ชุดการเรียนรู้เคลื่อนที่ ‘นวัตกรรมแห่งปี’ ช่วยปิดช่องว่างการศึกษายุคโควิด-19

ชุดการเรียนรู้เคลื่อนที่ ‘นวัตกรรมแห่งปี’ ช่วยปิดช่องว่างการศึกษายุคโควิด-19

“ชุดการเรียนรู้เคลื่อนที่คือการเปิดโอกาสให้การศึกษาเดินทางออกไปพ้นจากห้องเรียน ทำให้เด็กเรียนรู้ได้จากที่บ้านหรือที่ใดๆ ก็ตามที่เขาพร้อม สิ่งที่สำคัญคือ​ เราต้องเพิ่มสมรรถนะครูและโรงเรียนให้ออกแบบชุดการเรียนรู้ที่เด็กนำไปต่อยอดกับสภาพแวดล้อมรอบตัวของเขาได้ นี่คือสิ่งที่วิกฤตเข้ามากระตุ้นเราให้ตระหนัก และพร้อมขยับไปตามทิศทางของระบบการศึกษาในโลกปัจจุบัน”
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร
ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม

ปรากฏการณ์ ‘โรงเรียนปิด’ ด้วยผลกระทบของโควิด-19 เป็นเวลาเกือบสองปี ได้สะเทือนถึงการจัดการศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศ จนต้องมีการนำรูปแบบวิธีการต่างๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเรียนผ่านระบบออนไลน์ การจัดห้องเรียนแบบจำกัดพื้นที่-กำหนดจำนวนผู้เรียน (ออนไซต์/ออนดีมานด์) ภายใต้มาตรการรักษาระยะห่างในบางพื้นที่ หรืออีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายคือ​ การมอบหมายใบงานและใบความรู้ให้เด็กๆ กลับไปเรียนรู้ที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ทุกวิธีการที่กล่าวก็ยังไม่อาจเติมเต็ม ‘ช่องว่างการเรียนรู้’ (Learning Gap) หรือ ‘ฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอย’ (Learning Lost) ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยพื้นฐานของผู้เรียน ตลอดจนบริบทรายรอบนั้นห่มคลุมไว้ด้วยปัญหาจากความแตกต่างเหลื่อมล้ำ นำมาซึ่งคำถามที่ว่า เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะส่งมอบการเรียนรู้ไปให้ถึงเด็กๆ ทุกคนได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพื่อไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับระยะห่างจากการเรียนรู้ ที่อาจมีปลายทางอยู่ที่การ ‘หลุดไปจากระบบการศึกษากลางทาง’ ในวันหนึ่ง

เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตัวเอง ​(TSQP) โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา​ (กสศ.) ได้พยายามค้นหาทางออกผ่านนวัตกรรม ‘ชุดการเรียนรู้เคลื่อนที่’ ที่มีเป้าหมายให้น้องๆ ได้พัฒนาทั้งทักษะวิชาการ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ ไปจนถึงวางรากฐานการสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง อันเป็นทักษะสำคัญของเด็กๆ ในศตวรรษที่ 21 โดยได้ส่งต่อทั้งเครื่องมือและแนวความคิดของการจัดทำชุดการเรียนรู้ไปยังโรงเรียนในเครือข่ายทั่วประเทศ ก่อนจะเกิดการนำไปดัดแปลงใช้งานในรูปแบบต่างๆ และให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจในแง่ของการทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ทุกเวลา

การศึกษาวิถีใหม่ เรียนรู้ผ่านบ้าน ชุมชน ท้องถิ่น
สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กจากนอกรั้วโรงเรียน

