เครียด-ซึมเศร้า-สูญเสีย ข้อเสนอ Roadmap การเยียวยาบาดแผลทางใจของเด็กๆ ช่วงวิกฤตโควิด-19

เครียด-ซึมเศร้า-สูญเสีย ข้อเสนอ Roadmap การเยียวยาบาดแผลทางใจของเด็กๆ ช่วงวิกฤตโควิด-19

สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ขณะนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่แต่ละวันยังคงพุ่งสูง สร้างผลกระทบทั้งต่อผู้เสียชีวิตและบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กที่มีบุคคลในครอบครัวติดโควิด ภาวะเครียด ซึมเศร้า ไปจนกระทั่งผลกระทบที่รุนแรงอย่างการการสูญเสียพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

เมื่อเสาหลักของครอบครัวขาดหายไป 

เด็กๆ จะอยู่อย่างไร ชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร 

กสศ.มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณหมอสองท่าน 

คุณหมอดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พูดคุยเกี่ยวกับระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก CPIS และการช่วยเหลือแบบจิตสังคมของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม พูดคุยเกี่ยวกับการเยียวยาจิตใจเด็กที่สูญเสีย และวิธีจัดการความเครียดของเด็ก

CPIS ฐานข้อมูลคุ้มครองเด็ก
แจ้งเคสเด็กเข้ามา มีหน่วยงานติดตามดูแล
แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์
ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

ตัวเลขเด็กที่ติดเชื้อโควิด นับจากเดือนมกราคมถึงสิงหาคมนี้ ข้อมูลรายงานอยู่ที่ 134,329 คน ซึ่งทางกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้จัดทำระบบฐานข้อมูล CPIS (Child Protection Information System) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเพื่อการคุ้มครองเด็ก มีทั้งไลน์ @savekidscovid19 และแอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก หรือสามารถโทร.ผ่านสายด่วน 1300 ได้ 

จากระบบ CPIS รายงานว่ามีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิดสะสมอยู่ที่ 1,068 ราย ในจำนวนนี้ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ให้ความช่วยเหลือด้านสังคม เป็นเงินกองทุนคุ้มครองเด็ก เงินสงเคราะห์เด็กครอบครัวยากจน ทุนการศึกษา และทางสุขภาพจิตเข้าไปดูแลร่วมกับภาคส่วนทางสังคม เราใช้คำว่า จิตสังคม (Social Care) ดูแลไปพร้อมกัน มีการดูแลด้านจิตสังคมในเด็กที่สูญเสียครอบครัวจากโควิดหรือครอบครัวยากจนฉับพลัน ซึ่งจะมีผลทำให้เด็กไม่สามารถเรียนหนังสือได้ 

ถ้ามีรายงานเคสเข้ามาที่ระบบ CPIS มากขึ้น ยิ่งมีการรับรู้ถึงระบบช่วยเหลือนี้มากเท่าใด และมีเด็กเข้ามาในระบบมากเท่าไหร่ เราก็จะได้ดูแลช่วยเหลือเด็กได้มากขึ้นเท่านั้น ระบบก็จะแข็งแรงและเป็นที่รู้จักของผู้คน

ความหมายของจิตสังคม

จิตสังคมคือ การดูแลทางจิตและการดูแลทางสังคม การดูแลทางจิต ระบบสุขภาพดูแล การดูแลทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ดูแล เราทำควบคู่กันไป การดูแลโดยจิตสังคมคือ หนึ่งคนจะมีกาย ใจ สังคม ควบคู่กันไปเสมอ

กรณีครอบครัวยากจนฉับพลันที่ขอความช่วยเหลือเข้ามาที่กระทรวง พม. กรมกิจการเด็กและเยาวชน มีจำนวน 2,541 ราย ส่วนเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ผู้ดูแลมีจำนวน 364 ราย เราจำเป็นต้องเข้าไปดูแล เพราะเมื่อพ่อแม่ผู้แลเด็กเสียชีวิต จะกระทบจิตใจเด็กมาก หนึ่ง กระทบจิตใจเด็ก สอง กระทบเศรษฐกิจของครอบครัว เพราะครอบครัวไม่สามารถดูแลเด็กทั้งกายและใจได้เต็มที่เท่าเดิม 

คุณหมอดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์
ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

หนึ่งบ้าน หนึ่งโรงพยาบาล
เยียวยาบาดแผลทางใจเด็ก

ถ้าคนที่หารายได้ลดลงหนึ่งคน โภชนาการของเด็กก็จะได้รับผลกระทบ จิตใจของเด็กอีก เด็กสูญเสียคนที่เขารักและผูกพันด้วย จะเป็นบาดแผลทางใจที่ต้องการการเยียวยา ทีมของกรมสุขภาพจิตขณะนี้ เรามีโมเดลชื่อว่า “หนึ่งบ้าน หนึ่งโรงพยาบาล” คือ หนึ่งบ้านพักเด็กและครอบครัว เราจะประสานให้ดูแลร่วมกับทีมของโรงพยาบาล ทีมของสาธารณสุข 

เด็กที่พ่อแม่ผู้ดูแลเสียชีวิตจำนวน 364 ราย ทางบ้านและครอบครัวสามารถประสานมาทางสาธารณสุขเพื่อให้การปฐมพยาบาลทางใจร่วมกัน คือการดูแลจิตใจ ซึ่งการดูแลจิตใจ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเวลากระดูกขาหัก เราต้องดามขา ไม่เขยื้อน เพื่อมิให้เจ็บ ปฐมพยาบาลทางใจก็คล้ายๆ กัน เพื่อให้เด็กก้าวข้ามปัญหาหนักเหล่านี้ไปได้ 

พอผ่านพ้นช่วงปฐมพยาบาลทางใจ จะมีเด็กบางกลุ่มที่บอบช้ำ คือบาดแผลไม่ได้จบ ปฐมพยาบาลแล้วไม่หายเองตามธรรมชาติ เด็กบางคนเขาฟื้นเองได้ มีสังคม มีครอบครัวช่วยดู แต่บางคนก็ต้องเยียวยาจิตใจระยะยาวต่อ เพื่อให้เด็กที่สูญเสียแล้วเขาไม่ต้องเสียศูนย์

การสื่อสารกับเด็กที่สูญเสีย

สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย มีความสามารถในการบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองไม่เท่ากัน บ่อยครั้งเมื่อสูญเสียแล้วเด็กไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ว่าหนูเสียใจ หนูรู้สึกแย่ ไม่โอเค ทำให้เด็กอาจถูกมองข้าม บางครั้งถูกมองว่าไม่ได้รับผลกระทบมากมาย แต่ที่จริงเด็กก็เจ็บได้เสียใจเป็นเหมือนกับผู้ใหญ่ 

ฉะนั้นอยากจะฝากสำหรับครอบครัวที่ดูแลเด็กที่สูญเสีย อย่ากลัวที่จะพูดคุยกับเด็กในเรื่องนี้ คนมักจะเลี่ยง ไม่แตะ ไม่พูดถึง เพราะไม่รู้ว่าจะคุยกับเด็กยังไง แต่ไม่ใช่การไปถามว่าเหตุการณ์ตอนนั้นเป็นไงนะ แค่ชวนให้ถามเด็กว่าหนูโอเคไหม หนูไหวหรือเปล่า หนูอยากให้พวกเราช่วยอะไรบ้าง เพื่อให้เด็กมีโอกาสบอกเล่าความสูญเสียหรือบอกเล่าความเสียใจ

ความทุกข์ใจที่เล่าแล้วมีคนรับฟัง จะช่วยเยียวยาเด็กในเบื้องต้น มันคือการที่เราเชื่อมใจไปกับเขา พยายามเข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไร แม้จะช่วยเอาพ่อหรือแม่คืนมาไม่ได้ แต่การที่เราดูแลให้เขาอยู่อย่างปลอดภัย สามารถบอกเล่าความรู้สึกได้ และรู้ว่าจะใช้ชีวิตต่ออย่างมีความหวัง มีพลังได้ยังไง จะได้รับการดูแลโดยใคร นี่คือสิ่งที่จะต้องบอกให้เด็กรู้อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้เด็กมีทิศทางในการเดินต่อไปข้างหน้าได้

เครียด-ซึมเศร้า-สูญเสีย
การเยียวยาบาดแผลทางใจของเด็กๆ ช่วงวิกฤตโควิด-19
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
กุมารแพทย์ผู้เชียวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผอ.ศูนย์คุณธรรม

สภาวะป่วยทางจิตใจหรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD หรือ Post-Traumatic stress disorder) สามารถเกิดขึ้นได้จากการสูญเสียหรือเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก สภาวการณ์ที่เกิด Post-Traumatic ขึ้นอยู่กับลักษณะของเด็กและปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เด็กเหล่านั้นอาศัยอยู่ 

เด็กเล็กยังไม่รู้จักการสูญเสีย

ถ้าเกิดกับเด็กเล็กอายุน้อยกว่าสิบปี หรือเด็กที่ยังไม่เข้าใจ Death Perception คือยังไม่รู้ว่าความตายนั้นหมายถึงอะไร เด็กอนุบาลไปจนถึงเด็ก ป.3 โดยเฉพาะเด็กอนุบาล เขาจะไม่เข้าใจว่าการที่พ่อแม่หายไปมันเกิดอะไรขึ้น เขาไม่เข้าใจแม้กระทั่งว่า ถ้าตายไปแล้วไม่ฟื้นกลับมานะ ถ้ากรณีเด็กโต ป.4 -5 ขึ้นไป เด็กจะรู้หมดแล้ว มี Death Perception รู้แล้วว่าการตายนี้คือการจากพราก ไม่มีการฟื้นขึ้นมา

เราจะต้องประเมินอาการแสดงออกในภาวะตึงเครียด สำหรับกลุ่มเด็กเล็ก การประเมินอาจดูไม่ออก อาจเห็นเด็กวิ่งเล่นไปมาอยู่ เขายังไม่รู้ว่าสูญเสียบุคคลสำคัญที่สุดของเขาไป ซึ่งจากไปไม่มีวันกลับ การประเมินเด็กเหล่านี้ต้องทอดระยะเวลาคือ ประเมิน ณ ขณะเวลานั้นด้วยและต้องดูแลต่อเนื่องกันไป ส่วนใหญ่จะปรากฏอาการภายใน 30 วัน แล้วสามารถหายได้เองภายใน 3 เดือน อันนี้ตามหลักการนะ แล้วถ้าเด็กตึงเครียดแล้วไม่หายล่ะ มีไหม ก็มีนะ อาจจะกลายเป็นภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือกลายเป็นความหวาดผวา (Phobia) แสดงออกได้หลากหลายรูปแบบมาก

หาเจ้าภาพคอยดูแลเยียวยา เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัย

ทั้งเด็กเล็กและเด็กโตที่สูญเสียพ่อแม่ นอกจากต้องการปัจจัยสี่ คือ มีที่อยู่ที่ให้นอน มีข้าวให้กิน มีเสื้อผ้าใส่ได้ และยามเจ็บไข้ได้รับการเยียวยาแล้ว สิ่งที่ต้องดูแลควบคู่ขนานกันไปคือ ความรัก ความอบอุ่น และความปลอดภัย ต้องใช้คำว่า Sense of Secure เพราะว่าเด็กที่เจอกับเหตุการณ์สูญเสีย ย่อมมีภาวะไม่ปลอดภัย มีความรู้สึกว่าบ้านไม่ปลอดภัยหรือสังคมนี้ไม่ปลอดภัย เด็กเคยมีความรัก ความผูกพัน อยู่กับอ้อมอกพ่อแม่ แล้ววันดีคืนดีพ่อแม่ไม่รู้ไปไหน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ทำให้เด็กอบอุ่นและปลอดภัย แล้วตามมาด้วย Sense of love คือ ความรัก การเห็นอกเห็นใจ 

ความรู้สึกปลอดภัยต้องมาเร็วพอๆ กับการมีข้าวมียาให้กิน ไม่ได้เป็นขั้นตอนที่หนึ่งหรือสอง แต่ต้องเกิดคู่ขนานกันไปเลย สภาพแวดล้อมที่หรูหราไม่ใช่คำตอบ มีสถานที่ดีๆ ให้แล้วไม่ใช่แค่นั้น ต้องทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ถึงแม้จะเป็นบ้านที่เล็ก แต่ถ้าเด็กนอนหลับโดยมีใครอยู่ข้างกายเขา นี่คือ sense of secure คือ ตัวเด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย จากนั้นก็ใช้ความรัก ถ่ายทอดด้วยกายสัมผัส ไม่จำเป็นต้องพูดเยอะ การกอด แววตา ท่าทางของคนใกล้ชิดต้องสะท้อนถึงความรัก ความเข้าใจ

