วิกฤตโควิด-19 ในเด็ก ทุกนาทีคือ “ความหวัง” รายงานพิเศษจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

วิกฤตโควิด-19 ในเด็ก ทุกนาทีคือ “ความหวัง” รายงานพิเศษจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

รายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (ศบค.) ระบุว่า ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยเด็ก (เด็กแรกเกิด-18 ปี) ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 สิงหาคม 2564 กว่า 134,329 คน ในพื้นที่ กทม. พบป่วยสะสม 29,276 คน ส่วนภูมิภาค 105,053 คน และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

รอยแผลที่ไวรัสโควิด-19 ได้ฝากเอาไว้คือ “ผลกระทบ” ต่อทุกภาคส่วนโดยไม่มีข้อยกเว้น และเด็กคือกลุ่มที่ควรได้รับการดูแลพิเศษ 

แม้จำนวนเตียงจะไม่เพียงพอกับยอดผู้ติดเชื้อ แต่ด้วยการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงอาสาสมัครที่พร้อมเข้ามาช่วยประสานความร่วมมือ ด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยหลายรายจึงหายเป็นปกติได้แม้รักษาตัวจากที่บ้าน ส่วนกลุ่มที่เคยเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นในการรักษาตัว 

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นพื้นที่อีกแห่งที่ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา​ (กสศ.) เปิดรับคำปรึกษาแนะนำเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก โดยภารกิจหลักคือติดตามอาการผู้ป่วย ส่งยา สิ่งของจำเป็น จนถึงวินิจฉัยและประสานโรงพยาบาลและศูนย์พักคอย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม

“เราคือสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ ดังนั้นต้องเป็นที่พึ่งให้เด็กได้ในยามวิกฤต”

พลังสำคัญ คือ แพทย์และเจ้าหน้าที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งผลัดเวียนกันทำหน้าที่วินิจฉัย ส่งต่อเคสฉุกเฉิน ตลอดจนดูแลไปถึงเรื่องปัจจัยดำรงชีพ

รศ.พิเศษ พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์
แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

รศ.พิเศษ พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวในฐานะที่ปรึกษาอาการโควิด-19 ในเด็กว่า ตั้งแต่ กสศ.ติดต่อให้ช่วยทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางวิชาการศูนย์พักคอยเด็กเกียกกาย ทำให้เห็นว่ามีเคสเด็กติดเชื้อตกค้างจำนวนมาก จึงเปิดพื้นที่ลงทะเบียนสำหรับผู้ป่วยผ่าน LINE Official Account เพื่อรับข้อมูลเคสจากทางบ้าน เป็นการขยายการดูแลออกไปให้ทั่วถึงที่สุด

“เราคือสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ ดังนั้นต้องเป็นที่พึ่งให้เด็กได้ในยามวิกฤต”

“งานนี้เป็นโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่สำคัญ เราภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับผู้คนมากมาย ที่เข้ามาทำงานด้วยหัวใจ คนเหล่านี้มาจากหลายอาชีพ แต่พร้อมสละเวลา เรี่ยวแรง ปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยงเพื่อคนที่พวกเขาไม่รู้จัก แล้วเราเองเป็นหมอโรคติดเชื้อ ถ้าเราไม่ทำก็เท่ากับละเลยหน้าที่ของตัวเอง”

หน้าที่ของทีมแพทย์คือ​พิจารณา​ ลำดับความจำเป็นว่าเคสใดควรเข้ารับการรักษาก่อนหรือหลัง โดยบางกลุ่มอาจมีอาการไม่มาก​แต่ความเสี่ยงสูง เช่น​ ผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กเล็กหรือมีโรคประจำตัว กลุ่มนี้ควรได้รับยาทันทีและต้องติดตามต่อเนื่อง หากเห็นว่ามีแนวโน้มอาการหนัก ก็ต้องประสานหาทางส่งต่อเข้าศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาล ส่วนเคสผู้ป่วยทั่วไปก็จะใช้วิธีติดตามอาการผ่านไลน์แชต ให้ยาและคำปรึกษาจนผู้ป่วยอาการดีขึ้น

“ในอีกมุมหนึ่ง ข้อมูลที่ส่งเข้ามาทำให้เห็นเคสจำนวนมาก นี่คือโอกาสให้เราเรียนรู้จนเกิดความชำนาญในการวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วแม่นยำยิ่งขึ้น พอเรามั่นใจว่าผู้ติดเชื้อรายไหนปล่อยกลับบ้านได้​ ไม่ต้องอยู่สังเกตอาการนาน ๆ เราจะมีพื้นที่รับเคสใหม่เข้ามา ส่วนผู้ป่วยที่รอคิวปรึกษาอาการจากทางบ้านก็เข้าถึงคำแนะนำในการรักษาและรับยาได้เร็วขึ้น”

