บันทึกอาสา กสศ. ‘สัญญาณผ่านแอป ที่ย้ำเตือนว่ามีผู้ป่วยต้องได้รับการดูแล’

บันทึกอาสา กสศ. ‘สัญญาณผ่านแอป ที่ย้ำเตือนว่ามีผู้ป่วยต้องได้รับการดูแล’

เป็นอาสาสมัคร เพราะรู้ว่าความรู้สึกขาดที่พึ่งพิงในยามทุกข์นั้นมืดมนเพียงใด

เสียงเตือนว่ามีข้อความขอความช่วยเหลือส่งเข้าไลน์แชตแทบไม่เคยเงียบลง

เหมือนเป็นสัญญาณว่าทุกนาทีที่ผ่านไป จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง อีกครอบครัวหนึ่ง หรืออีกหลายคน หลายครอบครัวในเวลาเดียวกัน

“ในนาทีนั้นพวกเขากำลังสิ้นหวัง เพราะไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร

“ที่รู้เพราะเราเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน ตอนที่ไม่รู้จะช่วยครอบครัวยังไง คือความรู้สึกที่มืดมนมาก ๆ  ทำให้เราตัดสินใจมาทำงานอาสาสมัคร อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนหลุดพ้นจากสภาวะนั้นให้ได้”

‘นาเดีย’ ขนิษฐา สิงห์ศรีโว นักศึกษาชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์ หนึ่งในอาสาสมัครของ “ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต กสศ.” ที่มีหน้าที่รับและตอบข้อความผ่านไลน์แชต COVID QSNICH ที่Line id : @080hcijL ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เล่าถึงสถานการณ์ตึงเครียดหน้างาน ซึ่งเตือนให้นึกย้อนถึงวันที่ครอบครัวของเธอติดเชื้อโควิด-19 พร้อมกันทั้งบ้าน 

“เราเข้าใจดีว่าพอคนในครอบครัวติดเชื้อกันหมดแล้วติดต่อที่ไหนไม่ได้เลย มันรู้สึกตีบตันไร้ที่พึ่งแค่ไหน แต่เราผ่านตรงนั้นมาได้ เพราะความช่วยเหลือที่มาจากคนไม่รู้จักหลายคนหลายฝ่าย พอเห็นว่ามีช่องทางให้เราช่วยคนอื่นต่อได้ จึงอาสาเข้ามาทำ เพื่อน ๆ เห็นเขาก็อยากมาร่วมด้วย ต่างคนต่างทนไม่ได้ที่ต้องนั่งดูข่าวคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน คิดตรงกันว่าอยากจะทำอะไรได้บ้าง”

‘นาเดีย’ ขนิษฐา สิงห์ศรีโว นักศึกษาชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์
หนึ่งในอาสาสมัครของ “ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต กสศ.”

นาเดียและเพื่อนอีกสองคนใช้เวลาว่างจากการเรียนออนไลน์เข้ามาทำงานอาสาสมัคร ทุกวันพวกเขาจะนั่งอยู่หน้าจอแล็ปท็อป สายตาจับจ้องถ้อยคำที่ไหลผ่านหน้าแชต คอยประเมินสถานการณ์เบื้องต้น ให้คำปรึกษา ทำเรื่องส่งยาให้ผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ปกครอง ในสถานการณ์ที่เตียงโรงพยาบาลไม่เพียงพอสำหรับทุกคน คำแนะนำที่ผู้ป่วยได้รับ นับว่าช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์และเจ้าหน้าที่ของสถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้มาก

“ข้อความขอความช่วยเหลือมีเข้ามาตลอด หลายคนอยู่ในจุดที่มีแค่เราเป็นทางเลือกเดียว ที่เขาเข้าถึงได้ การที่ผู้ปกครองเด็กได้รับข้อมูลจำเป็นว่าอาการลักษณะไหนต้องดูแลยังไง หรือบางเคสเริ่มอาการน่าเป็นห่วง ซึ่งเราจะส่งต่อให้คุณหมอรับเรื่อง ทำให้ผู้ป่วยไม่เสี่ยงอาการทรุดหนัก หลายคนได้รับคำแนะนำดูแลต่อเนื่องเขาก็ดีขึ้น”

