เปลี่ยนตัวเองอย่างไร ให้เป็นคุณครูยุคใหม่ ที่เข้าใจจิตวิทยาเด็ก
โดย ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี นักจิตวิทยาพัฒนาการ

เปลี่ยนตัวเองอย่างไร ให้เป็นคุณครูยุคใหม่ ที่เข้าใจจิตวิทยาเด็ก

การเป็นครูในศตวรรษที่ 21 นี้ เรียกได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมคะ เพราะนอกจากความรู้ทางด้านวิชาการที่ต้องแม่นยำแล้ว ยังต้องมีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนที่แตกต่างจาก “นักเรียน” ในแบบที่เราเคยเข้าใจมาในอดีตอีกด้วย เพราะผู้เรียนในปัจจุบันนี้ สามารถที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้จากหลากหลายช่องทาง รวมถึงยังมีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เป็นเพียงผู้รับหรือรอการถ่ายทอดจากครูเพียงทางเดียว 

นอกจากนี้ ความคาดหวังของทั้งผู้เรียนและผู้ปกครองที่มีต่อครูก็ยังแตกต่างจากเดิมด้วย เพราะสิ่งที่เด็กๆ และผู้ปกครองต้องการจากครูนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นครูไม่แพ้กันเลยก็คือ “ความเข้าใจในความแตกต่างของผู้เรียน” นั่นเองค่ะ

ครูยุคใหม่จึงมิใช่ครูที่เรียนเก่งที่สุด ท่องจำได้ดีที่สุด ทำให้นักเรียนได้คะแนนสูงสุด หากแต่ว่าเป็นครูที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียนได้ สามารถรักษาความกระหายใคร่รู้ของเด็กๆ ไว้ได้ และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสร้างบริบททางสังคมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย 

เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้คุณครูสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นครูยุคใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ก็คือ เครื่องมือหรือองค์ความรู้ที่เรียกว่า “จิตวิทยาเด็ก” นั่นเองค่ะ

จิตวิทยาเด็ก เป็นศาสตร์ที่ทำความเข้าใจพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กหรือผู้เรียน แบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ และเชาวน์ปัญญา รวมไปถึงหลักการในการสร้างเสริมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงบวกอีกด้วย ซึ่งหากสามารถนำมาปรับใช้ในห้องเรียนได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งครูผู้สอนและผู้เรียนเป็นอย่างมากค่ะ 

บทความในวันนี้ ครูพิมจะแนะนำหลักการพื้นฐานในการนำความรู้ทางด้านจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น และเป็นหลักการที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในหลายๆ สถานการณ์ 

หลักการที่1 จิตวิทยาของคำพูด

: ครูพูดเช่นไร เด็กเชื่อเช่นนั้น เมื่อการรับรู้ความสามารถในตัวเองของเด็กเป็นผลมาจากการแสดงออกของครู

หลักการข้อแรกที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่อผู้เรียนก็คือ เรื่องของชุดความคิด หรือ Mindset ที่เด็กมีต่อตนเองนั่นเองค่ะ โดยทั่วไปแล้วความเชื่อหรือความคิดที่เด็กแต่ละคนมีต่อตนเองจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ 

  1. ความเชื่อแบบยึดติด (Fixed Mindset) 
  2. ความเชื่อแบบเติบโต (Growth Mindset)  

ความเชื่อที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้เรียนก็คือความเชื่อแบบ Fixed Mindset หรือความคิดที่ว่า  “ตนเองเป็นเช่นนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้” ซึ่งผู้เรียนจะพัฒนาชุดความคิดไปในทิศทางใดนั้น ครูผู้สอนมีส่วนสำคัญอย่างมาก หรือเรียกได้ว่า ครูคือผู้มีส่วนช่วยในการสร้างปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “ความคาดหวังสร้างความเป็นจริง” ให้กับเด็กๆ นั่นเองค่ะ

เคยมีงานวิจัยที่ได้ทำการทดลองกับนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเดิมเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนปานกลางจนถึงอ่อน โดยให้ครูประจำชั้นพูดชื่นชมนักเรียนในช่วงเปิดเทอมใหม่ว่า พวกเขาเป็นเด็กที่สามารถเรียนรู้ได้ดี มีผลการเรียนที่ดีขึ้น และให้คำชื่นชมกับพวกเขาตลอดเทอม ส่วนนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม ไม่ได้มีการพูดชื่นชมในลักษณะดังกล่าว การทดลองพบว่า เมื่อทำการทดสอบผลการเรียนในช่วงปลายภาคเรียน กลุ่มผู้เรียนที่ได้รับคำชมมีผลการเรียนที่ดีขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมจริง 

