อย่าปล่อยเวลาทองให้สูญเปล่า แก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่ต้นทาง ยกระดับศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน
รศ.ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อย่าปล่อยเวลาทองให้สูญเปล่า แก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตั้งแต่ต้นทาง ยกระดับศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน

ช่วงอายุเด็กปฐมวัยคือเวลาทองของการส่งเสริมพัฒนาการ  ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางที่วัยนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่มีกว่า 292 แห่งทั่วกรุงเทพมหานครจึงจำเป็นที่ต้องยกระดับคุณภาพเพื่อรองรับเด็กยากจนให้ได้รับการดูแลต่อเนื่อง และเติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรง

ระดมแนวคิดจาก 6 คนทำงานการศึกษา เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพมหานครให้เป็นพื้นที่แห่งการศึกษาที่เข้าถึงเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม ในเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 โดยสะท้อนปัญหาและเสนอนโยบายผ่านหัวข้อ  ปลดล็อกกรุงเทพ : เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565

ศูนย์เด็กเล็กไม่ใช่แค่ที่รับฝากเด็ก แต่ต้องมีหลักสูตรที่มีคุณภาพ

ศ.ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นภาพรวมของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่ดูแลเด็กกว่า 19,000 คน แต่กลับไม่ได้กระจายครบทุกเขตในกรุงเทพฯ และพบว่ากระจุกอยู่แค่บางพื้นที่ อย่างเช่นในเขตมีนบุรี และหนองจอกมีถึง30-40 แห่ง ทั้งนี้ศูนย์ที่ถูกถ่ายโอนมาดูแลโดย กทม.เอง จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือสำนักพัฒนาสังคม ที่ขอบข่ายหน้าที่ไม่จำกัดเพียงแค่เด็กปฐมวัยแต่ต้องดูแลไปจนถึงผู้สูงอายุ ทำให้ศูนย์เหล่านี้ได้รับการดูแลไม่เต็มที่

“ประชาชนในกรุงเทพฯ มีความกระจายตัวของความหลากหลายตั้งแต่รวยที่สุด ปานกลางจนถึงลำบากที่สุด คนที่อยู่ในชั้นกลางหรือสูงหน่อยมีโอกาสเลือกเยอะ ตั้งแต่โรงเรียนระดับนานาชาติค่าเทอมเป็นล้าน โรงเรียนสาธิตและอื่น ๆ แต่เด็กระดับล่างลงมามีแค่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ที่พ่อแม่เห็นเป็นแค่ที่รับฝากเด็กตอนที่พ่อแม่ต้องทำงาน ไม่ต้องเสียค่าเทอม ไม่เสียค่าแลกเข้า ขอแค่เพียงมีที่อยู่สำหรับดูแลบุตรหลาน”  รศ.ดร.สมสิริ กล่าว

เมื่อศูนย์เด็กเล็กคือที่พึ่งพิงของครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่คุณภาพของศูนย์กลับเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น จากพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ต้องมีหลักสูตรการส่งเสริมพัฒนาการเด็กและจะต้องถูกประเมินจากหน่วยงานภายนอก แต่พบว่าคุณภาพของแต่ละศูนย์ไม่เท่ากัน 

จากการประเมินภายในของสำนักงานเขตเองมีศูนย์ที่อยู่ในระดับดีมากถึง 70% แต่เมื่องค์กรภายนอกที่ใส่ใจเรื่องการจัดประสบการณ์ทางการเรียนรู้หรือทำให้เด็กเรียนรู้ตามพัฒนา เป็นผู้ประเมินกลับพบว่ามีศูนย์ที่อยู่ในระดับดีมากแค่ 20% ส่วนกลุ่มที่พอใช้ ปรับปรุง หรือปรับปรุงเร่งด่วน มีถึง 50% แยกปรับปรุงเร่งด่วนออกมาพบกว่า 5% 

ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ

ปัญหาใหญ่ต่อมาคือบุคลากรครูในศูนย์เด็กเล็กมีเพียง 15% ที่จบปริญญาตรีด้านปฐมวัย ส่วนใหญ่จบ ม.6 ทำให้ความรู้ในการดูแลเด็กตามพัฒนาการมีไม่เพียงพอ รวมทั้งรายได้ของครูที่ศูนย์ถ้าจบม.6 อยู่ที่ 7,000 บาท ส่วนระดับปริญญาตรีอยู่ที่ 15,000 บาท จำนวนเงินดังกล่าวแทบไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในกรุงเทพ ฯ 

