“หนังตะลุงคือสิ่งที่ผมรัก” ทางเลือกเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่ปลายทางไม่ได้ทอดสู่รั้วโรงเรียน

“หนังตะลุงคือสิ่งที่ผมรัก” ทางเลือกเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่ปลายทางไม่ได้ทอดสู่รั้วโรงเรียน

“สนุกครับ จะเล่นเองหรือเป็นคนดูก็ตลก ตื่นเต้น มีสุขมีเศร้า มีเรื่องราวนำพาคนดูให้ติดตามได้ไม่เบื่อ ผมชอบตั้งแต่ 5-6 ขวบ ไปงานไหนต้องคอยตามดูทุกคณะ จนวันหนึ่งเริ่มเอาผ้าขนหนูมาขึงทำโรงหนังเล่นที่บ้าน ใช้ราวตากผ้าที่เป็นโครงเหล็กสี่เหลี่ยม กั้นผ้าซ้ายขวา ขึงปิดด้านบน แล้วฉายไฟ นั่งเชิดเล่นของผมไป 

“ฝึกมาเรื่อย เชิดเอง ร้องเอง ตีกลองเอง ทำคนเดียวหมด พอแม่ครูเห็นเราเล่นบ่อยๆ เข้า ก็สนับสนุน ผลักดันให้ฝึกฝนเรียนรู้จริงจังยิ่งขึ้น จนได้ติดตามคณะโขนละครไปแสดงด้วย”

‘ไอซ์’ อิทธิพล พินิจโคกกรวด เยาวชนนอกระบบการศึกษา จังหวัดเพชรบุรี นายหนังตะลุงผู้มีคณะเล็กๆ ของตัวเอง พร้อมประสบการณ์สั่งสมเกินกว่าครึ่งทศวรรษ ในวัยที่คำนำหน้ายังเป็นเพียงเด็กชาย เล่าถึงความหลงใหลในอาชีพ ‘นายหนัง’ ที่เขาย้ำเสมอว่า คือสิ่งที่  ‘รัก’ และ ‘หวงแหน’ มาก จนแน่ใจว่าจะร้อยชีวิตไว้บนเส้นทางสายนี้

นายหนังวัยรุ่น แต่โชกโชนในศิลปะการแสดงหนังตะลุง เติบโตในคณะโขนละครของแม่ครูสมทรง บุญวัน ที่พูดกับเขาเสมอว่าสิ่งเดียวที่มอบให้ได้คือวิชาความรู้ เพื่อนำไปต่อยอดเลี้ยงตัวในอนาคต ซึ่งเขาเองเต็มใจรับและทุ่มเทพัฒนาตัวเองอย่างสุดกำลัง

‘อาชีพที่เลี้ยงดูหลากหลายชีวิต’

จากเล่นเองร้องเองลำพัง เมื่อประสบการณ์สั่งสมเพิ่มพูน ไอซ์ก็ค่อยๆ ถ่ายทอดวิชาให้น้องๆ ที่เข้ามาอยู่ในคณะแม่ครู จนตอนนี้เขาสามารถรวบรวมคณะหนังตะลุงขนาดย่อมร่วมแสดงโชว์ไปกับคณะละคร ตลอดจนรับงานจ้างและงานบุญต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

“ตอนนี้มีกัน 6 คน รวมผมที่เป็นนายหนัง เป็นคนเชิด เราอยู่ด้วยกันในคณะอยู่แล้ว มีน้องๆ หลายคนที่มาอยู่กับแม่ครู ฝึกพื้นฐานโขนละครมาก่อน พอเห็นว่าเขาเริ่มสนใจหนังตะลุง ผมก็เอามาฝึก มาเรียนรู้ ให้ช่วยตีกลอง ตีกรับ จากหนึ่งคนเป็นสองคนแล้วเพิ่มมาเรื่อย แรกๆ ก็ชวนไปเล่นเปิดหมวกกัน จนได้แสดงจริงจัง จำได้ว่างานแรกได้เงินมาสองพันบาท ผมก็เอามาแบ่งกับน้องเท่าๆ กัน เอาส่วนหนึ่งให้แม่ครู บางงานก็ช่วยเขาเฉยๆ  ได้โปรโมตคณะด้วย  ใจคิดว่าอยากไปช่วยครับ ได้ไปเล่นทุกครั้งเราสนุกกันอยู่แล้ว เหมือนยิ่งได้ฝึกฝีมือ”

“สนับสนุนสิ่งที่อยากเป็น เพื่อไปให้สุดเส้นทางเป้าหมาย”

ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ มูลนิธิปฐมบรมราชานุสรณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่: ภาคตะวันตกเขตตะนาวศรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ได้พบกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษาในความดูแลของแม่ครูสมทรง ซึ่งทุกคนมีใจรักผูกพันกับศิลปะการแสดงโขน ละคร และหนังตะลุงเป็นทุนเเดิม 

