มิตรภาพ ความหวัง โอกาส ‘Welcome to Boys Town’ ต่างที่หมาย หลากหลายที่มา หากทุกหัวใจมีฝันเดียวกัน

มิตรภาพ ความหวัง โอกาส ‘Welcome to Boys Town’ ต่างที่หมาย หลากหลายที่มา หากทุกหัวใจมีฝันเดียวกัน

สองปีหลังวิกฤตโควิด-19 ทำให้จำนวนของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ‘Boys Town’ จึงได้ร่วมกับ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา’ ที่ทำงานครอบคลุมทั้งการค้นหาและออกแบบความช่วยเหลือเด็กเยาวชนเสี่ยงหลุดจากระบบทั่วทั้งจังหวัด ภายใต้เครือข่ายการทำงานร่วมกันของ ‘คนขอนแก่น’ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

โดยบอยส์ทาวน์ได้เข้าไปทำงานต่อยอดจากงานเดิมที่ทำอยู่ ไปสู่การเป็นอีกหนึ่งสถานที่พร้อมรองรับเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในเคสฉุกเฉินทางการศึกษา เพื่อให้เด็กๆ มีที่พัก ได้รับอาหารครบมื้อรวมถึงสิ่งจำเป็นต่างๆ พร้อมทำหน้าที่ประสานส่งต่อเพื่อให้เด็กๆ เข้าเรียนได้ทันทีในโรงเรียนชุมชนหนองกุงวิทยา และโรงเรียนน้ำพองศึกษา ทำให้เด็ก ๆ กลุ่มที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาสามารถเรียนต่อได้ทันทีอย่างไม่ทิ้งช่วง หรือต้องหันหลังให้กับการศึกษาไปตลอดชีวิต ซึ่งหากกู้วิกฤตนี้ไม่ทันก็คงเป็นการตัดโอกาสในอนาคตของเด็กคนหนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย

‘Boys Town’ กับบทบาทใหม่ ท่ามกลางภาวะวิกฤตทางการศึกษา

ดร.กฤต สุวรรณพรหม ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การที่จังหวัดขอนแก่นขับเคลื่อนงานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤตทางการศึกษาได้เร็ว เพราะได้รับความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนและมีคณะทำงานที่ทำงานด้วยหัวใจ ทุกฝ่ายต่างแสดงให้เห็นว่า สามารถเป็นที่พึ่งพิงได้ทั้งกับเด็กๆ หรือกระทั่งการสานต่องานจากคณะทำงานด้วยกัน

“บอยส์ทาวน์คือหนึ่งในพื้นที่ที่เต็มใจรองรับและดูแลเด็กๆ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสถานการณ์ทีเด็กเยาวชนมากมายเสี่ยงกับการไม่ได้เรียนต่อเพราะโควิด-19 ที่นี่จึงเป็นเหมือนสถานที่ที่มอบความหวัง มอบโอกาส มอบอนาคตทางการศึกษาคืนให้พวกเขา แล้วการจะช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้ตลอดรอดฝั่ง พ้นจากปัญหาได้จริงๆ เราต้องดูแลเขาในระยะยาว ให้เขาได้เติบโตขึ้นตามวิถีที่เขาเป็น เพื่อวันที่เขาโตขึ้น เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมช่วยคนอื่นต่อไป ถ้าทำได้อย่างนี้ เราจะหยุดวงจรปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และปัญหาสังคมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ในอีกด้านหนึ่ง บอยส์ทาวน์ยังแสดงให้เห็นว่า เด็กต้องการสถานที่ที่อบอุ่น ตอบโจทย์การเติบโต มีความปลอดภัย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถ้าเราไม่ช่วยเหลือเขา มันแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเด็กไม่มีต้นทุนที่จะฝ่าฟันไปได้ลำพัง แล้วชีวิตเขาจะเปลี่ยนไปอีกทางหนึ่ง การได้เห็นบอยส์ทาวน์ส่งเด็กรุ่นต่อรุ่นไปสู่ความสำเร็จ ทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่าจำนวนเด็กกลุ่มนี้จะลดลง หรืออาจไปถึงจุดที่ไม่มีพวกเขาอีกเลยในวันข้างหน้า”

30 ปี บนเส้นทางแห่งโอกาสจาก ‘Boys Town’

“เด็กทุกคนมาที่นี่ด้วยสาเหตุต่างกัน แต่อย่างหนึ่งที่เขามีเหมือนกันคือขาดโอกาส อยากเรียน อยากให้การศึกษาพาชีวิตไปให้ไกลที่สุด”

อาจารย์ปราโมทย์ คลังเกตุ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ‘Boys Town’

