Resilience ล้มเหลว เรียนรู้ สู้ต่อ แนะนำโดย ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
โดย : ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

Resilience ล้มเหลว เรียนรู้ สู้ต่อ แนะนำโดย ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

รู้สึกเหนื่อยกับปัญหาที่เจออยู่ไหมครับ? มนุษย์เราเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หรือต้องเจอกับความล้มเหลว คงรู้สึกสั่นสะเทือนและมองว่ามันเป็นปัญหา แต่ทักษะอะไรเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้เราสามารถมองเห็นปัญหาในทางบวกและหาทางแก้ไขปัญหาจนผ่านพ้นไปได้สำเร็จ

ทักษะนั้นคือ Resilience

Resilience คืออะไร?

Resilience คือทักษะความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอน คนที่มี Resilience คือคนที่สามารถปรับตัวได้เมื่อเจอการเปลี่ยนแปลง เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาจะมีมุมมองที่เป็นบวกต่อปัญหา มองว่าปัญหาเป็นโอกาส พยายามหาทางแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ พร้อมกับเรียนรู้จากปัญหาและนำมาพัฒนาตัวเองได้ต่อ แม้กระทั่งเมื่อเจอกับความล้มเหลว คนที่มี Resilience ก็จะไม่ยอมแพ้ แต่จะพยายามลุกขึ้นมาใหม่ และพาตัวเองไปเป็นคนที่เก่งขึ้นและแกร่งขึ้นได้

แปลให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือ ล้มเหลว เรียนรู้ สู้ต่อ

ทำไม Resilience จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์

1. ทำให้เราปรับตัวจนอยู่รอดได้

โควิด-19 น่าจะยิ่งทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เมื่อโควิด-19 เข้ามาชีวิตเราก็ต้องเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ทำให้เราต้องคิดหาหนทางใหม่ๆ ในการเอาตัวรอดให้ได้ และต้องไม่ลืมว่าโควิด-19 ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเดียวที่เข้ามา ยังมีวิกฤตอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น ทั้งวิกฤตที่เรามองเห็นชัดๆ แล้ว เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการขาดแคลนทรัพยากร วิกฤตโลกร้อน ฯลฯ และวิกฤตที่ยังมองไม่เห็น แบบเดียวที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะเกิดโควิด-19 ขึ้น แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างการเปลี่ยนงาน การเปลี่ยนหัวหน้า การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเราตลอด ดังนั้น การมี Resilience ทำให้เราพยายามหาทางปรับตัวเพื่ออยู่กับความเปลี่ยนแปลงได้

2. ทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาแบบใหม่ๆ

นวัตกรรมเกิดขึ้นจากการลองผิดลองถูก หรือทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนจนกลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเราอยากได้นวัตกรรมใหม่ แปลว่าเราต้องลองวิธีใหม่ๆ ไม่ใช้ชีวิธีแบบเดิมๆ ที่เคยสำเร็จมาก่อน แต่เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ดีขึ้น แปลว่าในการลองผิดลองถูกนั้นเราต้องเจอกับความล้มเหลวอยู่บ่อยๆ ต้องคิดใหม่อยู่ตลอด และเอาไอเดียไปทดลอง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครั้งจะสำเร็จ แต่การมี Resilience ทำให้เรายอมรับความล้มเหลวได้ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาคำตอบในการแก้ไขปัญหา นวัตกรรมใหม่ๆ จึงสามารถเกิดขึ้นได้เพราะเรายอมที่จะล้มเหลวให้เป็นประโยชน์เสียก่อน

3. ทำให้เรามีกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรค

ชีวิตเราเจออุปสรรคในหลายรูปแบบ ต้องล้มหลายครั้ง บาดแผลเต็มไปหมด การมี Resilience ทำให้เรามีกำลังใจในการผ่านพ้นปัญหาไปให้ได้ ล้มกี่ครั้งก็ยังลุกขึ้นมาใหม่และกลายเป็นคนใหม่ที่ดีขึ้นได้เสมอ

ทำอย่างไรจึงจะสร้าง Resilience ให้เกิดขึ้นได้?

