัฒนาครูแนวใหม่ ตามความต้องการของพื้นที่

ก้าวสู่ปีที่ 3 ครูรัก(ษ์)ถิ่น ต้นแบบพัฒนาครูแนวใหม่ ตามความต้องการของพื้นที่

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 สำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ทุนสำหรับนักเรียนในพื้นห่างไกลเรียนจบกลับไปเป็นครูพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน (Protected School/Stanalone) เท่านั้น แต่โครงการนี้ยังเป็นอีกก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาต้นแบบการผลิตครูรุ่นใหม่ในระบบปิดให้สอดรับตรงกับความต้องการของโรงเรียนในพื้นที่ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกัน

ในฐานะร่วมเป็นสถาบันผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นมาตั้งแต่รุ่นที่ 1  ดร.วิชญา ผิวคำ อาจารย์ประจำสาขาประถมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตครูตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ ขั้นตอนการรับสมัครนักศึกษา ที่ทำให้รู้จักตัวนักศึกษา รู้จักบริบทพื้นฐาน เพื่อให้สถาบันผลิตครูสามารถออกแบบหลักสูตรไปตอบสนองบริบทของชุมชนได้โดยตรง

“แต่ก่อนเราผลิตครูตามหลักสูตรอุดมศึกษาแกนกลาง เราไม่รู้ว่าผลิตครูแล้วจะไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง แต่โครงการนี้เหมือนเรามีเป้าหมาย เช่น นักศึกษาคนนี้จบแล้วจะไปสอนหนังสือบนดอย ควรจะต้องมีความรู้อะไรบ้าง จะได้เตรียมออกแบบนักศึกษาครูให้ตรงกับบริบทนั้น รวมไปถึงหลักสูตรเสริมที่มีเป้าหมายมากขึ้นว่า เราอยากให้เขาเป็นนักวิจัย นักพัฒนาชุมชน เราก็ใส่กระบวนการพัฒนาเขาตั้งแต่เริ่มเรียนปีหนึ่งได้เลย ให้เขาใช้ ชินกับกระบวนการนี้ ออกแบบนวัตกรรมการสอน มีเป้าหมายที่ชัดเจน”

ลงพื้นที่โรงเรียนปลายทาง ปลูก “จิตวิญญาณความเป็นครู”

รวมทั้งเรื่อง “จิตวิญญาณความเป็นครู” ที่ผ่านมาจะเห็นหลายคนมีพัฒนาการฉายแววชัดเจน ส่วนหนึ่งจากที่ออกแบบให้นักศึกษาไปลงพื้นที่โรงเรียนปลายทางที่เขาจะกลับไปบรรจุ พอกลับมาเขาก็มาเล่าให้ฟังว่า มีคนที่ยังรอพวกเขาอยู่ เป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้พวกเขาตั้งใจเรียนและกลับไปสอนหนังสือที่นั่น หรือเมื่อตอนรับสมัครนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 2 เขาเป็นพิธีกรเล่าให้น้อง ๆ ฟังว่าทุกวันนี้เขาไม่ได้เรียนแค่เพื่อตัวเอง เพื่อคุณพ่อ คุณแม่ แต่ยังมีเด็ก ๆ และคนในพื้นที่ที่รอพวกเขาอยู่ 

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นถือเป็นต้นแบบการผลิตครูแนวใหม่ ทำให้แต่ละภูมิภาคสามารถมีรูปแบบการผลิตครูที่เหมาะกับบริบทพื้นที่ของตัวเองได้ดี ปกติเราเคยแต่ผลิตครูโดยไม่มีโจทย์ให้ต้องตอบ เช่น คนกรุงเทพฯ มาเรียนที่เชียงใหม่แล้วกลับไปสอนหนังสือที่กรุงเทพฯ ตอนเราสอนเขา เราก็สอนในบริบทของเชียงใหม่ ไม่รู้ว่าเขาจะไปดำรงวิชาชีพที่กรุงเทพฯ ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่ถ้าเรามีต้นแบบ มีกระบวนการเฉพาะในพื้นที่ ก็จะช่วยให้เรียนรู้บริบทพื้นที่ วัฒนธรรม เพราะการเข้าใจเด็กไม่ใช่แค่เข้าใจในตัวเด็ก แต่ต้องเข้าใจเชิงบริบทพื้นที่ วัฒนธรรมด้วย ดังนั้นในระยะยาวโครงการนี้จึงน่าจะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับประเทศไทยได้” ดร.วิชญากล่าว

การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คัดกรองจนมั่นใจว่าได้คนที่เหมาะสมเป็นครูจริง ๆ

คล้ายกับ ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ที่มองว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกระบวนการผลิตครูในระบบปิด  ตั้งแต่การรับคนที่มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพครู นำมาผ่านกระบวนการคัดกรองจนเกิดความมั่นใจว่าคนนี้เหมาะที่จะเป็นครูจริง ๆ  หลายสาขาวิชาที่มีนักศึกษาเกินจำนวนก็นำวิธีการนี้ไปประยุกต์ใช้รับนักศึกษา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำ

