นักวิจัยแนะ​เร่งซ่อมเสริมทักษะความรู้เด็ก 28 จังหวัด ในชั้นเรียนใหม่

นักวิจัยแนะ​เร่งซ่อมเสริมทักษะความรู้เด็ก 28 จังหวัด ในชั้นเรียนใหม่

ปิด รร.ช่วงโควิด 1 เดือน 28 จังหวัด กระทบเด็กปฐมวัยรุนแรง ผลวิจัยสะท้อนทำเด็กล้าหลังด้านคณิตศาสตร์เกือบ 2 เดือน นักวิจัยแนะ​รอบหน้าปิดตามความเสี่ยงจำกัดวงให้แคบที่สุด  พร้อมซ่อมเสริมทักษะความรู้ที่หายไปในชั้นเรียนใหม่

ปรากฏการณ์ COVID Slide ที่ผ่านมาส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างรุนแรง​  ซ้ำเติมด้วยมาตรการปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดใน 28 จังหวัด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าเด็กนักเรียนใน 4 จังหวัดที่ต้องปิดเรียนเป็นเวลาเดือนกว่า เกิดภาวะความรู้ถดถอยมากกว่าเด็กในโรงเรียนที่ไม่ถูกปิดอย่างเห็นได้ชัด ​โดยเฉพาะกับ “เด็กปฐมวัย”​ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ เมื่อการเรียนรู้ช่วงนี้ได้รับผลกระทบย่อมส่งผลเสียในระยะยาวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

โจทย์เร่งด่วนในเวลานี้ นอกจากจะหาทางหนุนเสริมการเรียนรู้ที่ขาดหายไปในช่วงโควิด-19 ให้กลับคืนมาแล้ว  หลักฐานทางวิชาการชิ้นนี้น่าจะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้ภาครัฐและผู้ออกนโยบายต้องคิดทบทวนอย่างหนัก กับการออกมาตรการปิดสถานศึกษาแบบเหมารวมต่อไปในอนาคต ตลอดจนถึงเวลาทบทวนและปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่นำมาทดแทนในช่วงหยุดเรียนซึ่งมีหลักฐานชี้ชัดว่าไม่ได้ผลสำหรับเด็กปฐมวัยมากนัก

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง หัวหน้าคณะผู้วิจัยรายงานว่า คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยการวิเคราะห์ข้อมูลระดับความพร้อมของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ที่ประเมินจากเด็กปฐมวัยใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าเด็กอนุบาลใน  นนทบุรี อยุธยา กาญจนบุรี สมุทรปราการที่ปัญหาการระบาดจนต้องปิดโรงเรียนนั้น ทำให้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ลดลง 1.98 เดือน และ ด้านสติปัญญาลดลง 1.39 เดือน  ซึ่งเป็นผลกระทบระยะสั้นที่ต้องติดตามดูต่อไปว่าจะส่งผลระยะยาวรุนแรงขนาดไหน

“​จากงานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นก่อนที่ผู้ออกนโยบายจะมีมาตรการปิดโรงเรียน คงต้องคิดให้ดี โดยอาจไม่ต้องปิดแบบวงกว้าง ปิดทีทั้งจังหวัด แต่ให้ปิดแบบวงแคบจำกัดให้เล็กที่สุด โดยประเมินความเสี่ยงรวมทั้งสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเด็กให้ดี ต้องเปลี่ยนกระบวนการคิด ปิดโรงเรียนเมื่อจำเป็น ไม่ใช่ทำให้โรงเรียนปิดแล้วเปิดเมื่อเปิดได้ วิธีคิดต้องกลับด้าน เพราะเรามีหลักฐานที่น่าห่วง และยังไม่รู้ว่าผลจะเรื้อรังไประยะยาวแค่ไหนซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไป”

หัวหน้าคณะผู้วิจัย อธิบายว่า ช่วงปฐมวัยถือเป็นช่วงเวลาสำคัญต่อการเรียนรู้ ​เมื่อเกิดการถดถอยทางการเรียนรู้ในช่วงวัยนี้ย่อมอาจส่งผลต่อการเรียนรู้ในอนาคต ส่วนจะมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเรียนตามทันหรือไม่ หรือมีมาตรการเสริมเพิ่มเติมมาช่วยให้เขาเรียนตามทันคนอื่นก็ได้ ดังนั้นเวลานี้ผู้ออกนโยบายคงต้องมานั่งคิดกันว่าจะมีอะไรเสริมให้กับเด็กกลุ่มนี้หรือไม่ โดยเฉพาะกับ 25 จังหวัดที่มีมาตรการปิดโรงเรียนรอบที่ผ่านมาว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะวางแผนอย่างไรให้เด็กๆ ได้รับการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น 

