“ประเทศไปต่อไม่ได้ ถ้ารากฐานการศึกษาไม่แข็งแรง”

“ประเทศไปต่อไม่ได้ ถ้ารากฐานการศึกษาไม่แข็งแรง”

เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นโจทย์ของทุกคน การก้าวเข้ามาจับมือร่วมกันระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับภาคเอกชนอย่างบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จนเกิดเป็นโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” จึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่าอนาคตทางการศึกษาของเด็กทุกคนจะเดินต่อไปได้ถ้าทุกคนมีส่วนร่วม

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งโครงการร่วมกับ กสศ. ใช้คำอย่างตรงไปตรงว่า “ถึงเวลาเลิกบ่น และลงมือทำ” พร้อมยอมรับว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถือเป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจอย่างแสนสิริเช่นกัน เพราะว่าทุกธุรกิจจะเดินหน้าต่อไม่ได้ถ้ารากฐานของประเทศอย่างการภาคการศึกษาไม่แข็งแรง ไม่ต่างจาก ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า การทำให้เด็กที่กำลังมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาที่มีจำนวนกว่า 1.9ล้านคน ได้มีโอกาสทางการศึกษาสูงสุดตามศักยภาพของตนเอง พวกเขาจะกลับเข้าสู่สังคมทั้งในฐานะผู้บริโภคหรือผู้เสียภาษีที่มีคุณภาพ ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือภาคธุรกิจและภาครัฐเอง เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นการลงทุนตั้งแต่ต้นทาง ใช้เงินน้อย และคุ้มค่าที่สุดของประเทศไทย

หุ้นกู้ทางการศึกษา ครั้งแรกในเอเชีย

การประกาศพันธกิจในโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” โดยแสนสิริเตรียมออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน 100 ล้านบาทครั้งแรกในเอเชีย เป็นการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ระยะยาว 3 ปี โดยแสนสิริจะจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าของหุ้นทุกไตรมาส และคืนเงินต้นเมื่อจบโครงการใน 3 ปี นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบได้ ผ่านบัญชี Escrow Account ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในชื่อ “บมจ.แสนสิริ เพื่อสนับสนุนโครงการร่วมกับ กสศ.” ซึ่ง กสศ. จะมีการจัดทำแผนรายปี และเบิกจ่ายไม่เกินปีละ 3 ครั้ง

ซึ่งเงินจำนวนนี้ กสศ. จะนำไปทำงานกับเด็กเยาวชนนอกระบบที่จังหวัดราชบุรี ที่ปัจจุบันมีจำนวน 11, 200 คน เพื่อให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือและนำกลับเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ การลงทุนครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่ได้ลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนการลงทุน 3.20% ต่อปี รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ แต่ยังเป็นการลงทุนในอนาคตเด็ก ให้เด็กได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่มีใครหลุดจากระบบการศึกษาและโดนทิ้งไว้ข้างหลัง

“ผมคิดว่าการบริจาคเงินสามารถทำได้ แสนสิริมีทุนจำนวน 100 ล้านบาทอยู่แล้ว ในส่วนของ CSR บริษัท แต่ถ้าทำอย่างนั้น เรานำเงินไปมอบให้ กสศ. แล้วก็จบ ขณะที่การออกหุ้นกู้ ผลตอบแทน 3.20% ในระยะเวลา 3 ปี เราจะสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงาน และช่วยส่งต่อเรื่องราวที่เป็นปัญหาระดับประเทศไปถึงผู้คนอื่น ๆ ได้กว้างไกลกว่า เพราะเรามีทั้งองค์กรที่เป็นพันธมิตรในการทำงาน มีคู่ค้า ลูกค้า อีกจำนวนมาก ซึ่งเขาจะได้รับรู้และส่งต่อความสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไปยังเพื่อนฝูงญาติมิตรเป็นทอด แล้วสิ่งนี้เองที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรหรือบุคคลอื่น ๆ ที่สนใจในปัญหาเดียวกัน เข้ามาร่วมมือกันได้มากขึ้น” นายเศรษฐากล่าว

นำร่องที่จังหวัดราชบุรี ชุบชีวิตเด็กกว่าหมื่นคน

สำหรับการเลือกพื้นที่เป้าหมายจังหวัดราชบุรี ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ กล่าวว่า จำนวนเงิน 100 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของปัญหาในพื้นที่จังหวัดใหญ่ ๆ นับว่ายังไม่เพียงพอ เพราะในหลายจังหวัดมีเด็กนอกระบบจำนวนมาก ฉะนั้นเมื่อตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เด็กนอกระบบเป็นศูนย์ จึงเริ่มต้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีขนาดและจำนวนเด็กที่เหมาะสม เพื่อสร้างโมเดลต้นแบบที่จะไปถึงเป้าหมายได้จริง

ร่วมกับปัจจัยอีกสองข้อ คือราชบุรีเป็นพื้นที่ที่ไม่มีโครงการของแสนสิริ ซึ่งจะทำให้ไม่มีข้อแม้เรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจทับซ้อน และอีกประการหนึ่งคือเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ได้สะดวก ดังนั้น ในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ พนักงานของบริษัทตลอดจนคู่ค้าและลูกค้าของแสนสิริ จะสามารถมีส่วนร่วมในการเข้าไปเห็นปัญหา วิธีการแก้ไข ผลสำเร็จ และรอยยิ้มที่จะเกิดขึ้นบนใบหน้าของเด็ก ๆ และครอบครัวของเขาได้