“ความร่วมแรงร่วมใจจะช่วยให้เราอยู่รอดต่อไป”

คุณหมอวารุณีเล่าว่าในช่วงเวลาหนึ่งเดือนกว่า มีเรื่องราวมากมายที่แสดงถึง ‘พลัง’ ความร่วมมือของอาสาสมัคร โดยเฉพาะในขั้นตอนการช่วยเหลือผู้ป่วยบางรายที่อาการอาจไม่หนักมาก แต่เมื่อต้องเป็นผู้ติดเชื้ออยู่คนเดียวที่บ้าน การได้รับความช่วยเหลือแม้เพียงเล็กน้อย ย่อมเหมือนกับเขาได้รับความหวังในการต่อสู้ต่อไป

“ตัวอย่างเคสหนึ่งที่เจอคือผู้ป่วยชาวต่างด้าว ติดเชื้ออยู่คนเดียวมาแล้วสิบวัน โทรศัพท์ติดต่อมาที่ทีมงานเราโดยตรงว่าออกจากบ้านไม่ได้ ไม่มีอะไรกิน ไม่มียา ส่งข้อมูลผ่านไลน์ไม่ได้ ต้องโทรศัพท์อย่างเดียว เคสนี้พิเศษมาก เพราะเขาพิมพ์ภาษาไทยไม่ได้ ไม่มีผลตรวจ ระบุที่อยู่ไม่ได้ด้วย เราจึงติดต่อผ่านไปยังกลุ่มเส้นด้าย ให้เขาเข้าไปรับผู้ป่วยถึงที่ หาที่ตรวจ RT-PCR (Polymerase chain reaction) แล้วรับเข้ามาทำการรักษา มันคือการประสานงานร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อเข้าไปหาผู้ป่วยแล้วนำเขาออกมารักษาจนได้ โดยใช้เวลาแค่ไม่นานหลังจากรับเรื่อง แล้วพอเขาได้รับความช่วยเหลือ ขอบคุณ บอกว่าพวกเราทำให้เขาไม่รู้สึกว่าอยู่โดดเดี่ยวคนเดียว เพียงเท่านี้เราก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ทำงานต่อไปได้แล้ว

“เหตุการณ์เช่นนี้มีความหมายกับเราเสมอ เพราะมันได้ฉายให้เห็นภาพความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ เรามี กสศ.ที่สนับสนุนงบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ เป็นศูนย์กลางประสานอาสาสมัคร ที่หน้าที่ต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ที่สถาบันเรามีน้องจิตอาสามาช่วยรับส่งข้อความทางไลน์ 24 ชั่วโมง ซึ่งแบ่งเบางานของเจ้าหน้าที่ได้มาก เรามีเครือข่ายอาสาที่พร้อมรับเรื่องกรณีฉุกเฉิน พร้อมปฏิบัติหน้าที่ทันที เหล่านี้คือพลังอันเข้มแข็งที่ไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แต่คนทำงานอย่างเราเองก็รู้สึกเช่นกันว่ามี ‘เพื่อน’ ที่อยู่ด้วยกันตลอดเวลา”

รศ.พิเศษ พญ.วารุณีกล่าวถึงความสำคัญของความ ‘ร่วมมือ’ ในเชิงเปรียบเทียบว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่อ่อนแอมาก ยิ่งมองไปที่เด็กเล็ก ๆ เราจะเห็นว่าลูกมนุษย์ต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง ขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นสามารถลุกเดิน ออกบิน ว่ายน้ำ หรือดูแลตัวเองได้หลังเกิดมาเพียงไม่นาน  และนี่คือเหตุผล หรือ ‘ความลับ’ ที่ทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ เพราะการที่สิ่งมีชีวิตแสนอ่อนแอจะเติบโตและพัฒนาการไปได้ เขาต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ ต้องอยู่กันเป็นชุมชน และมีสังคมขนาดใหญ่

“ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) ผู้เขียนหนังสือ เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sepiens :  A Brief History of Humankind) กล่าวไว้ว่า ‘มนุษย์’ คือสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการร่วมมือร่วมใจกันได้แม้ไม่รู้จักกันมาก่อน เราสามารถให้คำแนะนำปรึกษาคนที่เพิ่งเคยคุยกัน หรืออาสาขับรถไปรับไปส่งลูกของคนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนได้ เพื่อให้เขาเข้าถึงการรักษา มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะทำอย่างนี้ และสิ่งนี้เองที่ช่วยให้เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่รอด ความร่วมแรงร่วมใจจะช่วยให้พวกเราผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปด้วยกัน”

กสศ.สะท้อนให้เห็นว่า ‘สุขภาพที่ดี’ เท่ากับ ‘การศึกษาที่ดี’

คุณหมออธิบายการทำงานร่วมกับ กสศ.ว่า We can’t educate children who are not healthy, And we can’t keep them healthy if they’re not educated.

