‘ไทรน้อยโมเดล’ ต้นแบบพาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะโควิด-19 กลับคืนสู่โรงเรียน

‘ไทรน้อยโมเดล’ ต้นแบบพาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะโควิด-19 กลับคืนสู่โรงเรียน

“ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงวันที่น่าประทับใจของเยาวชนคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการระดมกำลังทั้งภายนอกและภายในโรงเรียน เพื่อหาแนวทางในการดูแลลูก ๆ ของเรา ที่เขาและครอบครัวต้องเผชิญกับวิกฤตระลอกแล้วระลอกเล่าจนต้องหลุดจากระบบการศึกษาไป

“เมื่อเราพบเขาแล้ว แน่นอนว่าครูและทุกคนในโรงเรียนยินดียิ่งในการต้อนรับเขากลับมา แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกฝ่ายจะต้องมาช่วยกันคลี่ขั้นตอน และไขปัญหาอุปสรรคที่เด็กคนหนึ่งต้องก้าวผ่าน บนเส้นทางการกลับสู่ห้องเรียนหลังหลุดออกจากระบบไปในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเราต่างรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย …เพื่อไม่ให้สิ่งใดก็ตามที่น้อง ๆ และสถาบันการศึกษาต้องพานพบหลังจากนี้ มาก่อพลังด้านลบจนทำให้เขารู้สึกท้อถอย ซึ่งอาจส่งผลให้เด็ก ๆ ของเราต้องหลุดออกไปจากเส้นทางการศึกษาซ้ำอีกครั้ง”

ปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

จากเรื่องราวของ ‘วง’ ตาวง วัย 17 ปี ‘8 เดือนที่สูญหาย’ …จากใจเด็กที่หลุดจากรั้วโรงเรียนด้วยผลกระทบจากโควิด-19

ที่หลุดพ้นรั้วโรงเรียนเข้าสู่ชีวิตทำงานก่อนวัยอันควร ในช่วงรอยต่อหลังจบชั้น ม.3 ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 

วงเป็น 1 ใน 6, 500 คนของเด็กเยาวชน ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ สพฐ.สำรวจพบว่าไม่มีรายชื่อเรียนต่อในช่วงชั้นการศึกษาที่สูงขึ้น ตามแนวทางการสร้างระบบป้องกันและช่วยเหลือเด็กหลุดออกนอกระบบ

หลังพูดคุยกับอาสาสมัคร กสศ. เพื่อเก็บข้อมูลและสอบถามความต้องการเบื้องต้น วงแจ้งความประสงค์ว่า ถ้าเป็นไปได้เขาอยากจะกลับเข้าเรียนต่อในโรงเรียนที่เพิ่งจบชั้น ม.3 มาเมื่อ 8 เดือนก่อน

‘ความร่วมมือ’ ที่ไม่ใช่แค่ ‘พาน้องกลับโรงเรียน’
แต่ต้องมีขั้นตอน-ระบบรองรับ ที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ‘เขาจะไม่หลุดออกไปอีก’

เมื่อเจตจำนงของ ‘วง’ แจ่มชัด ถัดมาคือการประสานไปยังโรงเรียนไทรน้อยต้นสังกัดเดิม และได้รับคำตอบในเวลาอันรวดเร็วว่า ทางโรงเรียน ‘ยินดีต้อนรับ’ วงกลับเข้าเรียนอีกครั้งในระดับชั้น ม.4 …อย่างไรก็ตาม การสำรวจ ค้นหาจนพบ และนำพาเยาวชนคนหนึ่งให้ได้กลับมาสวมเครื่องแบบนักเรียน เดินกลับเข้าไปในรั้วโรงเรียนอีกครั้ง ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะหลังจากนี้ยังมีขั้นตอนอีกมากมาย ทั้งในเชิงระบบของสถาบันการศึกษา ไปจนถึงการปรับตัวต่อแรงเสียดทานต่าง ๆ ที่ ‘วง’ และเด็กเยาวชนคนอื่น ๆ ต้องพานพบ จากเวลาที่ขาดหายไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งของปีการศึกษา

ปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า หลังรับทราบเรื่องราวของวงผ่าน กสศ. ทางโรงเรียนได้จัดประชุมด่วนทันที โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาและครูผู้รับผิดชอบงานทุกฝ่ายเข้าร่วม ซึ่งโรงเรียนเองมี ‘คณะทำงานดูแลช่วยเหลือนักเรียน’ อยู่แล้ว พร้อมระบบส่งต่อเป็นขั้นตอนว่าเมื่อเด็กกลับเข้าระบบ จะมีแนวทางดำเนินงานอย่างไรให้ครอบคลุมทุกมิติ

“เราเชื่อว่าสิ่งแรกที่ต้องทำ คือนำเขากลับเข้ามาอยู่ในรั้วโรงเรียนให้ได้เร็วที่สุด เพราะถ้าเขาอยู่กับเรา อย่างน้อยที่สุดจะมีสายตาของครูทุกคนในโรงเรียนคอยปกป้อง คอยชี้ทางให้เขา ด้วยระบบดูแลช่วยเหลือที่มีหลายฝ่ายมาช่วยกัน ตั้งแต่งานด้านวิชาการ กิจการนักเรียน งานแนะแนว หรือฝ่ายบุคคล ที่จะเตรียมเส้นทางไว้ให้ โดยคำนึงถึงข้อจำกัดต่าง ๆ และความเป็นไปได้ที่จะสร้างต้นแบบของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่ไม่ใช่แค่กับเคสของวงคนเดียวเท่านั้น แต่หลังจากนี้หากมีกรณีของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 คนใดที่ถูกค้นพบ และประสงค์จะกลับเข้ามาเรียน…เขาจะต้องได้เรียน

ก่อนอื่นเราต้องดูว่าการจะพาเด็กไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง ต้องผ่านอะไรบ้าง ซึ่งในฐานะของสถาบันการศึกษา เราจะพยายามเก็บรักษาพลังบวกที่เขามีในตัวไว้ให้ได้นานที่สุด หมายถึงพลังความมุ่งมั่นที่เด็กอยากจะกลับมาเรียน เพราะระหว่างทางนับจากนี้จะมีอุปสรรคอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าคอร์สติวเข้ม ฟื้นความรู้ที่สูญเสียไป ภาระของการต้องไล่เก็บหน่วยกิตให้ทันเพื่อนคนอื่น ๆ รวมทั้งการพยายามเรียนรู้บทเรียนใหม่ในเวลาสั้น ๆ แรงกดดันเหล่านี้เองที่จะทำให้เขาท้อ เหนื่อยล้า จนบางคนอาจหันหลังให้โรงเรียนอีกครั้ง แล้วคราวนี้มันจะฝังใจเขา จนเราไม่อาจตามเขากลับมาได้อีกแล้ว

ฉะนั้นการสร้างระบบดูแลช่วยเหลือต้องมีแนวทางที่ชัด คณะทำงานต้องพร้อมเปิดเผยปัญหาทุกด้าน และแก้ไขฝ่าฟันไปด้วยกัน เป็นแนวทางที่มีแผนรองรับว่าเมื่อพบทางหนึ่งตัน จะเบนออกไปทิศไหนได้ต่อ นอกจากระบบของโรงเรียนแล้ว หากมีปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวเด็ก ทั้งด้านสังคม ครอบครัว แผนการเรียน เราจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร”

เส้นทางที่ต้องฟันฝ่า เมื่อเด็กผ่านเข้าประตูโรงเรียนอีกครั้ง

ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อยพร้อมคณะทำงานเผยว่า สำหรับ ‘วง’ ที่จะกลับเข้ามาเรียนชั้น ม.4 สิ่งแรกที่ต้องทำคือเลือกแผนการเรียน ซึ่งแบ่งออกเป็นแผนที่เน้นด้านทักษะวิชาการ ได้แก่ เตรียมวิทย์-คณิต, ภาษาอังกฤษ-จีน, ภาษาอังกฤษ-เกาหลี-ญี่ปุ่น และแผนการเรียนที่มุ่งไปในทางทักษะวิชาชีพเฉพาะทาง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ, ช่างอุตสาหกรรม-คหกรรม, ศิลปะ-กีฬา 

