เทคโนโลยี ฐานข้อมูลที่ดี พัฒนาศักยภาพของครู การสนับสนุนจากรัฐ 4 ปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา

เทคโนโลยี ฐานข้อมูลที่ดี พัฒนาศักยภาพของครู การสนับสนุนจากรัฐ 4 ปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา

“งานประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ประเทศไทย

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร
ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดร.กฤษณพงศ์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นและทิศทางการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า การศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นประโยชน์สาธารณะ 

เส้นทางของ “การศึกษาเพื่อปวงชน” สู่ “ปวงชนเพื่อการศึกษา” เริ่มขึ้นต้นในปี 2533 ในประเทศไทย ณ งานประชุมระดับโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชนที่ประเทศไทย 

30 ปีต่อมาในปี 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ยูนิเซฟ ยูเนสโก และองค์การช่วยเหลือเด็ก ได้จัดงานประชุมออนไลน์วิชาการนานาชาติเพื่อแสดงความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “ปวงชนเพื่อการศึกษา” เพื่อทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในสามทศวรรษที่ผ่านมานี้ และระบุสิ่งที่ต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการศึกษาที่ครอบคลุมและเท่าเทียมภายในปี 2573 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เกือบ 2,500 คนจาก 79 ประเทศทั่วโลก

“ทุกภาคส่วนได้ระบุว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ในการสร้างความมั่นใจด้านการเรียนที่มีคุณภาพคือ “ครู” เนื่องจากครูเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง และมีบทบาทในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา แต่กลับถูกลดบทบาทและไม่ได้รับการสนับสนุนให้ส่งเสริมการศึกษาอย่างเสมอภาค” ดร.กฤษณพงศ์กล่าว

ดร.กฤษณพงศ์ชี้ว่าโควิด-19 ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเชิงนวัตกรรมเพื่อช่วยลดช่องว่างดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสที่จะตั้งค่าการศึกษาใหม่ ปรับวิธีคิดเพื่อให้เด็กและเยาวชนกลับคืนสู่สภาพการเรียนรู้ปกติ รับมือกับการสูญเสียทักษะ ทั้งยังต้องจัดให้มีทักษะจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ชุมชน พร้อมเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถสำหรับประเทศของตนเอง และเป็นพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบ 

“การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้ สามารถทำได้โดยการสนับสนุนครู เพราะครูมีความสำคัญต่อ New Normal ของการสอนและการเรียนรู้ อีกทั้งเราต้องการครูที่มีคุณภาพ สามารถมองเห็นความต้องการของนักเรียน ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และทุ่มสุดตัวเพื่อนักเรียน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในช่วงปลายปีที่ผ่านมา”

สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

ศาสตราจารย์ฮวน มิเกล ลูซ
นักวิเคราะห์นโยบายและอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

กล่าวว่า มีการให้คำนิยาม “ความเสมอภาคทางการศึกษา” ซึ่งมีเรื่องน่าเป็นห่วง 7 ประการดังนี้

1. การขยายการเข้าถึง (Expanding access)
2. การนับรวมกลุ่มทุกคนและความเสมอภาค (Inclusion and equality)
3. ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender equality)
4. การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality education)
5. โอกาสในการเรียนรู้อย่างยั่งยืน (Lifelong learning opportunities)
6. เด็กในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง (Children in conflict areas and difficult situations)
7. สถานการณ์ยากลำบากและความปรารถนาในระดับโลก (Global aspirations: Increased public spending for (basis) education)

จากข้อมูลพบว่าครูต้องต่อสู้กับอุปสรรคและความท้าทายของระบบการศึกษา ดังต่อไปนี้

1. ความสามารถในการเข้าถึง ครูจากประเทศมาเลเซียที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีกล่าวว่า ประชาชนยากจนที่สุด 40% สามารถเข้าถึงทรัพยากรการศึกษาได้น้อยกว่าคนรวยถึง 20% เงินบริจาคจึงมีส่วนสำคัญในการทำให้ระบบการศึกษาดีขึ้น 

2. คุณภาพของครู  ในประเทศบรูไน ครูจำนวนมากไม่ได้รับการอบรมเรื่องการดูแลเด็กพิการ ส่วนประเทศมาเลเซีย พบว่าครูจำนวนมากไม่อยากสอนในพื้นที่ห่างไกล

3. บรรยากาศในห้องเรียน  เนื่องจากโรงเรียนพยายามรับเด็กให้ได้เยอะที่สุด ห้องเรียนจึงต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ยากที่ครูจะสนใจเด็กได้อย่างทั่วถึง ในขณะเดียวกันครูเองก็ต้องพยายามปรับวิธีการสอนให้ตรงกับความต้องการที่หลากหลายของเด็ก