รศ.​ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี

รศ.​ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ผู้พัฒนา ‘Black Box’ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การศึกษาที่เปลี่ยนไป เราต้องพัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีการเรียนรู้ใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนสังเคราะห์องค์ความรู้ได้จากปัญหารอบตัว​ หรือเหตุการณ์ในชุมชนของตน โดยจะมีครูเป็นผู้มอบโจทย์และอยู่ในสถานะที่ปรึกษา การเรียนรู้ในลักษณะดังกล่าว ผู้เรียนจะสามารถพัฒนาตนเองได้จากการลงมือทำ เข้าใจที่มาว่าต้องใช้ความรู้จากกลุ่มสาระวิชาใดบ้างมาเป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมาย แล้วผลอีกด้านหนึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าในตัวเองให้กับตัวผู้เรียนด้วย

“หัวใจของชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือสิ่งใดก็ตามที่บรรจุไว้ในนั้น แต่คือแนวคิด ชุดคำถาม การอำนวยความรู้ของครู ผู้ปกครอง คนในชุมชนทุกคนที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจ รู้จักตั้งคำถาม​ และมุ่งมั่นที่จะทดลอง พิสูจน์ ลงมือทำเพื่อหาคำตอบให้ตนเองได้สำเร็จ”

“วิธีการนี้ทำให้ผู้เรียนเป็นอิสระจากผู้สอน ช่วยลดช่องว่างของภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ เนื่องจากเด็กเรียนด้วยตัวเองได้ตลอดเวลาผ่านการทำชิ้นงาน โดยครูจะมีหน้าที่ติดตามผล ส่งเสริม เสนอแนะ และประเมินผล อีกทั้งชุดคำถามในโครงงานต่างๆ ยังเน้นเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม การพัฒนาตนเอง ครอบครัว และท้องถิ่น ทำให้ผู้ปกครองสามารถเป็นที่ปรึกษาและเรียนรู้ไปพร้อมเด็กๆ ได้ด้วย”

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ผู้พัฒนากล่องแห่งการเรียนรู้ ‘Learning Box’ มาใช้กับโรงเรียนเครือข่ายในช่วงโควิด-19 กล่าวว่า การปรับรูปแบบการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ต้องคำนึงถึงความพร้อมของเด็กในเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่เรียน และผู้ปกครอง เพื่อออกแบบวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงชั้น และแต่ละความพร้อมของเด็กแต่ละกลุ่ม

“ในการออกแบบสื่อการเรียนรู้ ‘Learning Box’ ก็เช่นกัน ที่เราแบ่งตามระดับชั้น โดยในชุดการเรียนรู้จะประกอบด้วยชุดบทเรียน อุปกรณ์การเรียน และเครื่องมือช่วยผู้ปกครองให้สามารถพาเด็กๆ ทำกิจกรรม เช่น ในชั้นอนุบาลเราเน้นเสริมพัฒนาการ ทักษะชีวิต โภชนาการ ดึงผู้ปกครองเข้ามาช่วยประเมินผลจากชุดเกม บัตรคำ ซึ่งเราออกแบบให้เรียนรู้บทเรียนได้เป็นรายสัปดาห์ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับชุมชนผ่านครูในพื้นที่ ผู้ปกครอง หรือนักเรียนรุ่นพี่ ให้เป็นผู้ช่วยแนะนำการเรียนรู้ได้อีกด้วย หมายถึงสื่อการเรียนรู้ในมือเด็กๆ คือการสร้างการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ให้เด็กตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อมรอบตัว อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างพื้นฐานเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการวางระบบการศึกษายุคใหม่ ที่เด็กจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยครูทำหน้าที่ออกแบบวิธีการและให้คำปรึกษาอยู่ไกล ๆ”

รวมวาทะผู้ใช้งาน ‘ชุดการเรียนรู้’ ที่ช่วยลดช่องว่างเด็กตกหล่นเรียนออนไลน์
พิสูจน์ด้วยคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

