ครูอาสาสมัคร แนวหน้าสถานการณ์โควิด-19 “เราจะทำทุกทางให้อาหารและความช่วยเหลือไปถึงมือลูกศิษย์และครอบครัวของเขาให้ได้”

ครูอาสาสมัคร แนวหน้าสถานการณ์โควิด-19 “เราจะทำทุกทางให้อาหารและความช่วยเหลือไปถึงมือลูกศิษย์และครอบครัวของเขาให้ได้”

“โรงเรียนของเราอยู่ในพื้นที่สีแดง เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนมากกว่า 3,000 คน หมายความว่ามีครอบครัวมากกว่า 3, 000 ครอบครัว  ที่เขารอคอยความช่วยเหลือเร่งด่วนและอยู่ในความรับผิดชอบของเรา ดังนั้นอะไรที่ทำได้ เราต้องทำ” 

‘ครูนัท’ นฤมล สิริวจี ครูประจำชั้น ป.3/7 และครูสอนวิชานาฏศิลป์ ประจำโรงเรียนสามเสนนอก (ประชาราษฎร์อนุกูล) เผยเหตุผลที่มาทำงานอาสาสมัคร เพื่อประสานความช่วยเหลือให้ลูกศิษย์และครอบครัวได้รับการดูแลด้านสาธารณสุข รวมถึงการกระจายอาหารและยา  ให้ไปถึงมือพวกเขาเหล่านั้นขณะต้องกักตัวอยู่ในที่พักอาศัย  

เธอหวังว่าสิ่งที่ลงแรงลงใจไปนั้นจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้ลูกศิษย์และครอบครัวของพวกเขาผ่านพ้นวิกฤตไปได้

‘ครูนัท’ นฤมล สิริวจี ครูประจำชั้น ป.3/7 และครูสอนวิชานาฏศิลป์ ประจำโรงเรียนสามเสนนอก (ประชาราษฎร์อนุกูล)

ทำทุกทางให้ความช่วยเหลือไปถึงลูกศิษย์

จากเคสที่ศิษย์ต่างห้องเรียนคนหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 ถูกกักตัวไว้บนชั้น 5 ของคอนโดที่พักเพียงลำพัง ขณะที่ครอบครัวเด็กพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผล จนถึงเคสที่เกิดขึ้นกับลูกศิษย์ในห้องชั้น ป.3/7 ของครูนัทเอง ที่ครอบครัวซึ่งมีกัน 6 คนแต่ต้องแยกย้ายไปคนละทาง เมื่อคนเป็นแม่ติดเชื้อถูกส่งเข้าโรงพยาบาล ส่วนพี่สาวคนโตที่ติดเชื้อเช่นกันกำลังจะถูกรับตัวออกไป 

ภาระที่ถูกทิ้งไว้คือน้อง ๆ 4 คน ซึ่งต้องได้รับการดูแลทั้งเรื่องอาหารและการกักตัวในฐานะกลุ่มเสี่ยง จึงตกมาถึงกลุ่มคุณครูโรงเรียนสามเสนนอก (ประชาราษฎร์อนุกูล)    

“สำหรับคนเป็นครู ปัญหาของลูกศิษย์ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ล้วนสำคัญอยู่แล้ว  ยิ่งปัญหาที่เราเผชิญอยู่คือวิกฤตระดับโลกที่กระทบมาถึงนักเรียนของเรา ฉะนั้นเราอยู่เฉยไม่ได้ เคสผู้ติดเชื้อทั้งเด็กและผู้ปกครองทวีจำนวนเพิ่มขึ้น  กลุ่มครูจึงดัดแปลงพื้นที่โรงเรียนให้เป็นศูนย์ประสานความช่วยเหลือ ระดมเงินและสิ่งของบริจาค ทำโรงครัวเล็ก ๆ ไว้ประกอบอาหารง่าย ๆ นำเข้าไปให้เด็กและครอบครัวของเขาทุกวัน

“เราจะทำทุกทางให้อาหารและความช่วยเหลือไปถึงมือลูกศิษย์และครอบครัวของเขาให้ได้” ครูนัทเล่า

ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต (กสศ.) 