4. สถานการณ์ของผู้เรียน นักเรียนในห้องมีความสามารถหรือพื้นฐานที่ต่างระดับกัน ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีการสอนแบบดั้งเดิมได้ และเป็นเรื่องยากที่จะสอนเด็กพื้นฐานอ่อนหรือเด็กพิเศษ ด้วยวิธีเดียวกับเด็กทั่วไป 

5. สถานการณ์ของครอบครัว วิกฤตครอบครัวทำให้เด็กไม่สามารถไปเรียนอย่างสม่ำเสมอได้ หรือหากไปเรียนก็ไม่สามารถตั้งใจเรียนได้

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำให้ครูและนักเรียนบางคนไม่สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนได้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ระยะไกลหรือการเรียนรู้แบบผสมผสาน ทั้งชนชั้นทางสังคมที่ทำให้ความช่วยเหลือกระจายอย่างไม่ทั่วถึง เช่น เด็กในเมืองใหญ่ได้รับเงินบริจาคมากกว่าเด็กในชนบท เป็นต้น

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับว่าเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันด้านรายได้ โดยจะเห็นชัดเจนว่าประเทศที่มีรายได้สูงจะสามารถบรรลุการพัฒนาเป้าหมายที่ยั่งยืน (SDG) ได้ง่ายมาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังประสบปัญหาหรือพบกับความท้าทายอยู่ สถานการณ์ของความเสมอภาคทางการศึกษาจึงแปรผันตรงกับรายได้ของประเทศด้วย”

ราชอาณาจักรกัมพูชา

ดร.คานน์ พูที
ผู้อำนวยการกรมการศึกษา (ประถมศึกษา) กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา

กล่าวว่า ประเทศกัมพูชามีการปิดและเปิดโรงเรียนหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก ในช่วงที่ปิดโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬา ได้เร่งนโยบายเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาในกัมพูชา 

มีการพัฒนาเนื้อหาการสอนออนไลน์ เครื่องมือสำหรับการศึกษาทางไกล และจัดทำวิดีโอกว่า 5,000 เรื่อง ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.6 ในภาษาที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ พร้อมได้ช่วยเหลือนักเรียนกว่า 2,000 คน ที่ไม่สามารถเข้าเรียนออนไลน์ได้ มีการจัดการเรียนแบบกลุ่มเล็กผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงดร. คานน์ยังกล่าวถึงประเด็นการพัฒนาอาชีพครูไว้ว่า “ครูเป็นตัวแปรสำคัญของการศึกษา ดังนั้นจึงต้องมีการอบรมครูเพื่อให้ครูสามารถปรับการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กด้วยเช่นกัน”

ประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม

ดร.นาซีราห์ อับดุลลาห์ ทีโอ
หัวหน้าฝ่ายวิจัยและวางแผน สำนักยุทธศาสตร์ การพัฒนาและการวิจัย กระทรวงศึกษาธิการ

กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานการเข้าถึงเทคโนโลยีส่งผลให้เด็กมีข้อจำกัดทางการศึกษา และยังชี้ว่าหลายประเทศเผชิญกับการต้องปิดโรงเรียนและเปลี่ยนไปเรียนที่บ้านเป็นหลักเช่นเดียวกับประเทศบรูไน ซึ่งทำให้ครูและนักเรียนต้องใช้แพลตฟอร์มที่ต่างจากการเรียนปกติ โดยเฉพาะการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ จากการระบาดในรอบแรก พบว่าครูกว่า 54% ยังไม่พร้อมที่จะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการสอน และมีอีก 31% โดยประมาณที่บอกว่าการสอนออนไลน์นั้นง่าย อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่พบว่าครูไม่สามารถทำให้นักเรียนปฏิบัติตามที่ตนต้องการได้ ทั้งนี้ยังพบว่าเด็กนักเรียนไม่มีอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ ยังไม่รวมถึงปัญหาเด็กพิเศษที่ต้องการรูปแบบการเรียนที่ต่างออกไป ในขณะเดียวกันข้อจำกัดของบ้านที่อาจมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะต่อการเรียนก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง 

         “เรื่องความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางการศึกษาเริ่มเข้ามาเป็นศูนย์กลางความสนใจของกระทรวงศึกษาธิการของบรูไน และถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของกระทรวง ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบในภาพรวม ที่ทำให้แน่ใจว่าสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เมื่อโควิด-19 ระบาด คำมั่นสัญญาที่จะมอบความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางการศึกษาได้ถูกทดสอบอย่างแท้จริง” 