คำจำกัดความสั้นๆ ของอาจารย์ปราโมทย์ คลังเกตุ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ‘Boys Town’ ที่กล่าวถึงการมีอยู่ของสถานที่ที่ ‘ไม่ใช่โรงเรียน’ ไม่ใกล้เคียงกับการเป็น ‘ศูนย์’ หรือ ‘สถาบัน’ ใดหนึ่ง ทว่ากว่า 30 ปีผ่านมา อาณาบริเวณบนพื้นที่ราว 30 ไร่ ที่ตำบลหนองกุง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น แห่งนี้ คือที่พึ่งของเด็กเยาวชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่ในวันนี้พวกเขาเหล่านั้นต่างแยกย้ายกันไปเติบโตตามเส้นทางและเป็นส่วนหนึ่งของการสรรค์สร้างสังคม บ้างเป็นครูอาจารย์ บ้างเป็นวิศวกร กับจำนวนอีกไม่น้อยได้รับราชการในกระทรวงกองกรมต่างๆ

และแม้ถึงเป้าหมายแล้ว แต่ละคนก็ไม่เคยลืมที่จะแวะเวียนกลับมาส่งต่อโอกาสให้น้องๆ อยู่เสมอ นั่นเพราะที่แห่งนี้คือบ่อเกิดของความภาคภูมิใจ ความผูกพัน และเป็นที่รับรู้ร่วมกันว่าพวกเขาเดินทางมาถึงวันนี้ได้ ก็ด้วยโอกาสที่ได้รับจากการเป็น ‘เด็กบอยส์ทาวน์’ ในวันนั้น

เพาะบ่มประสบการณ์ที่จะติดตัวตลอดไป

“เราอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ เป็นบ้านให้เด็กๆ พักพิง มีที่นอน เสื้อผ้า อาหาร มีผู้ดูแลขัดเกลาทักษะชีวิตและให้โอกาสพวกเขาได้เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 เพื่อที่โอกาสนั้นจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาและครอบครัวให้ดีขึ้น”

อาจารย์ปราโมทย์ ในฐานะศิษย์รุ่นแรกที่เข้ามาอยู่บอยส์ทาวน์ตั้งแต่ปี 2532 จนได้เวียนกลับมาช่วยดูแลน้องๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า เล่าว่า บอยส์ทาวน์ก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจากมูลนิธิในประเทศอังกฤษ และสโมสรโรตารีในประเทศไทย เปิดรับเด็กชายวัย 12-18 ปีทั่วภาคอีสานที่จบชั้น ป.6 แต่ขาดผู้อุปการะหรือขัดสนทุนการศึกษา โดยมีความตั้งใจที่จะเรียนต่อ บอยส์ทาวน์จะดูแลเรื่องที่พัก อาหาร และส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนชุมชนหนองกุงวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสเปิดสอนถึงชั้น ม.3 และโรงเรียนน้ำพองศึกษา โรงเรียนประจำอำเภอที่มีตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.6 ส่วนใครที่สนใจเรียนสายอาชีพก็จะได้รับการสนับสนุนให้ไปต่อได้ตามที่ตั้งใจ

“เด็กที่เข้ามาจะผ่านการคัดกรองแล้วว่ามีพื้นฐานการดูแลตัวเองที่ดีในระดับหนึ่ง เพราะเรามีข้อจำกัดทั้งเรื่องทุนและคนดูแล อย่างปี 2565 นี้ เรามีครู 3 คน กับเด็ก 25 คน เด็กบอยส์ทาวน์จึงต้องพร้อมรับฟัง ปรับปรุงตัวเองได้ และมีเป้าหมายชัดว่าอยากศึกษาเล่าเรียน ส่วนเรื่องทักษะชีวิตต่างๆ ที่ขาดพร่องไปบ้าง บอยส์ทาวน์จะช่วยเติมเต็มให้พวกเขา จากอาจารย์ จากเพื่อนพี่น้อง และจากความมุ่งมั่นตั้งใจภายในตัวเองของเขา        

“นอกจากความรู้ที่โรงเรียนแล้ว เราต้องการให้เขามีมุมมองต่อชีวิตที่รอบด้าน มีทักษะอื่นๆ ติดตัวไว้ เราจะบอกเด็กเสมอว่าปริญญาไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิตเสมอไป ดังนั้น ขอให้เก็บทุกสิ่งที่เรียนรู้จากบอยส์ทาวน์ไว้เป็นต้นทุน เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ทั้งในการประกอบอาชีพ และการก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า”

