TIGER-D Model : เปลี่ยนห้องเรียนแบบเดิม ๆ สู่การเรียนรู้ด้วย “คำถาม” กระตุ้นความคิด

TIGER-D Model : เปลี่ยนห้องเรียนแบบเดิม ๆ สู่การเรียนรู้ด้วย “คำถาม” กระตุ้นความคิด

จากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เคยเต็มไปด้วยข้อจำกัด  แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้งผู้บริหารและครูที่พร้อมใจกัน “เปลี่ยน” จากรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ  ไปสู่ Active Learning ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ​จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตัวเด็กในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการกล้าแสดงออก ทักษะการคิดวิเคราะห์  รวมไปถึงทักษะอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ได้จริง

ที่สำคัญคือคะแนนสอบ O-NET วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียน ซึ่งเคยอยู่ต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของประเทศมาโดยตลอด หลังเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน คะแนนของโรงเรียนพัฒนาจนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับประเทศเป็นครั้งแรก  ​ในขณะที่คะแนนในแต่ละกลุ่มสาระวิชาก็เพิ่มขึ้นจากเดิม

ทั้งหมดเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของโรงเรียนบ้านห้วยเสือ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี  ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีข้อจำกัด แต่หากได้รับการพัฒนาอย่างถูกทาง และได้รับการสนับสนุนเอาจริงเอาจังจากผู้บริหารและคุณครู ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเด็ก ๆ ได้ไม่ต่างจากโรงเรียนในเมืองที่มีความพร้อมและความได้เปรียบในด้านต่าง ๆ  

โมเดลการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่ไม่อยู่แค่ในหนังสือ แต่มาจากการตกผลึกของครูทั้งโรงเรียน

สำหรับจุดเปลี่ยนสำคัญ ชูศักดิ์ สีสัน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเสือ เล่าให้ฟังว่า เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนไปสู่ Active Learning  ด้วย TIGER-D Model ซึ่งเกิดจากการช่วยกันคิดของคุณครูที่มาร่วมประชุมวางแผนจนเกิดเป็นข้อสรุปร่วมกัน เชื่อมโยงกับรูปแบบ “ห้องเรียนอริยะ” ที่เน้นให้เด็กได้เกิดการคิดผ่านการตั้งคำถาม ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม

ถือเป็นอีกหนึ่งในความสำเร็จจากจากโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  (Teacher School Quality Program: TSQP)  ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทางโรงเรียนได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

“ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ เด็กกล้าแสดงออก รู้จักคิดมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนจากการเรียนแบบ Passive เดิม ๆ มาเป็น Active ทำได้เด็กได้คิด ค้นคว้า จากเดิมที่เป็นการสอนหนังสือคือ เอาหนังสือไปสอนแล้วก็ถามนักเรียนว่าเรียนไปถึงหน้าไหน แล้วก็สอนต่อ แต่พอเรามาเข้าโครงการ เราก็เปลี่ยน  มีแผนการสอนที่ชัดเจน มีการนิเทศติดตาม ประเมินผล จนเกิดการเปลี่ยนแปลงการสอนที่ดีขึ้น ผลลัพธ์ก็เกิดกับเด็กเป็นเชิงประจักษ์ ไม่ใช่แค่เชิงวิชาการ แต่ยังรวมไปถึงวิชาศิลปะที่ตอนนี้เปิดพื้นที่ให้เด็กได้มาวาดที่ผนังโรงเรียนได้ตามจินตนาการ ในเชิงทักษะอาชีพ ทุกวันพุธก็จะนำผลิตภัณฑ์ของนักเรียนไปขายที่ตลาดนัดประจำหมู่บ้าน ทั้งขนมเค้ก พืชผลการเกษตร และก็มีดนตรีเปิดหมวกไปแสดง ช่วยส่งเสริมการแสดงออกของเด็กอีกทางด้วย” ผอ.ชูศักดิ์กล่าว

Active Learning  ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการเรียนรู้แบบเสมอภาคให้เด็กหน้าห้อง-หลังห้อง

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้ทางโรงเรียนขยาย  TIGER-D Model และห้องเรียนอริยะ จากที่เคยสอนในระดับชั้น ป.4 – ป.6 เป็นทุกช่วงชั้น โดยบูรณาการเข้าไปในแต่ละกลุ่มสาระวิชา โดยครูแกนนำจะทำหน้าที่หลักในการช่วยขยายผล โดยครูแต่ละคนจะต้องส่งแผนการสอน TIGER-D มายังฝ่ายบริหารที่จะช่วยดูว่ามีอะไรต้องปรับเพิ่มเติมตรงไหน จากนั้นเมื่อนำไปสอนก็จะไปติดตามนิเทศสัปดาห์ละ 3 ครั้ง รวมทั้งจะมีการจัดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC  เพื่อนำแผนของแต่ละคนมาดูว่าใช้แล้วมีปัญหาตรงไหน ควรจะแก้ไขตรงไหนร่วมกัน

