ประเมินระดับการเรียนรู้ เพื่อป้องกันการสูญเสียการเรียนรู้ ในยุคโควิด-19 สู่แนวทาง “Remote Learning” นวัตกรรมการเรียนการสอนแห่งอนาคต

ประเมินระดับการเรียนรู้ เพื่อป้องกันการสูญเสียการเรียนรู้ ในยุคโควิด-19 สู่แนวทาง “Remote Learning” นวัตกรรมการเรียนการสอนแห่งอนาคต

ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กทั่วโลกอย่างรุนแรง การปิดโรงเรียนเกือบสองปี ส่งผลโดยตรงต่อเด็กทั่วโลกมากกว่า 1,600 ล้านคน เด็กจำนวนหลายล้านคนมีความเสี่ยงจะไม่ได้กลับมาเรียน ซึ่งคำแถลง การณ์ร่วมระหว่างองค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ และธนาคารโลกในปี 2565 ถึงสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงนี้ไว้ว่า ทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กๆ ได้สะสมไว้กำลังหายไป เด็กๆ ลืมวิธีการอ่านและเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร เด็กเล็กในเกือบทุกประเทศซึ่งกำลังจะเริ่มเข้าเรียนต่างไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะเหล่านี้เลย เนื่องจากการศึกษาปฐมวัยที่ขาดหายไป

โดยปัญหาเหล่านี้นักวิชาการด้านการศึกษาไทย ได้นำมาพูดคุยในหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อป้องกันการสูญเสียการเรียนรู้ (learning loss) และการเพิ่มการเรียนรู้ (learning gain)” เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ในงานเสวนาออนไลน์ที่จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักธรรมศาสตร์และการเมืองราชบัณฑิตยสภา ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่เป็นทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน ได้ชี้แนะเรื่อง “การประเมินระดับการเรียนรู้ก่อนเปิดเรียน” และ “remote learning” สู่หนทางออกของปัญหาไว้อย่างน่าขบคิดตาม

ประเมินระดับการเรียนรู้ เพื่อป้องกันการสูญเสียการเรียนรู้

เด็กนักเรียนที่ต้องหยุดเรียนเพราะการระบาดของโควิด-19 มีอยู่หลายกลุ่มและมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้นการประเมินจะนำมาสู่การจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องเหมาะสมกับเด็กนักเรียน ดังเช่นการปรับหลักสูตรในปีการศึกษา 2565 ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ รศ.ดร.ดารณี เป็นผู้บริหารอยู่ ได้ให้เด็กนักเรียนมาเตรียมความพร้อมทำกิจกรรมกลุ่มก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านวิชาการ ทักษะการอยู่ร่วมกัน ทักษะทางอารมณ์ ทักษะการเข้าสังคม ทักษะการช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น ซึ่งสูญเสียไปตอนปิดโรงเรียน รวมถึงให้ครูผู้สอนได้สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนตัวเองว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมการเรียนการสอน

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

“เราไม่ได้ประเมินแค่ทักษะวิชาการ เราประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ การดูแลตัวเองการช่วยเหลือตัวเอง เมื่อเด็กมาเรียนตามปกติแล้ว โปรแกรมการฟื้นฟูยังมีความสำคัญอยู่ ตอนนี้เราเปิดโรงเรียนเต็มที่ แต่เราบ่งชี้เด็กเป็นรายบุคคล ว่าเด็กคนไหนต้องการการสนับสนุนทางด้านไหน เด็กบกพร่องทางด้านอะไร เราจะต้องเติมเต็มในด้านไหน จะต้องดูเด็กเป็นรายบุคคล มาตรการการฟื้นฟูการสูญเสียการเรียนรู้ ถ้าเราไม่ทำ ถึงแม้ว่ากลับมาเรียนแล้วก็จะยังมีอยู่ อันนี้เป็นเรื่องด่วนในปีการศึกษานี้ที่ต้องทำเต็มที่”

“Remote Learning” นวัตกรรมการเรียนการสอนแห่งอนาคต

รศ.ดร.ดารณี บอกเล่าถึงประโยชน์ของการเรียนระยะไกลหรือ remote learning ว่า จะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง สำเร็จการศึกษาได้ตามกำหนดเวลา พัฒนาความฉลาดรู้ด้านดิจิทัล และมีความเป็นผู้นำตนเองในการเรียนรู้ในอนาคต ซึ่งเป็นแนวคิดที่อยากจะนำเสนอให้ทุกโรงเรียนควรเตรียมความพร้อม เพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะเข้ามาทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิดดีขึ้น โดย remote learning เป็นได้ทั้งแบบประสานเวลา และไม่ประสานเวลา

“ประสานเวลาคือ เรานัดเวลา อย่างที่เราจัดการเรียนการสอน เรามีตารางให้ผู้ปกครองว่าวันนี้เราเรียนออนไลน์มาตรงนี้ แต่ไม่ประสานเวลาคือ ครูเอาไปแขวนไว้ในแอปพลิเคชั่นเรียนได้ตามเมื่อคุณสะดวก ไปได้ทุกพื้นที่ ออฟไลน์ก็ได้ ออนไลน์ก็ได้ เพราะฉะนั้นการ remote learning เปิดโอกาสให้ผู้เรียนผู้สอนมีส่วนร่วมแม้กระทั่งการออกแบบการเรียนรู้”

สุดท้าย องค์ประกอบสำคัญของ remote learning คือ ต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจน สื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าช่วงไหนเป็นประสานเวลา ช่วงไหนไม่ประสานเวลา เทคโนโลยีที่มีความจำเป็นที่ต้องมีความพร้อมเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน และสำคัญสุดคือการออกแบบบทเรียน เพื่อที่จะตอบสนองต่อผู้เรียนตามระดับความสามารถ ตามระดับกลุ่ม ตามศักยภาพ ลีลาการเรียนรู้ และปัญหาของเด็ก ทั้งหมดเหล่านี้ต้องประสานกัน เพื่อทำให้การเรียนมีประสิทธิผล