‘ครู’ ผู้รัก ผู้ภูมิใจ ผู้ศรัทธาในวิชาชีพ ผู้ดำรงตนเพื่อประโยชน์ของศิษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

‘ครู’ ผู้รัก ผู้ภูมิใจ ผู้ศรัทธาในวิชาชีพ ผู้ดำรงตนเพื่อประโยชน์ของศิษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

“การลงทุนในการจัดการศึกษาที่เหมาะสม เป็นแนวทางการลงทุนในทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด”

เป็นข้อความที่อ้างอิงจากผลการศึกษาซึ่งยืนยันว่าการลงทุนในมนุษย์จะให้ผลลัพธ์คุ้มค่าที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ ที่ต้องมุ่งให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางขาดโอกาส ถือเป็นการยกระดับขีดความสามารถประชากรของประเทศในอนาคต และยังเป็นการระดมทุนภายใต้ทรัพยากรอันจำกัดเพื่อทำงานสำคัญของประเทศที่หวังผลตอบแทนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทุกปีเมื่อเดือนมกราคมเวียนมาถึง จะมีวาระสำคัญในแวดวงการศึกษาที่สืบเนื่องต่อกัน จาก ‘วันเด็ก’ ถึง ‘วันครู’ แห่งชาติ ซึ่งชวนให้ทบทวนถึงประเด็นว่าด้วยการหนุนเสริมศักยภาพ ‘ครู’ ในฐานะทรัพยากรบุคคลผู้มีภารกิจสำคัญในการพัฒนา ‘ทุนมนุษย์’ (human capital) ของประเทศให้มีคุณภาพ

เพราะตัว ‘การศึกษา’ เองที่ถือเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ ไม่อาจเดินหน้าไปได้โดยปราศจาก ‘บุคลากร’ ผู้มีความรู้ ทักษะ และความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์รุ่นถัดไป การลงทุนในมนุษย์จึงไม่เพียงเป็นการจัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาล โดยคำนึงถึงเฉพาะปลายทางคือบทบาทของทรัพยากรมนุษย์ผู้จะเติบโตขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น หากต้องมีแผนงานเสริมสร้างศักยภาพ ‘ครู’ ผู้มีหน้าที่พัฒนาทุนมนุษย์อย่างรอบคอบ ครอบคลุม รองรับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าได้อีกด้วย

กสศ. กับปฏิบัติการ ‘สร้างครู’ ผู้เป็นด่านหน้าของงานสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

“การขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เป็นความท้าทายของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่าปัญหาเรื่องอัตรากำลังครู ที่ไม่มีครูเลือกไปบรรจุทำงานหรือขอย้ายออกปีละจำนวนมาก การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่ยังไม่สามารถส่งเสริมให้เด็กในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ อีกทั้งโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลยังพัฒนาคุณภาพได้ยาก ล้วนเป็นสถานการณ์ที่ชี้ให้เห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษาในชนบทกับในเมือง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ทั้งนี้เพื่อพัฒนาสมรรถนะ ‘ครู’ ให้สามารถจัดการเรียนรู้และสนับสนุนนักเรียนในการพัฒนาทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพอย่างเต็มศักยภาพ จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ที่มุ่งมั่นสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนผู้ขาดแคลนโอกาส ผู้มีศักยภาพและมีใจรักอยากเป็นครู ให้เข้ารับการศึกษา และได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและเป็นชุมชนบ้านเกิด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูและพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้สอดคล้องกับโจทย์การศึกษาในพื้นที่ห่างไกล

“โรงเรียนตามแนวชายแดน โรงเรียนบนพื้นที่เกาะ หุบเขา หรือพื้นที่เสี่ยงภัยราว 1,000-1,500 แห่ง เป็นโรงเรียนพื้นที่เป้าหมายปฏิบัติงานของครูรุ่นใหม่จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่จะรับการบรรจุหลังสำเร็จการศึกษา ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลดังกล่าวจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก โดยต้องพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบตามบริบทอย่างต่อเนื่อง”

โครงการ TSQP

“ถ้าการศึกษาใดครูไม่เป็นผู้ก่อการ หวังยากมากที่จะทำให้การศึกษานั้นมีคุณภาพสูง หัวใจสำคัญคืออยู่ที่ความเป็นผู้ก่อการ (agency) ในระดับปฏิบัติ”