เคสหนึ่งในช่วงแรกของการทำงาน มีผู้ติดเชื้อพี่น้องสองคน คนหนึ่งเป็นออทิสติก อีกคนหนึ่งพิการซ้ำซ้อน หายใจเองไม่ได้ต้องเจาะคอ ส่วนพ่อกับแม่อาการค่อนข้างหนัก ถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลไปก่อนหน้า คนดูแลจึงมีเพียงพี่เลี้ยงวัยรุ่นสองคนที่ติดเชื้อเหมือนกัน 

ในสภาวะเช่นนั้น นาเดียบอกว่า “แทบนึกไม่ออกว่าเด็กสองคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ต้องมาตกอยู่ในการดูแลของคนที่ก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ พวกเขาจะผ่านสถานการณ์ตรงหน้าไปด้วยวิธีไหนกัน” 

เหตุการณ์นี้ทำให้เธอตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งช่วยประสานความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ภาวนาเอาใจช่วย ตามติดจนถึงวันที่ทุกคนปลอดภัย และได้กลายมาเป็นแรงผลัก ที่ทำให้ยิ่งมีแรงใจทำหน้าที่อาสาสมัครต่อไปอีก

“ขอช่วยผ่อนแรงคุณหมอ ให้พร้อมสำหรับงานในส่วนที่จำเป็นที่สุด”

ประสบการณ์ใกล้ชิดกับบุคลากรด่านหน้าหนึ่งเดือนเต็ม ทำให้อาสาสมัครทั้งสามเข้าใจถึงความสำคัญ ที่คนต่างภาระหน้าที่ ต้องมารวมใจกันเพื่อโยงใยให้เกิดเป็นโครงข่ายความช่วยเหลือขนาดใหญ่

ทั้งยังตระหนักว่างานจิตอาสาที่ตนทำช่วยเบาแรงบุคลากรการแพทย์ได้มากขนาดไหน 

“ถ้าไม่ได้อยู่ตรงนี้ คงไม่ได้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด ทุกคนทุ่มเทกันมากกว่าเรี่ยวแรงที่ตัวเองมี อยู่กับงานแทบจะ 24 ชั่วโมง เกือบทุกเคสที่เรารับ คุณหมอจะมาช่วยให้รายละเอียด กรณีฉุกเฉินก็ให้เวลาทันที ช่วงที่ระบบจัดการไม่ทัน แต่ประเมินแล้วว่าน้องอาการหนัก คุณหมอจะใช้เงินตัวเองจ่ายค่ายา จากนั้นรีบส่งยาไปให้เด็กก่อน หรือถึงแม้ว่าสถาบัน ฯ มีหน้าที่หลักคือดูแลเด็ก แต่พอรู้ว่าผู้ปกครองป่วยหนัก หรือบ้านไหนมีคน Home Isolation ลำพัง เจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยทิ้ง ดูแลทุกคนไปพร้อมกัน ประสานหาทางส่งข้าวสารอาหารแห้งไปให้เป็นเสบียงจนได้”

เรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่เอง ที่นาเดียรู้สึกดีใจและภูมิใจในการตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจนี้ และมุ่งมั่นที่จะช่วยผ่อนแรงเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุด

“เราเป็นอาสาสมัครจาก กสศ. รู้ว่ามีการทำงานในส่วนอื่น ๆ อีกหลายฝ่าย ทั้งคนช่วยส่งยา ส่งอาหาร ถุงยังชีพ มีคนขับรถคอยรับส่งผู้ป่วย งานเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายแค่ช่วยประทังชีวิต แต่คือกำลังใจที่ส่งไปถึงผู้คนว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว แล้วที่ประทับใจคือ มีการให้คู่มือการเรียน แบบฝึกหัด อุปกรณ์การเรียน ของเล่นที่ช่วยน้อง ๆ ได้พัฒนาทักษะ ให้เขายังอยู่กับการศึกษาแม้ยังกลับไปโรงเรียนไม่ได้

“ส่วนเราที่ทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ เป้าหมายคืออยากให้หมอเอาเวลาที่ต้องมาตอบแชต ไปทำงานอื่นที่จำเป็นกว่า ไปดูแลคนไข้ที่หนักจริง ๆ หรือสิ่งที่เราเห็นคือ พวกเขาเหนื่อยกับงานแทบไม่ได้พัก ถ้าการมีอยู่ของพวกเราช่วยให้คุณหมอเอาเวลาไปทำเรื่องอื่น ๆ ได้บ้าง แค่นี้พวกเราก็รู้สึกว่าทำประโยชน์แล้ว”