ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ชูครูเป็น ‘ผู้ก่อการ’ ร่วมพัฒนาระบบการศึกษาในทุกระดับ

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ชูครูเป็น ‘ผู้ก่อการ’ ร่วมพัฒนาระบบการศึกษาในทุกระดับ

“ถ้าการศึกษาใดครูไม่เป็นผู้ก่อการ หวังยากมากที่จะทำให้การศึกษานั้นมีคุณภาพสูง หัวใจสำคัญคืออยู่ที่ความเป็นผู้ก่อการ (agency) ในระดับปฏิบัติ แต่แน่นอนว่าระดับนโยบายมีความสำคัญด้วย นโยบายที่ทำให้เกิดขึ้นได้ คือนโยบายแบบ empowerment หรือความสัมพันธ์แนวราบ”

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และประธานอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวว่า Learning Loss ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Gap ช่องว่างการเรียนรู้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยมานานและมากกว่าที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 แต่หลายฝ่ายไม่รู้ตัว เป็นช่องว่างที่ทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาโดยใช่เหตุ ไม่บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้เต็มศักยภาพ 

นักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ถ้าไม่ระวังจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้และไม่ได้รับการดูแล เป็นช่องว่างที่ต้องปิดเพื่อทำให้อย่างน้อยนักเรียนทุกคนต้องบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ขั้นต่ำ นี่เป็นเป้าหมายที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง 

ประเทศที่คุณภาพการศึกษาดีทำได้ แต่ไม่ใช่ที่ประเทศไทยทำอยู่ในปัจจุบัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ความเชื่อ และเปลี่ยนระบบ เรื่องนี้เป็นเป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองที่ กสศ.ร่วมกับ สพฐ. ตชด. อปท. สช. และ 11 เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง 

“GAP หรือช่องว่างมีมากกว่าและใหญ่กว่า COVID GAP เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการของการศึกษาของเรา ไม่ใช่แค่ประเทศไทย อีกกว่าครึ่งโลกก็เป็น แต่หลายประเทศรู้ตัวและหาทางแก้ไข ประเทศฟินแลนด์ใช้เวลากว่า 30 ปี จัดระบบที่ให้นักเรียนไม่ว่าอยู่ห่างไกลแค่ไหน แต่ต้องได้รับการศึกษาที่คุณภาพเท่าเทียมกัน เรื่องนี้สามารถทำได้ในประเทศไทย แต่ต้องเป็นนโยบาย นโยบายของไทยขณะนี้ แม้ว่าต้องการให้เท่าเทียม แต่วิธีปฏิบัติสร้างความแตกต่าง สร้างความไม่เท่าเทียม สร้างความด้อยโอกาสให้แก่โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล นี่คือปัญหา เช่น ทุกโรงเรียนได้รับงบประมาณแบบเดียวกัน เหมือนกันหมดทั้งประเทศ นโยบายนี้สร้างช่องว่าง โดยไม่รู้ตัว ในนามของความหวังดี แต่จริง ๆ แล้วคือนโยบายที่ไม่ดี” ศ. นพ.วิจารณ์กล่าว 

ศ.นพ.วิจารณ์กล่าวว่า การเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าครูไม่เรียนรู้จากการทำหน้าที่ของตน นี่คือหัวใจในโลกปัจจุบันการศึกษา การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมาก ทั้งมุมของเด็กและครู ดังนั้นแม้ครูเรียนมาจากสถาบันที่เก่งเท่าไหร่ พอมาทำงาน ความรู้ประสบการณ์เหล่านั้นไม่พอ ต้องเรียนรู้เพิ่ม ต้องเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครู ครูต้องเป็นนักเรียน เรียนจากการทำงานในหน้าที่ครู เรียนร่วมกัน ดังนั้นโรงเรียนต้องเป็นชุมชนการเรียนรู้ (learning community) ทั้งของครูและของศิษย์ 