หลังพูดคุยสอบถามความสมัครใจ  เรื่องการเข้าเรียนทั้งในและนอกระบบหรือการฝึกอาชีพ ก็ได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขารักในศิลปะการแสดงแขนงนี้ อยากจะ ‘ทำ’ และ ‘ฝึกฝน’ ตัวเองต่อไปให้ประสบความสำเร็จได้มากที่สุด โครงการจึงเข้ามาช่วยในส่วนที่ขาดและสร้างโอกาสให้น้องๆ มีความพร้อมยิ่งขึ้น

“เราเข้ามาที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกซ้อมของเด็กๆ ได้คุยกับน้อง กับเจ้าอาวาส แม่ครู จนทราบว่าหลายคนเป็นเยาวชนนอกระบบด้วยสาเหตุต่างกันไป  ส่วนใหญ่ทางบ้านไม่มีความพร้อม  แต่กับน้องไอซ์ เขาเลือกแล้วว่าจะไม่เรียนในโรงเรียน  เหตุผลว่าเขาชอบทางด้านหนังตะลุงมากกว่า ได้เรียนรู้พร้อมทำงานหารายได้ เขาอยากเอาเงินมาช่วยแม่ครูและแบ่งปันกับน้องๆ โครงการเราจึงเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องทุน ทั้งการแกะหนัง โรงหนัง พื้นที่ สิ่งจำเป็นต่างๆ ชุดเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ในการแสดง ให้ดูจริงจังขึ้น สวย สง่างามขึ้น เพื่อให้การแสดงเปิดกว้างกว่าเดิม อันจะนำมาทั้งประสบการณ์และรายได้ ที่เป็นเหมือนกำลังใจสำคัญของน้องๆ

“เรายังช่วยประสานกับคณะ นำพ่อครูแม่ครูที่คร่ำหวอดเข้ามาช่วยสอนและให้คำแนะนำกับน้องๆ เพิ่มเติม ทั้งการแสดง การเล่นดนตรี อยากให้พื้นฐานของทุกคนแน่นยิ่งขึ้น จนช่วงหนึ่งก่อนจะเจอปัญหาโควิด-19 หนักๆ เราได้เห็นผลว่าเขามีงานแสดงกันมากขึ้น มีรายได้ที่เอากลับมาเลี้ยงตัวหรือใช้พัฒนาผลงานได้” 

ดร.วิฑูรย์ คุ้มหอม อีกหนึ่งผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า โครงการตั้งใจสนับสนุนในสิ่งที่เด็กต้องการ  เมื่อเขาแสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่คือ ‘ชีวิต’ คือ ‘ความรัก’ และคือวิชาความรู้ที่จะนำไปเลี้ยงตัวได้ เราก็ช่วยเรื่องอุปกรณ์และเติมทักษะ ทำให้เขาพร้อมขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น สำคัญกว่านั้นคือสิ่งที่พวกเขาทำ ได้สร้างคุณค่าให้ตัวเองและยังได้สืบสานสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม

“งานของเราคือทำให้เขาไปได้สุดทางของเป้าหมาย ตามทางที่ชอบ ที่สนใจ  อาจจะไม่ใช่เด็กทุกคนที่ปลายทางต้องไปอยู่ในรั้วโรงเรียน แต่ ‘การศึกษา’ อาจจะมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่ชอบ ความผูกพันกับศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง เมื่อเขาพบแล้วก็มุ่งมั่นพยายามพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จ 

“น้องๆ กลุ่มนี้หลายคนมีปมในใจ เพราะเขารู้สึกกดดันจากมาตรฐานสังคมต่างๆ ว่าไม่ได้เรียนหนังสือบ้าง ครอบครัวไม่พร้อมบ้าง สิ่งที่เราช่วยได้อันดับแรกเลยคือ ทำให้เขารู้ตัวว่ามีความสามารถ มีความฝัน สิ่งเหล่านี้เองที่เขาต้องนำไปแปรเปลี่ยนเป็นเป้าหมายชีวิต แล้ววิ่งตามไขว่คว้าไปให้สุด  นี่คือเส้นทางที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าต่างพื้นเพเช่นไรจะพึงมีได้เหมือนๆ กัน”

ขณะที่น้องไอซ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ฝันอยากเป็นนายหนังเต็มตัวและทำต่อเนื่องสืบไป ไม่อยากให้ศิลปะแขนงนี้สูญหายไป ดังคำกล่าวที่ว่า “สิ่งที่ได้รับและสั่งสมมา ผมจะถ่ายทอดต่อไป เพื่อให้หนังตะลุงคงอยู่ต่อไปได้…จากรุ่นสู่รุ่น”