วิกฤตโควิดที่ ‘PHUKET SANDBOX’ เด็ก 10% ที่หายไปจากระบบการศึกษาพวกเขากำลังทำอะไรอยู่?

วิกฤตโควิดที่ ‘PHUKET SANDBOX’ เด็ก 10% ที่หายไปจากระบบการศึกษาพวกเขากำลังทำอะไรอยู่?

กสศ. ภูเก็ตลุยช่วย #พาน้องกลับโรงเรียน

1

จากสถานะนักดนตรีวงออร์เคสตราของโรงเรียนเอกชนเมื่อเทอมการศึกษาก่อน พลันเปิดภาคเรียนใหม่ที่ผ่านมา ‘น้องอันดา’ ที่ควรได้ขึ้นชั้น ม.1 ในเทอมนี้ กลับต้องเคว้งกลางทาง ไม่ได้เรียนต่อ ส่วนพี่ชายคือ ‘น้องอินดี้’ ที่ผ่านชั้น ป.6 มาด้วยกัน ก็ต้องใช้เวลาในช่วงต้นเทอมการศึกษาใหม่กับการศึกษาออนไลน์ด้วยตัวเองไปพลาง พร้อมตั้งเป้าว่าจะหันไปเรียนในรูปแบบการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่แม่ของเขาแบกรับไม่ไหวอีกอีกต่อไป 

2

คุณจิรกาล ประหวาน คุณแม่ของน้องทั้งสองคนกล่าวว่า ราว 16 เดือนแล้วที่กิจการบ้านเช่าของเธอมีรายได้เป็นศูนย์อย่างต่อเนื่อง หลังการปิดตัวฉับพลันของธุรกิจต่าง ๆ ในอำเภอป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

3

พอไม่มีรายรับเข้ามา แต่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยังเท่าเดิม เงินที่เก็บสะสมไว้ก็ถูกนำออกมาใช้จนหมด ทั้งกินอยู่ประจำวัน รวมถึงค่าใช้จ่ายทางการศึกษาจำพวกเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่ากิจกรรมต่าง ๆ ส่วนค่าเทอมที่เป็นเงินก้อนใหญ่จำเป็นต้องขอติดค้างกับทางโรงเรียนไว้ก่อน พร้อมกับความหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้ จะสามารถฟื้นฟูกิจการและหาเงินมาชำระได้

4

แต่วิกฤตที่ยาวนานข้ามผ่านปีการศึกษาอีกครั้ง พร้อมกับที่น้อง ๆ สองคนได้มาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระดับชั้นจาก ป.6 ขึ้น ม.1 การผัดผ่อนถึงจุดสิ้นสุด คุณจิรกาลต้องเซ็นยอมรับสภาพหนี้กับทางโรงเรียน และพาน้องอินดี้กับอันดาไปหาที่เรียนใหม่ 

5

ปัญหาหลายด้านที่รุมเร้า ทั้งวันเปิดเทอมใหม่ที่ล่วงเลยไปแล้ว ค่าใช้จ่ายมากมายที่ต้องใช้ หรือปัจจัยสำคัญว่าเด็กสองคนยังไม่ได้รับใบ ปพ. (เอกสารรับรองการจบการศึกษาชั้น ป.6) ทั้งคู่จึงยังไม่สามารถเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 ได้ และกลายเป็นเด็กที่อยู่ในสถานะหลุดจากระบบการศึกษาโดยปริยาย

6

ส่วนในอีกทางหนึ่ง คุณขวัญนภา พิรัตน์ คณะกรรมการกลาง โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดภูเก็ต รายงานว่า การขาดหายของนักท่องเที่ยวได้ส่งผลให้ธุรกิจหลายแห่งใน อำเภอป่าตองต้องเลิกกิจการ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงไปถึงยังหลายครอบครัวในพื้นที่ 

7

ตัวอย่างเช่นครอบครัวของเด็ก ๆ 4 คน ที่พ่อกับแม่มีอาชีพเป็นบาร์เทนเดอร์และพนักงานเสิร์ฟ พวกเขาทั้งคู่ถูกเลิกจ้างทันทีที่กิจการต้องปิด ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่วิกฤตเป็นวงกว้าง ย่อมหมายถึงโอกาสในการหางานใหม่ที่แทบไม่มีทางเป็นไปได้

