“ดูแลจิตใจเด็ก ๆ” ที่สูญเสียพ่อแม่หรือผู้ปกครองเพราะโควิด กับ “นักเล่นบำบัด”

“ดูแลจิตใจเด็ก ๆ” ที่สูญเสียพ่อแม่หรือผู้ปกครองเพราะโควิด กับ “นักเล่นบำบัด”

กสศ. จับเข่าคุยกับคุณชนิกานต์ เจษฎาพงศ์ภักดี (พีช) ในฐานะที่เธอเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “การเล่น” เพื่อดูแลจิตใจเด็กๆ ที่เผชิญความสูญเสีย เรื่องการใช้กิจกรรมการเล่นเพื่อกอบกู้วันที่สดใสของหัวใจดวงน้อย ๆ กลับคืนมา

นักเล่นบำบัดทำงานอย่างไร

นักเล่นบำบัดเป็นผู้มีความรู้เรื่องการเล่น เข้าใจสัญลักษณ์ รูปแบบ และวิธีการเล่น ภายในห้องเล่นบำบัด นักเล่นบำบัดไม่ได้มีหน้าที่สอนเด็กโดยตรง แต่จะมีหน้าที่ช่วยเด็ก process ความคิด ช่วยให้เข้าใจและบรรยายความคิด ความรู้สึก ถ่ายทอดออกมาผ่านการเล่น 

จริง ๆ แล้วการเล่นนั้นกว้างมาก เราสามารถใช้การเล่นด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน เช่น ส่งเสริมกิจกรรมการเล่นที่มีการชี้นำโดยเฉพาะ มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ใช้ในเชิงการสอน ใช้การเล่นเพื่อให้ความรู้ หรือใช้การเล่นเพื่อดูแลจิตใจเด็กระยะแรก ขึ้นอยู่กับปัญหาของเด็ก สามารถออกแบบกิจกรรมการเล่นให้เด็กโดยเฉพาะ เพราะปัญหาของเด็กแตกต่างกันไป ถ้าเด็กมีปัญหาปานกลางถึงรุนแรง เราจะใช้หลักการบำบัดเข้ามาช่วย เช่น จิตบำบัด 

คุณหมอจะเป็นผู้ประเมินและวินิจฉัยปัญหาของเด็ก หลังจากนั้นส่งต่อไปยังนักบำบัดที่จะช่วยเด็กได้มากที่สุด ตัวนักบำบัดไม่สามารถประเมินและวินิจฉัยได้ นักบำบัดก็มีหลายแบบ เช่น เล่นบำบัด กิจกรรมบำบัด พูดบำบัด ศิลปะบำบัด ละครบำบัด เป็นต้น

การทำงานของนักเล่นบำบัด ถ้าทำงานในโรงพยาบาล นักเล่นบำบัดจะทำงานร่วมกับคุณหมอ และนักบำบัดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก คนไข้เด็กจะได้รับการดูแลครบทุกส่วน เพราะนักบำบัดเชื่อว่าการทำงานร่วมกันทุกส่วนจะเป็นการสนับสนุนเด็กได้ดีที่สุด

ถ้าทำงานในโรงเรียน นักเล่นบำบัดจะทำงานร่วมกับคุณครูและผู้ปกครอง โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง ปัญหาที่พบในโรงเรียนส่วนมากเป็นปัญหาความวิตกกังวลของเด็ก หรือปัญหาเรื่องสมาธิ อย่างบางคนดูแค่ว่าเด็กไม่มีสมาธิ แต่นักเล่นบำบัดต้องพยายามเชื่อมต่อกับเขา เพื่อค้นหาสาเหตุการไม่มีสมาธิว่าเกี่ยวข้องกับอะไรที่ยังติดในใจหรือเปล่า เกี่ยวกับปัญหาที่เขาคิดถึงตลอดเวลาจนไม่สามารถดึงตัวเองกลับมาสู่บทเรียนได้ หรือเกี่ยวกับอารมณ์ที่กำลังทำงานอย่างหนัก จนข้อมูลที่ใส่ไม่สามารถขึ้นไปถึงสมองส่วนเหตุผลได้