นี่คือสิ่งที่ต้องทำ เรื่องของที่อยู่เป็นยังไง ข้าวมีกินไหม มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอะไร หรือจะต้องรับการรักษาต่อไปอย่างไร กิจกรรมเหล่านี้ต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบ ทำทุกสิ่งทุกอย่างแทนพ่อแม่ เราต้องสำรวจเพื่อจะแยกกลุ่มเด็ก หาเจ้าภาพดูแล 

ถ้าเด็กมีครอบครัวขยาย ยังมีปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ยิ่งเป็นผู้ปกครองที่เด็กรักอบอุ่นไว้วางใจ คนผู้นั้นต้องรับบทบาทแทนที่พ่อแม่ ไม่ใช่พี่เลี้ยงข้างนอก กับเด็กที่อยู่ในครอบครัวขนาดเล็ก เช่น พอพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว เหลือเด็กคนเดียว เจ้าภาพก็อาจเป็นพี่เลี้ยงที่บ้านพักเด็ก ซึ่งต้องได้รับการฝึกและอยู่กับเด็กตลอดเวลา 

วิธีจัดการความเครียด ซึมเศร้า สูญเสียของเด็ก

เราจะไม่ไปถามปัญหาตอกย้ำ เว้นเสียแต่ว่าถ้าเด็กถาม เช่น ถ้าเด็กถามว่าพ่อแม่ไปไหน กรณีเป็นเด็กเล็กอนุบาล อาจใช้นิทานมาบอกเขาได้ในระดับหนึ่ง แล้วก็บอกเลยว่าเราจะเป็นคนที่มาอยู่ด้วยนะ ก็ใช้กิจกรรมเบี่ยงเบนความสนใจไป คือไม่ต้องลึกมาก แต่บอกระดับหนึ่งได้ว่าพ่อแม่ไปไหน 

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม

ถ้าเป็นเด็กโต น่าจะรู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เราจะไม่ตอกย้ำ ไม่ถามว่าทำอะไรแล้วเป็นยังไงบ้าง แต่จะใช้การเล่นเพื่อจัดการความเครียด เด็กมีสิทธิ์จะเสียใจ มีสิทธิ์ส่งสัญญาณความรู้สึกที่ไม่ดีออกมา ไม่ต้องเก็บกดไว้ ก็ให้สะท้อนออกมา ให้เขาระบายอารมณ์ความรู้สึกได้เลย อาจจะพูดกับเขาว่า “ถ้าหนูรู้สึกสูญเสีย รู้สึกเศร้าใจ ร้องไห้ออกมาเลย” ถ้าเราทำอะไรไม่ถูก ก็ใช้การกอด กายสัมผัส จะเป็นตัวช่วยเยียวยาและนำไปสู่การจัดการความเครียดรูปแบบอื่นได้ เช่น กรณีเด็กโตเราชวนเขาไปทำบุญ จะทำให้เขารู้สึกสบายใจมากขึ้น 

กรณีเด็กที่เป็น PTSD คือมีการสูญเสียใหม่ๆ อย่างน้อย 14 วันแรก หมอเข้าใจว่าน่าจะต้องอยู่กับเด็กตลอดเวลา ไม่ต้องทำงานเลยด้วยซ้ำ อันนี้หมายถึงเด็กโตด้วยนะ ส่วนเด็กเล็กต้องอยู่กับเขาตลอด เพื่อให้เขารู้สึกว่ายังมีใครบางคนอยู่ ถ้าทั้งเดือนได้ก็ยิ่งดี 

อาการเด็กที่จะต้องดูแลพิเศษคือ ความหวาดผวา ตกใจกลัว อาจมีพฤติกรรมถดถอย เช่น เดิมเคยเลิกขวดนมแล้วกลับมาดูดขวดนม กัดเล็บกัดฟัน มีภาวะความรุนแรง มีความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม รวมถึงนอนไม่หลับหรือหลับแล้วฝันร้าย 