ตารางชีวิตภายใต้ระเบียบเดียวกันของเด็กบอยส์ทาวน์ คือ ตื่นตีห้า เก็บที่นอน แบ่งงานกันทำ เริ่มด้วยจัดระเบียบบ้าน ทำอาหาร กินข้าวเช้า ลงแปลงผัก เลี้ยงไก่ ซักผ้า โดยทุกกิจกรรมจะหมุนเวียนหน้าที่ให้ทุกคนได้ทำทุกสัปดาห์ แบ่งเป็นทีมคละรุ่นพี่รุ่นน้องเพื่อดูแลและสอนงานกันได้ ถ้าเป็นวันธรรมดา เจ็ดโมงเช้าเด็กจะพากันไปโรงเรียน พอ 4 โมงเย็นกลับมาถึงก็แยกย้ายลงงานตามหน้าที่ ทำกิจกรรมสันทนาการ ออกกำลังกาย เล่นดนตรี แล้วอาบน้ำ กินข้าวเย็น ทำการบ้านอ่านหนังสือ เข้านอนสามทุ่ม ส่วนเสาร์อาทิตย์จะเพิ่มชั่วโมงลงงานกับเวลาพักผ่อนตามอัธยาศัย และเข้านอนไม่เกินสี่ทุ่ม

เปลี่ยนทิศทาง ‘สายน้ำแห่งชีวิต’

อาจารย์ปราโมทย์พูดจากประสบการณ์ที่ได้เห็นน้องๆ มาแล้วหลายรุ่นว่า “พื้นฐานของเด็กบอยส์ทาวน์จะค่อนข้างอ่อนไหว ส่วนใหญ่เข้ามาแรกๆ มีเหงาบ้าง เพราะหลายคนไม่เคยห่างบ้านเลย แต่ด้วยจิตใจแน่วแน่ว่าอยากเรียนหนังสือ ไม่นานเขาก็ปรับตัวได้ อีกทั้งทุกคนต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน ทำให้เด็กๆ เขาพร้อมดูแลกัน รับฟังและแนะนำกัน เพื่อให้แต่ละคนฝ่าฟันปัญหาจนไปถึงเป้าหมายปลายทางของตนได้

“ชีวิตที่บอยส์ทาวน์สอนเราว่า วิถีชีวิตคนเรานั้นมีหลากร้อยปัญหา มีความขาดแคลนที่ต่างกันไป สิ่งเดียวที่ทำได้คือหาทางของเรา ปรับปรุงชีวิตของเรา และวิธีหนึ่งที่ทำได้เลยคือใช้การศึกษาพาไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งโอกาสที่เขาได้รับก็เปรียบเหมือนกับการเปลี่ยนทิศทางของสายน้ำแห่งชีวิต เด็กที่ผ่านบอยส์ทาวน์ไปส่วนใหญ่จบปริญญาตรีในสถาบันชั้นนำ หลายคนได้ทุนเรียนต่อปริญญาโท จบแล้วแยกย้ายไปทำงาน มีอาชีพมั่นคง ดูแลตัวเองดูแลครอบครัวได้

“ตัวผมเองภูมิใจที่เป็นเด็กบอยส์ทาวน์ มีโอกาสเรียนก็เพราะที่นี่จนจบปริญญาโท ไปเป็นอาจารย์ แล้ววันหนึ่งก็ตัดสินใจกลับมาดูแลน้องๆ นับถึงปีนี้ก็ครบ 21 ปีแล้ว ศิษย์เก่าคนอื่นๆ เขาก็ไม่เคยเงียบหาย ส่งความช่วยเหลือมาตลอด หรือใครไปเจอเด็กที่ขาดโอกาสก็จะส่งต่อมาที่เรา ถือว่าให้อนาคตกันต่อๆ ไป ส่วนว่าเด็กอยากเรียนอะไร ไปทางไหนนั้นขึ้นอยู่กับเขา ที่เราทำคือแนะแนวทางให้เขาเห็นภาพอนาคตให้มากที่สุด แล้วช่วยผลักดันเขาให้พัฒนาได้เต็มศักยภาพ”

ทรรศนะเด็กบอยส์ทาวน์ 
กับพื้นที่แห่งมิตรภาพ ความหวัง และโอกาส

‘เต้อ’ ตัวแทนเด็กบอยส์ทาวน์ ผู้ตั้งเป้าเรียนรัฐศาสตร์ หลังจบชั้น ม.6 ในปีการคึกษานี้ บอกว่า รู้จักบอยส์ทาวน์เพราะมีรุ่นพี่จากหมู่บ้านเดียวกันอยู่ที่นี่ ตัวเขาเองเข้ามาอยู่หลังจบ ป.6 เพราะทางบ้านไม่มีเงินส่งให้เรียนต่อแล้ว

“พ่อแม่ผมทำงานหาเช้ากินค่ำ นอกจากผมก็ยังมีน้องอีกสองคน คิดว่าถ้าผมเรียนต่อ ม.1 เขาก็ต้องจ่ายค่าชุดนักเรียน ค่าอะไรต่างๆ อย่างน้อยต่อคนก็ไม่ต่ำกว่าสี่พัน ไหนจะเงินไปโรงเรียนอีก ดูยังไงก็ไม่ไหว ผมเลยตัดสินใจมาที่นี่