อีกหนึ่งโครงการสำคัญ คือ ‘TSQP’ (Teacher and School Quality Program) หรือ ‘โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง’ ซึ่งเกิดขึ้นบนฐานของความเชื่อว่าการหนุนเสริม หรือสร้างพลัง (Empowerment) ให้ ‘ครู’ หรือ ‘สถานศึกษา’ จะสามารถช่วยพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง เป็นหนทางในการกระจายความเสมอภาคทางการศึกษาไปยังกลุ่มเด็กขาดแคลนโอกาส โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างครอบคลุม

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และประธานอนุกรรมการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ กล่าวว่า TSQP คือทิศทางหนึ่งในการพัฒนาสถานศึกษาและครูให้ก้าวทันโลกปัจจุบัน ที่การ ‘สอน’ ไม่ได้เป็นหลักยึดของครูอีกต่อไป แต่จะต้องทำให้ผู้เรียนไปถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ได้จากภายในผ่านกระบวนการ Active Learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้เชิงรุก (Constructivism) หรือคือการ ‘สร้าง’ นั้นสำคัญกว่าการ ‘ถ่ายทอด’ ความรู้

กสศ. จึงร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองในสังกัด สพฐ. เพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเริ่มนำร่องในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก 733 แห่ง

“เป้าหมายโครงการคือยกระดับการทำงานของครู ให้สามารถมองเห็นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งตรงกับสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่มี รวมถึงคิดต่อยอดไปได้ถึงการรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และเพื่อความเปลี่ยนแปลงของศิษย์ โดยวิธีที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างการเรียนรู้ภายในที่ดีที่สุด คือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านการลงมือปฏิบัติ (Experiential Learning) ซึ่งทั้งตัวนักเรียน ครู และโรงเรียนเองต้องเพิ่มพูนทักษะผ่านการลงมือปฏิบัติ ร่วมกับการสนับสนุนจากผู้ปกครองและคนในชุมชน สานเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่มาช่วยหนุนเสริม เพื่อให้โรงเรียนสามารถยกระดับสู่การพัฒนาตนเองได้จริง ๆ”

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

“เชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษา”

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กสศ. ร่วมกับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร หน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะคัดเลือก ‘ครู’ ผู้มีผลงานดีเด่น เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา โดยเป็นหรือเคยเป็นครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาทุกสังกัด ซึ่งรวมถึงครูนอกสถานศึกษาที่สอนผู้เรียนในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานประเทศละ 1 คน เป็นเวลา 2 ปีต่อครั้ง

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

โดยผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อครู แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
– กลุ่มแรก ศิษย์เก่าอายุ 25 ปีขึ้นไป สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์กรนิติบุคคลและมีภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้ และคณาจารย์ที่เคยเป็นผู้สอนครู เสนอชื่อครูได้ที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด
– กลุ่มที่ 2 องค์กรภาครัฐและเอกชนมีการคัดเลือกครูระดับประเทศเสนอชื่อครูมาที่คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง จากนั้นจะมีการคัดเลือกและลงพื้นที่เพื่อพิจารณาครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพียง 1 คน

สำหรับประเทศไทย เนื่องจากการคัดเลือกมาจากสุดยอดครูของแต่ละจังหวัด มูลนิธิ ฯ จึงได้มอบรางวัล ‘ครูขวัญศิษย์’ ซึ่งมาจากสุดยอดครูของจังหวัด รางวัล ‘ครูยิ่งคุณ’ และรางวัล ‘คุณากร’ ร่วมด้วย เพื่อให้สังคมร่วมกันเห็นคุณค่า และเชิดชูครูผู้ทุ่มเทเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ตลอดทั้งชีวิตของความเป็นครู

จากงานประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีเครือข่ายครูจากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่เป็นครูไทยมาร่วมงานกว่า 250 คน จาก 77 จังหวัด ซึ่งหลายท่านได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับ ‘ค่านิยมหลัก’ ที่ยึดถือในการทำงาน ซึ่งสอดคล้องเหมาะสมกับ ‘วาระวันครูแห่งชาติ’ ปี 2566 นี้

