โรงเรียนโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ โมเดลเพื่อนช่วยเพื่อน

โรงเรียนโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ โมเดลเพื่อนช่วยเพื่อน

โรงเรียนโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ นับเป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา​ (กสศ.​)​ ที่สามารถพัฒนาการเรียนการสอนจนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

​โดยได้ทีมงาน สพป.สุรินทร์ เขต 2 มาเป็นทีมโค้ช ชวนคุณครู ผู้บริหาร และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันตั้งเป้าหมายของโรงเรียน (School Goals) เพื่อกำหนดเป็นทิศทางให้ทุกคนเห็นว่าจะต้องเดินหน้าไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้อย่างไร  โดยมีเป้าหมายดังนี้ 

​“นักเรียน” มีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน
“ครู” ทุกคนจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning
“โรงเรียน” มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ มีความปลอดภัยทั้งต่อร่างกายและจิตใจ
“ผู้ปกครอง” ให้ความร่วมมือ ดูแลความประพฤติของบุตรหลาน

พัฒนา “วิชาการ” ควบคู่มารยาท คุณธรรม

สุดท้ายเป้าหมายทั้งหมดก็สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกคน ตั้งแต่ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และนักเรียน โดยจะเห็นว่าครูทุกคนพัฒนาการสอนมาเป็นแบบ Active Learning ซึ่งเห็นผลชัดเจนว่าทำให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ยืนยันด้วยคะแนน O-NET ของโรงเรียนที่ดีขึ้น คู่ขนานไปกับมารยาท คุณธรรม ของนักเรียนที่ดีขึ้น ไม่ต่างจากพัฒนาการด้านวิชาการ

หนึ่งในกระบวนการพัฒนาที่สำคัญคือ PLC ทั้งระดับครูกับครู ที่ช่วยกันพัฒนาแผนการสอน ตั้งแต่การวางแผน ไปจนถึงการลงมือสอน และสะท้อนผลว่าเหมาะสมดีหรือยัง หรือควรปรับปรุงแก้ไขส่วนใดบ้าง เพื่อทำให้การเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น

Active Learning ทำให้เด็กเรียนรู้ดีกว่าเดิม

ธัญญารัตน์ วรรณพฤติ ครูสอนภาษาไทย โรงเรียนโนนนารายณ์ ​มองว่า เดิมทีครูเขียนแผนเองคนเดียว ไม่มีการสะท้อนผล ทำให้ไม่เห็นว่ามีจุดไหนที่ยังสามารถพัฒนาได้อีก แต่พอมีครูบัดดี้มาช่วยกันหนุนเสริม ก็ทำให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“แม้แต่วิชาภาษาไทยที่งงว่าจะทำเป็น Active Learning ยังไง ยกตัวอย่างเช่น การใช้เพลงนำเข้าสู่บทเรียน ต่อจากนั้นก็ใช้เกมมาเป็นเครื่องมือ แบ่งกลุ่มนักเรียนให้ออกมาทำกิจกรรมจำแนกคำหน้าชั้นเรียน ออกมานำเสนอหน้าชั้นเป็นกลุ่ม สรุปคะแนน มีคูปองให้สะสม ท้ายเทอมมีรางวัลให้ เด็กก็เรียนแบบมีความสุข สนุกขึ้น บางครั้งก็ร้องเพลงคาราโอเกะ ซึมซับคำจากเนื้อเพลง” 

ที่สำคัญคือกระบวนการ PLC ทำให้การสอนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น ​ครูบัดดี้อาจจะมาเสริมว่า เวลาเลือกเพลงอย่าใช้แค่เพลงที่สนุกอย่างเดียว น่าจะใช้เพลงที่แฝงคุณธรรมด้วย หรือมีจุดไหนที่เด็กยังไม่สนใจต่อเนื่อง ก็จะช่วยกันพัฒนาให้สมบูรณ์กว่าเดิม

ต่อจากนั้นจะมีการ PLC ระดับชั้น ระดับโรงเรียน ​ที่ครูทั้งโรงเรียนช่วยกันสะท้อนผลและให้คำแนะนำปรับปรุงแผนการเรียนของแต่ละคนให้ดีขึ้น  เพื่อให้เห็นภาพรวมของโรงเรียนร่วมกัน และบทเรียนตัวอย่างจากครูคนอื่น ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

โครงงานคุณธรรม รางวัลเหรียญทองระดับประเทศ

นอกจากเรื่องการเรียน สิ่งสำคัญที่โรงเรียนพยายามปลูกฝังให้เด็กคือเรื่องคุณธรรม ที่ได้พัฒนาเป็นโครงงานคุณธรรม สร้างจิตอาสาพัฒนาการอ่านเขียนให้เด็กที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่องหรือ (Learning Disability: LD)  ที่มีอยู่จำนวน 13 คน  โดยประชาสัมพันธ์หาจิตอาสามาช่วยเหลือดูแลเพื่อนๆ น้องๆ ในการทำกิจกรรมต่างๆ ​

“พอถึงเวลาเที่ยงทุกคนก็จะมาเจอกันที่ห้องนี้ ร่วมกันทำกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวกับภาษาไทย การทำสมาธิ ศิลปะ เน้นความสนุก ผ่อนคลาย ไม่ให้ตึงเครียดเกินไป  ครูจะคอยสังเกตว่าเด็กเป็นอย่างไร หากไม่อยากเรียนศิลปะก็พาทำสมาธิ ทำสื่อการสอนเล็กๆ น้อยๆ หรือทำแบบฝึกหัด ทักษะบันได 6 ขั้น การอ่านเขียน ตั้งแต่เรื่องคำจนถึงการแต่งประโยคเป็นเรื่องราว” 

เป็นการช่วยเหลือสนับสนุนเด็ก LD จากที่ต้องปลีกตัวออกไปจากเพื่อนๆ ไปอยู่ตัวคนเดียว แต่พอมีเวทีให้เขาได้แสดงออก เขาก็ค่อยๆ ทำได้ ทั้งงานศิลปะ สมาธิ คัดลายมือ แต่งประโยค หากอ่านคำไหนไม่ออก บัดดี้ก็จะช่วยเป็นที่ปรึกษา คอยแนะนำช่วยเหลือ

ความสำเร็จของโครงงานคุณธรรมทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลศิลปหัตถกรรม เหรียญทองระดับประเทศ และรางวัลชนะเลิศเขตพื้นที่การศึกษา แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การได้สร้างนักเรียนให้เป็นคนเก่ง คนดี  อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข 

TSQP ทำให้ผลลัพธ์การพัฒนาดีขึ้นทุกด้าน

ครูธัญญารัตน์เล่าให้ฟังว่า ไม่เพียงแค่กลุ่มน้อง LD ที่เกิดการพัฒนา แต่​จิตอาสาที่มาช่วยพัฒนาการอ่านเขียนก็ได้เรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบ ความเป็นผู้นำ รู้จักการนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูล และคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาไทยก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่การจัดการเรียนการสอนที่ดี ก็สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ได้ ​ ​

“โครงการ TSQP ของ กสศ. เป็นโครงการที่ดี สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียน มีสภาพบริบทแวดล้อมที่ดีขึ้น ทำให้นักเรียนมีมารยาท สัมมาคารวะ ทำให้ครูได้จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โรงเรียนมีเป้าหมายที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้และการทุ่มเททำงานของทุกคนก็ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นในทุกด้าน”​ ครูธัญญารัตน์กล่าว