กลับมายืนหยัดด้วย “ทุน” ของชุมชน รายได้ที่มาพร้อมความสุขของครอบครัว

กลับมายืนหยัดด้วย “ทุน” ของชุมชน รายได้ที่มาพร้อมความสุขของครอบครัว

ในวันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วิกฤตรุนแรง จนกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ ตลอดจน​อาชีพและรายได้  หลายคนต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง หลายคนจำต้องทิ้งอาชีพเดิมที่เคยทำมาทั้งชีวิต และหันมามองหาอาชีพใหม่เพื่อความอยู่รอด  บางคนต้องหันมาพัฒนาทักษะ Up Skill ตัวเองใหม่ เพื่อเพื่อก้าวข้ามปัญหาในช่วงเวลานี้ไปให้ได้  

เช่นเดียวกับ กัลยา กิ่งแก้ว ซึ่งใช้ชีวิตแต่ละวันตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ​อยู่บนหลังรถพ่วงข้างเก่าๆ  ออกเร่ขายขนมกลางแดดร้อนระอุ  เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัวอย่างไม่มีทางเลือก  จนกระทั่งเกิดการระบาดของโรคโควิด-19  ทำให้อาชีพเร่ขายขนมบนรถพ่วงของกัลยาในวัย 58 ปี ต้องยุติลง  เพราะผู้คนพากันหวาดระแวงว่ารถเร่ขายของนำโรคระบาดมาด้วย

“ปกติเราจะขี่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างเป็นระยะทางไปกลับประมาณ 120 กิโลเมตร เร่ขายขนมมากว่า 30 ปี แต่ละวันออกรถในช่วงเย็นกลับถึงบ้านหลังเที่ยงคืน  แต่หลังจากมีโควิดก็ขายไม่ได้แล้ว ผู้คนหวาดระแวง ที่เราตะลอนไปหลายแห่ง   ทำให้ไม่สามารถออกรถไปเร่ขายขนมได้เช่นเดิม”

จากชีวิตที่เหมือนไม่มีทางออก วันหนึ่งกัลยาได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการประกอบการผ้าไหม สร้างสรรค์ในกลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาส และขาดแคลนทุนทรัพย์สู่ตลาดเป็นธรรมพื้นที่จังหวัดสุรินทร์  หนึ่งในโครงการทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่ได้ ‘มูลนิธิขวัญชุมชน’ หน่วยงานพัฒนาอาชีพในจังหวัดสุรินทร์ มาเป็นแม่งานผลักดัน

กลับมายืนหยัด ด้วยทุนของชุมชน

“ทำอย่างไรให้การทอผ้าซึ่งเป็นวิถีชีวิตและเป็นที่มาของรายได้สำคัญหล่อเลี้ยงครอบครัวแรงงานนอกระบบ กลับมามีโอกาสและทางรอดอีกครั้งเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับเรา” สุภาพร ทองสุข ผู้ประสานงานโครงการ ย้อนความหลังในวันที่เริ่มต้นสู้กับปัญหา

จังหวัดสุรินทร์ขึ้นชื่อเรื่อง “ผ้าไหม”แต่เบื้องหลังความสวยงามที่ปรากฏบนผืนผ้า แรงงานผลิตผ้าไหมที่อยู่ในชุมชนยังคงติดกับดักราคา ขายผ้าทอได้ต่ำกว่าต้นทุน เนื่องจากเป็นราคาขายที่ยังไม่รวมค่าแรง เร่งผลิตและเร่งขายเพื่อนำเงินไปใช้หมุนเวียนในครัวเรือน หลายครอบครัวมีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินมาซื้อวัตถุดิบทอผ้า สถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเข้ามาส่งผลกระทบให้ทำให้หลายอาชีพตกงาน หลายคนต้องอพยพกลับหมู่บ้านเพื่อรองานอย่างไร้ความหวัง

“ถ้าจะรอดจากวิกฤติเราต้องคิดใหม่ จึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจผ้าไหมสร้างสรรค์เพื่อการผลิต ออมทรัพย์และสวัสดิการ การรวมกลุ่มซื้อขายและการผลิตบางขั้นตอน เพื่อช่วยลดการค่าใช้จ่าย เพิ่มคุณภาพการผลิต และยกระดับราคาผ้าไหมสีธรรมชาติ ไม่ให้มีการขายตัดราคากันเอง กระบวนทั้งหมดส่งเสริมให้เกิด มาตรฐานการผลิตผ้าไหมสร้างสรรค์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับผ้าไหมได้อย่างมีแบบแผนและเป็นรูปธรรม” สุภาพรเล่าถึงแนวทางที่เปลี่ยนไป

“การส่งเสริมอาชีพทอผ้าไหม ด้วยการพัฒนาการเรียนรู้และและยกระดับ “ทักษะ” เช่น  การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ การมัดย้อม การทอ และการส่งเสริมการขายออนไลน์ รวมถึงการพัฒนา “การคิด” ทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความมั่นใจในตนเอง และสามารถนำความรู้และทักษะไปปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของตนเอง เป็นการสร้างโอกาสทางรายได้ ช่วยลดหนี้ครัวเรือน และทำให้มีเงินเก็บออกมากขึ้น”

กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการทั้งหมด เป็นแรงงานนอกระบบในวัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เยาวชนนอกระบบ และผู้พิการ ในพื้นที่ตำบลจารพัตและตำบลหนองเหล็ก อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

“การฝึกอบรมทักษะและการจัดการการเงินครัวเรือน มีการปรับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้ช่างทอมีการตื่นตัวที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และทักษะฝีมือของตนเอง  เพราะสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่สูงขึ้น และเป็นที่สนใจของผู้ซื้อรุ่นใหม่ มีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระดับหมู่บ้าน ความสัมพันธ์ของคนชุมชนโดยเฉพาะช่างทอ จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง ตอนนี้ดีขึ้นกว่าก่อนมาก” สุภาพร กล่าวด้วยน้ำเสียงที่แฝงด้วยความมั่นใจ

รายได้ที่มาพร้อม ความสุข ความอบอุ่นของครอบครัว

ภูมิใจในตัวเอง ว่าเราพยายามจนทำได้ คือคำที่กัลยาบอกกับตัวเองวันนี้ 

“แรกๆ คิดว่ายาก ใช้เวลาฝึกอยู่หลายเดือน ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการมา 6 เดือน ทอผ้าได้ทั้งหมด 21 ผืน ผ้าผืนนึงใช้เวลาทอประมาณ 5 วัน ขายให้ทางกลุ่มได้ราคาผืนละ 2,000 – 2,500 บาทเพื่อส่งขายต่อ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 8,000 บาท  และยังมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระดับหมู่บ้าน รวมกลุ่มซื้อขายและการผลิตบางขั้นตอน เพื่อช่วยลดการค่าใช้จ่าย”  “ดีใจและรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้เข้าร่วมเรียนรู้การทอผ้าไหมจากโครงการ เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ คิดว่าคงไม่กลับไปขายขนมหวานเร่ขายแล้ว เพราะอายุเยอะแล้ว เราได้ทอผ้าอยู่กับบ้าน ได้อยู่กับครอบครัว บรรยากาศในครอบครัวอบอุ่นมากขึ้น หลานๆ ดีใจที่ได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา จากทุกทีกลับเข้าบ้านมาทุกคนนอนกันหมดแล้ว ตอนนี้รู้สึกว่ามีความสุขกับชีวิตมากขึ้น” ดวงตาที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของกัลยา สะท้อนความสุขในชีวิตวันนี้อย่างตรงไปตรงที่สุด