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19  ทำให้เด็กเยาวชนจากกลุ่มเปราะบาง  ซึ่งครอบครัวยากจนและอยู่ในชุมชนแออัด  ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและการรักษาที่เหมาะสมได้ทันสถานการณ์  กสศ.จึงได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต’ ขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วน  ซึ่งขณะนี้ยังมีคนตกค้าง ไม่ได้รับการช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ กสศ. ได้สนับสนุนการสร้างกลไกอาสาสมัครและความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ  เช่น  สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยง ชุดปฐมพยาบาล  เครื่องมือติดตามอาการผู้ป่วยเด็กและครอบครัวในชุมชน  กำลังเสริมในการขนส่งผู้ป่วยเด็กและครอบครัว  

นอกจากนี้ยังมีองค์กรต่าง ๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ที่เข้ามาประสานความร่วมมือกันกับ กสศ.

“ความช่วยเหลือจากภายนอกที่ส่งเข้ามา เป็นพลังสำคัญที่ช่วยให้การทำงานเดินหน้าไปได้ ตั้งแต่เคสแรก ๆ ที่ยังติดต่อใครไม่ได้ เรามีมูลนิธิกระจกเงาที่รับแจ้งความช่วยเหลือ และได้ประสานต่อไปยัง กสศ. ที่เข้ามารับตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน  นำส่งเข้ากระบวนการรักษา จากนั้น กสศ. ก็เป็นหน่วยงานหลักที่นำความช่วยเหลือด้านอื่นเข้ามา ทั้งอาหาร ยา และมีรถฉุกเฉินที่พร้อมรับส่งเคสเร่งด่วน”

ปัญหาใหญ่ที่พบคือ กลุ่มที่ผลตรวจเบื้องต้นยืนยันการติดเชื้อ แต่ผู้ป่วยไม่มีใบรับรองทำให้ไม่สามารถส่งตัวได้  ครูอาสาจึงต้องทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการส่งต่อเข้าศูนย์พักคอยและโรงพยาบาล 

“ช่วงแรก ๆ ภาพการทำงานคือความโกลาหล  เพราะพวกเราที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้คือครู มีงานหลักคือสอนหนังสือ แต่พอต้องเข้ามาช่วยครอบครัวของลูกศิษย์ คอยประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่ก็ลำบากในภาวะเช่นนี้  ไม่มีพื้นที่พอรองรับ  ต้องอยู่กับความรู้สึกกังวลของผู้ปกครอง ทั้งยังมีความยากลำบากในการจัดเตรียมอาหารให้เพียงพอสำหรับแต่ละบ้าน เหล่านี้ล้วนเป็นบททดสอบที่ยิ่งใหญ่ของพวกเราในฐานะอาสาสมัคร”

ความรักและความเมตตาระหว่างมนุษย์คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีค่ามหาศาล

ครูนัทกล่าวว่า ผลจากความช่วยเหลือร่วมกันของหลายฝ่าย ไม่เพียงช่วยให้เด็กและครอบครัวเข้าถึงระบบสาธารณสุข มีอาหารประทังชีวิตในยามยากลำบาก หากยังเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เธอและเพื่อนกลุ่มครูอาสามีกำลังใจ

“แม้ต้องเจออุปสรรคทดสอบจิตใจทุกวัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เห็นว่า ความรักและความเมตตาระหว่างมนุษย์คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีค่ามหาศาล ที่สำคัญคือเราไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีเพื่อน ๆ ครูที่มาช่วยกัน  มีการประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วน  และแรงสนับสนุนจากผู้อำนวยการโรงเรียน

“ตั้งแต่มีเด็กนักเรียนติดเชื้อคนแรก ผู้อำนวยการแจ้งทุกคนในโรงเรียนทันทีว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะถ้าเกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่ โรงเรียนจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือนักเรียนและครอบครัวของเขาให้ได้    หลังความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาสมทบ เราคิดว่าถอยไม่ได้แล้ว เพราะในเมื่อคนจากข้างนอกเขาทำเต็มที่  ตัวเราในฐานะครูคงไม่สามารถมองเห็นลูกศิษย์ป่วยอยู่เฉย ๆ ได้ วิกฤตครั้งนี้จึงเหมือนเข้ามาย้ำเตือนว่า นอกจากหน้าที่สอนหนังสือแล้ว ยังมีภารกิจอีกมากมายที่ครูอย่างเราต้องทำเพื่อลูกศิษย์”