เจ้าภาพหรือคนเป็นพี่เลี้ยงจะต้องคอยสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้ไหม ถ้ามีครั้งคราว การที่เรานอนอยู่ด้วยเป็นเพื่อน การทำให้เขาได้อยู่ในบรรยากาศที่อบอุ่นปลอดภัย อยู่กับเขาตลอดเวลา เวลาจะค่อยๆ เยียวยาแล้วใช้กิจกรรมบำบัดเข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นการเล่น การใช้ศิลปะ ก็จะช่วยเบาบางความรู้สึกที่แย่ๆ ออกไปได้ 

สำคัญสุดคือการใช้สิ่งแวดล้อมรอบบ้านช่วย เด็กเคยวิ่งเล่นใช้ชีวิตตรงนี้ ย่อมรู้จักกับคนแถวนี้ พาเด็กมามีส่วนร่วมตัดสินใจว่าควรจะอยู่ตรงจุดนี้หรือย้ายไปที่บ้านพักเด็ก ถ้าสมมติเด็กเลือกอยู่ที่เดิม ก็ต้องหาว่าใครที่สนิทชิดเชื้อ เป็นผู้ปกครองที่ไว้วางใจได้ ถ้าในชุมชนนั้นมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ อสม. หรือผู้ใหญ่บ้านคอยดูแล ก็อาจให้เด็กอยู่ในพื้นที่นั้น เพื่อให้สามารถดูแลได้ตลอดเวลา โดยต้องถามเด็กก่อนว่าเขาอบอุ่นและปลอดภัยไหม รู้สึกดีไหม 

ถ้าเป็นเด็กในเมือง ไม่มีพ่อแม่แล้ว กระทรวง พม.อาจต้องนำเด็กมาอยู่บ้านพักเด็ก ที่บ้านพักเด็กจะมีพี่เลี้ยงดูแล อย่างน้อยเกือบเดือน เพื่อเยียวยาจิตใจเด็กให้รู้สึกดีขึ้น ในระบบนิเวศปิด เป็นสถานที่ที่ไม่ใช่บ้านเดิม เป็นสถานที่ใหม่ แล้วคนก็ใหม่หมดเลย ต้องมีคนดูแลเขาตลอด 

ภาวะตึงเครียดของเด็กที่สูญเสียพ่อแม่จะหายเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับทุนเดิมของแต่ละคน ถ้าเป็นครอบครัวขยาย มีผู้ปกครองที่เด็กสนิทไว้วางใจเป็นเจ้าภาพ เขาก็จะหายได้เร็ว

การเรียนของเด็กที่สูญเสีย ต้องทำอย่างไร

การไปโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ ขอให้บรรเทาเบาบางให้หมด ครูต้องรับรู้ว่าเกิดเหตุการณ์นี้กับเด็ก ต้องยกเลิกงานทั้งหลาย มิใช่ให้เด็กมาเก็บงานภายหลัง จะถือว่าไม่มีความเมตตาปรานี อย่ามัวห่วงตัวชี้วัด ขอให้กลับไปดูว่าก่อนที่เด็กสูญเสีย เด็กสามารถทำได้ ก็ให้ assume ไปว่าที่เหลือนั้นถือว่าผ่านทั้งหมด 

ครูและเพื่อนๆ คอยถามไถ่ทักทาย คุยกันทางไลน์ ถึงแม้เด็กมาไม่ได้ก็สามารถคุยกันได้ ดึงเด็กมามีส่วนร่วม ให้เขามาเรียนตามที่สบายใจ ไม่คาดคั้น ไม่กดดัน ไม่คาดหวังอะไรมาก เพื่อให้เข้าสู่บรรยากาศสบายๆ ที่มีความรู้สึกที่ดีให้กัน เป็นสิ่งที่คุณครูสามารถออกแบบเป็นแผนฉุกเฉินขึ้นมาได้


สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถ Download หนังสือเพื่อช่วยดูแลจิตใจเด็กที่สูญเสียเพราะโควิด-19
ได้ที่นี่ : “การเล่น” เพื่อดูแลจิตใจเด็กๆ ที่เผชิญความสูญเสีย