ปัญหาเด็กที่พบในโรงเรียน

สำหรับเด็กที่ถูกเพื่อนแกล้ง เราเป็นนักบำบัดก็ต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ปลอดภัยกับเขาในห้องบำบัด ให้เขาได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่เผชิญออกมา  เราไม่สามารถก้าวไปในอีกหน้าที่คือการสอนได้ แต่เราสามารถทำได้คือคุยกับครูหรือพ่อแม่ ให้วิธีการว่าจะช่วยดูแลเด็กภายนอกห้องบำบัดอย่างไร

ไม่เพียงเด็กถูกกลั่นแกล้งที่ต้องช่วยเหลือ แต่เด็กที่ชอบกลั่นแกล้งเพื่อนก็ต้องให้ความช่วยเหลือเช่นกัน เพราะเด็กที่กลั่นแกล้งเพื่อน เขาก็มีปัญหาของเขา อาจจะเกิดจากความสัมพันธ์ของพ่อแม่ หรือปัญหาบางอย่างที่เด็กไม่รู้ว่าต้องจัดการยังไง จึงใช้การแสวงหาอำนาจกับเพื่อน เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยเหลือทั้งเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งและชอบแกล้งเพื่อน

เด็กแต่ละคนก็มีปัญหาที่มีความยากแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันที่เด็กมี ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู เด็กบางคนสามารถก้าวผ่านความยากนี้ด้วยตัวเองและครอบครัวที่สนับสนุน แต่เด็กบางคนไม่อาจก้าวผ่านได้ จึงต้องการความช่วยเหลือ เพราะปัญหาจะมีผลต่อการเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน เลยต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย

กิจกรรมการเล่นเพื่อเยียวยา

สำหรับกิจกรรมการเล่นเพี่อเยียวยาเด็ก มีการใช้การเล่นเพื่อดูแลสุขภาพจิตและเล่นบำบัด ซึ่งสองอย่างนี้มีระดับการใช้และวิธีใช้ที่แตกต่างกันคือ การเล่นเพื่อดูแลสุขภาพจิตเป็นการใช้การเล่น ของเล่น และวิธีการต่าง ๆ สำหรับเด็กที่มีปัญหาเบาบางจนถึงระดับปานกลาง ส่วนการเล่นบำบัดเป็นการเล่นสำหรับเด็กที่มีปัญหาหนัก ที่ไม่สามารถเยียวยาระยะสั้นได้

การจัดกิจกรรมการเล่นแบ่งออกเป็น 2 เฟส คือ

เฟส 1 ระยะแรกหลังเผชิญเหตุการณ์ฉับพลัน สำหรับเด็กที่เผชิญการสูญเสียโดยไม่ทันตั้งตัว 1-2 สัปดาห์แรก วิธีการเล่นเป็นการเล่นแบบไม่ชี้นำ คือ ให้เด็กได้ระบายถ่ายทอดความรู้สึกความนึกคิดที่เขาเผชิญอยู่ ในพื้นที่ที่ปลอดภัย โดยมีผู้ใหญ่เคียงข้างและรับฟังระหว่างการเล่น การเล่นในช่วงนี้จะไม่มีโครงสร้างขั้นตอนหรือจุดประสงค์เฉพาะ เป็นแค่ให้เด็กได้ถ่ายทอดความคิดความรู้สึกตรงนั้นออกมา และใช้พลังที่เขามีในการเยียวยา

เฟส 2 ระยะหลังจาก 1-2 สัปดาห์ เด็กเริ่มมีสภาวะผ่อนคลายมากขึ้นแล้ว เราสามารถนำการเล่นที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน เพื่อช่วยเขาจัดการอารมณ์และเยียวยาได้

เล่นแบบไม่ชี้นำ

สำหรับการเล่นแบบไม่ชี้นำ Non-directive play เราจะจัดอุปกรณ์การเล่นไว้รอบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น ภาพวาดระบายสี  ตุ๊กตาหุ่นมือ ตุ๊กตาบ้าน หรือทุกอย่างที่มีจัดไว้รอบ ๆ วิธีการคือเราจะให้เด็ก ๆ ได้นำ ได้เลือกว่าอยากเล่นอะไร ผู้ใหญ่จะเป็นผู้ตาม 