มินตรา กะลินตา หัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนวัดบ้านไร่ (ประชานุกูล) จังหวัดสมุทรสาคร เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง  เล่าว่า เด็กที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ถ้าเราให้ใบงานเพียงอย่างเดียว​ นานวันเข้าเด็กจะหมดความสนใจ เพราะเขาเรียนไม่เข้าใจ เราจึงนำนวัตกรรม Learning Box มาปรับใช้ในแต่ละรายวิชา ให้นักเรียนได้ลงมือทำ ได้ประดิษฐ์ ได้ทดลองจากอุปกรณ์ในกล่องการเรียนรู้ โดยผลทดสอบระดับชาติในปีการศึกษาที่ผ่านมา ทั้ง RT ป.1 NT ป.3 และ O-NET ป.6 ยืนยันได้ว่าการจัดการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรม Learning Box ได้ผลจริงๆ จากผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนทุกรายวิชา ทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือวิทยาศาสตร์ ที่สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทั้งหมด”

มุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว จังหวัดเชียงใหม่

มุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านปลาดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เด็กที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์มีถึง 80% เราใช้ ‘Learning Box’ มาช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากเรื่องราวและสิ่งต่างๆ รอบตัว ได้พัฒนาทักษะชีวิต ทักษะความรู้ ได้ทำกิจกรรมอ่านเขียน คำนวณ เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ หรือในเด็กอนุบาล เราจะมีครูลงพื้นที่สอนในชุมชนครั้งละ 7-8 คน เหล่านี้คือความพยายามในการหาพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้มากที่สุด

ชำนาญ สังข์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิลามูล จังหวัดนครปฐม

ชำนาญ สังข์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศิลามูล จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า เนื่องจากนครปฐมเป็นพื้นที่สีแดง โรงเรียนสำรวจพบเด็กที่ขาดความพร้อมในการเรียนออนไลน์ถึง 70% ซึ่งแม้จะได้รับการสนับสนุนซิมโทรศัพท์มือถือไปแล้วก็ยังไม่ครอบคลุมนักเรียนทุกคน ปัญหาคือ เด็กมีภาวะความรู้ถดถอย โดยเฉพาะชั้น ป.1 ที่ยังมีทักษะการอ่านน้อย การเรียนรู้ด้วยตนเองทำได้ยาก จึงนำนวัตกรรมกล่องการเรียนรู้มาใช้แทนการเรียนออนไลน์ โดยครูจะวิเคราะห์หน่วยการเรียนรู้ทั้ง 8 หน่วยสาระ เจาะลึกหน่วยที่จำเป็นคือสิ่งที่ ‘ต้องรู้’ ก่อน แล้วเสริมสิ่งที่ ‘ควรรู้’ เพิ่มเข้าไป และออกแบบ Booklet ใบความรู้ ใบงาน เพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยครูจะเป็นโค้ชช่วยผู้ปกครองให้สามารถทำหน้าที่เป็นครูจากที่บ้านได้ วิธีการนี้ช่วยลดช่องว่างได้เป็นอย่างดีในช่วงวิกฤต จากการติดตามผลพบว่านักเรียนให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม มีความสุขในการใช้กล่องการเรียนรู้ และผู้ปกครอง 90% พอใจกับการจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ไม่ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ต

ดร.สุนิสา คงสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนพุดซา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ดร.สุนิสา คงสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนพุดซา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โรงเรียนสำรวจพบว่ามีเด็กพร้อมเรียนออนไลน์แค่ 10 % ครูจึงช่วยกันออกแบบ ‘กระเป๋าแดงแห่งการเรียนรู้’ ขึ้นมา ภายในบรรจุด้วยสื่อการสอนที่เป็นสื่อมาตรฐานตั้งต้น แล้วค่อยเพิ่มเติมพัฒนาตามความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ หรือเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ยังพัฒนาครูไปควบคู่กัน เพราะต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้รับกับการสอนที่ไม่เจอตัวเด็ก จึงต้องเขียนแผนการสอน ออกแบบสื่อ Booklet ที่จะไปใส่กระเป๋าแดง และเมื่อเด็กๆ ส่งผลงานกลับมาทุกสิ้นเดือน ครูก็จะตรวจวัดประเมินผลตามตัวชี้วัดและทักษะต่างๆ ที่กำหนดไว้ ผลคือเกิดไอเดียใหม่ๆ ของเด็กที่คิดวางแผนการทำงานผ่านชิ้นงานอยู่เสมอ”

