เฝ้าระวังกลุ่มนร.ยากจนเฉียบพลัน ให้การช่วยเหลือตรงจุดทันท่วงที

เฝ้าระวังกลุ่มนร.ยากจนเฉียบพลัน ให้การช่วยเหลือตรงจุดทันท่วงที

ลำพังแค่สถานการณ์ปกติเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล เขาสูง ทุรกันดาร ก็มีโอกาทางการศึกษาน้อยกว่าคนในเมืองอยู่แล้ว ยิ่งต้องเผชิญผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ยิ่งส่งผลรุนแรงกว่าเดิม ทั้ง “การเรียนรู้ถดถอย” ช่วงที่ต้องหยุดเรียนเวลานาน ขณะที่มาตรการสอนเสริมผ่านระบบออนไลน์ หรือ DLTV ก็ยังมีข้อจำกัด ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

ที่สำคัญผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ปกครองหลายคนต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง ​ซ้ำเติมปัญหา​ค่าใช้จ่ายในครอบครัว ครอบครัว  สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เด็กที่มีฐานะยากลำบากอยู่แล้วต้องหลุดจากระบบการศึกษาในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเปราะบางเช่นนี้ จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนช่วยเหลือให้พวกเขาฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

เฝ้าระวังกลุ่มนร.ยากจนเฉียบพลัน
ให้การช่วยเหลือตรงตามความต้องการ

ดร.ศุภโชค ปิยะสั​นติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย และ ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ ประเมินว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ล้วนแต่ไปซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น การไม่ได้ทานอาหารเช้าที่อาจทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ หรือการที่ต้องสูญเสียการเรียนรู้ เพราะเด็กพื้นที่ห่างไกลยังมีข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตทำให้การส่งผ่านความรู้ผ่านออนไลน์ทำได้ลำบาก สำหรับทางแก้ไขที่ผ่านมาจะให้ครูจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มเล็กๆ หรือ กล่องการเรียนรู้ที่ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิสตาร์ฟิช และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ อย่างไรก็ตาม​กลุ่มเด็กในช่วงชั้นรอยต่อมีความสุ่มเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษาโดยเฉพาะชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 ที่จะพ้นการศึกษาภาคบังคับแล้วจะเรียนต่อหรือไม่เรียนต่อก็ได้ รวมทั้งยังมีกลุ่มที่ “ครอบครัวยากจนเฉียบพลัน” จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พ่อแม่ถูกเลิกจ้างงาน ทางแก้ไขก็ควรเร่งคัดกรองเช่นการค้นหากลุ่มเสี่ยงผ่านระบบ iSEE และให้การช่วยเหลือได้อย่างตรงเป้าหมาย และควรเป็นการให้ความช่วยเหลือตามความต้องการ เช่น บอกให้เขาเอาเงินไปซื้อสมุด ทั้งที่เขาอาจมีเรื่องจำเป็นกว่า การช่วยเหลือจึงอาจต้องเปิดกว้างให้ตรงตามความต้องการ

เตรียมแผนสำรอง ปัดฝุ่น “ครูหลังม้า”
เสริมการเรียนรู้ให้เด็กบนพื้นที่เขาสูง

คล้ายกับ สยาม เรืองสุกใสย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน  ที่ระบุว่า ปัจจุบันผู้ปกครองจำนวนมากทั้งที่ไปรับจ้างทำงานที่เชียงใหม่ หรือ กรุงเทพฯ​เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดก็ถูกเลิกจ้าง ​กลับมาอยู่บ้านไม่มีรายได้ กลายเป็นความเสี่ยง สำหรับเด็กที่ต้องลงจากดอยไปเรียนต่อในเมือง  เพราะได้รับผลกระทบจากรายได้ครอบครัวที่ลดลง  ที่ต้องมีค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่ ค่าหอพัก และเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบได้ แต่สำหรับเด็กที่โรงเรียนล่องแพวิทยา เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กพักนอนไม่มีค่าใช้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

ทั้งนี้ อีกปัญหาที่น่าเป็นห่วงหากต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไปนานขึ้น คือ เรื่องอาหารซึ่งจากเดิมเด็กจะได้มาทานที่โรงเรียน โดยการระบาดรอบที่แล้วทางโรงเรียนใช้วิธีนำอาหารไปตระเวนแจกให้เด็กๆ รอบนี้หากมีปัญหาเหมือนเดิมก็อาจจะต้องใช้วิธีเดียวกัน เช่นเดียวกับการเรียนการสอนที่เดิมเคยใช้วิธี “ครูหลังม้า” บรรทุกสื่อการสอนขึ้นไปหาเด็กๆ ซึ่งตอนนี้ทางโรงเรียนก็เตรียมตัวไว้เผื่อทั้งกรณีที่สอนในโรงเรียนปกติได้ หรือ หากไม่ได้ก็เตรียมสื่อการสอนที่จะนำไปให้เด็กๆ  เพื่อให้เด็กพลาดโอกาสการเรียนรู้ เพราะปกติเด็กในพื้นที่ห่างไกล เขาสูงก็มีโอกาสในการเรียนน้อยกว่าในพื้นที่อื่นอยู่แล้ว

สายธารน้ำใจจากคนในสังคม
ดังน้ำทิพย์ชโลมใจร่วมช่วยเด็กๆ

ด้าน ปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า จ.น่าน  อธิบายว่า แม้ปัจจุบันในพื้นที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็กระทบกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ทำให้ผู้ปกครองรายได้ลด ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงใกล้เปิดเทอมว่าจะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากน้อยแค่ไหน แต่ที่ผ่านมาเด็กส่วนใหญ่พักนอนอยู่กับทางโรงเรียนจึงไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย และยังมีผู้ใหญ่ใจดีคอยมาช่วยเหลือบริจาคสิ่งของ อาหาร ช่วยเหลือเด็ก ที่ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยกันในสถานการณ์เช่นนี้

“เวลานี้ทุกฝ่ายควรจะต้องมาร่วมมือกันช่วยเด็กๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ การทำงานในพื้นที่ลำบาก การเดินทางลำบาก การกินอยู่ลำบาก แต่สิ่งที่เป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจให้พวกเราก็คือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่มาจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ สิ่งดีๆ เหล่านี้ยังปรากฏอยู่ในสังคม เวลานี้เรากำลังเตรียมเปิดโรงเรียน โดยนัดครูทุกท่านมาร่วมกันกักตัวที่โรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. เพื่อให้ทันเปิดเรียน 1 มิ.ย. นี้”​

อย่างไรก็ตาม หากสามารถเปิดเทอมได้ตามปกติก็จะช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายผู้ปกครองไปได้มาก ไม่ต้องมากังวลเรื่องค่าอาหารกลางวันหรือถ้าเด็กที่พักนอนก็แบ่งเบาภาระปัจจัยสี่ของเด็กไปได้มาก แต่สิ่งที่เชื่อว่าทุกโรงเรียนยังต้องการเวลานี้คือ เจลล้างมือ และ หน้ากากอนามัย เพราะเมื่อเด็กมาอยู่รวมกันจำนวนมากก็ต้องมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวด แต่ถ้าโรงเรียนเปิดไม่ได้ตามกำหนดก็เตรียมแผนสำรองคือการทำใบงานแบบฝึกหัดให้เด็กไปทำที่บ้านเพราะในพื้นที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์สำหรับเรียน ออนไลน์ หรือ ออนแอร์ พร้อมมอบหมายให้มีเด็กรุ่นพี่ไปคอยสอนเด็กรุ่นน้อง

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค