‘ทอง กับ ต้นข้าว’ เปิดเทอมหน้าเรายังได้ไปต่อ
กลไกส่งต่อระหว่างโรงเรียน รองรับเด็กเสี่ยงหลุดช่วงรอยต่อการศึกษา อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

‘ทอง กับ ต้นข้าว’ เปิดเทอมหน้าเรายังได้ไปต่อ

ถ้าไม่มีกลไกเชื่อมโรงเรียนประถมกับมัธยมศึกษา เด็กจำนวนหนึ่งจะหลุดจากระบบไปเงียบ ๆ ในช่วงรอยต่อ เพราะเขาไม่มีความพร้อม ไม่มีทุน ไม่มีโรงเรียนมัธยมในพื้นที่รองรับ ไม่มีใครช่วยผลักดันชี้ทาง ยิ่งเขาอยู่ในวัยที่ยังไม่รู้เป้าหมาย ก็เหมือนกับไม่มีอะไรเลยที่จะช่วยประคองไว้ นี่คืองานสำคัญที่ครู ผู้บริหารสถานศึกษา หน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงมือจากภายนอกที่ยื่นเข้ามา ต้องช่วยกันคว้าเด็กกลุ่มนี้ไว้ แล้ววางแนวทางให้เขาไปต่อได้”

อาจารย์รัตนา รุ่งสิริกุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในคณะทำงานโครงการ ‘Zero Dropout’ กล่าวถึงความเสี่ยงในการหลุดจากระบบการศึกษา ของน้อง ๆ ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี พร้อมเผยถึงการทำงานระหว่างโรงเรียนประถมกับมัธยมศึกษา เพื่อช้อนเด็กกลุ่มเสี่ยงไว้จากการดรอปเอาท์ แล้วดึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมาช่วยกันทำให้น้อง ๆ ได้เรียนจนจบเส้นทางการศึกษาภาคบังคับ ตามความเหมาะสมของแต่ละคน

เรื่องราวของน้องทอง
‘ไม่อยากหยุดการเรียนรู้ไว้แค่นี้’

ในแดดจ้าเกือบเที่ยงวันกลางเดือนมีนาคมที่สวนผึ้ง เสื้อนักเรียนของ ‘ทอง’ ขาวเด่น สะท้อนแสงบาดตา ทองบอกว่าเสื้อตัวนี้ใหม่ที่สุด ทุกครั้งที่หยิบใส่ เขาจะรีบกลับบ้านแล้วถอดแช่ทิ้งไว้เป็นชั่วโมงจึงค่อยซัก

ทอง บุญธรรม อายุ 12 ปี เพิ่งจบ ป.6/2 จากโรงเรียนสินแร่สยาม

“ผมจะเก็บไว้ใส่ตอนขึ้น ม.1 ครับ” ทองว่า แล้วเล่าว่าเพิ่งสละเสื้อนักเรียนตัวเก่าที่ใส่มานานตัวหนึ่ง ให้เพื่อน ๆ เขียนข้อความอวยพรก่อนแยกย้ายกันไปหลังจบชั้น ป.6  

เมื่อถามว่าทำไมไม่เขียนใส่สมุดแทนเสื้อนักเรียน ทองยิ้มทะลุแมสก์ แล้วตอบว่า “มันไม่เท่ครับ”

อาจารย์รัตนาเล่าว่า ทอง บุญธรรม อายุ 12 ปี เพิ่งจบ ป.6/2 จากโรงเรียนสินแร่สยาม น้องอยู่กับแม่และยาย มีรายได้หลักทางเดียวจากแม่ ที่ทำงานรับจ้างรายวันในไซต์งานก่อสร้าง ส่วนใหญ่ทองจึงต้องอยู่กับยาย ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือช่วงปิดเทอม ทองจะไปทำงานรับจ้างเลี้ยงวัว ควาย แพะ หมู หรือบ้างเป็นงานในไร่ เช่นถอนหญ้า ผ่าฟืน ตักขี้วัวใส่ถุงกระสอบขาย

“ว่างจากงานผมก็อยู่บ้านช่วยยายครับ ยายแก่แล้ว” ทองสนุกเสมอที่ได้เล่าถึงชีวิตประจำวัน

