หยุดวงจรเด็กหลุดจากระบบ เปิดเทอมนี้พาน้องกลับโรงเรียน

หยุดวงจรเด็กหลุดจากระบบ เปิดเทอมนี้พาน้องกลับโรงเรียน

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 มีบทบัญญัติให้มีการจัดการศึกษาคือ ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิ์และมีโอกาสเสมอในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงแล้วก็มีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

โดยเฉพาะบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสาร แล้วก็การเรียนรู้ หรือในร่างกายพิการทุกคนก็ต้องมีความเสมอภาคกันแต่ว่าช่วงสองปีที่ผ่านมา วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาขึ้นทำให้มีนักเรียนจำนวนมากที่ต้องหลุดไปจากระบบการศึกษา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุ “ทิศทางข่าว” FM100.5 MCOT News เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ก่อนช่วงเปิดเทอม โดยเปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายอยากให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” เพราะเป็นห่วงว่า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด หรือปัญหาอื่นๆ จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และไม่มีโอกาสกลับเข้ามาสู่ห้องเรียนกลางเดือนพฤษภาคมนี้

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

“วงจรชีวิตของน้องๆ ที่อยู่ในระบบการศึกษา เราจะมีการนับการเข้าสู่ระบบการศึกษา กับการหลุดออกจากการศึกษา คือว่าในแต่ละปี ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ก็คือช่วงเวลาของการเปิดเทอม ในช่วงมีนาคม จะต้องมีน้องๆ จำนวนหนึ่งที่จำเป็นจะต้องย้ายโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในระดับ ป.6 ไปขึ้น ม.1 โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทส่วนใหญ่หมื่นห้าพันกว่าโรงเรียนในประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50 ของระบบบการศึกษาของเรา มักจะเปิดสอนถึงแค่ ป.6 เท่านั้นโรงเรียนที่เปิดสอนถึง ม.3 ที่เราเรียกว่าโรงเรียนขยายโอกาส มีประมาณเจ็ดพันกว่าโรงเรียนเท่านั้นเอง”

ดร.ไกรยส กล่าวและว่า นี่จึงเป็นรอยต่อที่สำคัญ เพราะแม้น้องๆ จะอยู่ในวัยภาคบังคับที่บังคับให้เรียนถึง ม.3 แต่เด็กจำนวนหนึ่งที่จะต้องมีการเดินทางไกลขึ้น 5 กิโลเมตร, 10 กิโลเมตร ไปกลับก็ 10 – 20 กิโลเมตรต่อวัน เป็นความเสี่ยงที่จะหลุดออกไปจากระบบการศึกษา รอยต่อที่ 2 คือช่วง ม.3 ขึ้น ม.ปลาย ทำไม ม.3 ขึ้น ม.ปลาย ถึงเป็นความเสี่ยงสำคัญ เพราะว่าเมื่อเปลี่ยนจากโรงเรียนประถมขึ้นมัธยมก็ต้องเดินทางไกลขึ้นแล้ว

เมื่อจะขึ้นโรงเรียน ม.ปลาย หรือโรงเรียนที่เปิดสอน ปวช. ปวส. ส่วนใหญ่โรงเรียนมักจะอยู่ในอำเภอ และคนที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองมาก บางคนมากถึง 50 กม.-100 กม.ต้องไปเรียนในระดับ ม.ปลายให้ได้ หลายๆ คนอาศัยการไปเรียนโรงเรียนประจำ เช่น เด็กที่เค้ามีฐานะยากจนอยู่แล้ว ก็จะมีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ศึกษาสงเคราะห์จัดการเรียนการสอนแบบมีที่พักให้ แต่โรงเรียน เหล่านี้กำหนดให้แค่เด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจนจริงๆ เท่านั้น

“เด็กอีกกลุ่มหนึ่งก็จะต้องมีการไปหาหอพักให้เรียนซึ่งอยู่ไกลขนาดนี้พ่อแม่ไปรับไปส่งไม่ไหวหรอกครับ เด็กเหล่านี้ที่ฐานะยากจน รถยนต์ก็ไม่มี รถมอเตอร์ไซต์ก็ไม่มีด้วยซ้ำไป นี่จึงเป็นอีกปัญหา แล้วการเรียน ม.3 มันเป็นการศึกษาภาคบังคับปีสุดท้าย เพราะฉะนั้นการที่จะขึ้นเรียน ม.4 หรือ ปวช.ปีที่ 1 หรือเปล่า ภาครัฐไม่ได้บังคับ แต่ก็มีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี พอเยาวชนเหล่านี้อายุ 15 ขึ้นไปก็จะเรียกว่าเป็นวัยแรงงานแล้ว ถ้าจะเข้าไปเรียนในชั้น ม.4 หรือ ปวช.ปีที่ 1 รัฐจะไปเรียกเก็บค่าใช้จ่าย มีงบประมาณช่วยเหลืออยู่ให้เรียนฟรี 15 ปีแต่ก็จะมีต้นทุนส่วนอื่นนะครับที่จะต้องมีการแบกรับเพิ่มเติม โดยเฉพาะค่าเดินทางเพราะฉะนั้นเด็กก็จะหลุดตรงนี้อีกรอยต่อหนึ่ง”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวอีกว่า เมื่อรวมกันแล้วในปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา พบว่าจากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ มีเด็กที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษา ในปีการศึกษา 2564 ประมาณ 238,000 กว่าคน

ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตามกลับมาได้แล้วประมาณ 120,000 กว่าคน เหลืออีกประมาณ 110,000 กว่าคน นี่คือตัวเลขเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา แต่เมื่อช่วงมีนาคมที่ผ่านมาพบว่าเหลืออีกแค่ไม่กี่ 10,000 คน

“อย่างที่ผมเล่าเรื่องวัฐจักรของชีวิตของเด็ก พอเราปิดตัวเลขกันเมื่อเดือนมีนาคมว่าเหลืออีกไม่กี่ 10,000 คน เราก็มาเริ่มนับหนึ่งใหม่ถูกไหมครับ 17 พฤษภาคมนี้ ก็จะเป็นการเปิดเทอมรอบใหม่ ก็จะกลับมาวงจรเดิมครับ คือมันเป็นทุกปีครับ แต่ปีนี้เป็นปีแรกเลยที่มีและโยบายชัดเจนจากภาครัฐบาลว่ามีโครงการพาน้องกลับมาเรียน มีการตามข้อมูลการเป็นรายบุคคล แล้วก็ร่วมกัน 10 กว่าหน่วยงาน หลายกระทรวง”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ตัวชี้วัดที่สำคัญคือ การเช็คชื่อนักเรียนทั่วประเทศในทะเบียนนักเรียนในทุกสังกัดในวันที่ 10 มิถุนายนจะทำให้ทราบตัวเลขที่แน่ชัดว่ามีเด็กที่กลับมาเรียนจำนวนเท่าไหร่และที่ยังไม่กลับมาเรียนมีกี่คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วง ป.6 ขึ้น ม.1 และ ม.3 ขึ้น ม.4 หรือ ปวช.

“เราสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าเด็ก ม.3 ที่บอกว่าจะยังไปเรียนมีอยู่ประมาณ 8,000 คน และเกือบ 10,000 คน ที่บอกว่าไปเรียนไม่ไหวแล้ว คิดว่าจะหลุดออกจากระบบการศึกษา เราก็ได้มีการส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังเขตพื้นที่การศึกษาไปยังโรงเรียนเพื่อให้มีการตามตัวน้องกลับมาเรียนให้ได้โดยต้องมีการอาศัยเรื่องทุนการศึกษา เพราะว่าตอนเปิดเทอมทุกคนทราบดีว่ามีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดตลอดทั้งปี”

“แทบทุกคนน่ะครับ ไม่ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่รายได้เราหายหมด จากโควิด ทีนี้ถ้าการจ้างงานยังไม่กลับมางานของเค้าเป็นงานประเภทที่เป็นงานระยะสั้นไม่ได้มีสัญญาจ้างไม่มีสลิปเงินเดือนอยู่แล้ว น้องๆ เหล่านี้ก็จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในช่วงที่การจ้างงาน หรือว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเรายังอยู่ในช่วงฟื้นตัวถ้าเกิดเราป้องกันตรงนี้ได้ โควิด-19 ก็จะไม่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากกว่าที่ควรจะเป็นครับ”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ปัญหาของระบบการศึกษา ไม่ได้เป็นปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับสภาพครอบครัวด้วย จากการสำรวจเด็กยากจนพิเศษมากกว่าร้อยละ 40 มาจากครอบครัวพ่อแม่แยกทางกัน เยาวชนกลุ่มนี้จะน่าสงสารมาก ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่กับลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า เงินที่ได้รับจากพ่อแม่ก็อาจจะไม่ได้ส่งมาทุกๆ เดือน

“เด็กที่เป็นกลุ่มกำพร้าครอบครัวเหล่านี้ปัจจัยความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เป็นตัวเงินโดยตรงแต่เป็นความเสี่ยงที่สำคัญมากๆ เลยที่น้องจะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร และเราต้องมาหาประเด็นในลักษณะแบบนี้มากขึ้นแล้ว ในการเยี่ยมบ้านในการคัดกรองความยากจน ที่ กสศ. ทำงานร่วมกัน กับหน่วยงานต้นสังกัดถือเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลให้เยาวชนที่มีปัญหาครอบครัวต้องหลุดไปจากระบบการศึกษา”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ยามใดที่เด็กออกมาจากระบบการศึกษาแล้วมีความเสี่ยงหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ทั้งปัญหาอาชญากรรม การท้องก่อนวัยอันควร ซึ่งถือเป็นความเสียโอกาส ไม่ใช่แต่ของเด็ก ไม่ใช่แต่ของจังหวัด แต่เป็นของประเทศ ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย วัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุแล้ว ถ้าเราเสียเด็กไปแม้แต่คนเดียว กลับไปเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ นั่นคือขาดแรงงานที่จะอยู่ในกำลังของฐานภาษีเราน้อยลงแล้ว ก็จะช่วยเหลือพวกเราในยามที่เราแก่เฒ่า ได้น้อยลงไปอีก

“เพราะฉะนั้นเรื่องของการลงทุนในตัวเด็กไม่ใช่เป็นการสงเคราะห์นะครับแต่เป็นการลงทุนเพื่อให้เขาได้อยู่ในระบบการศึกษาได้สุดความสามารถได้สุดศักยภาพของเขา เป็นเรื่องสำคัญของประเทศที่เราอยากจะเป็นประเทศรายได้สูงจริงๆ เราต้องช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้เค้าไปต่อได้”