เมื่อโควิด-19 ซ้ำเติมความไม่เสมอภาค “อสม. การศึกษา” คือคำตอบ

เมื่อโควิด-19 ซ้ำเติมความไม่เสมอภาค “อสม. การศึกษา” คือคำตอบ

เมื่อการเรียนรู้ในห้องเรียนไม่สามารถทำได้ เพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คนในพื้นที่จึงต้องเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการสนับสนุนเด็กนักเรียน เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ขาดช่วง และประคับประคองให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดี

กสศ.มีเป้าหมายสร้างอาสาสมัครการศึกษาหรือ “อสม.การศึกษา” จำนวน 1,000 คน สำหรับลงพื้นที่ 20 จังหวัด ทำหน้าที่เป็นดั่งผู้ช่วยครูในโรงเรียนของชุมชน ช่วยจัดการเรียนรู้ ฝึกทักษะชีวิต และทักษะอาชีพแก่นักเรียน

คุณสมบัติของ อสม.การศึกษา คือเป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้น ม.6, บัณฑิตปริญญาตรีที่อยู่ระหว่างหางาน หรือครูเกษียณอายุราชการ มาร่วมผนึกกำลังเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community based Education) ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง

การจัดตั้งเครือข่าย อสม.การศึกษา นี้ใช้นวัตกรรมระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอทางการศึกษาหรือ iSEE  เพื่อค้นหาเป้าหมายและระบุตัวตนกลุ่มที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19

โดยเริ่มทำงานกับโรงเรียนเครือข่ายต้นแบบในระยะแรก  สนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 279 แห่ง ให้ได้รับประโยชน์จากการมี อสม.การศึกษาจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน กระจายทุกภูมิภาค ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัด และมีเด็กนักเรียนได้รับประโยชน์กว่า 80,000 คน

ตัวอย่าง อสม. การศึกษาในจังหวัดสุโขทัย

สุทธิศักดิ์ เพ็ชรผึ้ง ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่าการทำงานที่จังหวัดสุโขทัยเป็นการบูรณาการ 3 องค์ประกอบ คือ 1. กลไกการบูรณาการทางนโยบาย 2. ระบบสนับสนุนทางสังคม และ 3. ระบบนิเวศการเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสให้เด็ก

จากการติดตามความก้าวหน้าการทำงานในปีที่ 2  พบว่าการดำเนินงานที่ผ่านมามีการใช้กลไกภาครัฐเป็นคณะทำงานหลัก โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และภาคประชาสังคมและภาควิชาการเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งมหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร 

ทำงานแนวตั้งระดับจังหวัด อำเภอ และพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นฝ่ายบริหารเชิงพื้นที่ ส่งผลให้การทำงานไม่เกิดการเชื่อมโยงระดับพื้นที่ และค่อนข้างมีความเปราะบางทั้งกลุ่มเป้าหมายและคนในพื้นที่

ในปีที่ 2 จึงปรับเปลี่ยนคณะทำงานเป็นสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุโขทัย มีทั้งกลไกเชิงนโยบาย กลไกสำรวจ กลไกพื้นที่ กลไกสหวิชาชีพและวิชาการ มีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมงานมากขึ้น เพื่อให้เกิดองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายรอบด้านและสามารถขับเคลื่อนไปยังสมัชชาการศึกษาระดับอำเภอและตำบลได้

กลไกการทำงานของสมัชชาการศึกษาจังหวัด

อสม.การศึกษาจะได้รับองค์ความรู้ด้านเด็กปฐมวัย จากทีมวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เพื่อลงพื้นที่ช่วยเหลือเด็กได้ถูกต้องตามช่วงวัย

ครู กศน. ของตำบลเป็นผู้สำรวจข้อมูลนักเรียน ส่วนระดับพื้นที่ใช้เครือข่ายชุมชน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) เป็นหลัก เพราะบุคลากรเหล่านี้มีองค์ความรู้ด้านการช่วยเหลือแบบรายบุคคล และมีความใกล้ชิดกับคนในพื้นที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น

การลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเด็กในระบบ เป้าหมายการสำรวจปีนี้ 6,810 คน สำรวจแล้ว 4,603 คน ต้องช่วยเหลือ 2,400 คน และช่วยเหลือไปแล้ว 905 คน

ส่วนการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีเครือข่ายชุมชนลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล โดยปีแรกเป็นครู กศน. ลงพื้นที่อย่างเดียว ส่วนปีที่ 2 มี อพม.ประจำทุกหมู่บ้านเข้ามาร่วมมือด้วย จากเป้าหมายสำรวจ 10,555 คน สำรวจได้ 10,762 คน ปัจจุบันช่วยเหลือแล้ว 1,238 คน จากเป้าหมายช่วยเหลือทั้งหมด 1,786 คน

ร่วมใจสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้

มีการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายชุมชน รวมทั้งสภาเด็กและเยาวชน  เพื่อเชื่อมโยงฐานสมรรถนะทุกช่วงวัย ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน 

อสม.การศึกษาในจังหวัดสุโขทัย  เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าคนในพื้นที่มีความรู้เรื่องชุมชนเป็นฐานทุนเดิม สามารถเติมเต็มช่องว่างทางการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนได้ และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้

เรียกได้ว่า “เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือร่วมใจ” เพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ต่อไป

ที่มา :

  1. รายงานประจำปี 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  2. เพจจังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
  3. มิติใหม่ของแนวคิดจัดการศึกษาช่วงสถานการณ์โควิด-19 สร้างอาสาสมัครการศึกษา หนุนเสริมการทำงานของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เพจ The Reporters