สำหรับประเทศกัมพูชาและบรูไนได้มีมาตรการรองรับสำหรับโรงเรียน ครู และนักเรียน ให้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยการสนับสนุนทั้งอุปกรณ์ การให้ความรู้ และพัฒนาระบบแหล่งเรียนรู้ เช่น รัฐบาลกัมพูชาสนับสนุนการตั้งศูนย์เก็บข้อมูลความรู้ออนไลน์และดิจิทัลคอนเทนต์ มีการพัฒนาแอปพลิเคชันของกระทรวงศึกษาธิการ อัปโหลดเนื้อหาการเรียนออนไลน์ลงใน Facebook และ YouTube นอกจากนี้ยังผลักดันให้ครูได้ฉีดวัคซีนครบสองหรือสามเข็ม และนักเรียนในวัย 12-17 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนกว่า 90% กระทรวงศึกษาธิการยังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายส่งมอบชุดการเรียนรู้ (home-learning package) ให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1-ป.2 กว่า 750,000 คน 

ด้านกระทรวงศึกษาธิการของประเทศบรูไน ก็ได้จัดส่งอาหารและชุดอุปกรณ์การเรียนทางไกลให้กับนักเรียนยากไร้ และปรับเปลี่ยนแหล่งเรียนรู้และสื่อการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังมีการจัดการสอนผ่านโทรทัศน์และอัปโหลดเนื้อหาต่างๆ ลงในแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งยังประเมินความสามารถของครูและฝึกอบรมให้พร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงอีกด้วย 

ในช่วงระบาดของโควิด-19 นั้น มีหลายสิ่งที่ทำให้ประเทศบรูไนต้องให้ความสำคัญกับฐานข้อมูล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถวางแผนเป้าหมายเพื่อการศึกษาที่เป็นไปตามมาตรฐานที่วางไว้ได้ เช่น อัตราการเรียนการสอน การศึกษา การอ่านเขียนต่างๆ นอกจากนี้ยังมีฐานข้อมูลนักเรียนด้อยโอกาสทั่วประเทศเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ประเทศมาเลเซีย

ดาโต๊ะ ดร.ฮาจิ อัซฮาร์ ฮาจิ อามัด
ผู้อำนวยการกองวิชาชีพครู กระทรวงศึกษาธิการ

“ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ครูได้รับความท้าทายเป็นอย่างมากในการจัดการสอนสำหรับนักเรียนที่มีพื้นฐานและภูมิภาคแตกต่างกัน ดังนั้นทางรัฐบาลมาเลเซียจึงพัฒนาบทเรียนที่มีบ้านเป็นศูนย์กลาง (Home-based learning) เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนยังสามารถเข้าถึงการศึกษาต่อไปได้ โดยเน้นให้บ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยอ้างอิงจากความเหมาะสมและความสะดวกสบายของครูและนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์ ออฟไลน์ หรือนอกสถานที่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับครูในการถ่ายทอดบทเรียน นอกจากนี้ยังมีการแจกแล็ปท็อปแก่นักเรียนยากจนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล” 

สำหรับนักเรียนกลุ่มชนพื้นเมืองในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงร่วมมือกับผู้นำชุมชนในการรวบรวมอุปกรณ์เกี่ยวกับการศึกษาสำหรับเด็กและส่งให้กับครูในโรงเรียน จึงทำให้แน่ใจว่าเด็กๆ จะได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะขาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ต 

อีกปัญหาใหญ่สำหรับประเทศมาเลเซียคือความเหลื่อมล้ำทางเพศ เนื่องจากเด็กผู้ชายจากครอบครัวยากจนต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับภาคส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียมัธยม 

ดร.ฮาจิแบ่งบันประสบการณ์การดึงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทห่างไกล โดยทางชุมชนได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการคอยส่งการบ้านที่นักเรียนทำไปให้ครู ในบางพื้นที่มีการจัดการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และการเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด

สาธารณรัฐสิงคโปร์

นายลี ยัน เคิง
ผู้อำนวยการสาขาการพัฒนาวิชาชีพ สถาบันครูแห่งสิงคโปร์

กล่าวว่า ประเทศสิงคโปร์ใช้หลักการเรียนรู้แบบยั่งยืน (Learn for Life Agenda) ซึ่งได้แก่การปรับปรุงหลักสูตรอย่างสม่ำเสมอ ให้การศึกษาที่หลากหลาย พัฒนาคุณภาพในระดับปฐมวัย รวมทั้งสนับสนุนครูให้มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้แน่ใจว่าครูมีความพร้อมสำหรับอนาคตอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จะต่อยอดไปสู่วิธีสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งแบ่งเป็น 4 ข้อ ดังนี้

