“ฐาน” สำหรับการกำหนดนโยบายใหม่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดครั้งต่อไป

“ฐาน” สำหรับการกำหนดนโยบายใหม่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดครั้งต่อไป

สถานศึกษาประกอบด้วยผู้อำนวยการศึกษา เขตพื้นที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่ต้องมีส่วนร่วมคิดในเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่ไม่กระทบกระเทือนต่อนักเรียน ขณะเดียวกันให้เด็กนักเรียนมีพัฒนาการทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหลักสำคัญที่กรรมาธิการศึกษายึดปฏิบัติในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา

การระบาดรอบที่ 3 ที่รุนแรงยิ่งกว่า จึงควรมีการปรับเปลี่ยน ถอดบทเรียนการจัดการศึกษาจากครั้งแรก เช่น บทเรียนว่าด้วยการจัดการศึกษาในพื้นที่ภูเขา ชนบท เกาะแก่ง ที่มีวิธีการจัดการแตกต่างจากกรุงเทพมหานคร รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการศึกษา ที่สั่งการจากกระทรวงลงไปถึงกระทรวงนั้นไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป

ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันจึงต้องกำหนดนโยบายจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน โดยสถานศึกษาเป็นผู้กำหนดรูปแบบกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้เขต ให้จังหวัด ผ่านสู่กระทรวงสาธารณสุข แล้วส่งมาที่กระทรวงพิจารณาเห็นชอบ

นั่นหมายถึงแต่ละสถานศึกษาจะมีวิธีจัดการเรียนการสอนของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องออนไลน์ ออนไซต์ หรือออนแอร์ ขณะที่กระทรวงมีหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม สร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการศึกษาและครู รวมถึงสนับสนุนงบประมาณและจัดสรรบุคลากร เป็นต้น

เรื่องที่ควรถอดบทเรียนจากครั้งก่อนคือ ชุดความรู้สำหรับประเทศไทย เช่น

1. กระบวนการมีส่วนร่วม เป็นครั้งแรกที่การเปิดเทอมต้องผ่านความเห็นจาก 3 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ 

2. การสอนออนไลน์ในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 มีปัญหา และเป็นปัญหาแบบเดิม คือ ครูไม่สามารถสื่อสารกับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบางพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือคลื่นโทรศัพท์ และทักษะบางอย่างไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ เช่น ดนตรี กีฬา และศิลปะ ที่ต้องมีการฝึก การปฏิบัติ ยกตัวอย่างนักเรียนในกรุงเทพฯ อาศัยในคอนโดมิเนียม จะเตะตะกร้อแล้วส่งมาให้ครูวัดผลประเมินผลอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาว่าแต่ละโรงเรียนมีวิธีการจัดการกันอย่างไร

3. ครูตามสถานศึกษาที่ห่างไกล ไปเยี่ยมผู้เรียน ผ่านป่าเขา พื้นที่ทุรกันดารต่าง ๆ ครูเหล่านั้นได้บทเรียนอะไร ประสบปัญหาอะไร พวกเขาแก้ปัญหาอย่างไร มีการวัดผลประเมินผลอย่างไร เพราะครูแต่ละพื้นที่ย่อมมีวิธีการที่ไม่เหมือนกัน

4. การปิดเรียนนานๆ ในช่วงวิกฤตโควิดครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาผู้เรียนตามทฤษฎีว่าด้วยการจัดการศึกษา คือ พัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และสติปัญญาของผู้เรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังต้องมีพัฒนาการทางกาย ได้เล่น ออกกำลังกาย ได้รู้จักควบคุมอารมณ์เมื่ออยู่กับเพื่อน รู้จักสังคมที่กว้างกว่าครอบครัวที่มีพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย

5. โรงเรียนขนาดพอดี ไม่ใช่โรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง แต่หมายถึงโรงเรียนขนาดพอดีที่สามารถควบคุมโรคระบาด นักเรียนสามารถรักษาระยะห่าง ล้างมือ วัดไข้ ใส่หน้ากากอนามัย นักเรียนได้รับการดูแลทั่วถึง ซึ่งหมายถึงโรงเรียนในชนบทที่มีนักเรียน 20 – 30 คน มีถึง 50 คนยังสามารถทำได้ เช่น  โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดที่ไม่ระบาดหนัก สามารถแบ่งนักเรียนบางชั้นไปเรียนที่โรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบ ทำให้ลดจำนวนนักเรียนไปได้ 600 – 700 คน เป็นต้น การจัดการลักษณะนี้ทำให้โรงเรียนไม่ต้องสลับนักเรียนมาโรงเรียนเป็นกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน ไม่ส่งผลกระทบกับการเรียน หรือไม่ทำให้นักเรียนหลุดไปจากนอกระบบ

ข้อเสนอเหล่านี้เป็นประโยชน์สำหรับกำหนดกระบวนการเปิดเรียนตามความพร้อมของแต่ละสถานศึกษาอย่างเป็นเอกภาพ โดยไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับกรุงเทพมหานคร การออกแบบการเรียนการสอนต้องรับฟังครูอาจารย์ในพื้นที่ ซึ่งสามารถออกแบบให้สอดคล้องกับภูมิสังคม โดยยึดหลักการควบคุมโรคระบาดตามรัฐบาลกำหนด ขณะเดียวกันต้องเรียนเต็มที่ เต็มหลักสูตร เต็มเวลา เต็มสมรรถนะ

หากทำได้แบบนี้ โรงเรียนไหนพร้อม…เริ่มได้เลย

เรียบเรียงจาก จากงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “เปิดเทอมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม: สอนอย่างไร เรียนแค่ไหน เมื่อออนไลน์ไปไม่ถึง” ซึ่งจัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ​วุฒิสภา TDRI The Reporters และ The Active Thai PBS ​เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564