อีกงานวิจัยหนึ่งของแครอล ดเว็ค (2008) ก็ได้ทำการทดลองในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้ให้เด็ก 2 กลุ่ม ทำการแก้โจทย์ปัญหาเดียวกัน โดยกลุ่มหนึ่งได้รับคำชมว่า “ฉลาดมาก” ส่วนอีกกลุ่มได้รับคำชมว่า “พยายามดีมาก” เมื่อตอบคำถามได้ถูกต้อง หลังจากนั้น ผู้วิจัยได้ให้ผู้เรียนเลือกโจทย์ข้อต่อไปด้วยตนเอง ผลการทดลองพบว่า เด็กกลุ่มที่ได้รับคำชมว่าฉลาดจะเลือกข้อที่มีระดับความยากใกล้เคียงกับโจทย์เดิม ส่วนเด็กกลุ่มที่ได้รับคำชมว่าพยายามดีมากจะเลือกโจทย์ที่มีระดับความยากที่มากขึ้น

งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นนี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เราสามารถที่จะใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุดความคิดหรือ Mindset นี้ ในการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและต่อการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้ และยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนที่มีประสิทธิภาพสูงอีกด้วย การนำหลักการข้อนี้ไปใช้กับผู้เรียนจึงถือเป็นข้อแนะนำอย่างแรกในการเป็นครูยุคใหม่ที่ดีค่ะ

หลักการที่ 2  จิตวิทยาพัฒนาการ

: เมื่อเด็กแต่ละคนเติบโตไม่เท่ากัน ความคาดหวังและการวัดผลจึงต้องแตกต่าง

พัฒนาการของเด็กแต่ละคน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ หรือเชาวน์ปัญญา เป็นสิ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุหรือขั้นพัฒนาการของเด็กเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ส่งผลให้เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน จริงอยู่ที่ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยานั้น มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับขั้นพัฒนาการเด็กอยู่หลายทฤษฎี แต่ทุกทฤษฎีล้วนกล่าวถึงข้อจำกัดเดียวกัน นั่นก็คือขั้นพัฒนาการในทฤษฎีต่างๆ นั้นอธิบายถึงพัฒนาการส่วนใหญ่ หรือพัฒนาการโดยทั่วๆ ไปของเด็กๆ ในช่วงวัยนั้น แต่มิได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะสามารถทำได้ หรือมีพัฒนาการตามขั้นดังกล่าว อาจมีความเป็นไปได้ว่า เด็กบางคนสามารถพัฒนาได้ถึงขั้นที่สูงกว่า ในขณะที่บางคนอาจจะยังพัฒนาไม่ถึงขั้นที่ควรจะเป็น และการทำความเข้าใจในความแตกต่างนี้นี่เองค่ะ ที่จะทำให้ครูผู้สอนมีมุมมองต่อทั้งเด็กและตนเองในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป

ประการแรก เมื่อครูเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ไม่เท่ากัน ก็จะไม่ตัดสินตีตราว่าเด็กคนโง่ เด็กคนใดฉลาด เพราะเด็กแต่ละคนอาจจะมีช่วงเวลาที่เข้าใจในสิ่งที่เราสอนช้าเร็วแตกต่างกันไป 

ประการที่สอง ความเข้าใจในความแตกต่างทางด้านพัฒนาการของเด็กแต่ละคนนี้ ทำให้ครูสามารถที่จะจัดการวางแผนการเรียนการสอนล่วงหน้าได้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้หลายวิธี การจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการออกแบบระดับความยากง่ายให้แตกต่างกันไปด้วย

ประการที่สาม เมื่อมีความแตกต่างตั้งแต่ต้น การวัดผลจึงควรแตกต่าง โดยวิธีการอย่างหนึ่งที่ครูยุคใหม่สามารถปรับใช้ได้ก็คือ การวัดผลตามพัฒนาการของเด็กแต่ละคน หรือการมุ่งเน้นที่ความพยายามและระดับการพัฒนาเชิงบุคคลเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เด็กๆ รู้สึกกดดันน้อยลง  มีความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น และเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกับนักเรียนทุกๆ คนนั่นเองค่ะ