ด.ญ.วราภรณ์​  สิงห์โต​ ชั้นประถมศึกษาปีที่​ 6​  โรงเรียนบ้านอ้อมโรงหีบ​ จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ช่วงที่โรงเรียนปิด ได้รับกล่องการเรียนรู้ที่ กสศ.มอบให้ พบว่ามีกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะอาชีพ มีเครื่องมืออุปกรณ์หลายอย่างมาให้ ได้เรียนรู้แบบผสมผสาน บทเรียนหนึ่งประยุกต์ขึ้นจากหลายวิชา จนสามารถนำมาบูรณาการต่อเป็นพื้นฐานอาชีพที่อยากทดลองทำได้

ผอ.อรอุมา แจ่มเจ็ดริ้ว โรงเรียนบ้านอ้อมโรงหีบ จังหวัดมสุทรสาคร กล่าวว่า ชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ช่วยเปิดโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนได้ค้นคว้า ทดลอง ปฏิบัติด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ผู้ปกครองเป็นที่ปรึกษา ถือว่าเป็นกล่องมหัศจรรย์แห่งการเรียนรู้ เพิ่มทักษะกระบวนการการเรียนและเปิดประสบการณ์ได้อย่างดี โดยหลังจากนี้โรงเรียนจะนำไอเดียชุดการเรียนรู้มาเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนรู้ที่จะช่วยกระจายความเสมอภาคไปถึงนักเรียนทุกช่วงชั้น ในทุกสถานการณ์ แม้ว่าโรงเรียนจะเปิดทำสอนเป็นปกติได้แล้วก็ตาม เพราะเรามองว่าชุดการเรียนรู้นี้สามารถนำมาใช้ในการต่อยอดพัฒนานักเรียนได้เป็นรายคน สร้างบทเรียนเสริมได้ในทุกบริบทของแต่ละคนได้อีกด้วย  

กานตา มาตฤเนตร ผู้ปกครองของเด็กที่ได้รับ ‘ถุงปันยิ้ม’ จาก กสศ.ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19  กล่าวว่า ลูกเรียนออนไลน์มาหลายเดือนแล้ว เราเห็นว่าเขาเครียด กังวล ไม่มีสมาธิ เรามองว่าการเรียนออนไลน์แทบจะไม่ตอบโจทย์ แต่พอได้รับถุงการเรียนรู้ ก็ดีใจที่เห็นลูกดูกระตือรือร้นกับเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ส่งมาในถุง นอกจากนั้น เราคิดว่าเป็นเรื่องของกำลังใจ ซึ่งสำคัญมากในสถานการณ์อย่างนี้ มันทำให้เด็กๆ มีแรงต่อสู้กับโควิด-19 และการศึกษาทางไกลได้ดีขึ้น

และนี่คือ ‘นวัตกรรมการศึกษา’ แห่งปี ที่ กสศ.ได้พัฒนาขึ้น เพื่อส่งความรู้ไปให้ถึงมือน้องๆ ในยามวิกฤต ช่วยฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย และส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย ก่อนจะส่งไปถึงมือเด็กในโรงเรียนและพื้นที่ชุมชนต่างๆ โดยผลลัพธ์ที่ได้จากชุดการเรียนรู้นี้ กสศ.จะนำถอดบทเรียน และสนับสนุนให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษา มาร่วมกันวางกรอบความคิด มองหาสิ่งจำเป็นที่จะบรรจุลงในชุดการเรียนรู้ และสร้างนวัตกรรมการศึกษาที่จะสร้างประโยชน์ในระยะยาวได้ต่อไป