จัดการอย่างไร เมื่อนักเรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
โดย ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี นักจิตวิทยาพัฒนาการ

จัดการอย่างไร เมื่อนักเรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับประชากรทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับทุกคน แม้ว่างานวิจัยหรือข้อมูลส่วนใหญ่จะบ่งชี้ถึงผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กและวัยรุ่นก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในครั้งนี้ไม่น้อยเลยค่ะ

เมื่อเร็วๆ นี้ ฟรานซิสโก อาร์. และคณะ (Francisco R., 2020) ได้ทำการวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเด็กและวัยรุ่นในยุโรปจำนวน 1,480 ครอบครัว จากประเทศอิตาลี สเปน และโปรตุเกส ในช่วงระยะเวลาที่ต้องกักตัวหรือจำกัดพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างสถานการณ์โรคระบาด ว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้เด็กๆ มีการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรม รวมไปถึงอารมณ์สังคมอย่างไรบ้าง 

ผลการสำรวจพบว่า สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด ได้แก่ เด็กๆ ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมไปในเชิงลบ มีการใช้เวลากับหน้าจอเพิ่มมากขึ้น มีเวลาในการทำกิจกรรมทางกายลดลง และใช้เวลาในการนอนทั้งช่วงกลางวันและกลางคืนมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่บ้านเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่องนี้ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กเมื่อกลับมาสู่รั้วโรงเรียน 

ในมุมมองของครูพิมนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้แม้จะเป็นงานวิจัยที่สำรวจจากครอบครัวในยุโรป แต่ก็มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในประเทศไทย และเด็กๆ อีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัยเลยละค่ะ

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงถดถอยหรือในทางจิตวิทยาเรียกว่า Regression นั้น เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้กับเด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ เมื่ออยู่ในช่วงที่สภาวะทางใจไม่มั่นคงหรือมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจ จนทำให้เด็กหรือบุคคลนั้นแสดงพฤติกรรมที่ดูเด็กกว่าช่วงวัย ไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้ด้วยตนเองในช่วงก่อนหน้านี้ เช่น กลับมาพูดภาษาเด็ก ภาษาต่างดาว นอนหลับยากขึ้น (ต้องให้ช่วยกล่อม) เข้าห้องน้ำเองไม่ได้ ปัสสาวะราดตอนนอน มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง หรืออ่อนไหวง่าย สำหรับเด็กในวัยเรียนก็จะมีการแสดงออกถึงความเศร้าจากการไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้เจอครู ไม่ได้ไปโรงเรียน และมีพฤติกรรมหงุดหงิดและวิตกกังวลมากขึ้น

เมื่อต้องกลับเข้าสู่รั้วโรงเรียนอีกครั้ง พฤติกรรมเหล่านี้ก็ยังมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ ไม่ได้กลับเข้าสู่สภาวะเดิมได้โดยทันที จึงเป็นสิ่งที่ครูผู้สอนทุกท่านควรทำความเข้าใจและเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าภารกิจหลักของเรา อาจจะไม่ใช่การนำเข้าสู่บทเรียนทางวิชาการเพื่อให้ “เรียนทัน” แต่ทว่า เป็นการช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถปรับตัวเข้าสู่สภาวะวิถีชีวิตใหม่ในรั้วโรงเรียนได้อย่างราบรื่นมากที่สุดนั่นเองค่ะ 

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กแต่ละช่วงวัย

สำหรับแนวโน้มของพฤติกรรมเด็กที่จะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัยอาจเป็นได้ดังนี้

วัยเตรียมอนุบาล-อนุบาล

ในวัยนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการนอนกลางวัน (นอนยาวขึ้นหรือไม่ยอมนอน) แยกตัวจากเพื่อน ไม่อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรม ไม่อยากแยกจากผู้ปกครอง ร้องไห้คิดถึงบ้านหรือคนในครอบครัวบ่อยครั้งหรือรุนแรงกว่าปกติ และอาจมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความกังวลใจ เช่น ดูดนิ้ว ดึงผม เป็นต้น ซึ่งคุณครูจะมีส่วนช่วยเหลือได้อย่างมาก หากหมั่นสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ได้อย่างทันเวลาค่ะ