ห้องเรียน ป.6/2 เป็นพื้นที่สำหรับนักเรียนที่ต้องการรูปแบบการเรียนรู้พิเศษ จึงไม่ใช่แหล่งรวมตัวของนักเรียนที่โดดเด่นด้านวิชาการ แต่ครูประจำชั้นระบุว่าทองตั้งใจเรียน และพูดบ่อย ๆ ว่าเขาชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งทองรู้ว่าที่บ้านอาจไม่พร้อมส่งเสียให้ไปต่อ วันหนึ่งเมื่อใกล้จบ ป.6 ทองจึงเดินเข้าไปหาผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม เพื่อแจ้งความประสงค์ว่าเขา ‘อยากเรียนหนังสือต่อ’

“ผมเริ่มชอบวิชาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ ป.4 ครูเขาสอนสนุก ได้รู้เรื่องแปลก ๆ เยอะ ผมชอบเรื่องหิน พอครูสอนว่าหินแบบไหนใช้ทำอะไร แบบไหนใช้ทำบ้านได้ ผมยิ่งตื่นเต้น อยากรู้อยากเรียนมากกว่านี้ อยากไปให้ถึงปริญญาตรี แล้วเป็นครูวิทยาศาสตร์ให้ได้ แต่ผมกลัวว่าจะไม่ได้เรียนอีกแล้ว เลยคิดว่าต้องไปหา ผอ. อยากให้ ผอ. ช่วยครับ” ทองเล่า   

เรื่องราวของน้องต้นข้าว
“อยากจบ ม.3 จะได้ทำงานเลี้ยงดูที่บ้าน”

ต้นข้าว’ เป็นเด็กพูดน้อย เรียนจบห้อง ป.6/2 เช่นเดียวกับทอง เวลาที่ทองพูดน้ำไหลไฟดับ ต้นข้าวจะฟัง ยิ้มและคอยมองเพื่อนอยู่ข้าง ๆ

ต้นข้าว เคมี อายุ 12 ปี เพิ่งจบ ป.6/2 จากโรงเรียนสินแร่สยาม

ต้นข้าว เคมี อายุ 13 ปี อาศัยอยู่กับลุงป้าที่ทำงานรับจ้างทั่วไป และตาอายุ 70 กว่าที่ทำอะไรไม่ค่อยไหวแล้ว เขาจึงต้องช่วยดูแล คอยทำงานบ้าน มีเวลาก็ออกไปรับจ้างเลี้ยงแพะบ้าง เมื่อถามว่าจบ ป.6 แล้วจะทำอะไรต่อ ต้นข้าวบอกว่าอยากเรียนให้จบ ม.3 แล้วทำงานแบ่งเบาภาระลุงกับป้า

“อยากเรียนครับ ทีแรกไม่แน่ใจว่าจบแล้วจะเรียนต่อไหม เพราะที่บ้านมีเรื่องต้องทำเยอะ อยากช่วยลุงกับป้าครับ ตอนอยู่บ้านผมต้องช่วยตาทำหลายอย่าง เขาแก่มากแล้ว แต่ตอนนี้คิดว่าต้องเรียนจบ ม.3 ก่อน แล้วค่อยดูอีกทีครับ”

กลไกส่งต่อระหว่างโรงเรียน รองรับเด็กเสี่ยงหลุดช่วงรอยต่อการศึกษา ที่ อ.สวนผึ้ง

อาจารย์รัตนาอธิบายเส้นทางการศึกษาของ ‘ทอง’ กับ ‘ต้นข้าว’ ว่า น้องทั้งสองคนอยู่ในกลุ่มเด็กที่ได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลังจบชั้น ป.6 ซึ่งโรงเรียนสินแร่สยามมีนโยบายผลักดันเด็กกลุ่มเสี่ยงให้ได้เรียนต่อ โดยร่วมกับ โรงเรียนรุจิรพัฒน์ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ และเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีการจัดการศึกษาพิเศษ มีห้องเรียนสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการการดูแลเฉพาะ พร้อมหลักสูตรฝึกอาชีพ มุ่งส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ทั้งมีข้อตกลงความร่วมมือกับสถานศึกษาในระดับที่สูงกว่าชั้นมัธยมต้น ในการส่งต่อนักเรียนข้ามช่วงชั้น ตามความถนัดและความต้องการรายบุคคล

