ฟันผุ ผอมซีด คันยุบยิบ… เรียนดีได้ไงถ้าสุขภาพแย่

ฟันผุ ผอมซีด คันยุบยิบ… เรียนดีได้ไงถ้าสุขภาพแย่

ตามไปดูปัญหาสุขภาพนักเรียนตัวน้อยบนดอยสูง จ.เชียงราย กับอาการยอดฮิต ฟันผุ ผอมซีด คันผิวหนัง มีกลิ่นตัว ที่ กสศ.และ สปสช.ลงนามร่วมมือช่วยเหลือปัญหาสุขภาพเด็กกว่า 5.2 ล้านคน

เดินทางขึ้นดอยไป 120 กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงราย เราใช้เวลา 3 ชั่วโมงมาถึงสุดชายแดนไทย-เมียมาร์ เพื่อพบกับครูจักรกริช วงษา ที่จะพาไปเยี่ยมบ้านของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านพญาไพร ใน ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง นักเรียนที่นี่มีชาติพันธุ์ที่หลากหลายกว่า 6 ชนเผ่า

“บ้านนักเรียนที่ไปเยี่ยมหลังหนึ่งมีคนอยู่ถึง 7 คน ผมเคยถามเขาว่าทำไมถึงมีลูกเยอะ? เขาบอกว่าเพราะความจนต้องมีลูกเยอะเพื่อมาช่วยกันทำมาค้าขาย พ่อแม่ของเด็กที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างเก็บชา เราก็จะเห็นเด็ก ๆ สลับกันมาเรียน บางบ้านมีลูก 4-5 คน ก็จะมาเรียนแค่ 3 คน อีก 2 คนก็จะไปช่วยพ่อแม่ทำงาน”

แต่บ้านหลังเดียวกันนั้น มีผ้าขนหนูเพียงผืนเดียวตากอยู่หน้าบ้าน แปรงสีฟันด้ามเดียววางไว้ในห้องน้ำ…

หน้าหนาวเพิ่งผ่านไปไม่นาน อุณหภูมิต่ำสุดของที่นี่เหลือเพียง 7-8 องศา เด็ก ๆ จึงไม่ชอบอาบน้ำ ยิ่งหน้าแล้งที่กำลังใกล้เข้ามา การซักเสื้อผ้าอย่างสม่ำเสมอก็ดูจะห่างไกลจากความเป็นจริง ครอบครัวหนึ่งมีผ้าขนหนูผืนเดียวหรือแปรงสีฟันอันเดียวสำหรับทั้ง 7 คนจึงมีให้เห็น “ก็จะมีเด็กนักเรียนมาบอกครูว่าเพื่อนมีกลิ่นตัว ไม่อยากเล่นด้วยไม่อยากเข้าใกล้ เด็กที่มาเรียนก็จะขาดโอกาสในการใช้ชีวิตในโรงเรียนร่วมกับเพื่อน” ครูพัชราพร พิริยะกมลพันธุ์ ครูโรงเรียนบ้านเทอดไทย เป็นอีกโรงเรียนที่เล่าปัญหาเดียวกันให้ฟัง

ปัญหาสุขภาพ อุปสรรคใหญ่การเรียนรู้

นี่คืออุปสรรคในการเรียนรู้ที่ไม่ได้มีอยู่แค่ในห้องเรียน ซึ่งทีมนักวิจัยนำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนิษฐ์ ศรีเคลือบ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินงานวิจัยเพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ก่อนที่จะออกแบบวิธีการช่วยเหลือ และวิธีการลดอุปสรรคในระยะยาว ซึ่งพบว่า “การศึกษาจะสำเร็จได้สุขภาพต้องดีด้วยเช่นกัน”

นักวิจัยได้สรุปปัญหาด้านสุขภาพจากนักเรียนจำนวน 4,674 คน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ใน 11 โรงเรียนนำร่องของ ต.เทอดไท โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ 1 การมองเห็น 2 การได้ยิน 3 ช่องปาก 4 ผิวหนัง 5 ทางเดินอาหาร 6 ทุพโภชนาการ 7 การเคลื่อนไหว และ 8 สุขอนามัย

ปัญหาสุขภาพที่พบสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. ปัญหาในช่องปาก เช่น ปวดฟัน ฟันผุ เป็นแผลในช่องปาก
  2. ทุพโภชนาการ เช่น น้ำหนัก/ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ตัวซูบ ผิวซีดเหลือง
  3. ผิวหนัง เช่น มีเหา มีอาการคัน