โดยวงมีความต้องการเรียนในแผน ‘ภาษาอังกฤษ-จีน’ จากความสนใจในอาชีพ ‘ยูทูบเบอร์’ ที่อยากสื่อสารด้านภาษา แต่ด้วยเกรดเฉลี่ยสะสมจากชั้น ม.3 อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับแผนการเรียนที่เน้นทักษะวิชาชีพ ครูแนะแนวจึงแนะนำให้เลือกเรียน ‘คอมพิวเตอร์ธุรกิจ’ 

เนื่องจากเขาจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ทักษะพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเทคนิคการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการสื่อสารระดับสูง อันเป็นสิ่งที่ยูทูบเบอร์จำเป็นต้องมี ทั้งนี้ในความสนใจด้านภาษา คุณครูแนะแนวแนะนำว่า เขาสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองได้ตลอดเวลา หากสนใจที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคต

กวริกา ดีเอี่ยม หนึ่งในคณะทำงานด้านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน กล่าวว่า “วงเป็นเคสแรกที่เข้ามาหลังปิดระบบไปแล้ว จึงต้องหาแผนการเรียนที่เขามีความสนใจและเหมาะสมให้ โดยใช้เกณฑ์เดียวกับนักเรียนชั้น ม.4 ทุกคนที่เข้ามาเรียนตั้งแต่ต้นปีการศึกษา”

กวริกา ดีเอี่ยม หนึ่งในคณะทำงานด้านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

กรณีปกติของการเข้ามาเรียนระหว่างทาง เช่น นักเรียนย้ายตามผู้ปกครองเข้ามากลางปีการศึกษา เด็กจะต้องมีหน่วยกิตเทียบโอนจากสถานศึกษาเก่า แต่เคสของวงที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบ ม.3 และประสงค์จะเข้าเรียนกลางเทอม ทำให้ต้องทำความเข้าใจบทเรียนใหม่ไปพร้อมกับเก็บหน่วยกิตให้ทันเพื่อนร่วมชั้น ฝ่ายทะเบียนวัดผลมีข้อเสนอให้วงได้เข้ามาลองปรับตัวเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ในเทอมนี้โดยยังไม่เก็บหน่วยกิต ก่อนจะค่อยกลับมาเริ่มต้นเรียน ม.4 อย่างเต็มตัวในปีการศึกษา 2565

ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนไทรน้อย จะเริ่มจากครูที่ปรึกษาลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเก็บข้อมูลเด็ก ครอบครัว สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นปัจจุบัน นำมาประเมินครอบคลุมเรื่องพฤติกรรม ความเป็นอยู่ สภาวะทางอารมณ์ เพื่อกำหนดระดับของการดูแลพิเศษ และนำเข้าสู่ระบบของโรงเรียนให้ทุกฝ่ายรับรู้ร่วมกัน เพื่อการดูแลรอบด้าน

ดวงตา นิคม ครูฝ่ายงานแนะแนว กล่าวว่า นอกจากดูแลเรื่องการศึกษาและสุขภาพกาย โรงเรียนยังมีระบบรองรับสุขภาพใจของเด็ก โดยครูแนะแนวจะเป็นผู้สังเกตวิเคราะห์อารมณ์พฤติกรรมต่าง ๆ กรณีพบปัญหาที่เกินกำลังของครู จะมีนักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลไทรน้อยเข้ามารับช่วงต่อ มีการติดตามโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกเรื่องทุกเวลา 

“สิ่งที่เรากังวล คือ เรื่องสภาพจิตใจที่เด็กต้องเจอความเครียด โดยเฉพาะเรื่องของช่วงเวลาที่หายไป การไล่ตามเก็บหน่วยกิตให้ทันเพื่อน และการปรับตัว ฝ่ายแนะแนวจึงได้วางแผนในการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งไปที่การปูสภาพจิตใจให้เด็กมาโรงเรียนอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากชีวิตก่อนหน้า ที่ต้องออกไปทำงานหนัก เราอยากเน้นว่าเขาอาจไม่ต้องเรียนดี เรียนเก่ง แต่ขอให้เข้าใจสถานการณ์ของตนเอง มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ และรู้ว่า ‘โรงเรียน’ คือสถานที่ปลอดภัยสำหรับเขาเสมอ”