วัยประถม

สำหรับเด็กในวัยนี้ การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในลักษณะของการแสดงออกทางอารมณ์สังคมมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมหรือกิจวัตรประจำวัน เช่น หงุดหงิดง่ายขึ้น โกรธง่าย หรือกลับกันคือ เก็บตัว ไม่พูดจา หรือเกาะติดครูจนผิดปกติ ไม่ค่อยเล่นกับเพื่อนหรือทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม

วัยมัธยม

เด็กในวัยนี้มักมีการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะต้องใช้การสังเกตหรือทำความเข้าใจมากขึ้นสักเล็กน้อย เพราะแม้แต่ตัวเด็กเองก็อาจจะไม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงแฝงที่เกิดขึ้นจากความเครียด เช่น การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและสุขภาพ มีพฤติกรรมขาดความรับผิดชอบ มีปากเสียงหรือถกเถียงกับเพื่อนง่ายขึ้น ไม่ค่อยมีสมาธิหรือถูกดึงสมาธิได้ง่าย

ครูจะช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างไรบ้าง

สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียนนั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กในช่วงวัยใดก็ตาม เราสามารถที่จะประยุกต์ใช้แนวทางการในช่วยเหลือได้ดังนี้ค่ะ

1) แสดงความใส่ใจในการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม โดยไม่ใช้การตำหนิหรือลงโทษ

ตัวอย่างการสื่อสาร : “หนูดูไม่ค่อยเหมือนเดิมเลยนะจ๊ะ มีอะไรพอจะให้ครูช่วยได้ไหม”

2) ฟังให้มากขึ้น และพยายามเป็นผู้เปิดบทสนทนา ไม่ละเลยคำพูดหรือความกังวลเล็กๆ น้อยๆ ของนักเรียน

ตัวอย่างการสื่อสาร : “เมื่อกี้หนูบอกว่าหนูเบื่อ หนูเบื่อเรื่องอะไรนะคะ อยากพูดให้ครูฟังไหม”

3) ให้ความใส่ใจกับการเข้าเรียน/ไม่เข้าเรียนของนักเรียน โดยไม่สรุปการขาดเรียนว่าถือเป็นการไม่อยากมาเรียนของเด็กหรือผู้ปกครองเอง

ตัวอย่างการช่วยเหลือ : พยายามติดต่อกับเด็กหรือครอบครัวแบบส่วนตัว ทั้งแบบพบตัวและไม่พบตัวอยู่เป็นระยะๆ

4) เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่เป็นการแสดงออกทางอารมณ์สังคมมากขึ้น

ตัวอย่างกิจกรรม : วาดภาพ/พูดคุยในหัวข้อเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก/การทำบันทึกประจำวัน

5) พยายามจัดกิจวัตรหรือตารางการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างเรียบง่ายมากที่สุด

แนวทางการจัดกิจกรรม : มีความสม่ำเสมอและคาดเดาได้ ลดกิจกรรมที่สร้างความเครียดแบบฉับพลัน เช่น การทดสอบท้ายคาบโดยไม่แจ้งล่วงหน้า การสั่งงานแบบเร่งด่วน หรือการเปลี่ยนแปลงตารางการเรียนการสอนบ่อยๆ 

สำหรับ 5 แนวทางดังกล่าวนี้ เป็นแนวทางหลักๆ ที่มีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้นักเรียนในปกครองของคุณครูทุกท่านสามารถที่จะกลับมาปรับตัวให้เป็นไปตามปกติได้อย่างรวดเร็วและง่ายที่สุด และหากพบว่าเด็กคนใดมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หรือไม่สามารถช่วยเหลือได้ด้วยวิธีปกติ การปรึกษากับผู้ปกครองเพื่อส่งต่อนักเรียนให้กับผู้เชี่ยวชาญในการดูแลต่อ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาโรงเรียน นักสังคมสงเคราะห์ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่คุณครูทุกท่านสามารถทำได้เช่นกันค่ะ


อ้างอิง : Francisco, R., Pedro, M., Delvecchio, E., Espada, J. P., Morales, A., Mazzeschi, C., & Orgilés, M. (2020). Psychological symptoms and behavioral changes in children and adolescents during the early phase of COVID-19 quarantine in three European countries. Frontiers in Psychiatry, 11, 1329.