ในอดีตการช่วยเหลือในแต่ละโรงเรียนมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การให้ทุนการศึกษา  ทุนอาหารกลางวัน หรือนำปัจจัยพื้นฐานในการดูแลสุขภาวะมามอบให้กับเด็ก ๆ แต่เมื่อพวกเขาไม่รู้วิธีใช้ที่ถูกต้องหรือไม่เห็นความสำคัญ ความช่วยเหลือเหล่านั้นจึงไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง

“ปัญหาของเด็กน้อยในฝั่งของประถมที่เราจะเจอก็คือการทานขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน ลูกอม น้ำอัดลมต่างๆ ซึ่งครูหรือผู้ปกครองก็ไม่สามารถจะดูแลได้ตลอด พฤติกรรมการแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธีก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้นักเรียนเกิดแผลในปาก หรือเป็นร้อนในจากแปรงสีฟันที่มีขนที่แข็ง อีกอย่างเด็กน้อยจะทำแปรงสีฟันหายบ่อยมาก ถึงแม้ในห้องเรียนจะมีที่ให้แขวน แต่เด็กจะเอาไว้ใต้โต๊ะ ในกระเป๋า หรือใส่ไว้ในกระบอกน้ำ” ครูพัชราพรกล่าว

ใช้จุดอ่อนในอดีต เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นถ้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องเรียนรู้จากจุดอ่อนในอดีต จึงเป็นที่มาให้ทีมวิจัยผสานความร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่มาให้ความรู้และวิธีการดูแลตนเองกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเป็นภาษาชนเผ่า จนนักเรียนเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างระบบที่มีแกนนำนักเรียนมาช่วยดูแลกันละกัน การให้รางวัลเสริมกำลังใจ และการเขียนบันทึกประจำวันเข้ามาจูงใจให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

มากไปกว่านั้นคือการมอบสิ่งของที่ตรงตามสภาพปัญหาของเด็กแต่ละคน ที่เปรียบเสมือนการ “จ่ายยาตามอาการ” บรรจุอยู่ใน “Care Bag” ถุงผ้าที่มีสิ่งของจำเป็นที่หลากหลายตามปัญหาสุขภาพของเด็กแต่ละคน เบื้องต้นถูกแบ่งไว้ 4 ประเภท แต่เมื่อกระจายไปยังเด็กแต่ละคนทั้ง 11 โรงเรียน ก็จะพบสิ่งของด้านในที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะมีครูคอยติดตามและสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนที่เปลี่ยนไป

“เรื่องบางอย่างครูเองก็ไม่รู้วิธี จนมีสำนักพยาบาลมาให้การอบรมให้กับนักเรียนในเรื่องของการแปรงฟัน การสระผม การล้างมือต่างๆ แล้วเราก็ได้ลงไปติดตามตามบ้าน รวมทั้งสังเกตเห็นนักเรียนมาที่โรงเรียน พบว่านักเรียนก็มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เพราะว่าร่างกายสะอาด เสื้อผ้าสะอาด เด็ก ๆ ก็กล้าที่จะเข้าหาครูมากขึ้น” ครูจักรกริชฉายภาพให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สุขภาพที่ดีควบคู่กับการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

ทั้งนี้ข้อมูลสุขภาพและการประเมินผลของนักเรียนทั้ง 4,674 คน ใน 11 โรงเรียนของ ต.เทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จะถูกรวบรวมไว้โดยคุณครูและถูกบันทึกในระบบ Health-Tracker เพื่อที่จะติดตามอาการของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง สามารถใช้ประเมินความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น บางอาการที่ต้องส่งต่อเพื่อรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งระบบนี้จะถูกเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อความเสมอภาค หรือ iSee ที่กสศ.มีอยู่แต่เดิม

รวมทั้งจะเป็นข้อมูลเฝ้าติดตามเพื่อจัดสรรความช่วยเหลือที่ สปสช.และกสศ. ได้ลงนามความร่วมมือในการช่วยเด็กๆ และเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส รวมถึงคนในครอบครัวกว่า 5.2 ล้านคน ให้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการและชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อการมีสุขภาพที่ดีควบคู่กับการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

“สิ่งที่ยืนยาวคือความรู้ที่เด็กได้รับ พอเขากลับไปบ้านเขาก็นำไปปฏิบัติ ไปเล่าให้พ่อให้แม่ฟังว่าได้รับความรู้อะไรมาบ้าง ส่วนของใช้ที่ให้มาก็ต้องหมดไปครับ แต่เมื่อเด็ก ๆ มีความรู้และรู้ว่าสุขอนามัยที่ดีสำคัญกับตัวเขาอย่างไร ท้ายที่สุดเขาก็จะไขว่คว้าหาสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง” ครูจักรกริชกล่าวทิ้งท้าย