Thank You Teacher ‘ขอบคุณครูทุนเสมอภาค’ ผู้ปรารถนาให้ศิษย์ทุกคนไปถึงเส้นชัย

Thank You Teacher ‘ขอบคุณครูทุนเสมอภาค’ ผู้ปรารถนาให้ศิษย์ทุกคนไปถึงเส้นชัย

ร่วมทางกันมา 2 ภูมิภาคแล้ว สำหรับงาน ‘Thank You Teacher ขอบคุณครูเสมอภาค’ ที่สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมการสานพลังทีม เสริมพลังใจ สร้างสรรค์โอกาส เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ ‘คุณครู’ จากทั่วประเทศ ที่ช่วยกันเป็นด่านหน้าของโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค จนได้ข้อมูลเด็กนักเรียนจากพื้นที่ส่งให้ กสศ. ขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำตลอด 5 ปีของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กสศ. ขอบคุณคุณครูทุกท่านที่ช่วยเป็นกำลังหลักลงไปเยี่ยมบ้าน ติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนทุกคน ข้อมูลที่ถูกส่งมาให้เราได้กลายเป็นต้นทางของการสร้าง ‘ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ตลอดจนนำไปสู่แนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคและครอบครัวที่ตรงสาเหตุปัญหา ซึ่งนับว่าได้ช่วยกันสร้างเส้นทางของการเรียนรู้ให้มีความต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม

นอกจากคำขอบคุณ เราต่างรู้ดีว่าความทุ่มเทของคุณครูไม่ได้ปูด้วยพรมแดง ทำให้การพบกันครั้งแรกในงาน ‘Thank You Teacher ขอบคุณครูทุนเสมอภาค’ เวทีภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21-22 เมษายน 2566 เราเลือกเปิดพื้นที่ให้คุณครูได้แลกเปลี่ยนบทสนทนา ในกิจกรรมหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ความสุขเล็ก ๆ ของครู’ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตให้ทุกคนได้เข้าไปสัมผัสกับคำว่า ‘ครู’ ในมุมที่ต่างออกไปจากความคาดหวังของสังคม

เมื่อเราพบว่า ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ แท้จริงแล้วคือปุถุชนคนธรรมดา

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ คือการที่น้อง ๆ นักเรียนมากกว่า 1.3 ล้านคน สามารถฝ่าฟันอุปสรรค ได้เรียนหนังสือจนจบชั้นประถม ได้มีเส้นทางไปต่อในชั้นมัธยมต้น ได้จบการศึกษาภาคบังคับ อีกทั้งข้อมูลเดียวกันนี้ยังเป็นเสมือน ‘สะพาน’ ที่เชื่อมร้อยหน่วยงานด้านการศึกษาทุกภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ในการยื่นมือเข้ามาช่วยกันส่งต่อน้อง ๆ นักเรียนทุนเสมอภาค ให้สามารถก้าวข้ามรอยต่อช่วงชั้นไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงกว่าภาคบังคับอีกด้วย

ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้ ทำให้คุณครู 342,749 คน​ ในกระบวนการทำงานทุนเสมอภาค 31,175 โรงเรียน เปรียบได้กับ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ผู้ทรงพลัง ผู้มีจิตใจเข้มแข็ง ผู้มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อแผ้วถางประคับประคองอนาคตทางการศึกษาให้กับลูกศิษย์

จากงาน ‘Thank You Teacher’ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในการพบกันของเครือข่ายคุณครูในพื้นที่ภาคเหนือ มีกิจกรรมย่อยหนึ่งชื่อว่า ‘ความสุขเล็ก ๆ ของครู’ ที่เปิดโอกาสให้เหล่าคุณครูได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตและสานสัมพันธ์กัน และช่วงเวลาสั้น ๆ นี้เองที่เราได้รับฟังข้อมูลส่วนหนึ่งซึ่งสะท้อนว่าเมื่อล้วงลึกลงไปในความสุข ความหวัง ความปรารถนาต่าง ๆ ของครูแต่ละท่าน แท้จริงแล้วเมื่อปลดเอาหน้ากากและผ้าคลุมของซูเปอร์ฮีโร่ออกไป ครูทุกท่านต่างก็เป็น ‘ปุถุชนคนธรรมดา’ ที่อยากมีเวลาดริปกาแฟสักแก้วในตอนเช้า อยากมีเวลามากขึ้นเพื่อเฝ้ามองลูกตัวน้อยค่อย ๆ เติบโต อยากจะว่างทำสวนหน้าบ้าน อยากไปเที่ยวคาเฟ่ที่เพิ่งเปิดใหม่ อยากทำกับข้าวมื้อเย็นกินกับครอบครัว อยากนอนเล่นเกมในวันหยุด อยากดูฟุตบอลคู่ดึก หรืออยากจะปิดเสียงโทรศัพท์ในทุกคืนที่เข้านอน (แต่ทุกท่านสารภาพว่าตัดใจทำไม่ได้)