1. ล้มให้บ่อย จะได้ฝึกลุก

ขึ้นชื่อว่าเป็นทักษะแห่งการล้มแล้วลุก แปลว่าการจะฝึกฝนตัวเองให้มี Resilience ได้ เราต้องยอมเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ยึดติดกับความสำเร็จหรือรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ เมื่อยอมให้ตัวเองล้มได้บ่อย เราจะมีโอกาสฝึกที่จะลุกให้บ่อยตามไปด้วย

2. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง

การมีแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างจะทำให้เรามั่นใจในตัวเองมากขึ้นที่จะลองผิดลองถูก เพราะต่อให้เผชิญปัญหา เราก็รู้ว่ายังมีคนคอยเป็นกำลังใจให้ ล้มมาก็ยังมีคนคอยพยุงอยู่ จะทำให้เราไม่กลัวที่จะล้ม และยังสามารถลุกได้เร็วขึ้นด้วย นอกจากนั้น ในแง่การทำงานเป็นทีม ทีมที่มีความสัมพันธ์ที่ดีจะสร้างบรรยากาศการทำงานที่ช่วยให้กำลังใจกัน เจอปัญหาก็ชวนกันสู้ Resilience ก็จะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าความสัมพันธ์ในทีมไม่ดี ต่างคนต่างเอาตัวรอด หรือพร้อมจะเหยียบกันได้ทุกเมื่อที่มีใครล้ม การจะล้มแล้วลุกขึ้นมาได้และยังรักษาสภาพจิตใจให้ดีอยู่ก็คงยาก แทนที่จะพากันสร้าง Resilience ไปพร้อมกันทั้งทีมก็จะไม่เกิด

3. การให้ความหมายทางบวก

ถ้าเราให้ความหมายกับอุปสรรคและความไม่แน่นอนว่าเท่ากับความซวย ความเหนื่อย ปัญหา ความมืดมน ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที่เป็นความหมายเชิงลบ ใจเราก็คงไม่อยากจะสู้ ไม่อยากจะไปลองเสี่ยงเท่าไร เมื่อเป็นแบบนั้นการพัฒนาก็จะไม่เกิด แต่ถ้าเราให้ความหมายกับอุปสรรคและความไม่แน่นอนเท่ากับโอกาสจะได้แสดงฝีมือ โอกาสจะได้เรียนรู้ โอกาสที่จะเก่งขึ้นกว่าเดิม ฯลฯ การให้ความหมายในทางบวกจะทำให้เรากล้าเผชิญปัญหาตรงหน้า เพราะเรารู้แล้วว่ามันคือโอกาสที่เราจะได้พัฒนาตัวเอง ไม่ได้น่ากลัวไปหมด เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว เราก็จะมีกำลังใจสู้ต่อได้มากขึ้น

4. ให้คุณค่ากับการพัฒนาเท่ากับความสำเร็จ

การให้ความสำคัญกับความสำเร็จอย่างเดียวเป็นการปลูกฝังความคิดว่า ถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่มีความหมาย ถ้าไม่ชนะหรือเป็นที่หนึ่งก็ไม่คุณค่า ซึ่งคนเราไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น Resielience คือการให้ความสำคัญกับ “การเดินทาง” มากกว่า “จุดหมาย” นั่นคือ ระหว่างที่เราใช้ชีวิตนั้น เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง เราเก็บเกี่ยวประสบการณ์อะไรมาบ้าง ดังนั้น การมีพัฒนาการจึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ไม่ต้องไปรอชื่นชมกันตอนที่สำเร็จแล้วอย่างเดียว แต่เมื่อเห็นความตั้งใจ เห็นความพยายาม เห็นพัฒนาการที่มากกว่าเดิม ก็ควรชื่นชมให้ความสำคัญกันแล้ว

5. มีเป้าหมาย

การมีเป้าหมายทำให้เราไม่จมดิ่งอยู่กับปัญหาตรงหน้าจนจมทุกข์ แต่ทำให้เรามองไกลไปกว่านั้นว่า การที่เราต้องเผชิญปัญหาต่างๆ อยู่นี้ไปตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตของเราอย่างไร เช่น ทำให้เราพัฒนาตัวเองมากขึ้น ทำให้เรามีโอกาสได้แก้ปัญหาและได้ช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้เราเห็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ทำให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น ฯลฯ ความรู้สึกว่าอยากจะลุกขึ้นให้ได้ก็จะตามมา

6. ทบทวนตัวเอง

ทุกปัญหานำบทเรียนมาให้เราเสมอ ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้ให้ได้มากที่สุดจากปัญหาที่เราเจอ สิ่งสำคัญคือการกลับมาทบทวนว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากปัญหาบ้าง ถ้าไม่เคยได้ตั้งคำถามนี้เลย เราก็อาจจะปล่อยให้บทเรียนดีๆ ผ่านไปโดยไม่ทันได้เรียนรู้หรือทบทวนเสียก่อน

รู้ถึงประโยชน์และวิธีการสร้าง Resilience แล้ว ครั้งต่อไปที่เผชิญหน้ากับปัญหาหรือความล้มเหลว อย่าลืมคิดว่าเป็นโอกาสที่ทำให้เราทั้ง “เก่ง” ขึ้นและ “แกร่ง” ขึ้นนะครับ