1. การขยายคำนิยามของคำว่าประสบความสำเร็จให้กว้างกว่ามิติทางการศึกษา
2. การขยายทางเลือกทางการศึกษา
3. การศึกษาปฐมวัยและการดูแลเด็กปฐมวัยที่ครอบคลุม
4.ระบบคุ้มครองการเลื่อนชั้นทางสังคมและการสร้างความเข้มแข็งของระบบสนับสนุนนักเรียนที่ด้อยโอกาส 

นอกจากนี้ยังมีการยกระดับนักเรียนในการใช้ชีวิตและการสร้างแรงบันดาลใจให้ครอบครัว เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่นักเรียนที่มีภูมิหลังยากลำบาก ให้พวกเขาสามารถไปถึงศักยภาพสูงสุดได้ ซึ่งต้องอาศัยความพยายามร่วมกันระหว่างหลายโรงเรียน ภาคส่วนต่างๆ และส่วนร่วมจากชุมชน โดยเชื่อว่าการเรียนรู้แบบยั่งยืนจะสามารถทำให้นักเรียนดูแลตัวเองได้และพร้อมรับมือกับอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การผลักดันความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและมีความสำคัญมากขึ้น ทางรัฐบาลพยายามทำให้การเปิดเรียนเป็นไปด้วยความปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้การเรียนดำเนินต่อไปโดยไม่ขาดตอน นอกเหนือจากโครงการช่วยเหลือทางการเงินที่มีอยู่แล้ว ยังมีการสนับสนุนเพิ่มเติมด้านอาหารและส่วนลดของการขนส่ง รวมถึงการเยียวยาชั่วคราวได้ถูกมอบให้แก่นักเรียนด้อยโอกาส 

“การระบาดครั้งนี้ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลซึ่งพบในหลายประเทศ รวมถึงประเทศสิงคโปร์ด้วย เราได้มีการเพิ่มบทบัญญัติกฎหมายเพื่อลดช่องว่างนั้น โดยมอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับนักเรียนด้อยโอกาส ด้านครูเองก็ได้รับการเตีรยมความพร้อมสำหรับการควบคุมการเรียนการสอนด้วยเช่นกัน” 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นางน่วมคำ ชาทาบุรี
รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาการศึกษาและกีฬา ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการพยายามของรัฐบาลในการรักษาความเสมอภาคการทางศึกษาในวิกฤตครั้งนี้ คือการให้ความสำคัญกับการขยายขอบเขตเครื่องมือการประเมินในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการสร้างความพร้อมให้บุคลากรและขยายชั้นเรียนเพิ่ม พัฒนาหลักสูตร ส่งมอบหนังสือและคู่มือสำหรับครูให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ 

“แม้เราจะพยายามแก้ไขเยียวยา แต่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นปัญหาสำคัญ สถานการณ์ของเราก็เหมือนประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การดำเนินงานหลายอย่างยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาและความท้าทายตามมาอีกมาก ทั้งนี้ยังพบว่าในปี 2563-2564 มีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาในระดับประถมและมัธยมเพิ่มมากขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่ที่ออกจากระบบการศึกษาเป็นนักเรียนชายที่ต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว” 

สปป.ลาวยังพบปัญหาคล้ายกับประเทศอื่นๆ นั่นคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีในระหว่างการเรียนการสอนที่บ้าน เมื่อเปิดเรียนตามปกติก็พบว่าเด็กมีปัญหาเรื่องภาวะถดถอยทางความรู้ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ได้พัฒนานโยบายการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการปรับหลักสูตรให้ปฏิทินการศึกษาสั้นลงเหลือ 80% และใช้เฉพาะบทเรียนหลักในการสอน เพื่อทำให้เนื้อหามีความเข้มข้น ใช้เวลาน้อยลง และทำให้ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม 

“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เรามีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างหลากหลายเพื่อให้ทางโรงเรียนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้รูปแบบใด ทั้งยังมีการหารือร่วมกับจังหวัด อำเภอ และโรงเรียน เพื่อเฟ้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดกับนักเรียนในท้องถิ่น โดยเฉพาะนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล” 


เรียบเรียงจาก การถ่ายทอดสด “งานประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” 

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564 
ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Page กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)