อีกจุดเด่นของระบบการเรียนการสอนของที่โรงเรียนบ้านห้วยเสือคือ การที่เด็กทุกคน ไม่ว่าจะเด็กเก่ง ไม่เก่ง จะได้มีส่วนร่วมกับการเรียนแบบ Active Learning จากเดิมที่หากเป็นระบบเก่าเด็กเก่งก็จะคอยยกมือตอบ แต่หากเป็นระบบใหม่ มีการแบ่งกลุ่ม เด็กแต่ละคนจะต้องช่วยกันคิด เดิมบางคนไม่กล้าตอบ ไม่กล้าพูดกับครู เพราะกลัวตอบผิด แต่พอเป็นการทำงานกลุ่มก็กล้าคุยกับเพื่อน ทำให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้เท่าเทียมกันหมด ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กหน้าห้องหลังห้อง

หมดยุคครูกางหนังสือสอน สู่แผนการเรียนรู้ที่สนุกไม่น่าเบื่อ

กลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคือ ครูในโรงเรียน ซึ่ง ผอ.ชูศักดิ์จะใช้วิธีการอธิบายให้ครูแต่ละคนเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนที่จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น  โดยมองว่าหมดยุคของครูที่มานั่งเก้าอี้ กางหนังสือสอนแล้ว แต่ครูรุ่นใหม่ต้องปรับการสอนไปตามบริบทของแต่ละวิชาให้เป็น Active Learning เช่น คณิตศาสตร์จะปรับยังไง สอนให้ไม่น่าเบื่อ จะหาสื่อการสอนแบบไหน หรือแม้แต่วิชาพลศึกษาจะมีการกระตุ้นให้เขาเกิดความคิดอย่างไร เหมือนเป็นการระเบิดจากภายในให้ครูอยากที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ที่จะมีพลังมากกว่าไปบอกให้ทำ และสิ่งที่ทำต้องมาจากการตกผลึกร่วมกัน ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นคำสั่งจากผู้บริหารหรือส่วนกลาง

อีกด้านหนึ่ง ทางโรงเรียนยังให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นอยู่ของนักเรียน โดยจะเน้นการลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านเด็กเพื่อให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และให้การช่วยเหลือสนับสนุนตามความเหมาะสม ซึ่งนอกจากจะมีเด็กที่ได้ทุนเสมอภาคจาก กสศ. ​แล้ว  ทางโรงเรียนยังใช้เครื่องมือ Q-info เข้ามาช่วยติดตามดูแลนักเรียนอย่างเป็นระบบเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วทันท่วงที ซึ่งจากการลงพื้นที่ของคุณครูเพื่อติดตามดูแลเด็ก ๆ ทำให้เทอมที่ผ่านมาไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเลยแม้แต่คนเดียว

เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง สู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

ครูอ้อม – อุดมพรรณ  ท้าวคำ ครูแกนนำที่โรงเรียนบ้านห้วยเสือ เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนว่า จากเดิมจะเป็นแบบ Passive ซึ่งได้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่ากับเปลี่ยนมาเป็นแบบ Active ซึ่งเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง เริ่มจากแผนการสอนที่เป็นแผน TIGER-D เน้นการตั้งคำถามให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ โดยครูแต่ละคนจะต้องคิดให้สอดรับกับนักเรียนในแต่ละวิชา

TIGER-D  ประกอบด้วย

• Think together :   คิดร่วมกัน ใช้คำถามกระตุ้นให้เกิดการคิดที่หลากหลายของนักเรียน
• Identity  : การสร้างข้อตกลงคุณธรรมร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน
• Go to Activity : การเข้าสู่กิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการที่เน้นให้เด็กคิด  ทำ  เสนอ  ทบทวน และบันทึก
• Evaluation : สรุปการทำงานกิจกรรม การทำในงาน การนำเสนอในงานของแต่ละกลุ่ม การตอบคำถาม
• Reflection : สะท้อนความคิดความรู้สึกที่ได้จากการเรียน
• Develop to the best : พัฒนาต่อยอด ติดตามการพัฒนาพฤติกรรมนักเรียนจากการเรียน

การที่ครูมีแผนการสอนที่ดีจะทำให้ครูต้องไปค้นหาวิธีที่ทำให้เด็กสนใจเนื้อหาวิชา และอยากเรียนในวิชานั้น ๆ โดยเด็กจะได้ฝึกคิดวิเคราะห์ ได้รู้จักการนำเสนอ กล้าคิด กล้าพูดมากกว่า ซึ่งครูจะต้องรู้จักการตั้งคำถาม โดยเป็นคำถามที่ไม่ใช่คำถามที่ยากจนเกินไปจนตอบไม่ได้ แต่เป็นคำถามที่กระตุ้นความคิด เชื่อมโยงกับสิ่งที่เด็กต้องเจอในชีวิตประจำวัน หากไม่กล้าตอบก็ให้เขียน หรือสุ่มเรียกให้เด็กได้ลองตอบ

“จากการได้เปลี่ยนวิธีการสอน ได้พัฒนาทำแผนการสอนของตัวเอง ก็ทำให้เห็นผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเด็กที่เห็นได้ชัดเจน ยิ่งทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่มาถูกทาง  แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังต้องปรับ ต้องเรียนรู้กันต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อเป้าหมายที่ต้องการจะทำให้เด็กได้รับการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” ครูอ้อมกล่าวทิ้งท้าย