“ผมเชื่อว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไม่มีวันเต็ม 100% เด็กแต่ละคนเต็มไม่เท่ากัน ผมเข้าใจว่า ขณะนี้โดยเฉลี่ยของเด็กไทย น่าจะไม่ถึง 30% เด็กเก่งอาจไม่ถึง 80-90% แต่จะมีเด็กบางคนอาจได้แค่ 10-20% ไม่ใช่พูดให้ท้อถอย หรือตำหนิใคร แต่ชี้ให้เห็นว่า ครู โรงเรียน มีโอกาสที่จะพัฒนาอีกมากมาย ช่วยกันหาทางเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น” ศ. นพ.วิจารณ์กล่าว 

ศ.นพ.วิจารณ์กล่าวว่า ถ้าปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนดี หลายครั้งนักเรียนที่หงอย ไร้แรงบันดาลใจ กลายเป็นคนมีชีวิตชีวา เท่ากับว่าครูได้ชุบชีวิตของนักเรียนขึ้นมา กรณีเด็กเกเร ครูก็สามารถช่วยได้ โดยการใช้เรื่องของปฏิสัมพันธ์เชิงบวก นอกจากนี้ยังมีช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการใช้ปฏิสัมพันธ์แบบนายกับลูกน้องระหว่างครูกับผู้บริหาร ปฏิสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง เชิงอำนาจ เป็นตัวบั่นทอนคุณภาพการศึกษา เป็นคำพูดของนักการศึกษาทั่วโลกที่ทำวิจัยมา และชี้ให้เห็นว่า การสร้างเงื่อนไข กติกา ออกข้อบังคับ ออกหลักสูตรให้ดีอย่างไร แต่ครูไม่เป็นครูผู้ก่อการ ทำงานเพื่อสนองนาย สนองคำสั่ง ระบบการศึกษาไม่มีวันที่มีคุณภาพได้ นี่คือผลการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก 

ดังนั้นความเป็นกัลยาณมิตร ระหว่างผู้บริหารกับครูนั้นหมายความว่า ปฏิสัมพันธ์เน้นความเป็นแนวราบ ผู้บริหารต้อง Empower ครู ไม่ใช่สั่งการครู ทำให้ครูมีพลังขึ้นมา เพื่อจะทำงานพัฒนา ครูนั้นไม่ใช่เป็นเพียงผู้ทำงานเชิงเทคนิคหรือสอนเท่านั้น แต่เป็นผู้ทำงานพัฒนาในทุกระดับ จนถึงระดับจังหวัดระดับประเทศ ครูเป็นผู้ส่วนร่วมพัฒนาระบบการศึกษาในทุกระดับ ไม่ใช่แค่ผู้รอรับคำสั่งจากเบื้องบนเท่านั้น

สำหรับช่องว่างหรือ GAP ระหว่างต้นสังกัดใหญ่ โรงเรียนและครู นั้นต้องร่วมกันสร้างสัมพันธ์แนวราบในระบบการศึกษา เป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ ไม่ใช่สายการบังคับบัญชา เพื่อให้ทุกจุดของระบบมีพลังสร้างสรรค์ เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยไปถูกทาง เป็นระบบที่เรียนรู้และปรับตัว การศึกษาไทยปัจจุบันเป็นระบบที่ไม่มีการเรียนรู้ เพราะสั่งการจากเบื้องบนหมด ข้างล่างปฏิบัติตามคำสั่งและมีการมาตรวจวัด ไม่มีวันที่เราจะทำให้การศึกษามีคุณภาพอย่างแท้จริง

“ถ้าการศึกษาใดครูไม่เป็นผู้ก่อการ หวังยากมากที่จะทำให้การศึกษานั้นมีคุณภาพสูง หัวใจสำคัญคือ อยู่ที่ความเป็นผู้ก่อการ (agency) ในระดับปฏิบัติ แต่แน่นอนว่า ระดับนโยบายมีความสำคัญด้วย นโยบายที่ทำให้เกิดขึ้นได้ คือนโยบายแบบ empowerment หรือความสัมพันธ์แนวราบ” ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว

ที่มา :
สรุปสาระสำคัญ
งานเสวนา โรงเรียนเปลี่ยนใหม่ ครั้งที่ 1 ปิด Gap ห้องเรียนในยุคโควิด-19
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564