ด้านผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษากล่าวเพิ่มเติมว่า กสศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณด้านการศึกษาทั้งหมด หรือวงเงินประมาณ 5,000ล้านบาท ซึ่งนับว่าไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาให้เด็กเป็นรายคนที่มีจำนวนมากกว่า 2 ล้านคน จึงจำเป็นที่จะต้องหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นเจตนาโดยตรงของกฎหมายที่เขียนไว้ชัดเจนว่า กสศ.สามารถทำงานกับการรับบริจาค และให้สิทธิสามารถลดหย่อนภาษี ได้ 2 เท่า

“แต่ที่ผ่านมาการบริจาคเงินเป็นก้อนในหลักล้านหรือหลักสิบล้าน อาจจะทำงานทั้งจังหวัดได้ไม่เต็มที่ เราอยากทำให้เห็นว่าในการจัดการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนได้ต้องใช้กลไกจัดการเชิงพื้น ที่ต้องมีขนาดทรัพยากรพอสมควรกับจำนวนโจทย์ในพื้นที่ ยกตัวอย่างจังหวัดราชบุรีที่มีเด็กนอกระบบประมาณ 10,000คน ถ้าเราทำงานในงบประมาณปีละ 5,000 บาทสำหรับเด็ก 1 คน การดำเนินการสัก 2-3 ปีก็น่าจะเห็นผล”

กลไกการจัดการเชิงพื้นที่ ที่ต้องใช้นวัตกรรมความร่วมมือ

โครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่เริ่มต้นและจบลงที่จังหวัดราชบุรีเท่านั้น แต่ถูกออกแบบให้สามารถขยายโมเดลการทำงานและประสบการณ์ต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนากลไกจังหวัดที่เรียกว่า Area Based Education หรือ ABE ซึ่งจะมีความยั่งยืน กล่าวคือแม้การดำเนินโครงการที่วางไว้ 3 ปีจะจบลง แต่จะเกิดกลไกภายในพื้นที่ที่ยังทำงานต่อได้เพื่อป้องกันไม่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบอีก

กลไกที่สร้างความยั่งยืนนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศที่ดึงครัวเรือน ชุมชน และโรงเรียนมาทำงานร่วมกัน โดยมีแพลตฟอร์มให้เกิดการระดมทรัพยากรต่อยอดเพิ่มเติมที่สามารถดึงเอาภาคเอกชนอื่นๆในจังหวัดราชบุรีมาทำงานร่วมกัน จนกลไกมีความยั่งยืนที่จะทำเป็นข้อเสนอทางเชิงนโยบายในอนาคต และสามารถขยายผลไปใช้ในพื้นที่อื่นได้เช่นกัน

“เราไม่ได้หวังว่าจะทำเรื่องนี้ ที่จบที่ราชบุรีแต่เราต้องการให้เกิดกลไกเหล่านี้ที่จังหวัดอื่นๆ หรือเอกชนเจ้าอื่นลุกขึ้นมาทำตรงนี้บ้าง และนี่คือเหตุผลและภารกิจของกสศ.ที่เป็นกลไกเหนี่ยวนำความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ดร.ไกรยส กล่าว

โจทย์ร่วมกันของคนไทยทุกคน

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอธิบายหลักการการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ว่าไม่ใช่การทำงานแบบหนึ่งต่อหนึ่ง (one on one) คือระหว่างกสศ.กับแสนสิริเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อฐานลูกค้าของแสนสิริ  ฐานคนที่รู้จักแบรนด์แสนสิริ รวมทั้งคู่ค้า ลูกบ้านและขยายสู่สังคมเป็นวงกว้าง เพราะโจทย์เรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีเป้าหมายให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสอย่างทั่วถึง เสมอภาคและมีคุณภาพ ถือเป็นโจทย์ของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะโจทย์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

“ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐอย่างพวกเราที่จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน ให้ผลของเรื่องนี้เป็นที่รับรู้และเปิดโอกาสให้ทุกคนก้าวเข้ามา ไม่ใช่เข้ามาเป็นผู้บริจาคหรือผู้ลงทุน แต่ก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของของโจทย์นี้แล้วเฝ้าติดตามให้ความก้าวหน้าเรื่องนี้มันไม่หยุดไม่ชะลอและไปสู่เป้าหมายได้ในวันข้างหน้า” ดร.ไกรยส กล่าว

ทั้งนี้หุ้นกู้แสนสิริ จะเปิดขายวันที่15-18 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านแอป ฯ SCB EASY ตั้งแต่เวลา 8.30 เป็นต้นไป  โดยมีรายละเอียดดังนี้

– ผลตอบแทนการลงทุน 3.20% ต่อปี (รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือน)
– ลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 บาท
– จัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ BBB+ โดยทริสเรทติ้ง
– อายุหุ้นกู้ 3 ปี หมดอายุหุ้นกู้ รับเงินคืน

และหลังจากขายหมดทุกหุ้น เงินทั้งหมดจะเข้าสู่การดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์ ในบัญชี escrow โดยไม่หักค่าใช้จ่าย จากนั้นจะส่งตรงไปยัง กสศ. เพื่อนำไปใช้ในการทำงานต่อไปซึ่งนายเศรษฐาคาดการณ์ว่าหุ้นกู้นี้จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี “ผมมองว่าปัญหาเรื่องการศึกษา ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของสังคม เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันเท่าที่ทำได้ เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครที่จะไปต่อได้ ถ้ารากฐานการศึกษาของประเทศไม่แข็งแรง จึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะเริ่มต้นพลิกหน้าประวัติศาสตร์ ในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”