ลึกลงกว่านั้น เมื่อบทสนทนาล่วงสู่คำถามและคำตอบถึงเป้าหมาย ความคาดหวัง หรือความวิตกกังวลที่ซ่อนอยู่ข้างใน เราพบว่าครูหลายท่านรู้สึกโดดเดี่ยว กังวลกับภาระหนี้สิน หลายคนเผยเป้าหมายชีวิตว่าอยากเก็บสะสมเงินให้เพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากส่วนประกอบต่าง ๆ ในชีวิตของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ครูแต่ละท่านไม่ลืมที่จะกล่าวถึง รวมถึงแสดงท่าทีชัดเจนว่าห่วงกังวลกว่าอะไรทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่าเป็น ‘ความปรารถนาอันสูงสุด’ ของการประกอบอาชีพครูในวันนี้ และทำให้ความปรารถนาอื่น ๆ ที่เกริ่นมาเป็นเรื่องรองลงไป คืออยากเห็นลูกศิษย์ทุกคนประสบความสำเร็จ สามารถพาตัวเองรอดผ่านไปได้จนถึงเส้นชัยชีวิต ซึ่งเส้นชัยที่ว่านั้นไม่ใช่เพียงให้น้อง ๆ เรียนหนังสือจนจบ หรือแค่มีโอกาสได้เรียนสูง ๆ แต่สำหรับเหล่าคุณครูทุนเสมอภาคแล้ว ความหมายของคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ มีเส้นชัยที่ไกลกว่านั้น นั่นคือความต้องการเห็นลูกศิษย์มีงานทำ มีรายได้ที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีโอกาสก้าวหน้าในชีวิต และพวกเขาต้องเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสถานะครอบครัวของตนจากความยากไร้ด้อยโอกาสสู่การอยู่ดีมีสุข โดยไม่ส่งต่อมรดกความยากจนไปถึงสมาชิกในครอบครัวรุ่นถัดไป

เมื่อถึงช่วงท้ายกิจกรรม เราก็ยิ่งได้ข้อค้นพบสำคัญว่าความปรารถนาเบื้องลึกที่มีศิษย์เป็นที่ตั้งนี้ คือขุมพลังผลักดันที่เคลื่อนขับการทำงานทุนเสมอภาคให้ดำเนินไป โดยจากตรงนี้จะขอเชิญไปรับฟังประสบการณ์การทำงานที่กลั่นกรองจากความรู้สึกของตัวแทนครูทุนเสมอภาค ตั้งแต่วันแรกที่รับภารกิจ วันที่เคยรู้สึกเหนื่อยล้า วันที่พยายามจนสุดความสามารถเพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงคนที่สมควรได้รับ แล้วงานที่ทำนั้นมีรางวัลของความสำเร็จเป็นสิ่งใด หรือจากวันนี้ต่อไป พวกเขายังพร้อมจะเดินหน้าไปกับการทำงานทุนเสมอภาคสักแค่ไหน

ได้เห็นรอยยิ้มที่ไม่เคยปรากฏ

“รู้สึกยุ่งยากครับ ยุ่งยากมากเลย ตอนที่รู้ว่าต้องทำโครงการ โดยเฉพาะเรื่องเอกสารเบิกจ่ายที่ผมไม่มีความรู้เลย”

ครูศิริวัฒน์ มีเคน โรงเรียนบ้านกลางพิทยาคม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ย้อนถึงความรู้สึกแรกกับการทำงานทุนเสมอภาค ก่อนกล่าวต่อว่า “แต่ความรู้สึกนั้นอยู่กับเราไม่นานเลย เพราะเทอมเดียวผมเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นทุนที่เข้าไปเติมส่วนที่เด็กขาดได้เยอะ ช่วยประคองค่าครองชีพ จนผมได้เห็นรอยยิ้มที่ไม่เคยมีมาก่อนจากลูกศิษย์หลายคน คือพอเราเห็นแววของความทุกข์ที่ลดลงแม้จะแค่นิดหนึ่งจากเด็ก จากผู้ปกครอง ก็ดีใจครับ”