 

สอนออนไลน์ไม่ได้ผลกับเด็กปฐมวัย
เสนอปรับรูปแบบเครื่องมือให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับตัวอย่างจากหลายประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็จะปิดสถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นลำดับท้ายๆ เพราะเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการศึกษามากกว่ากลุ่มเด็กโตที่อาจสามารถเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์  หรือช่องทางอื่นได้มีประสิทธิภาพมากกว่า อีกด้านยังช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ปกครองด้วยเพราะเวลาเด็กเล็กหยุดอยู่บ้าน พ่อแม่ก็ต้องหยุดงานมาช่วยดูแลลูก

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือปิดโรงเรียนให้น้อยที่สุด วงแคบที่สุด และปิดสถานศึกษากลุ่มเด็กเล็กเป็นลำดับหลังสุด​ รวมทั้งรูปแบบการสอนออนไลน์ ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ผล ถ้าครั้งต่อไปก็ควรเลือกสื่อการสอนที่ไม่ใช่สื่อออนไลน์ เพราะออนไลน์ก็ยังทดแทนการใช้คนสอนไม่ได้ หรือการมาเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือควรจะหาเครื่องมือหรือวิธีการเรียนรู้ตามธรรมชาติเด็ก เพราะเด็กเล็กไม่สามารถโฟกัสที่หน้าจอได้นานๆ ไม่เหมือนกับการนั่งดูการ์ตูน

 

ห่วงผลกระทบ “ทักษะทางสังคม” เสียหายรุนแรง
แนะสร้างบรรยากาศดึงเด็กเข้าห้องเรียน ไม่สอนก้าวกระโดด

อีกประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปก็คือเรื่อง “ทักษะทางสังคม”​​ ว่าได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหน​ เพราะขนาดเรื่องสติปัญญาซึ่งเป็นเรื่องที่ใครสอนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาเรียนที่โรงเรียนอย่างเดียว ยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วงที่ต้องหยุดเรียนไปกว่าหนึ่งเดือน  แต่ “ทักษะทางสังคม” เป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ เด็กต้องมาอยู่ด้วยกัน เล่นด้วยกัน ถึงจะเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะส่วนนี้ ซี่งหากให้ประเมินจากเรื่องสติปัญญาที่ได้รับผลกระทบชัดเจนแล้ว​ทักษะทางสังคมก็น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกัน

แนวทางแก้ไขต่อจากนี้คุณครูที่จะรับเด็กกลุ่มนี้ในชั้นเรียนต่อไปจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะปกติการเรียนรู้ของเด็กต้องเรียนรู้ด้วยการกระตุ้น แต่การเรียนออนไลน์ทำให้เด็กเบื่อ ไม่อยากเรียน เมื่อโควิดจบทุกคนต้องช่วยกันทำให้บรรยากาศการเรียนดึงดูดให้เด็กสนใจกลับไปเรียน รวมทั้งครูอาจต้องสอนให้ช้าลงกว่าระดับปกติ  เพราะรู้ว่าเด็กขาดเรียนไปเป็นเดือน ไม่ควรก้าวกระโดด โดยเฉพาะช่วงรอยต่อระหว่าง อนุบาลกับป.1 ที่มีความแตกต่างในการเรียนรู้อยู่พอสมควร

รศ.ดร.วีระชาติ กล่าวว่า เรื่องการปิดสถานศึกษาไม่อยากให้ปิดเพราะไม่จำเป็น ไม่เหมือนกับร้านหาหารที่มีความจำเป็นว่าต้องกินข้าว แต่รู้สึกว่าเด็กไม่ได้เรียนไม่เป็นไรยังอยู่ได้  แต่ก็คงไม่ถึงขั้นว่าให้โรงเรียนเป็นสถานที่สุดท้ายที่ต้องปิด แต่อยากให้เข้าใจความเสี่ยง และอยากให้ตัดสินใจบนฐานของความเสี่ยง ไม่ใช่ตัดสินใจบนความจำเป็นที่ไม่ใช้ความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ต้องดูว่ากิจกรรมนี้มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ โรงเรียนมีความเสี่ยงสูงหรือไม่เพราะอะไร