สมมติว่าเด็กเลือกของเล่นศิลปะ วาดรูปไดโนเสาร์แต่เด็กบอกว่าคือช้าง ก็ให้เราทวนว่ามันเป็นช้าง คือ สร้างพื้นที่แห่งการยอมรับ ลดการชี้นำ นี่คือวิธีการเล่นแบบไม่ชี้นำ เราได้ตามเด็กไปในสิ่งที่เขาอยากระบาย ในสิ่งที่เขาอยากถ่ายทอด เรานั่งอยู่ข้าง ๆ เขา 

สร้างพื้นที่ปลอดภัยคือ รับฟังเขา เข้าใจเขา ดูแลความปลอดภัยด้วยหลัก 3 อย่าง คือ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำลายข้าวของ และไม่ทำร้ายผู้อื่น

เล่นแบบมีวัตถุประสงค์

พอผ่านไป 1-2 สัปดาห์ เราสามารถจัดกิจกรรมการเล่นอีกแบบที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีวิธีการชัดเจน ค่อนข้างชี้นำ เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ เพื่อการเยียวยา

ตัวอย่างการเล่นที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนสำหรับ 7 วัน

วันที่หนึ่ง ผ้าห่มดักแด้ สร้างความรู้สึกปลอดภัย เรื่องความรู้สึกปลอดภัยอาจจะมาจากหลาย ๆ ส่วนและวิธีสร้างความปลอดภัยที่ง่ายที่สุดคือผ่านประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นประสาทสัมผัสทางผิวหนัง การได้ยิน การมอง การรับกลิ่น เพราะฉะนั้นกิจกรรมการเล่นที่ออกแบบไว้จะเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายสุดคือ ผ้าห่ม ใช้สำหรับเด็กเล็กเด็กโตได้เหมือนกัน 

ใช้ผ้าห่มและนิทานประกอบสำหรับเด็กเล็ก โดยเป็นเรื่องราวของดักแด้ก่อนจะเป็นผีเสื้อ ซึ่งจะสร้างรังคลุมร่างกายเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย เป็นเกราะป้องกันตัวเอง เราจะใช้สิ่งนี้เปรียบเทียบกับผ้าห่ม นำผ้าห่มมาให้แล้วเด็ก ๆ ก็ได้ฟังนิทาน ทำกิจกรรมด้วยไปพร้อมกัน

วันที่สอง ลูกโป่งคลายความวิตกกังวล การผ่อนคลายความวิตกกังวลผ่านประสาทสัมผัสและสัญลักษณ์ เราจะใช้ลูกโป่งเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เป่า ระบายพลังภายในออกมา พอเป่าแล้วก็ถือลูกโป่งให้แน่น คล้ายกับการถือความวิตกกังวลในมือ จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยลูกโป่ง เหมือนกับปลดปล่อยความวิตกกังวลก่อนจะสู่ขั้นตอนต่อไป

วันที่สาม จิ๊กซอว์ เพื่อถ่ายทอดความคิดความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่ประสบและสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีหลายงานวิจัยที่พูดถึงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งเป็นการช่วยเยียวยาเด็กที่เจอภาวะตึงเครียดจากเหตุการณ์รุนแรงหรือมีผลกระทบต่อจิตใจ เราเรียกว่ากิจกรรมจิ๊กซอว์ 

ตัดกระดาษคล้ายกับชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ให้กับเด็กแต่ละคน ให้โจทย์เด็ก ๆ ลองคิดดูว่า หากความโศกเศร้าเป็นสี หากความโศกเศร้าเป็นเพลง เป็นสัตว์ เป็นรสชาติ เป็นเสียง เป็นสิ่งก่อสร้าง เด็กจะได้ลองออกแบบและระบายลงไปในจิ๊กซอว์ของตน เป็นวิธีการเล่นเพื่อพูดถึงปัญหา เด็ก ๆ จะไม่ได้เผชิญหน้ากับปัญหาโดยตรง เพราะบางคนอาจรู้สึกท่วมท้น พอเด็ก ๆ ออกแบบจิ๊กซอว์ของแต่ละคน เราจะเอาจิ๊กซอว์มาต่อเชื่อมด้วยกัน เพื่อให้เขารับรู้ว่าในเหตุการณ์อย่างนี้ เขายังสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ มีคนอื่นที่อยู่ข้าง ๆ พร้อมเคียงข้างเขา