“แม้เราสามารถช่วยให้เด็กคนหนึ่งเรียนต่อได้แล้ว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยเป็นอุปสรรคให้เขายังเวียนวนในความเสี่ยง ทั้งค่าใช้จ่ายรายวัน ค่าเดินทาง การดูแลจากครอบครัว รวมถึงเด็กกลุ่มที่ต้องการการเรียนรู้ที่แตกต่างจากห้องเรียนปกติ ถ้าเขาไปเรียนในห้องเรียนทั่วไป ไม่มีครูที่มีประสบการณ์ด้านนี้คอยดูแล เขาจะเรียนตามเพื่อน ๆ ไม่ทัน ปรับตัวไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้เด็กเสี่ยงหลุดกลางทางได้ทุกขณะ

“แต่ที่โรงเรียนรุจิรพัฒน์มีการจัดการศึกษาซึ่งเน้นให้นักเรียนค้นหาความถนัดของตัวเอง มีหลักสูตรส่งเสริมอาชีพเช่น เลี้ยงไก่ไข่ ปลูกพืชผักสวนครัว ทำแปลงเกษตรหลายชนิด หรือมีครูเฉพาะทางส่งเสริมให้เด็กได้ทำงานฝีมือ ทั้งเป็นโรงเรียนประจำที่ช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายเรื่องกินอยู่เดินทาง แบ่งเบาปัญหาเรื่องเด็กขาดผู้ดูแลที่เหมาะสม และที่สำคัญคือน้อง ๆ จะได้ฝึกความรับผิดชอบ ทักษะสังคม ซึมซับความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ และค้นหาแรงบันดาลใจในชีวิต

“เพราะการเติบโตในพื้นที่ห่างไกลมันอาจจะทำให้เขาไม่มีต้นแบบให้เห็นชัด ๆ แต่ความคิดของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามช่วงวัย ตามการรับรู้ อย่างน้อยที่สุด อีก 3 ปีจากนี้ เขาจะได้รับการบ่มเพาะ ปลูกสร้างทัศนคติ เพื่อมองเห็นตัวเอง มองเห็นสังคม มองเห็นอนาคตได้ชัดขึ้น และนี่คือโอกาสที่เราจะมอบให้เขาได้”

ส่วนปลายทางหลังจากนี้ โรงเรียนรุจิรพัฒน์ได้ร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษาในพื้นที่ ในการสนับสนุนน้อง ๆ ที่มีความสามารถ มีความตั้งใจแต่ขาดโอกาส ให้ได้เรียนต่อระดับ ปวช. พร้อมส่งเสริมให้ไปได้สุดทางตามความสามารถและความตั้งใจ อันเป็นนโยบายส่งเสริมให้เด็กที่ไม่ถนัดด้านวิชาการ มีโอกาสศึกษาต่อและค้นพบอาชีพที่จะใช้เลี้ยงตัวได้อย่างยั่งยืน               

สำหรับทอง อาจารย์รัตนาบอกว่า หลังน้องเข้าพบ ผอ. ก็ได้รับการประสานทันที จนทองมั่นใจได้แล้วว่าเขาจะได้สานฝันที่จะเรียนให้ถึงระดับปริญญา และเป็นครูวิทยาศาสตร์ต่อไป ส่วนต้นข้าว ทางโรงเรียนได้ปรึกษากับผู้ปกครอง จนสรุปได้ว่าน้องจะเรียนต่อที่โรงเรียนรุจิรพัฒน์เช่นเดียวกัน และในระหว่างสามปีต่อจากนี้ ต้นข้าวจะได้ค้นหาคำตอบให้ตัวเองอีกครั้ง ว่าเมื่อเรียนจบ ม.3 แล้ว เขาจะไปทางไหนต่อ

และนี่คือเรื่องราวของน้อง ๆ กลุ่มเป้าหมายโครงการ ‘Zero Dropout’ ‘เด็กทุกคนต้องได้เรียน …ลดจำนวนน้อง ๆ ที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์’ ที่ปักหมุดแรกในอำเภอสวนผึ้ง โดยความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดราชบุรี และ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)