เด็กหลุดจากระบบการศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้เป็นศูนย์

เด็กหลุดจากระบบการศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้เป็นศูนย์

“เด็กแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่ากำลังเจอกำแพง
เราต้องทำลายกำแพงให้เด็กรู้ว่าข้างหน้าไม่ใช่ทางตัน มันมีทางเดินที่จะไป”

โรงเรียนนิคมพัฒนวิทย์เป็นโรงเรียนมัธยมแห่งเดียวในตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ตั้งอยู่บนเขา ไกลจากตัวอำเภอ เดินทางสัญจรได้ยากลำบาก เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับ ม.1- ม.6 ปัจจุบันมีนักเรียนอยู่ 45 คน 

หลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา ครอบครัวของเด็กๆ หลายคนต้องประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ จนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่กำลังจะหลุดจากระบบการศึกษา บางคนต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีเงินมาโรงเรียน บางคนต้องหยุดไปช่วยที่บ้านทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว 

ในฐานะ “ครู” ที่เป็นด่านหน้า อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด ย่อมไม่อาจปล่อยให้เด็กๆ ต้องหลุดไปจากระบบการศึกษา ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึง​ “โอกาส”​ ที่จะมีอาชีพการงาน รายได้ที่มั่นคงในอนาคต

ยอดตัวเลขเด็กหลุดจากระบบเป็น “ศูนย์”
ไม่ใช่ลงไปครั้งเดียวแล้วจะแก้ปัญหาได้ทันที

ปัจจุบันเด็กหลุดจากระบบการศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้เป็นศูนย์ ครูเข็ม-ชัญญานุช แย้มไสว ครูประจำชั้น ม.4 โรงเรียนนิคมพัฒนาวิทย์ หัวหน้าระบบดูแบบเด็ก กำลังสำคัญของโรงเรียนที่ทุ่มทำงานทุกด้านเพื่อหาทางช่วยเหลือไม่ให้เด็กๆ ต้องก้าวพ้นไปจากรั้วโรงเรียนอย่างน่าเสียดาย อธิบายว่า เด็กแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน การจะพาพวกเขากลับเข้ามาเรียนต้องลงไปดูปัญหา ไปช่วยเขาแก้ปัญหา และไม่ใช่ลงไปครั้งเดียวแล้วแก้ได้ทันที 

ยกตัวอย่าง “น้องหนึ่ง” พี่น้องฝาแฝดกับ “น้องสอง” ปัจจุบันน้องสองเรียนอยู่ชั้น ม.4 ในขณะที่ “น้องหนึ่ง” ครูเข็มช่วยแก้ปัญหานานหลายเดือน สุดท้ายยอมกลับมาเรียนซ้ำชั้น ม.2 อีกครั้ง ซึ่งเป้าหมายก็คืออยากให้เขาเรียนจนจบ ม.3 ให้ได้ แต่ตอนนี้ก็ทำไปทีละขั้น ลุ้นให้จบ ม.2 ให้ได้ก่อน อย่างน้อยจบ ม.6 ก็ได้งานที่ดีกว่ารับจ้างทั่วไป 

“น้องหนึ่งหายไปครั้งแรกตอนเทอม 2 ปีที่แล้ว ครูที่ปรึกษามาบอกเรา เราก็ไปตามดูที่บ้าน รอบแรกเขาบอกว่าไม่อยากเรียนแล้ว อยากออกไปทำงาน ซึ่งก็เป็นงานรับจ้างทั่วไป ขณะที่พี่น้องฝาแฝดก็แต่งตัวมาเรียนทุกวัน รอบสองเราก็ไปคุยกับพ่อแม่ว่าอยากให้ลูกกลับมาเรียน ตอนนั้นรู้ว่ามีปัญหา น้องเขาติด 0 ติด ร. หลายวิชา เราก็ไปคุยกับครูแต่ละวิชาว่า ถ้าให้น้องเขากลับมาเรียนต่อ จะให้ทำงานส่ง สอบซ่อมอย่างไรบ้าง แต่สุดท้ายน้องหนึ่งก็บอกว่าเหลืออีกแค่ 3 เดือนจะหมดเทอม คงทำไม่ทัน

“รอบสามไปใหม่อีกครั้งช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กำลังจะเปิดเทอมใหม่ ตอนนั้นโควิดระบาด งานรับจ้างก็ไม่ค่อยมี เลยไปหว่านล้อมให้เขากลับมาเรียนซ้ำ ม.2 ใหม่ จนเขายอมกลับมาเรียน ในหมู่บ้านเป็นภูเขา ตัวเขาเองก็ไม่เคยออกไปเจอโลกภายนอก ​อย่างน้อยจบ ม.6 ก็จะสร้างภูมิต้านทานดีกว่านี้ ยังพอหางานเป็นอาสารักษาดินแดน (อส.) ถ้าจบ ม.2 ก็ทำได้แค่รับจ้างทั่วไป ทำงานวันต่อวันเพื่อให้ได้เงินเท่านั้น”

ทุนจาก กสศ.สนับสนุนให้เด็กได้กลับมาเรียนต่อ

“ทุนเสมอภาค” จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เด็กกลับมาเรียน ครูเข็มเล่าให้ฟังว่า เวลาลงไปเยี่ยมบ้านเด็ก ก็จะพูดกับผู้ปกครองว่ามีทุนจาก กสศ. ที่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้ปกครองอยากส่งลูกหลานกลับมาเรียน 