วันที่สี่ การเยียวยาผ่านการจินตนาการภาพ หรือ Creative Visualisation คือ การรู้สึกรู้ตัว เพิ่มการจินตนาการภาพเข้าไป ให้เด็กอยู่ในท่าที่สบายที่สุด จะนั่งหรือนอนลงกับพื้นก็ได้ ค่อย ๆ หลับตาแล้วสร้างเรื่องราวที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเยียวยาเหตุการณ์การสูญเสีย เช่น หลับตาแล้วนึกภาพตัวเองกำลังยืนอยู่บนชายหาด ตรงชายหาดที่สงบ สัมผัสถึงเม็ดทรายนุ่ม เดินไปตามชายหาด ให้เด็ก ๆ วางความไม่สบายใจ ความกลัวที่มีลงไปในโขดหินก้อนใหญ่

สาระสุดท้ายจะผูกเรื่องราวนี้กับสัญลักษณ์เปลือกหอย คือเปรียบเปลือกหอยเหมือนกับบ้าน ให้เด็ก ๆ หยิบเปลือกหอยขึ้นมาแล้วนึกถึงความทรงจำที่เคยมีกับบุคคลที่รัก  ใช้เวลาตรงนั้นสักครู่ ให้เราค่อย ๆ คิดว่าเรารู้สึกอย่างไร เราพร้อมหรือยังที่จะปล่อยเปลือกหอยนั้นไป  สามารถใช้เวลานานเท่าที่ต้องการ 

สุดท้ายแล้วเปลือกหอยอาจจะต้องกลับคืนสู่ทะเล ความรู้สึกนั้นยังไม่ไปไหน ยังอยู่ในมือของเด็ก เมื่อเด็ก ๆ คิดถึงคนที่จากไปก็ให้เอามือมาทาบบนใบหน้า จุดประสงค์เพื่อเป็นการให้นึกถึงความจำ ความรู้สึกผ่านประสาทสัมผัส

วันที่ห้า นิทานเพื่อการเยียวยา เป็นนิทานที่มีวัตถุประสงค์เยียวยาจิตใจโดยเฉพาะ เรื่องราวของนิทานจะอิงจากประสบการณ์ของเด็ก ๆ หรือเหตุการณ์ที่เด็ก ๆ เผชิญ ข้อดีของนิทานคือ ช่วยตรวจสอบความคิด สร้างความคิด และสร้างวิธีการเยียวยาเด็ก ๆ ขึ้นมา 

วันที่หก ขวดโหลความทรงจำ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกความทรงจำในใจของเด็ก ๆ เกี่ยวกับบุคคลที่จากไปในแบบที่งดงาม เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น มีขวดโหลแล้วให้เด็ก ๆ วาดเรื่องราวที่ประทับใจเกี่ยวกับบุคคลที่จากไปบนกระดาษ แล้วก็ติดกระดาษเหล่านี้ลงในขวดโหลด้านใน ใส่ไฟ LED ในขวดโหล กลายเป็นขวดโหลแห่งความทรงจำ เมื่อไหร่ที่อยากหยิบขึ้นมาดูในวันที่คิดถึง ก็จะช่วยเยียวยาจิตใจเด็ก ๆ ได้

วันที่เจ็ด การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ เพื่อสร้าง sense of control คือ ความสามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ ตรงนี้มีความสำคัญมากต่อเด็กที่สูญเสียผู้ปกครองจากโควิดหรือประสบวิกฤตต่าง ๆ ทำให้วิถีชีวิตไม่เหมือนเดิม ทำให้เขารู้สึกไม่เหมือนเดิม ควบคุมอะไรไม่ได้เลย เราจึงต้องสร้าง sense of control ขึ้นมาโดยผ่านการควบคุมร่างกายตนเอง มีการเปิดเพลงในจังหวะต่าง ๆ ให้เด็กได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระแล้วรู้สึกถึงร่างกายส่วนต่าง ๆ พร้อมอธิบายว่านี่คือร่างกายของฉัน ฉันเป็นผู้ควบคุมร่างกายของฉันเอง


สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถ Download หนังสือเพื่อช่วยดูแลจิตใจเด็กที่สูญเสียเพราะโควิด-19 ได้ที่นี่ คลิก