รายได้ที่หดหายไม่เพียงทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องพึ่งพาอาหารจากวัดประทังชีวิต หากบ้านที่อาศัยอยู่ก็ค้างจ่ายค่าเช่าเป็นแรมปี จนเจ้าของบ้านหมดทางอะลุ่มอล่วย และต้องขอให้ย้ายออกโดยเร็วที่สุด ทิ้งไว้เพียงปัญหาที่ยังหาทางออกไม่พบ ว่าทั้งครอบครัวจะเดินต่อไปทางใด

9

พร้อมกับที่เทอมการศึกษาใหม่เปิดขึ้น เด็ก ๆ ที่ประกอบด้วยน้องคนเล็กในวัย 2 ขวบ ซึ่งครบเกณฑ์ต้องเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) แต่ยังไม่สามารถเข้าเรียนได้ กับพี่ ๆ อีก 3 คน ในชั้น ป.4 ม.2 และ ม.3  ที่ยังคงได้ไปโรงเรียนด้วยเงินค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้จากพระที่วัด 

10

อย่างไรก็ตาม เมื่อรายได้ครอบครัวยังคงเป็นศูนย์ ถึงแม้โรงเรียนของเด็ก ๆ จะเป็นโรงเรียนรัฐที่จัดการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ด้วยสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากนานาอันเป็นผลจากวิกฤตโควิด-19 แนวโน้มที่พี่น้องทั้ง 4 จะมีสถานะเป็นเด็กนอกระบบการศึกษากันถ้วนหน้า ก็อาจเป็นภาพที่ใกล้ปรากฏในเร็ววัน

11

ข้อมูลจาก iSEE (ฐานข้อมูลเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ที่ทำให้เห็นหน้างานจริง พบว่าปีการศึกษา 2/2563 จังหวัดภูเก็ตมีนักเรียนทั้งหมด  47,953 คน  เป็นนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษ 1,913 คน คิดเป็น 4.53 % ของนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดภูเก็ต โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทำการสำรวจสถานะของเด็กและเยาวชนในจังหวัดภูเก็ต ในช่วงเปิดเทอมการศึกษาใหม่ที่ผ่านมา และพบว่ามีนักเรียนถึง 10% ที่หายไปจากระบบการศึกษา พร้อมคะเนความเป็นไปได้ว่าก่อนสิ้นสุดเทอมการศึกษาแรกอัตราของเด็กกลุ่มนี้จะเพิ่มสูงขึ้น หากไม่ได้รับการค้นพบและให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

12

คุณอัญชลี วานิช เทพบุตร ประธานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดภูเก็ต และนายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย กล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ได้สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งสะเทือนไปถึงระบบการศึกษา โดยมีเด็กนักเรียนถึง 10% ที่หายไปจากโรงเรียนในวันเปิดเทอม แม้ส่วนหนึ่งในจำนวนนี้คือเด็กที่ต้องติดตามผู้ปกครองซึ่งเป็นกลุ่มประชากรแฝงโยกย้ายออกจากพื้นที่หลังจากไม่มีงานให้ทำ แต่อีกส่วนหนึ่งที่หายไปจากชั้นเรียนอย่างมีนัยสำคัญ คือเด็กและเยาวชนจากครอบครัวที่ประสบปัญหา ‘จนเฉียบพลัน’ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ขณะที่เด็กอีก 90% ในระบบเอง ก็ต้องเผชิญความเสี่ยงกับการต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เนื่องจากครอบครัวหมดกำลังในการส่งเสีย

13

แต่เดิมโครงการมีหน้าที่ค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และอีกส่วนหนึ่งที่มีแนวโน้มหลุดจากระบบด้วยปัญหาความยากจน โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้มีรายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 3, 000 บาท ซึ่งหลังดำเนินโครงการ ได้ช่วยเหลือเด็กจำนวนหนึ่งให้ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพ ส่วนกลุ่มที่มีแนวโน้มหลุดจากระบบก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นรายกรณี เพื่อให้ได้รับการศึกษาต่อไป 