“เรารู้สึกขอบคุณเมื่อได้เข้ามาร่วมงานกับ กสศ. ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าใจว่าการศึกษากับสุขภาพเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน จากข้อความที่หยิบยกมาคือ เราไม่สามารถให้การศึกษาเด็กที่ไม่แข็งแรงได้ และในทางกลับกัน​ เราไม่สามารถทำให้เด็ก ๆ มีสุขภาพที่ดีได้ ถ้าเขาไม่ได้รับการศึกษา

“นี่คือบทบาทของ กสศ.ที่พยายามเชื่อมโยงความช่วยเหลือทุกทางในช่วงเวลานี้ เพื่อให้ทั้งสุขภาพของเด็กและการศึกษาได้รับการดูแลและเดินต่อไปได้พร้อม ๆ กัน เราจะเห็นว่า กสศ.ไม่ได้รวมกำลังอาสาสมัครขึ้นมาเพียงแค่ดูแลผู้ติดเชื้อ แต่กับเด็ก ๆ ที่ต้องกักตัวอยู่บ้านในเวลานี้ ก็ยังมีการมอบถุงการเรียนรู้ที่ช่วยให้พัฒนาการการเรียนรู้ดำเนินไปต่อได้ หรือการทำชุดความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 เบื้องต้นเผยแพร่ให้เขารู้จักป้องกันตัวเอง นี่คือหลักการที่ว่า​ ถ้าเราลงทุนด้านการศึกษา สุขภาพที่ดีจะตามมา เพราะถ้าเขามีความรู้ ดูแลตัวเองเป็น ยอดผู้ติดเชื้อก็จะลดลง หรือหากเขาติดเชื้อไปแล้ว ก็รู้วิธีปฏิบัติที่จะไม่กระจายเชื้อสู่คนอื่น ฉะนั้นการศึกษากับสุขภาพคือสิ่งที่แยกส่วนกันไม่ได้ ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน ถ้าละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราคงไม่มีทางไปถึงเป้าหมายในการพัฒนาประเทศได้”

เรื่องเล่าของอาสา กสศ.

อาสา กสศ. กลุ่มนี้มีหน้าที่รับข้อความผ่านไลน์ COVID QSNACH (Line id : @080hcijL) ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อประสานงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเด็กร่วมกับแพทย์ประจำสถาบัน โดยแบ่งเวลาปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วง 9.00-17.00 น. 17.00-01.00 น. และ 01.00-09.00 น. 

ช่วงเช้าถึงเย็นจะมีเจ้าหน้าที่ประจำ 3 คน รับส่งข้อความ ส่งยา ประสานศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลในการส่งตัวผู้ติดเชื้อ ช่วยจัดหาอาหาร ถุงยังชีพ ส่งถึงผู้ป่วยบางเคสที่รักษาตัวอยู่บ้าน ส่วนอีกสองช่วงเวลาจะมีเจ้าหน้าที่ประจำ 1 คน คอยให้คำปรึกษาแนะนำผู้ป่วยตามอาการ ทำบันทึกข้อมูล ส่งต่อกรณีฉุกเฉินให้อยู่ในความดูแลของแพทย์

กนกวรรณ ชำนิยันต์ (ฝน) นักศึกษาชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
อยาก ‘ทำ’ อะไรสักอย่าง เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น

“เราคิดว่าความหมายของคำว่า ‘อาสา’ คือทุกคนตั้งใจไว้แล้วว่าอยากเข้ามา ‘ทำ’ อะไรสักอย่าง เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น และจะ ‘ทำ’ อย่างเต็มที่จริง ๆ โดยไม่เลือกว่าคนที่ขอความช่วยเหลือคือใคร”

กนกวรรณ ชำนิยันต์ (ฝน) นักศึกษาชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

