NEET คือใคร ทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ (Foundation Skill)

NEET คือใคร ทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ (Foundation Skill)

ปี 2563 ประเทศไทยมีเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา จ้างงาน ฯลฯ มากถึง 1.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14 ของเยาวชนไทย

ถ้าเด็กเยาวชนนอกการศึกษากลุ่มนี้ไม่เข้าสู่กระบวนการพัฒนา จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ 

เราเรียกเยาวชนอายุ 15-24 ปีที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม พัฒนาใดๆ กลุ่มนี้ว่า NEET หรือ Youth not in education , employment , or training

ประเด็นสำคัญนี้ถูกพูดถึงใน ‘เวทีนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่’ ที่จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

ไม่ใช่แค่เวทีพูดคุยแต่ความร่วมมือของสี่องค์กรนี้ ก่อให้เกิด “การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย” เป็นครั้งแรก จนเป็นที่มาของวาระเร่งด่วนและสำคัญว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งก็คือ NEET นั่นเอง 

“เราจำเป็นต้องค้นหาและพาเด็กเยาวชนกลุ่มนี้กลับเข้าสู่การพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในหรือนอกระบบการทำงาน” ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

  1. ความสามารถอ่านเขียน (Literacy Skill)
  2. ความสามารถในการเข้าใจและจัดการข้อมูล ICT (Digital Skill)
  3. ทักษะทางอารมณ์สังคม (Socio-Emotional Skill)

แต่จะทำได้อย่างไร Visual Note “Neet คือใคร” มีคำตอบ

NEET คือใคร

NEET หรือ Youth not in education , employment , or training หมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปีที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม พัฒนาใดๆ ถือเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ 

ในปี 2563 ประเทศไทยมี NEET มากถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 10 ของประชากรฐานภาษี และคิดเป็นร้อยละ 14 ของเยาวชนไทย จากผลวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย’ (Adult Skills Assessment in Thailand) ที่เป็นความร่วมมือของกสศ. ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นการสำรวจครั้งแรกในเยาวชนและประชากรวัยแรงงานวัย 15-64 ปี

ในจำนวน ร้อยละ 65  เป็นเพศหญิง โดยมีปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นสาเหตุสำคัญ 

ยูเนสโกประมาณการว่า ถ้าเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ไม่เข้าสู่กระบวนการพัฒนา ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่าสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ

สถานการณ์ปัจจุบัน แรงงานกึ่งไร้ฝีมือมีมากกว่า 16 ล้านคน

ผลสำรวจชุดเดียวกัน พบว่าประชากรวัยแรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต่ำกว่า มีจำนวนกว่า 16.1 ล้านคน แม้จะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบ ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ จึงต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคม

“แรงงานกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาจากการเป็นแรงงานไร้ฝีมือไปสู่การเป็นแรงงานฝีมือดี ซึ่งเป็นการลงทุนของประเทศที่คุ้มค่า เพราะเยาวชนหรือประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-25 ปีกลุ่มนี้ เขาจะอยู่ในตลาดแรงงานไปอีกอย่างน้อย 30 ปีหรือมากกว่านั้น และถ้าเราลงทุนกับกลุ่มเป้าหมายตอนนี้ โอกาสที่ดอกผลจะคืนกลับมาที่ตัวของเขาและสังคมไทย จะยิ่งมีมากขึ้นในวันข้างหน้า การจ้างงานของแรงงานกลุ่มนี้เราสามารถ upskill reskill ได้” ดร.ไกรยส ภัทราวาส 

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ให้เห็นถึงการลงทุนที่คุ้มค่า

อ่านเขียน ดิจิทัล และอารมณ์สังคม 3 ทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่

โคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก เผยว่าทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ (Foundational Skill) แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ความสามารถอ่านเขียน (Literacy Skill) 2.ความสามารถในการเข้าใจและจัดการข้อมูล ICT (Digital Skill )และ 3.ทักษะทางอารมณ์สังคม (Socio-Emotional Skill )

“พลังของทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ คือการพัฒนาตนเองเป็นลำดับขั้น เริ่มจากขั้นแรกซึ่งเป็นทักษะการอ่านออกเขียนได้ไปสู่กลไกความก้าวหน้าขั้นต่อ ๆ ไป ส่วนทักษะดิจิทัลคือการต่อยอดความอยากรู้ ความเข้าใจข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ สามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ต่อยอดพัฒนาชีวิตตนเองให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการทำงานจนเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจนผลักดันตนเองไปสู่การจ้างงานที่มีรายได้สูงขึ้น” 

ส่วนทักษะทางอารมณ์และสังคม โคจิ มิยาโมโตะอธิบายว่าคือความสามารถในการทำความเข้าใจและอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เข้าใจตนเอง เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือคนอื่น ๆ ได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ 

“นอกจากนี้ยังส่งผลด้านการดูแลตนเองในวิถีชีวิตและพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ลดภาระบุคลากรและงบประมาณการดูแลของภาครัฐ รวมถึงเป็นพลเมืองที่ไม่ก่อปัญหาให้สังคม”

มีงานทำ สุขภาพดี ดูแลตัวเองได้ จึงจะพร้อมพัฒนาทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่

“เพราะ‘คน’ เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ถ้าแต่ละคนมีงานทำ มีสุขภาพดี ดูแลตนเองได้ เขาจะพร้อมดำรงชีวิตบนความเปลี่ยนแปลง สามารถพาตัวไปหาโอกาส บริหารจัดการความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่สะท้อนกลับมาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อคนคนหนึ่งหรือครอบครัวเท่านั้น หากยังสะท้อนไปถึงตลาดแรงงานของประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชาติ”

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ทักษะพื้นฐานของแรงงานจะยังไม่อยู่ในมาตรฐานตามคาดหวัง ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแรงงานไม่ได้เติมเต็มทักษะพื้นฐานเท่าที่ควร ดังนั้นหลักสูตรการพัฒนาอาชีพต้องให้ความสำคัญกับทักษะขั้นพื้นฐาน

“ทักษะขั้นพื้นฐานไม่ได้สำคัญกับการจ้างงานแค่เฉพาะสายอาชีพเท่านั้น แต่เป็นงานทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญในขั้นนโยบายกับทักษะพื้นฐานตั้งแต่ขั้นปฐมวัยอย่างครอบคลุม เป็น Learning for All และทำโดยเร็ว เพราะว่าทักษะพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสะสมและมีความเฉพาะตัว ยิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น”

ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ผลิตคนที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

กสศ.มีโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน (ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน) ที่มุ่งส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ให้พ้นวิกฤติ ช่วยยกระดับทักษะ มีแผนประกอบอาชีพของตนเองและมีรายได้ตามความถนัดและพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ 

ผ่านหน่วยพัฒนาอาชีพ 117 แห่ง ทั่วประเทศ จำนวนไม่น้อยกว่า 8,503 คน ผ่านอาชีพต่างๆ อาทิ เกตรกรรม,การแปรรูป,หัตถกรรมและงานฝีมือ,อาหาร,ผู้ประกอบการ,การบริการและการท่องเที่ยว,การจัดจำหน่ายสินค้าเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้มีรายได้น้อย,งานช่าง,การใช้เทคโนโลยีในการส่วนร่วมของผู้ด้อยโอกาส,การจ้างานผู้ด้อยโอกาสและผู้มีรายได้น้อย, การจัดการข้อมูล,การพัฒนาหลักสูตร-อบรม, การขายออนไลน์,ดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรม ฯลฯ 

ผลที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มเยาวชนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ทัศนคติ ทักษะแรงงาน และพฤติกรรม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ที่สำคัญเกิดการพัฒนาทักษะอาชีพ upskill reskill ที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเยาวชน 

ที่มา : ‘เวทีนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่’
รับชมเสวนาย้อนหลัง : การประชุมเวทีนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่ หัวข้อ ปลดล็อคความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษาผ่านการพัฒนา “ทักษะพื้นฐานของการทำงานในโลกยุคใหม่”