14

แต่หลังการหยุดชะงักของภาคธุรกิจยาวนานเป็นเวลากว่า 1 ปี 4 เดือน ได้เกิดเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสกลุ่มใหม่ที่เรียกว่ากลุ่ม ‘จนเฉียบพลัน’ ซึ่งเกิดจากการขาดรายได้หรือถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 ผู้ปกครองของเด็กหลายครอบครัวจึงตกอยู่ในสถานะไม่มีรายได้ ทำให้การศึกษาของบุตรหลานกลายเป็นภาระที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่แบกรับไม่ไหว

15

โครงการจึงได้วางแผนในการค้นหาเชิงพื้นที่ โดยมีเครือข่ายคณะทำงาน หรือ CM (Case Manager) ที่เป็นมดงานขับเคลื่อนในระดับตำบลและระดับอำเภอ ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงเปิดรับคำปรึกษาผ่านเฟซบุ๊กเพจ กสศ. จังหวัดภูเก็ต จนสามารถพบกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็ว จากนั้นคณะกรรมการกลางจะลงสำรวจซ้ำเพื่อสัมภาษณ์เก็บข้อมูล และมองหาทางช่วยแก้ปัญหาเป็นรายคน

16

“โครงการเราต้องทำงานทุกขั้นตอนแข่งกับเวลา เพราะทุกวันที่ผ่านไปหมายถึงความเสี่ยงที่เด็กคนหนึ่งจะต้องสูญเสียโอกาสในการเรียนไปหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น ส่วนในรายที่หมิ่นเหม่จะหลุดจากระบบ เบื้องต้นก็ต้องหาทางให้เด็กยังได้เรียนต่อไปก่อน นี่คือการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่นกรณีน้องอินดี้กับน้องอันดา เมื่อเราพบว่าเด็กหลุดจากระบบเนื่องจากค้างชำระค่าเทอม และยังไม่มีใบ ปพ. ทางโครงการจึงได้ติดต่อโรงเรียนในเครือข่ายองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนำน้องอันดาเข้าเรียนต่อในโรงเรียนของรัฐในอำเภอ ส่วนน้องอินดี้ที่มีอายุมากกว่าและมีความประสงค์ว่าต้องการเรียน กศน. ทางโครงการจะรับเรื่องมาช่วยดำเนินการ มองหาทางที่เป็นไปได้ และติดตามครอบครัวเด็กอย่างใกล้ชิด

17

“ขณะที่ในครอบครัวของเด็ก 4 คนที่ 3 คนยังอยู่ในระบบการศึกษา ถือเป็นเคสฉุกเฉินที่เราพบมากที่สุด อย่างแรกเมื่อทราบเรื่องก็ต้องรีบหาทางพยุงให้เด็กได้เรียนต่อไป ระยะสั้นคือติดต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการอนุมัติเงินบริจาคช่วยเหลือเรื่องเสื้อผ้ารองเท้าอุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายสำหรับเดินทางและค่ากินอยู่ต่าง ๆ ขณะที่ในกรณีอย่างน้องคนเล็กสุดที่มีอายุ 2 ขวบ ทางโครงการ ได้ช่วยส่งต่อเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้เป็นที่เรียบร้อย 

18

“ส่วนในระยะยาวเราต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้แต่ละครอบครัวสามารถไปต่อได้ ถึงวันนี้ที่ภูเก็ตมีแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยว (Phuket Sandbox) ที่เริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อถึงช่วงปลายปี 2564 เข้าสู่ต้นปี 2565 เมื่อเศรษฐกิจขับเคลื่อนอีกครั้ง ธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเปิดดำเนินการได้เป็นปกติ สถานการณ์ของหลายครอบครัวอาจจะดีขึ้น แต่ในตอนนี้สภาพของแต่ละเคสที่เราพบเหมือนกับเขาจมอยู่ในน้ำ สิ่งที่เราต้องทำคือการกู้ชีพให้สัญญาณชีวิตของเขากลับมาก่อน อย่างน้อยที่สุดจนกว่าจะผ่านเทอมนี้ หรือปีการศึกษานี้ไปได้ ซึ่งทีมมดงานหรือ CM ของเราจะยังคงระดมทีมค้นหา และคอยเฝ้าติดตามแต่ละเคสไปตลอด จนกว่าผู้ปกครองของเด็ก ๆ จะกลับมามีงานมีอาชีพ มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวและดูแลการศึกษาของบุตรหลานได้อีกครั้ง”