ครูศิริวัฒน์ กล่าวว่า ด้วยพื้นที่โรงเรียนค่อนข้างไกลจากตัวเมืองมาก แทบไม่มีงานให้ทำ เด็กส่วนใหญ่จึงอยู่ในครอบครัวที่มีแต่คนสูงอายุ พอมีอาชีพรับจ้างทั่วไปให้ทำบ้าง แต่เงินที่ได้มาใช้กินวัน ๆ ก็หมดแล้ว เมื่อมีค่าใช้จ่ายอื่นแทรกเข้ามาเขาเลยต้องหยิบยืม กลายเป็นหนี้ ซึ่งมันมีผลให้บางบ้านตัดสินใจให้ลูกหลานเลิกเรียนไปเลย ครูศิริวัฒน์จึงเห็นว่าทุนเสมอภาคที่มาอุดหนุนตรงนี้ช่วยให้เด็กจำนวนหนึ่งยังอยู่ในโรงเรียนต่อไปได้

“การได้ดูแลนักเรียนทุนเสมอภาคติดต่อกันมาหลายรุ่น ทำให้เราเห็นปลายทางว่าน้องที่เรียนจบแล้วได้เรียนต่อ คือเหมือนมีหลักประกันให้เขาว่าไม่ใช่แค่ดันให้เรียนจบ แต่มันมีเส้นทางเดินต่อไป สำหรับคนเป็นครูก็รู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันคุ้มค่านะ ส่วนที่ต้องทำต่อไปจากนี้ คือทางโรงเรียนเราต้องสร้างระบบภายในให้แข็งแรงขึ้น มีทางอื่น ๆ ช่วยให้เด็กรอดอย่างมีคุณภาพ เพราะนอกจากช่วยให้ได้รับทุนแล้ว การเก็บข้อมูลในแต่ละเทอมก็ช่วยชี้เป้าให้เราทราบว่าเด็กแต่ละคนมีปัญหาอะไร”

เหนื่อยปีละครั้ง แต่ผลจากนั้นคือเด็กได้รับเต็ม ๆ

“แรกปะทะกับทุนเสมอภาค เสียงในใจเราต่อต้านเลย รู้สึกว่าระบบยุ่งยากจัง เหมือนมาเพิ่มภาระให้ครู จนได้มารับผิดชอบงานในตำแหน่งแอดมินอยู่ในกระบวนการจัดสรรเงินลงไปถึงมือเด็กผ่านเข้าปีที่สาม ก็ได้รู้ว่ามันเป็นการเพิ่มภาระงานให้ครูจริง ๆ นั่นแหละ”

ครูสุจิตรา ศรีสุวรรณ โรงเรียนทับกฤชพัฒนา อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เล่าด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนพูดต่อว่า “แต่ถึงแม้งานจะเพิ่มขึ้น สิ่งที่แลกมาคือเด็กได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเช่นกัน ซึ่งสำหรับครูเราก็เหนื่อยกันแค่ปีละครั้ง แล้วหลังจากนั้นคือเด็กได้รับเต็ม ๆ

“ประสบการณ์ครูทุนเสมอภาคช่วยเปิดให้ครูอย่างเราเห็นชีวิตของลูกศิษย์ในหลายมุมหลายด้าน อย่างแรกเราได้รู้จักเด็กมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น แล้วข้อมูลนี้ช่วยให้เรากลับมาออกแบบได้ว่า ถ้าเจอปัญหาที่เข้ามาระหว่างเทอมจะวางแผนยังไง หรือจะช่วยต่อยอดเด็กที่เรียนดีหรือมีความสามารถที่โดดเด่น แต่ขาดโอกาสให้มีทางไปต่อยังไง สำคัญมาก ๆ คือเราต้องทำข้อมูลให้ละเอียด ครอบคลุม แสดงมิติต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้คนที่สมควรได้รับทุนจริง ๆ พลาดไป ซึ่งโจทย์นี้ท้าทายมากสำหรับคนเป็นครู มันก็กระตุ้นให้เราอยากเก่งขึ้น ทำได้ดีขึ้น

“ภาพรวมของตำบลทับกฤช เด็ก ม.1-6 โรงเรียนเราทั้งหมด 410 คน มีมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่เขาขาดแคลน สมควรได้รับความช่วยเหลือ คือเราไม่ได้หมายถึงว่าจะดันให้เขาได้รับทุนอย่างเดียว แต่ข้อมูลที่เราทำ สามารถเอามาต่อยอดสร้างเครือข่ายในชุมชน ในท้องถิ่น หรือในจังหวัดของเราได้ เพื่อดึงความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายเข้ามาช่วยให้เด็กมีอาหารดี ๆ กิน มีค่ารถไปโรงเรียน หรือจบแล้วมีโอกาสไปเรียนต่อในเมืองได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเด็กหลายคนที่มีความสามารถแต่ต้องพลาดโอกาสพัฒนาตัวเองไป เพราะเขายากจนจริง ๆ”

