ขาย ‘ออนไลน์’ ยังไงให้ปัง ต่อยอดทักษะอาชีพเยาวชนนอกระบบ กับนักขาย ‘แชมป์ไลฟ์สดลาซาด้า 4 สมัย’

ขาย ‘ออนไลน์’ ยังไงให้ปัง ต่อยอดทักษะอาชีพเยาวชนนอกระบบ กับนักขาย ‘แชมป์ไลฟ์สดลาซาด้า 4 สมัย’

“เราสร้างพื้นที่ให้เขาพัฒนาทักษะอาชีพแล้ว ต้องเติมวิธีคิดเรื่องพาสินค้าไปให้ถึงคนซื้อ หรือไปให้ถึงตลาดใหม่ ๆ ด้วย

“ทุกการเริ่มต้นมีแต่ความไม่รู้ ไม่มีทางง่ายทางลัด ดังนั้นเขาต้องมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเทคนิคการขาย ประสบการณ์ที่ทั้งสำเร็จและล้มเหลว รวมทั้งคอยปลุกกำลังใจกันให้เชื่อว่าทักษะที่ฝึกฝนมาจะสามารถนำไปสร้างอาชีพได้จริง”

จากที่โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ภาคตะวันออก ได้ส่งเสริมให้เยาวชนนอกระบบเข้ารับการอบรมทักษะอาชีพตามความสนใจ จนน้อง ๆ หลายกลุ่มเริ่มมีผลิตภัณฑ์ออกมา พร้อมแสดงความสนใจจะเรียนรู้ทักษะการขายออนไลน์เพิ่มเติม 

ทางโครงการจึงจัดเวทีออนไลน์ ‘ขายยังไงให้ปัง’ โดยเชิญวิทยากรดีกรีแชมป์ไลฟ์สด 4 สมัยจากลาซาด้า มาถ่ายทอดประสบการณ์และคำแนะนำให้กับน้อง ๆ

ติดอาวุธทางปัญญา ทำสินค้าให้สะดุดตานักช็อป

โครงการได้นำเสนอหลักสูตรพัฒนาทักษะการขาย สร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพให้เกิดรายได้ ทั้งยังเตรียมแผนรวมเยาวชนนอกระบบในเครือข่าย สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดีย ทดลองขายผลิตภัณฑ์ภายในกลุ่ม เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนขยายฐานผู้บริโภคในวงกว้าง   

บุปผาทิพย์ แช่มนิล ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เขาชะเมา จังหวัดระยอง ในโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา เครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคตะวันออก เล่าว่า โครงการได้แบ่งการทำงานกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบในเขตภาคตะวันออกเป็น 2 โซน 

โซนแรกในนามกลุ่มรักษ์เขาชะเมา 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา และนครนายก อีกโซนในนามมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ร่วมกับเครือข่ายครูเพื่อสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี จันทบุรี ตราด และสระแก้ว 

“เราค้นหากลุ่มเป้าหมายโดยเครือข่ายอาสาสมัคร จนพบเยาวชนนอกระบบกว่า 900 คน จากหลากหลายที่มา ทั้งเด็กในชุมชน เยาวชนลูกหลานแรงงานข้ามชาติ หรือเด็กจากศูนย์การเรียนนอกระบบ จากนั้นเครือข่ายจะลงพื้นที่ทำงานเก็บข้อมูล วางแผนช่วยเหลือสนับสนุนให้เข้าถึงโอกาสเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ผ่านกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นตามความสนใจ อาทิ ทำไม้กวาด ทำลูกประคบ เครื่องจักสาน ตัดผม หรือทำอาหารเป็นต้น”

พอน้อง ๆ เริ่มมีทักษะอาชีพที่แข็งแรง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทางโครงการเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายเริ่มสนใจเรื่องการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งตรงกับแนวทางโครงการที่ตั้งใจผลักดันให้ต่อยอดกิจกรรมฝึกอาชีพไปสู่การสร้างรายได้ นำพาผลิตภัณฑ์ไปให้ถึงผู้บริโภค กิจกรรมครั้งนี้จึงเกิดขึ้น