หลักการที่ 3 จิตวิทยาของบรรยากาศ

: ไม่ใช่แค่ครูสอนอะไร แต่ครูสร้างบรรยากาศที่น่าเรียนได้หรือไม่ก็สำคัญ

สิ่งหนึ่งที่ครูพิมให้ความสำคัญมาโดยตลอดนอกเหนือจากการเตรียมเนื้อหา ในทุกครั้งที่ได้ทำการเรียนการสอนหรือมีการบรรยายก็คือ การเตรียมความพร้อมของสภาพแวดล้อมในห้องเรียน หรือในพื้นที่บรรยายนั่นเองค่ะ 

ในฐานะนักจิตวิทยา เราทราบดีว่าสิ่งที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และการตอบสนองของมนุษย์นั้นมีหลากหลายปัจจัยเหลือเกิน และหนึ่งในนั้นก็คือสภาพแวดล้อมในขณะนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นความร้อน ความเย็น เสียง แสงสว่าง เหล่านี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คำว่าบรรยากาศในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่สัมผัสหรือจับต้องได้แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในหลายๆ สถานการณ์ ครูผู้สอนก็ไม่สามารถที่จะควบคุมสภาพแวดล้อมเหล่านั้นได้ทั้งหมด บรรยากาศในเชิงจิตวิทยาที่ครูพิมกำลังอยากจะเน้นย้ำนี้ จึงเป็นเรื่องที่พูดถึง “บรรยากาศทางความรู้สึก” นั่นเองค่ะ

วิธีการหนึ่งที่จะทำให้บรรยากาศในการเรียนการสอนนั้นเป็นไปในทางบวกได้อย่างรวดเร็ว คือการเชื่อมโยงหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนก่อนที่จะเริ่มทำการเรียนการสอน หรือเรียกว่าเป็นช่วง warm-up ก็ได้ค่ะ เพราะโดยทั่วไปแล้ว เรามักเริ่มต้นคาบเรียนด้วยการกล่าวทำความเคารพโดยหัวหน้าห้อง ตามด้วยเสียงเอื่อยๆ ของนักเรียนทั้งระดับชั้น ตามด้วยครูผู้สอนที่บอกถึงเนื้อหาคร่าวๆ ที่จะทำการเรียนการสอน หรือการทบทวนสิ่งเดิมที่เคยสอนไปแล้ว 

รูปแบบเดิมๆ เหล่านี้ทำให้ผู้เรียนขาดช่วงเวลาที่จะเชื่อมโยงหรือเชื่อมต่อกับครูผู้สอน และทำให้ไม่เกิดบรรยากาศที่เป็นการชักชวนเข้าสู่บทเรียน และการปรับเปลี่ยนบรรยากาศในตอนต้นคาบด้วยรูปแบบใหม่ๆ นี่เอง ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเรียนการสอนตลอดคาบได้ค่ะ

สำหรับเทคนิคในการปรับเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการเชื่อมโยงกันนี้ก็สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนในรูปแบบเรื่องเล่า (ใครๆ ก็ชอบฟังเรื่องเล่ากันทั้งนั้น และสมองยังจดจำเรื่องเล่าได้ดีอีกด้วย) หรือจะเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ ด้วยการทักแบบสนุกสนานหรือน่าสนใจก็ได้เช่นกันค่ะ 

หลักการทั้ง 3 ข้อนี้ แม้จะยังไม่ครอบคลุมสถานการณ์ทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างการเรียนการสอน แต่ก็เพียงพอที่จะให้ครูผู้มีใจรักในการพัฒนาตนเองทุกท่านได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความก้าวหน้าในสาขาอาชีพ และเพื่อให้ทุกท่านได้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนานักเรียนที่น่ารักของเรา ให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพของแต่ละคนตามที่พวกเขาควรจะเป็น 

สิ่งสำคัญก็คือ ครูยุคใหม่จะไม่ใช่ครูที่สร้างเด็กเก่งได้เท่านั้น แต่ยังเป็นครูที่สร้างเด็กที่สุขภาพจิตดีและมีคุณค่าต่อโลกนี้ได้อีกด้วยค่ะ

อ้างอิง : Dweck, C. S. (2008). Mindset: The new psychology of success. Random House Digital, Inc..