“เงินเดือนที่ให้ครูในศูนย์จะถูกหักถ้าหยุดทำงาน และจะไม่ขึ้นเงินเดือนตลอดอายุการทำงาน ส่วนบางเดือนเงินออกไม่ตรงกัน” รศ.ดร.สมสิริ กล่าว

ด้านฐานข้อมูลของเด็กในศูนย์เด็กเล็กพบว่าถูกบันทึกอย่างไม่เป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถส่งต่อหรือแลกเปลี่ยนได้ ข้อมูลบางอย่างพิสูจน์ไม่ได้ บางแห่งไม่ได้เก็บประวัติเด็กไว้ ในที่สุดถ้ามีเด็กที่พัฒนาการล่าช้าข้อมูลก็จะไม่ถูกส่งต่อไปยังสถานศึกษาที่เด็กไปเรียนต่อ ทำให้การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

และสุดท้ายคือปัญหาที่เกิดจากครอบครัวเอง พวกเขาส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างที่รายได้ทั้งครอบครัวน้อยกว่า 20,000 บาท และยังว่างงานถึง 10% โดยมีครอบครัวเปราะบางที่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัวแหว่งกลางถึง 25%

“ให้ย่ายายมาดูแลจะไปเล่านิทานให้ฟังก็ยาก เด็กก็ใช้โทรศัพท์มือถือตั้งแต่ตื่นลืมตาไปจนถึงเย็น แม้ตอนกินข้าวก็ยังเล่นโทรศัพท์ เพราะ40% มองว่าทำให้เด็กอยู่นิ่ง ไม่ซน แต่ 10% บอกว่าไม่รู้จะเล่นอะไรกับเด็ก แสดงว่าความรู้ในการเลี้ยงเด็กในครอบครัวเหล่านี้มีไม่เพียงพอ และเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 พ่อแม่ยิ่งโฟกัสแต่เรื่องทำงาน” รศ.ดร.สมสิริ กล่าว

ยกระดับศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

รศ.ดร.สมสิริ  รุ่งอมรรัตน์   รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  จึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในกรุงเทพฯ ให้ตรงจุด ได้แก่

  1. โอนจากชุมชนไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขต กทม.โดยเริ่มจากศูนย์ที่มีความพร้อมวางแผนค่อย ๆ โอนย้ายในระยะยาว 3-5 ปี
  2. ผู้ดูแลเด็กและอาสาสมัครต้องมีความรู้เรื่องปฐมวัยมากขึ้น โดยใช้เครือข่ายที่มีองค์ความรู้ที่สามารถสอนอย่างเข้าใจง่าย 
  3. ค่าตอบแทนของครูที่กระตุ้นให้พวกเขามีความสุขในการทำงาน อาจมีสวัสดิการที่ดี และให้ครูมีความภาคภูมิใจในการทำงาน 
  4. ข้อมูลที่ได้จากการดูแลทั้งพัฒนาการและสุขภาพต้องได้รับการบันทึกอย่างเป็นระบบและถูกส่งต่อไปยังผู้ปกครองและโรงเรียนปลายทาง ซึ่งต้องแปลงข้อมูลให้เข้าใจง่าย ครอบครัวเด็กสามารถนำไปปรับใช้ได้ง่าย
  5. เพิ่มเวลาของครอบครัว ที่ปลอดเครื่องมืออิเลกทรอนิกส์ วันละแค่1-2 ชั่วโมงที่อยู่ด้วยกัน เล่นกัน พูดคุยกัน ใช้เวลาด้วยกัน เพราะเวลาเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยได้

“ฝากถึงผู้ว่า กทม.ให้นึกถึงว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็ก 3 คน โรงเรียนรัฐ – เอกชน  – กทม. ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกทั้ง 3 คนนี้ที่มีความหลากหลายมีการศึกษาได้เท่ากัน และต้องทำงานร่วมมือกับคนที่ทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้นด้วย” รศ.ดร.สมสิริ กล่าวทิ้งท้าย