ส่งต่อ “โอกาส” ที่เคยได้รับ กลับไปเป็นครูบ้านเกิด พัฒนา “เด็ก” และ “ชุมชน”

ส่งต่อ “โอกาส” ที่เคยได้รับ กลับไปเป็นครูบ้านเกิด พัฒนา “เด็ก” และ “ชุมชน”

จากการดูแลเอาใจใส่ของคุณครูในวัยเด็กกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชิต-ครรชิต นันทวิเชียรฤทธิ์ ตั้งเป้าหมายว่าสักวันหนึ่งจะกลับมาเป็น “ครู” ในพื้นที่บ้านเกิด เพื่อส่งต่อโอกาสดี ๆ อย่างที่เขาเคยได้รับ

“ตอนเป็นเด็กผมต้องไปอยู่ที่หอพัก คุณครูที่โรงเรียนดูแลผมดีมาก ไม่ต่างจากพ่อแม่ ทั้งเรื่องเรียน ชีวิต ความเป็นอยู่ หางานพิเศษมาให้ทำ เป็นคนที่ช่วยผลักดันในทุกด้าน เวลามีกิจกรรมอะไรก็สนับสนุนตลอด พาผมไปแข่งทักษะวิชาการ คุณครูออกค่าใช้จ่ายให้หมด ควักเงินส่วนตัวของครูเองด้วย โอกาสในวันนั้นทำให้ผมมีวันนี้ และผมก็อยากจะส่งต่อโอกาสที่ได้เคยรับไปให้กับน้องๆ”​

ชิตเล่าให้ฟังว่าฐานะทางบ้านไม่ดีนัก พ่อแม่ทำการเกษตร ปลูกข้าวโพด ช่วงกำลังจะจบ ม.6 ลังเลอยู่ว่าจะเรียนต่อเป็นครูอย่างที่ตั้งใจ หรือจะต้องเบนเข็มไปเรียนสายอาชีพเพื่อรีบออกมาหางานทำแบ่งเบาภาระที่บ้าน 

“ถ้าไม่ได้ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ของ กสศ. ​ผมไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนเรียนด้วยซ้ำ พอรู้ว่ามีโครงการนี้ก็ไปสมัคร ผมตั้งใจเรียน เกรดเฉลี่ย 3.30 ตอน ม.5 เคยได้รางวัลวาดภาพระบายสีในการแข่งขันทักษะวิชาการ ได้รองชนะเลิศอันดับ 3 ของภาคเหนือ ไปเข้าค่ายสอบสัมภาษณ์จนได้รับคัดเลือก ทำให้มีโอกาสได้กลับมาเรียนอีกครั้ง ไปบอกที่บ้าน พ่อกับแม่ดีใจมาก”​

ชิต-ครรชิต นันทวิเชียรฤทธิ์
นักเรียนโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ของ กสศ.

ปัจจุบันชิตเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อีก 3 ปีเขาจะกลับมาบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านปางอุ๋ง ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนที่เขาเคยเรียนเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก

โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่บนเขาสูง การเดินทางค่อนข้างยากลำบาก ต้องใช้รถโฟร์วีลไดรฟ์ ช่วงหน้าฝนถนนก็ไม่ดี ไปไหนลำบาก​ ไฟฟ้าก็ดับบ่อย กระทบไปถึงการเรียน โดยเฉพาะวิชาคอมพิวเตอร์ ครูต่างถิ่นที่มาบรรจุสักพักก็จะย้ายออกไปที่อื่น ทำให้ขาดความต่อเนื่อง

ลดช่องว่าง “ภาษา”
เข้าใจบริบทชุมชนเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้

ในฐานะคนในพื้นที่ที่จะกลับมาเป็นครู เขามองว่าเป็นข้อดี ช่วยลดปัญหาการโยกย้ายครูในพื้นที่ห่างไกล เพราะเขาสามารถอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวได้ระหว่างที่เป็นครู ไม่ต้องคอยกังวลหรือเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัวบ่อยๆ ที่สำคัญคือความใกล้ชิด รู้จักบริบทของชุมชน รู้จักเด็ก ๆ แถวบ้านที่จะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึั้น 

“ยิ่งบนดอยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร บางครั้งพูดภาษาไทยไม่ชัด ไม่กล้าพูด  พูดแล้วไม่เข้าใจ ซึ่งกระทบต่อไปถึงการเรียนรู้ของเด็กๆ เพราะเวลาไปพูดกับครูที่มาจากต่างถิ่นแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่กล้าถาม แต่ถ้าเราเป็นครูในพื้นที่ ก็จะทำให้สื่อสารเข้าใจกับเขาได้ง่ายกว่า เราเองก็เคยประสบปัญหาตรงนั้นมาก่อน เช่น เรื่องพูดไม่ชัด เราก็สามารถสอนเทคนิควิธีปรับให้เขากล้าพูด กล้าสื่อสารมากขึ้น”

เตรียมพร้อมสู่นักพัฒนาชุมชน
แก้ปัญหาเด็กต้องเริ่มจากที่ครอบครัว

เป้าหมายตอนนี้คือตั้งใจเรียน  เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์เพื่อกลับมาเป็นครู ซึ่งไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สอนหนังสืออย่างเดียว แต่สำหรับครูรัก(ษ์)ถิ่นแล้ว หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างคือการเป็นนักพัฒนาชุมชนควบคู่ไปด้วย 

ในฐานะลูกหลานเกษตรกร ชิตมองว่าปัญหาเวลานี้คือข้าวโพดราคาตกต่ำ ทางแก้ไขคือควรสนับสนุนให้ความรู้เรื่องปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นเสริมไปด้วย เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น 

“เรื่องเศรษฐกิจของครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่วนใหญ่เด็ก ๆ ในชุมชนจบ ม.6 ก็ไม่ได้เรียนต่อ ต้องออกมาหางาน ถ้าเราจะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนต่อก็ต้องเริ่มจากการช่วยแก้ปัญหาเรื่องอาชีพและรายได้ของครอบครัว ให้เขามีความพร้อม หรือสอนให้เด็ก ๆ มีทักษะอาชีพ ​ให้เขาสามารถหารายได้เสริมระหว่างเรียนไปด้วยได้”

สิ่งสำคัญคือการถ่ายทอดสิ่งที่ชิตเคยเรียนรู้จากคุณครูตอนอยู่หอพัก เช่น เรื่องการปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อนำมาทำเป็นอาหาร ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้จัดกิจกรรมเสริมทักษะให้กับนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการปลูกผักสมัยใหม่ด้วยโรงเรือน การทำปุ๋ยหมัก ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริงเมื่อกลับไปเป็นครูในพื้นที่

เรื่องราวของชิตเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างของนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งปัจจุบันเดินหน้าต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ 3 ด้วยเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างต้นแบบการผลิตครูระบบปิด ด้วยการให้การสนับสนุนเด็กในพื้นที่ห่างไกลให้มารับทุนการศึกษา เมื่อเรียนจบก็จะกลับไปบรรจุเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง

ด้วยจุดแข็งของการเป็นคนในพื้นที่ ย่อมทำให้เข้าใจบริบท ภาษา วัฒนธรรม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ ที่จะช่วยให้การพัฒนาทำได้ดีขึ้น รวมทั้งจะเป็นอีกกลไกสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาครูโยกย้ายถิ่นฐานในพื้นที่ห่างไกลได้​อีกด้วย