ถัดมาที่การเรียนการสอนที่พัฒนาวิชาแนวข้างเพิ่มเติมจากวิชาชีพครู ตอนนี้ก็มีหลายสาขาวิชาเอาแนวคิดไปประยุกต์พัฒนากิจกรรมเสริมให้กับนักศึกษา สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นตัวอย่างและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสาขาวิชาอื่นได้เห็นแนวทางและนำไปปรับใช้

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เหมือนเราผลิตของระดับพรีเมียม คัดคนมาอย่างดี ได้ครูที่มีจิตสำนึก มีจิตวิญญาณความเป็นครู รักท้องถิ่น จบแล้วกลับไปพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด  ถือเป็นการพิสูจน์ว่าทำแบบนี้แล้วมันดี ได้ของดีจริง นำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งท้ายที่สุดความยั่งยืนก็จะอยู่ที่กระบวนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยว่าจะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง และทำให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่”

อีกมุมหนึ่งยังตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  ​เริ่มตั้งแต่การให้ทุนมาเรียน ซึ่งหากไม่มีทุนนี้ เด็กกลุ่มนี้ก็อาจได้เรียนต่อในระดับที่สูง ถือเป็นเรื่องแรกในการลดความเหลื่อมล้ำดูแลเด็กในพื้นที่ห่างไกล เรื่องที่สองคือ เมื่อพวกเขาจบไปเป็นครูก็จะได้กลับไปช่วยสอนหนังสือพัฒนาชุมชนที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในระยะยาวอีกทางหนึ่งด้วย ระหว่างนี้ทางมหาวิทยาลัยจึงพยายามออกแบบกิจกรรมให้เขาได้ลงพื้นที่ ไม่ใช่แค่เรียนในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว  

Enrichment Program เสริมความพร้อมสู่นักพัฒนาชุมชน

ในแง่การทำงาน สถาบันผลิตครูที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นถือเป็นกำลังสำคัญที่ต้องทำงานอย่างหนัก ตั้งแต่การออกไปค้นหานักเรียนในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชน  

ผศ.เสาวภาคย์ สว่างจันทร์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากเดิมทางคณะเป็นที่สนใจของนักศึกษา แค่อยู่เฉย ๆ ก็มีนักศึกษามาสมัครจำนวนมาก แค่รอคัดเลือกจากนักศึกษาที่มาสมัคร แต่ก็จะทำให้รู้จักกับนักศึกษาแค่ช่วงเวลาที่มาสัมภาษณ์ ไม่ได้รู้จักครอบครัวเด็ก  แต่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นทำให้ต้องลงไปค้นหาเด็ก ไปรู้จักกับครอบครัว เห็นความเป็นอยู่ของเด็ก เวลามีปัญหาก็จะได้เข้าใจและแก้ปัญหาได้อย่างทันที

“หนึ่งในเป้าหมายของครูรัก(ษ์)ถิ่นคือการผลิตครูออกไปเป็นนักพัฒนาชุมชน ทำให้ต้องลงพื้นที่ที่ไปเก็บข้อมูล ศึกษาบริบทชุมชน  สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน เนื้อหาเหล่านี้จะไปบูรณาการอยู่ในวิชาต่าง ๆ อีกด้านหนี่งก็จะมีกิจกรรม Enrichment Program เช่น ​การเข้าค่ายครูดีในดวงใจ ไปสวนโมกข์เพื่อเรียนวิถีชีวิตตามรอยพระพุทธทาส เรียนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรมีโครงการครูรักษ์ผัก ที่จะทำให้เขาจบออกไปมีความพร้อมไปเป็นนักพัฒนาชุมชน หลายคนได้สะท้อนความภูมิใจ และมีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของเขา”

ส่วนกระบวนพัฒนาโรงเรียนปลายทางที่เด็กจะกลับไปบรรจุเป็นครูเมื่อเรียนจบแล้วนั้น ผศ.เสาวภาคย์อธิบายขั้นตอนการทำงานว่า ได้เชิญทางโรงเรียนมาร่วมถอดบทเรียน   ค้นหาครูรัก(ษ์)ถิ่นแบบไหนที่โรงเรียนต้องการ เ พื่อนำไปสู่การพัฒนาให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งหากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 ก็จะพาคุณครูไปดูงานแล้วกลับมาถอดบทเรียนช่วยกันสร้างโมเดลต้นแบบ  ซึ่งทั้งหมดวางเป้าหมายว่าอยากจะเห็นเด็กที่จบออกไปเป็นครูปฐมวัยที่สามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนของเขาที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในวันข้างหน้า รวมทั้งจบไปเป็นครูที่เป็นนักพัฒนาชุมชนเสียงสะท้อนเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของสถาบันการศึกษาที่จะช่วยกันพัฒนาต้นแบบการผลิตครูในระบบปิดที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ในบริบทที่แตกต่างกัน โดยปัจจุบันโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นกำลังเปิดรับสมัครสถาบันอุดมศึกษาที่สนใจเข้าร่วมเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการ รุ่นที่ 3 ประจำปี 2565

สถาบันที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
ประกาศ กสศ. เรื่อง เปิดรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีการศึกษา 2565