เธอนิยามความหมายของ ‘อาสาสมัคร’ จากมุมมองที่สัมผัสด้วยตัวเองตลอดเวลาหนึ่งเดือน

“มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน หลายคนความช่วยเหลือเข้าไปหาเขาไม่ถึง บางคนเป็นเด็กอายุไม่กี่วันหรือแค่ไม่กี่เดือน ภาพพวกนั้นกระทบใจเรา คิดว่าถ้ามีทางไหนทำอะไรได้บ้าง​ เราจะทำ พอเพื่อนมาชวนทำงานอาสาสมัครเราจึงตกลงทันที รู้ว่างานที่ทำมีความเสี่ยง แต่เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะจะว่าไปตอนนี้ทุกคนต่างก็เสี่ยงด้วยกันทั้งหมด”

“พอรับรู้ข้อมูลจากหน้างาน ถึงรู้ว่าโควิด-19 ของจริงแย่กว่าที่เราคิดไว้อีก แต่ด้านหนึ่งก็ทำให้เราได้เห็นเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครคนอื่น​ ๆ ทำงานกันหนักมาก พวกเขาคือต้นแบบให้เราตั้งใจทำในส่วนของตัวเองอย่างสุดกำลัง ทำให้เชื่อว่าเราเลือกถูกที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่นี่ ต้องขอบคุณ กสศ.ที่เชื่อมโยงเราเข้ามาตรงนี้ และผลักดันการทำงานในส่วนต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือทั่วถึงยิ่งขึ้น”

แองกีร่า คาดีวี (แอง) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ถึงเตียงไม่พอรับ แต่เขาต้องเข้าถึง ‘สิทธิ์’ เยียวยาอาการ

อีกหนึ่งอาสาสมัครที่หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นในเร็ววัน

แองกีร่า คาดีวี (แอง) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“เราต้องรับข้อความวันละสองสามร้อย ต้องอยู่กับความรู้สึกเครียดกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากให้เด็ก ๆ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่อย่างที่ทุกคนรู้ว่าตอนนี้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลต่าง ๆ แทบเต็มหมดแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือพยายามสื่อสารและจัดการ ส่งข้อมูลสำคัญให้คุณหมอ ช่วยปรึกษาดูแลเคสไม่หนักมาก ทำเรื่องส่งยา ถ้าเราทำตรงนี้ได้แม่นยำก็จะช่วยผู้ติดเชื้อที่อยู่ทางบ้านได้มากขึ้น”

“ถ้าเราปล่อยให้คุณหมอตอบข้อความด้วยตัวเองทั้งหมด เคสจะไปช้ามาก บางข้อความขอความช่วยเหลือจะถูกทิ้งค้าง คนที่รอก็ต้องรอต่อไปโดยไม่รู้ต้องทำยังไง นี่คือสิ่งที่เราพยายามเรียนรู้ แล้วเป็นสิ่งที่เราเห็นจากการทำงานของเจ้าหน้าที่อาสาทุกคน   ว่าเขาต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้ความช่วยเหลือทำได้เร็วและสะดวกขึ้น”

ขนิษฐา สิงห์ศรีโว (นาเดีย) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คำปรึกษาทางไกลช่วยคลายความกังวลให้ผู้ป่วยและครอบครัว

นาเดียเล่าว่าตัดสินใจทำงานอาสาสมัครเพราะเคยผ่านประสบการณ์ที่ทั้งบ้านติดเชื้อโควิด-19 พร้อมกัน แล้วได้รับความช่วยเหลือจนพ้นจากช่วงเวลานั้นมาได้ จึงอยากขอเป็นส่วนหนึ่งในการลงมือ‘ทำ’ เพื่อช่วยผู้คนให้มีหวังและกำลังใจ

ขนิษฐา สิงห์ศรีโว (นาเดีย) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยตัวเอง มองว่าการให้คำแนะนำว่าเขาควรทำอย่างไรเมื่อคนในครอบครัวเป็นผู้ติดเชื้อ  อธิบายให้ฟังได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นมีความน่ากังวลมากน้อยแค่ไหน เราแน่ใจว่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ของน้อง ๆ คลายกังวลและมีสภาพจิตใจดีขึ้นได้

“เคสส่วนใหญ่ที่เจออาการไม่หนักมาก แต่สถานการณ์แวดล้อมค่อนข้างน่าเป็นห่วง เช่น​ เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้​ แต่ต้องอยู่กันลำพัง เราต้องสื่อสารกับพี่เลี้ยงผ่านข้อความ แนะนำวิธีดูแลตัวเอง ดูแลเด็ก ส่งยาที่จำเป็นให้ หรือคนสูงอายุที่ติดเชื้อต้องอยู่บ้านคนเดียว เคสเหล่านี้เขาไม่ได้ต้องการเตียง แต่เราต้องคอยติดตามให้ความช่วยเหลือเขาใกล้ชิดตลอด ดูแลกันจนกว่าจะหายเป็นปกติ”