ครูสุจิตรา ให้คำตอบครอบคลุมคำถามสั้น ๆ ที่ว่า ‘เหนื่อยไหม’ ว่า “ไม่ค่ะ เพราะถึงงานในระบบดูแลจะต้องเดินไปตลอดเวลา แต่เราไม่ได้ทำทุกวัน แค่เหนื่อยหน่อยช่วงลงพื้นที่คัดกรอง กรอกข้อมูล แต่พอท้ายสุดเราเห็นเด็กได้ทุนแล้วเขามีโอกาสได้พัฒนาทักษะ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีเสื้อผ้าใหม่ รองเท้าใหม่ มีขนมกิน มีอุปกรณ์การเรียนครบ เราก็มีความสุขกับงานนี้”

ย้ำเตือนว่าต้องดูแลด้วยรักและเอาใจใส่

ครูครองรวีย์ วังไชยเลิศ โรงเรียนปงยางคก (ทิพย์ช้างอนุสรณ์) อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เล่าถึงความรู้สึกต่อการทำงานทุนเสมอภาคว่า รู้สึกดีที่ได้ทำมากกว่าสอนให้เด็ก ๆ อ่านออกเขียนได้ แต่ยังมีโอกาสช่วยเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพให้เขาได้ด้วย

“ถ้าไม่ได้ไปเยี่ยมบ้านเด็ก เราจะไม่รู้เลยว่าพฤติกรรมของเขาที่แสดงออกมามันเป็นผลจากสภาพแวดล้อม เด็กบางคนดื้อ ซน ไม่ค่อยตั้งใจเรียน บอกไม่ค่อยฟัง แต่พอได้ไปเห็นว่าเขาอยู่ยังไง เราก็เข้าใจว่าเขาขาดความพร้อมในครอบครัว ประสบการณ์พวกนี้มันประทับในใจเรา ทำให้เรารู้ว่าศิษย์แต่ละคนมีปูมหลังที่แตกต่าง และย้ำเตือนให้เราปฏิบัติกับเขาด้วยความรัก ความเอาใจใส่

ข้อมูลที่ลึก ละเอียด ชัดเจน นำสู่ความช่วยเหลือที่ตรงจุด

ครูวรรณพร จุนเจริญ โรงเรียนอนุบาลเมืองพะเยา (บ้านโทกหวาก) อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ผู้เริ่มงานครูทุนเสมอภาคตั้งแต่วันแรกที่บรรจุ ถ่ายทอดประสบการณ์ว่า “ข้อมูลที่ทำกับ กสศ. เป็นข้อมูลที่ลึกที่สุด โดยเฉพาะกรอบการวัดคุณลักษณะ 8 ด้าน (Proxy Mean Test: PMT) ในการลงเยี่ยมบ้านนักเรียน เช่น ลักษณะบ้าน สภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งมีความละเอียดในการคัดกรองนักเรียนมาก

“อย่างเช่นมีนักเรียนคนหนึ่งขาดเรียนบ่อยมาก เราถามสาเหตุอะไรเขาก็ไม่บอก จนได้ไปเยี่ยมบ้านเขาซึ่งอยู่ไกลมาก ต้องนั่งรถแล้วเดินต่อขึ้นที่สูง ผ่านป่าไปถึงสวนยางที่ลึกมาก เราถึงเพิ่งรู้ปัญหาเรื่องการเดินทางของนักเรียน แล้วเขาไม่มีไฟฟ้าใช้ น้ำก็ใช้จากบ่อบาดาล เราก็คัดกรองข้อมูลไปตามความเป็นจริง จนเขาได้รับทุนและความช่วยเหลืออื่น ๆ จากนั้นเด็กก็ขาดเรียนน้อยลง เราก็ดีใจไปด้วย”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เล่าผ่านประสบการณ์การทำงาน ‘ครูทุนเสมอภาค’ ซึ่งมีทั้งความเข้มข้น เปิดมุมมองใหม่ และทำให้เห็นว่า ‘คุณครู’ ผู้เป็น ‘ปุถุชนธรรมดา’ เหล่านี้ ทุ่มเทพยายามกันเพียงใด เพื่อให้ศิษย์ทุกคนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาค อันเป็นการเติมเต็มชีวิตจิตใจและแสดงให้เห็นว่า ‘จิตวิญญาณ’ ของความเป็นครูนั้นยิ่งใหญ่เสมอ