รสนา โตสิตระกูล ดันสมาร์ทซิติเซ่น เพิ่มการเรียนทักษะชีวิตที่เก็บเป็นหน่วยกิตได้
โดย : รสนา โตสิตระกูล หนึ่งในว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร

รสนา โตสิตระกูล ดันสมาร์ทซิติเซ่น เพิ่มการเรียนทักษะชีวิตที่เก็บเป็นหน่วยกิตได้

ความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นคำที่ได้ยินกันถี่ขึ้นทุกวัน และถือเป็นคำที่มีพลังสะท้อนจากภาพความจริงที่กำลังปรากฎให้เห็นอยู่ โดยที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มักจะเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ แต่ในมิติเดียวกันนี้ ระบบการศึกษา ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งขนาดใหญ่ ที่รวมอยู่ในความเหลื่อมล้ำนี้ด้วยเช่นกัน โดยในงานเสวนา ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส เพื่อระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 โดยได้ดึงว่าที่ผู้สมัครชิงชัยตำแหน่งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร มานำเสนอแนวคิดและไอเดีย การแก้ไขการศึกษาของเมืองหลวง พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ที่จะช่วยยกระดับการศึกษาของมหานครแห่งนี้

“กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับระบบระบายน้ำมากกว่าการศึกษา”

คำกล่าวของ รสนา โตสิตระกูล หนึ่งในว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักในแวดวงผู้ติดตามการเมืองไทยตั้งแต่ยุคปี 2541 เป็นต้นมา ในฐานะนักเคลื่อนไหวต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อปี 2551 ทำให้ประสบการณ์การทำงานล้วนเต็มไปด้วยงานภาคประชาชน ชื่อของรสนาจึงเป็นที่คุ้นเคยต่อเหล่าประชาชนส่วนใหญ่

และในฐานะตัวแทนลงชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่าฯ เมืองหลวงครั้งนี้ รสนาก็มีมุมมองต่อการศึกษาของกรุงเทพฯ ว่า มันไม่ได้มีปัญหาแค่ภายในระบบ แต่มันยังมีรายละเอียดอีกมากมาย ที่ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่มองข้ามไป

“ความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ แรงมาก หนักกว่าต่างจังหวัดอีก มหานครที่อยากเป็นสมาร์ทซิตี้ เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีสมาร์ทซิติเซ็น ปัญหาที่ซ่อนไว้ มันมีเยอะมาก เราจะมองแต่กลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์ไม่ได้ คนส่วนใหญ่เป็นคนมีรายได้น้อย ครอบครัวเหล่านี้บางครอบครัวยังต้องซื้อนมข้นหวานมาชงเพื่อเลี้ยงลูก และยังมีเด็กหลุดจากการศึกษาเยอะมาก งบประมาณ 700 ล้าน ใน 32 โรงเรียน เราให้ความสำคัญกับการระบายน้ำเยอะกว่าการศึกษา” รสนากล่าว

ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ระบุไว้ว่าในกรุงเทพฯ มีเด็กในระบบทะเบียนราษฎร์อยู่ที่ 899,958 คน แต่กลับมีเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาถึง 306,273 คน และเป็นจังหวัดเดียวที่มีตัวเลขถึงหลักแสนคน นั่นจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่คุณรสนากล่าวมา ไม่ใช่เรื่องเกินจริง

และใช่ว่าจะมาเพียงแค่ชี้ปัญหา แต่ในฐานะผู้สมัครชิงชัยตำแหน่งผู้ว่าฯ ก็มีแนวคิดวิสัยทัศน์ ที่เชื่อมั่นว่า กรุงเทพมหานคร ที่มีอิสระในการกำหนดตั้งแต่เรื่องทางเท้ายันระบบการศึกษาของเมือง สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้ โดยเสนอให้การศึกษาในกรุงเทพฯ ต้องปรับใหม่เป็นระบบ “สาธิต” ที่จับมือกับภาคเอกชน เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น เน้นการเรียนรู้อัตลักษณ์ในชุมชนของตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมานับเป็นหน่วยกิตได้

“ถ้าเด็กอยากจะเรียนดนตรีไทยเขาอาจจะไปหาครูดนตรีไทยในชุมชนมาสอน กทม.ก็สามารถจ่ายเงินจ้างครูดนตรีไทย หรือเขาอยากจะเป็นเชฟอาหาร หรือเขาอยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับบิตคอยน์ก็ต้องทำให้เขาได้เรียนรู้โดยเราหาผู้เชี่ยวชาญมาสอน และเด็กสามารถเอาสิ่งที่เขาเรียนรู้เป็นเครดิตที่เข้าไปรวมในระบบการศึกษาของเขาได้” รสนากล่าว

จากความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นนี้ผลักให้เด็กหลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษา ที่จำนวนมากออกไปทำงานเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในครอบครัว แนวคิดของคุณรสนาจึงเสนอให้เพิ่มพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งพื้นที่นั้นต้องเป็นสถานที่ที่สร้างรายได้ให้กับพวกเขา เพื่อสามารถเรียนรู้วิชาชีพได้ตั้งแต่อายุน้อย

“หลายคนมักจะพูดว่า เราต้องสร้างความหลากหลายด้านการเรียนรู้ จึงขอเสนอให้เด็กเรียนครึ่งวัน อีกครึ่งวันให้ไปเรียนรู้เอง กรุงเทพฯ มี 50 เขต แต่ละเขตมีความแตกต่างกัน เด็กบางคนไม่รู้จักชุมชนตัวเอง ต้องทำให้เขารู้จักชุมชนของตัวเองและสามารถดำรงชีพได้ เช่น อยากเรียนทำอาหารแบบเจ๊ไฝ หรืออยากเรียนอื่น ๆ โดยที่กรุงเทพฯ จ่ายเงินสนับสนุน การเรียนไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องเรียน เราสามารถสร้างหลักสูตรนี้เองได้ มันสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียนและได้ลงมือทำจริง จะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้วิชาชีพโดยตรง ซึ่งกรุงเทพฯ ควรเป็นเจ้าภาพในการร่วมมือกับเอกชน และเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้สร้างการเรียนรู้ ขณะเดียวกัน เมื่อเด็กไปฝึกวิชาชีพของจริง มันก็ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไปในตัว เพราะทุกช่วงเวลา เด็กได้เรียนรู้มากกว่านอนอยู่บ้านเฉย ๆ ดิฉันเชื่อว่ามีงบประมาณเพียงพอ ที่จะอุดหนุนตรงนี้ได้” รสนากล่าว

ทั้งหมดนี้จึงเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับแนวคิดของ รสนา โตสิตระกูล หนึ่งในว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ที่เน้นย้ำว่า สมาร์ทซิตี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีสมาร์ทซิติเซ็น

“คุณจะเห็นความสำคัญของป้ายโฆษณากว่าสนามเด็กเล่นของเด็กได้อย่างไรกัน เรามีเครือข่ายภาคประชาสังคมเยอะมาก แต่กรุงเทพฯ ไม่เคยดึงพวกเขามามีส่วนร่วมเลย มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกว่าผู้บริหารจะรู้จักกรุงเทพฯ ได้ดี ถ้าทำให้เด็กได้เรียนรู้วิชาชีพโดยตรงแล้ว ก็ให้หน่วยงานเหล่านั้นออกใบรับรองให้พวกเขา เพื่อให้สามารถไปต่อยอดทางด้านการศึกษาได้” รสนาทิ้งท้าย