ดวงตา นิคม ครูฝ่ายงานแนะแนว

ระบบที่ยืดหยุ่น พร้อมปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อยกล่าวสรุปแนวทางในการช่วย ‘วง’ ให้พร้อมกลับสู่เส้นทางการศึกษาว่า สำหรับเทอมนี้โรงเรียนจะจัดโปรแกรมเฉพาะสำหรับวง ตั้งแต่เริ่มเข้ามาเรียนไปจนถึงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ระหว่างนั้นจะมีการสื่อสารติดตามกับครูผู้สอนรายวิชา ว่าการเก็บหน่วยกิตที่คั่งค้างพร้อมกับทำความเข้าใจบทเรียนใหม่ได้ผลแค่ไหน ส่วนตัววงเองก็ต้องทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนทุกวัน รวมถึงพร้อมที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมในโปรแกรมเสริมภายนอกที่ทางโรงเรียนจะเป็นผู้ออกแบบให้ โดยได้รับการสนับสนุนจาก กสศ.

วง ตาวง วัย 17 ปี เด็กที่หลุดจากรั้วโรงเรียน
ด้วยผลกระทบจากโควิด-19

นี่คือ ‘ต้นแบบ’ ของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในภาวะวิกฤต ที่หลังจากนี้ กสศ.จะดำเนินงานร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ และเขตพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป เพื่อให้น้อง ๆ อีกนับร้อยนับพันคน ที่ชีวิตต้องหลุดจากรั้วโรงเรียนอย่างไม่ทันตั้งตัว ได้มีโอกาสกลับสู่ห้องเรียนอีกครั้ง 

“เรามองว่าอย่างน้อยที่สุด โรงเรียนต้องเป็นบ้านที่อบอุ่น เป็นพื้นที่ให้เด็กที่อยากกลับมาเรียนแต่ติดขัดด้วยเงื่อนไขบางอย่าง สามารถเข้ามาได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย พร้อมที่จะมุ่งมั่น พยายามทำความตั้งใจให้สำเร็จ ดังนั้นเมื่อเราพบเด็กแล้ว เขาต้องได้เข้ามาอยู่ในโรงเรียนก่อน ส่วนเรื่องที่ว่าจะช่วยเหลือดูแลให้เขาฟันฝ่าเส้นทางที่ยากลำบากไปได้อย่างไร ต้องเป็นหน้าที่ที่สถานศึกษา ครู และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องมาหาทางช่วยกัน เพราะหากเราปล่อยเวลาทิ้งไว้ ให้เขาอยู่ข้างนอกต่อไป กับเส้นทางชีวิตที่ค่อย ๆ ห่างไกลจากระบบการศึกษาไปเรื่อย ๆ ถึงวันหนึ่งแรงใจไฟฝันที่เขามีให้กับการเรียนก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป

“วันนี้ลูกของเราได้กลับเข้ามาอยู่ในบ้าน มีครู มีเพื่อน มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยประคองเขาแล้ว และถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดความพยายามของ ‘วง’ และคณะครูอาจสะท้อนผลลัพธ์กลับมาว่า เขาจะต้องเริ่มเรียนใหม่ในปีการศึกษาหน้า แต่อย่างไรก็ตาม การได้กลับมาอยู่ในโรงเรียนจะยังทำให้เขามีเส้นทางเดินต่อไปข้างหน้า ไม่ต้องไปทำในสิ่งที่วัยของเขายังไม่พร้อม เพราะเชื่อว่าในท้ายที่สุด สิ่งที่เราอยากเห็นร่วมกัน ก็คือภาพในอีกสามปีข้างหน้าที่เขาจะเดินออกไปจากโรงเรียนด้วยวุฒิการศึกษาอย่างสง่างาม”