“ครูควรเป็นบุคคลที่ทำงานบนพื้นฐานคุณธรรมที่หลากหลาย มีปณิธานในการทำงาน ด้วยความรัก ความศรัทธา เห็นคุณค่า และความภาคภูมิใจ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีความรับผิดชอบ อดทน เพียรพยายามภายใต้การสืบค้น พัฒนา รู้จักต่อยอดองค์ความรู้ อย่างต่อเนื่อง รู้จักใช้สติ ไตร่ตรอง ส่งเสริมสนับสนุนงานของครูให้เกิดความยั่งยืน” ครูภารดี เสนียวงศ์ ณ อยุธยา

“ครูต้องรัก ภูมิใจ และศรัทธาในวิชาชีพ ทำงานด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ อดทน และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ให้ความรัก ความเมตตา และปรารถนาดีต่อศิษย์อย่างเสมอหน้า ครองตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่ออาชีพโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน  มุ่งหวังให้ศิษย์เป็นคนดี คนเก่ง อยู่อย่างมีความสุข มองเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น” ครูศศิธร  เขียวกอ 

“ครูควรรู้จักฟังอย่างตั้งใจ ฟังแล้วต้องคิด พิจารณาไตร่ตรอง หากสงสัยต้องรู้จักซักถาม เพื่อให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน แจ่มแจ้ง และถูกต้อง  สุดท้ายคือจดบันทึกความรู้ความคิดนั้นเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น” ครูมนัญญา ลาหาญ 

“ครูมีความรักความห่วงใย เมตตาต่อศิษย์ ให้ความช่วยเหลือลูกศิษย์ให้ได้เรียนรู้ ด้วยความเท่าเทียม เข้าถึงและเข้าใจ  ดูแลเสมือนลูกของตนเอง …เพราะความรักความเมตตา เป็นเพียงภาษาเดียวที่คนหูหนวกจะได้ยิน คนตาบอดจะมองเห็น” ครูวารุณี  เอี่ยมอาภรณ์ 

“ครูมีการอุทิศตนในการสั่งสอนศิษย์  โดยไม่เลือกผู้เรียน มีความเสียสละ ตั้งใจและทุ่มเททำงานช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นหลักการในการดำเนินชีวิตที่ดีแก่ผู้เรียน ครูมีความกระตือรือร้นที่จะทุ่มเท ความรู้ ความสามารถโดยการถ่ายทอดอย่างมุ่งมั่นและสร้างสรรค์ โดยอาศัยองค์ความรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ครูกาญจนรัตน์  ทวีศักดิ์ 

“ครูควรเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ตระหนักว่าศิษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ครูต้องเข้าใจและให้โอกาส แบ่งปัน ให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน เพราะครูคือผู้นำพา ผู้สร้างโอกาส” ครูศรีอัมพร  ประทุมนันท์

ปิดท้ายด้วยคำกล่าวของ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ซึ่งกล่าวไว้ในงานรางวัลสมเด็กเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 เรื่องการทำงานของครูในช่วงเวลาสำคัญของการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่สูญเสียไป จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ว่า

โจทย์ท้าทายการทำงานของครูและการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุค New Normal คือการเผชิญกับ Digital Disruption ครูต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีและเหตุการณ์ ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในวงการศึกษา รวมไปถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจากข้อมูลเบื้องต้นของ กสศ. พบว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษ หรือผู้รับทุนเสมอภาคมีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.5  หรือราว 1.3 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนและเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมีมากขึ้นอย่างชัดเจน ครูจึงต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนเพื่ออุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และฟื้นฟูความรู้ที่สูญเสียไป

ที่ผ่านมามูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จึงได้สร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันระหว่างครูไทยและครูในอาเซียน-ติมอร์เลสเต ผ่านเวทีวิชาการนานาชาติ ประชุมแลกเปลี่ยนการทำงานผ่านระบบออนไลน์ เพื่อมองหารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ การส่งเสริมศักยภาพครูให้มีความฉลาดรู้ดิจิทัล (Digital literacy) การถอดบทเรียนจากประสบการณ์การทำงานของสุดยอดครู การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูให้กับครูรุ่นใหม่ รวมถึงการต่อยอดการทำงานของครูผู้ทุ่มเทในกลุ่มเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาส เพราะมากกว่าการคัดเลือกครู คือการสร้างพลังเครือข่ายการทำงานของครูในอาเซียนและติมอร์เลสเต ที่จะส่งผลถึงลูกศิษย์ เพื่อนครู โรงเรียน และคุณภาพการศึกษาในวงกว้างต่อไป”