โดยได้เชิญคุณสุชาสินันท์ แก้วแสนสุข แชมป์ไลฟ์สดขายสินค้า 4 สมัยจากแอปพลิเคชันลาซาด้า (Lazada) มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวบนเส้นทางนักขายออนไลน์ ว่ากว่าจะถึงวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง จากที่เคยทำงานโรงงาน จนผันตัวมาขายของออนไลน์ กระทั่งประสบความสำเร็จ   

คุณสุชาสินันท์ แก้วแสนสุข แชมป์ไลฟ์สดขายสินค้า 4 สมัยจาก Lazada

“ทางหนึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจว่า เพียงมีมือถือเครื่องเดียว ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ในทางกลับกัน น้อง ๆ จะได้เห็นว่าในต้นทุนที่เหมือนจะน้อย แต่เขาต้องฝึกฝนเทคนิคการขาย ทำความเข้าใจตลาดออนไลน์ หาวิธีถ่ายภาพสินค้าให้ดูน่าสนใจ และลองผิดลองถูกมานับไม่ถ้วน 

“หลักสำคัญที่วิทยากรแนะนำน้อง ๆ คือ อย่าเพิ่งรีบร้อนคิดเรื่องหาเงินลงทุน แต่ให้มองไปยังต้นทุนที่อยู่รอบตัวเราก่อน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างสามารถขายได้ทั้งหมด ถ้าเราเข้าใจและรู้วิธีการ

“อีกประการหนึ่งคือ ‘สร้าง’ และ ‘ค้นหา’ จุดเด่นของสินค้าให้พบ ซึ่งทั้งหมดได้ถูกถ่ายทอดเป็นขั้นตอนผ่านการเวิร์คช็อป โดยวิทยากรได้นำสินค้าของเด็ก ๆ มาสาธิตการไลฟ์ขายกันสด ๆ พร้อมคำแนะนำว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ซื้อสนใจสินค้าของเราได้ จากนั้นจึงให้น้อง ๆ ทดลองขายด้วยตนเอง”

สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกปรือจนมั่นใจ

หลังกิจกรรม ‘ขายยังไงให้ปัง’ นอกจากน้อง ๆ จะเข้าใจตลาดออนไลน์มากขึ้น ยังกลายเป็นแรงกระตุ้นให้แต่ละคนอยากนำความรู้ไปพัฒนาต่อ ทางโครงการจึงเตรียมแผนรวมเครือข่ายเยาวชนภาคตะวันออก ตั้งเป็นกลุ่มให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ บ่มเพาะทักษะการขายระหว่างกัน ก่อนไปต่อในสนามการค้าที่ใหญ่ขึ้น

“ผลจากเวิร์คช็อปคือ ของเริ่มขายได้มากขึ้น มีออร์เดอร์เข้ามา เด็ก ๆ ก็ยิ่งเกิดความฮึกเหิม มีแรงบันดาลใจ เราก็มาคิดต่อว่าจะตั้งกลุ่มเยาวชนนอกระบบ รวมสองโซน กสศ. ภาคตะวันออก ให้เขาดูแลกันภายใน ลองขายสินค้ากันในกลุ่ม เป็นการฝึกฝีมือ แลกเปลี่ยนความคิด หรือใครที่มีสินค้าอะไรอยากจะขายก็เอามาลงได้เลย

“เพราะเราสร้างพื้นที่ให้เขาพัฒนาทักษะอาชีพแล้ว ต้องเติมวิธีคิดเรื่องพาสินค้าไปให้ถึงคนซื้อ หรือไปให้ถึงตลาดใหม่ ๆ ด้วย

“ทุกการเริ่มต้นมีแต่ความไม่รู้ ไม่มีทางง่ายทางลัด ดังนั้นเขาต้องมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเทคนิคการขาย ประสบการณ์ที่ทั้งสำเร็จและล้มเหลว รวมทั้งคอยปลุกกำลังใจกันให้เชื่อว่า ทักษะที่ฝึกฝนมาจะสามารถนำไปสร้างอาชีพได้จริง ท่ามกลางภาวะที่ต่างคนก็พยายามมองหาช่องทางสร้างรายได้ เราเองที่พาเขามาฝึกทักษะแล้วก็อยากเติมต่อให้…คือไม่ใช่แค่ฝึกอาชีพ แต่ต้องขายได้ มีที่ปล่อยของ มีวิธีนำสินค้าไปให้ถึงผู้สนใจให้ได้ด้วย”