“ถ้าไม่มีบอยส์ทาวน์คงไม่มีโอกาสดีๆ สำหรับเด็กอย่างพวกผม มันยากนะครับ สำหรับพวกเราที่อยู่ห่างไกล บางหมู่บ้านไม่มีโรงเรียน ไม่มีอินเตอร์เน็ต เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นเลยว่ามีอะไรที่ข้างนอกนั่น ขณะที่โรงเรียนในเมืองมีพร้อมทุกอย่าง ผมจึงตั้งใจว่าอยากเรียนเกี่ยวกับการปกครอง เพื่อทำงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา ให้มีความเท่าเทียมครอบคลุมทุกพื้นที่ให้ได้มากกว่านี้”       

‘เก้อ’ ที่ตั้งใจเรียนต่อวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่าตอนจบ ม.3 ที่บ้านประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก ตัวเขาเองที่ตั้งใจจะเรียนต่อสายอาชีพในวิทยาลัยแถวบ้าน เริ่มไม่มั่นใจว่าจะไหวแค่ไหน แต่บังเอิญได้รับคำแนะนำจากครูท่านหนึ่งที่เคยเป็นศิษย์เก่าบอยส์ทาวน์ เขาจึงลองเข้ามาดูและตัดสินใจได้ทันที

“ตอนนั้นที่บ้านมีหนี้สิน ภาระอะไรต่างๆ เยอะมาก คิดว่าแม่ไม่น่าจะส่งผมเรียนได้แล้ว พอครูเขาแนะนำผมก็สนใจครับ กังวลอยู่เรื่องเดียวว่าผมมาแล้วใครจะช่วยเขาทำงาน แต่พอคิดว่าเป็นการมาเพื่ออนาคต ก็ตัดสินใจได้ ผมออกมาก็ทั้งช่วยลดภาระแม่ ให้โอกาสน้องได้เรียน แล้ววันหนึ่งที่เรียนจบซึ่งผมตั้งใจไว้แล้วว่าต้องเอาปริญญาให้ได้ ผมจะมีงานทำ ช่วยแม่ช่วยน้องได้ดีกว่า

“คิดว่าถ้ายังอยู่บ้านก็คงไม่ได้เรียนแล้ว ตอนนี้พอมองเห็นทาง รู้ครับว่ายาก แต่ผมมีความฝันอยู่ มันก็ดีกว่าไม่มีเป้าหมายอะไรเลย อย่างน้อยตอนนี้ฝันก็คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ผมอยากเดินไปข้างหน้า ทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ”

ส่วน ‘โอ๊ต’ บอกว่าอยู่บอยส์ทาวน์ตั้งแต่จบ ป.6 ตอนมาอยู่ใหม่ๆ คิดถึงบ้านมาก นอนร้องไห้อยู่สามวันเต็ม จนย่าโทรมาถามว่าอยู่ไหวไหม เขาเลยนึกได้ว่าตั้งใจมาอยู่ที่นี่ก็เพื่อย่า จึงพยายามฮึดอีกครั้ง พร้อมได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ จากรุ่นพี่ และจากเพื่อนๆ จนในที่สุดก็ปรับตัวได้ เรียนหนังสืออย่างมีความสุข กระทั่งวันนี้เหลืออีกปีเดียวจะจบมัธยม และเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว

“การได้อยู่กับเพื่อนกับรุ่นพี่ช่วยให้ลืมความเหงาได้เยอะครับ ที่นี่ฝึกให้เราเข้มแข็ง สอนให้ช่วยเหลือตัวเองได้ อยู่ร่วมกับคนอื่นเป็น ผมไม่เคยเห็นใครมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งเลย เพราะเรากินข้าวหม้อเดียวกัน เพราะความขาดแคลนและต้องการโอกาสเหมือนๆ กันทำให้เรารักกัน   

“ตอนนี้ผมเป็นรุ่นพี่แล้วก็ต้องมีหน้าที่ดูแลน้องบ้าง อะไรไม่ดีเราก็เตือนกัน ผมคิดว่าเมื่อได้มาอยู่ที่นี่แล้ว พวกเราทุกคนจะเติบโตไปด้วยกัน จะเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องกันตลอดไป เหมือนกับที่เราเห็นพี่ๆ บอยส์ทาวน์รุ่นก่อนๆ ที่ถึงจะเรียนจบไปทำงานที่ไหนก็ตาม แต่ทุกคนยินดีจะส่งความห่วงใยช่วยเหลือกลับมาที่นี่เสมอครับ”