​เคส “น้องเวฟ” เป็นนักเรียนชั้น ม.4 ตอนแรกติด 0 บางวิชา ไม่อยากเรียนต่อ ​คิดว่าออกไปทำงานหาเงินดีกว่า เพราะน้องอยากออกมาช่วยยายหาเงิน ​ พอมีทุนจาก กสศ.เข้ามาให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา  ครูเข็มก็ลงพื้นที่ไปคุยกับยายว่าน่าจะมาสมัคร เพราะจะได้เรียนต่อ มีอนาคตที่ดีขึ้น อีกสองปีจบ ม.6 ก็จะหางานดีๆ ง่ายขึ้น ไม่ต้องมาลำบากในอนาคต จนยายให้หลายมาสมัครเรียนต่อ

“นอกจากการสอนปกติแล้ว การต้องลงพื้นที่ไปตามเด็กกลับมาเรียนด้วย มันก็ทำให้เราเหนื่อยกว่าเดิม แต่ก็ทำเพราะสงสารเด็ก ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ใครจะทำ ทุกวันนี้เราเห็นเขาได้กลับมาเรียน เราก็ภูมิใจ ได้ส่งให้เขามีอนาคตที่ดีขึ้น ได้เห็นแสงสว่างในชีวิตมากขึ้นอีกนิด ไม่มากก็น้อย แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว”​

ทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่ต่อเนื่องแก้ปัญหาทันท่วงที

ครูเข็มอธิบายว่า ตอนไปประชุมกับทีมงานของ อบจ.ยะลา เสร็จก็ต้องกลับมาถ่ายทอดให้ครูที่โรงเรียนฟังว่าเราต้องทำงานเชิงรุก ต้องติดตามไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนมีปัญหาเศรษฐกิจ บางคนมีปัญหาครอบครัว บางคนมีปัญหาเรื่องการเรียน ก็ต้องหาทางแก้ไขหลายวิธี

“ตอนนี้ก็ต้องติดตามต่อเนื่อง รอบแรกลงพื้นที่แบบเจอตัวไปแล้ว ตอนนี้ก็ลงพื้นที่รอบสองแบบออนไลน์ วิดีโอคอลไปพูดคุยกับผู้ปกครองว่าเขาอยู่กันอย่างไร มีปัญหาอะไรที่อยากให้ช่วยเหลือ เรียนออนไลน์ ออนแฮนด์ติดขัดตรงไหน ตรงนี้ก็เพื่อให้รู้ว่าเขาติดอะไร จะได้หาทางแก้ไข  เป็นการสำรวจว่าเด็กคนไหนกำลังเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา และหาทางช่วยเหลือไม่ให้พวกเขาหลุดไปอย่างน่าเสียดาย 

“ล่าสุดตอนนี้พบกลุ่มเสี่ยงเพิ่มอีก 3 คน เป็นเด็ก ม.6 จำนวน 2 คน และเด็ก ม.5 อีก 1 คนที่หายไป ไม่เคยทำงานส่งครูเลย หายไปสองเดือน ครูที่ปรึกษาก็ตามไม่ได้ มาแจ้งเราในฐานะครูแนะแนว เราก็เริ่มติดตาม รู้ว่าเขาไปรับจ้างตัดทุเรียน แต่หมดหน้าทุเรียนแล้วก็ยังไม่กลับมาเรียน สุดท้ายเจอเพื่อนเขาก็ฝากบอกไปว่าให้ติดต่อกลับมาหาครูหน่อย เขาก็ติดต่อกลับมา เราบอกว่าครูกำลังจะไปหา แต่ยังติดเรื่องโควิดในพื้นที่ เขาก็บอกว่าไม่ต้องมา เดี๋ยวเขากำลังจะกลับมาเรียนแล้ว”

ต้องช่วยทำลายกำแพงให้เขาเห็นว่าข้างหน้าไม่ใช่ “ทางตัน”

ยิ่งช่วงโควิดต้องดูแลมากขึ้น อย่างเด็กที่โรงเรียนมีอยู่ 2 คนพี่น้อง ยายติดเชื้อ ถูกรับไปรักษาตัว ต้องอยู่บ้านกันเอง มีข้าวสารกับไข่ คนแถวบ้านก็ผลัดกันทำกับข้าวให้กิน ครูลงพื้นที่ก็ซื้อมาม่าไปให้

เด็กแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนเขาคิดว่าเขากำลังเจอกำแพง เราต้องทำลายกำแพงให้เด็กรู้ว่าข้างหน้าไม่ใช่ทางตัน มันมีทางเดินที่จะไป  อย่างน้อยก็ให้เขามีทางเลือกว่าจะเดินไปอย่างไรต่อ ไม่ใช่มองไปทางไหนก็เป็นทางตันไปหมด อยากฝากไปถึงครูคนอื่นๆ ที่กำลังทำหน้าที่ตรงนี้ อย่าท้อ  หน้าที่ตรงนี้คือการเสียสละ เป็นสะพานบุญ ให้เขาได้รับการศึกษาที่ดี อย่าไปคิดว่าเป็นงานหนัก แต่เราต้องมองให้เห็นว่าความสำเร็จที่อยู่ปลายอุโมงค์ วันหนึ่งที่เขาประสบความสำเร็จ แล้วเขาได้นึกย้อนกลับมาขอบคุณเราที่ทำให้เขามีวันนั้นได้ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”