ช่วยเด็กเสี่ยงหลุดการศึกษา ด้วยวิธี “หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมมะ”

ช่วยเด็กเสี่ยงหลุดการศึกษา ด้วยวิธี “หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมมะ”

หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ ของดีประจำท้องถิ่นที่ทำให้นึกถึงเพียงจังหวัด “สุราษฎร์ธานี” แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าแต่ละพื้นที่มีสิ่งพิเศษและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับเรื่องของการศึกษา

ถ้ามองทั้งประเทศ เรามีเด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1.9 ล้านคน ตัวเลขที่น่าตกใจอาจทำให้นึกภาพวิธีการแก้ปัญหากันไม่ออก แต่ถ้ามองในสเกลที่เล็กลงมาหรือการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ด้วย Area-Based Education ที่เป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยคนหน้างานในพื้นที่ลุกขึ้นมาสร้างกลไกของตนเองเพื่อแก้ปัญหาที่แต่ละพื้นที่มีไม่เหมือนกัน จึงทำให้เห็นภาพทางออกชัดขึ้น

ซึ่งสมัชชาการศึกษา จ.สุราษฎร์ธานีคือ 1 ใน 20 จังหวัดนำร่องที่เข้ามาทำงานในรูปแบบการแก้ไขเชิงพื้นที่ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และพบว่าความสำเร็จของสมัชชาการศึกษาที่นี่คือการรู้โจทย์ของท้องถิ่นตนเองได้ดีกว่าโจทย์ที่ส่วนกลางมอบให้

สร้างให้ “ใหญ่” เหมือนหอยนางรม

ผอ.ธีรวัฒน์ รัตนกุล หนึ่งในผู้ก่อการเล่าจุดเริ่มต้นของสมัชชาในปี 2557 ที่เกิดจาก “เรื่องใหญ่” นั่นคือเรื่องอนาคตของเด็กและเยาวชนใน จ.สุราษฎร์ธานีที่พบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น โดยเด็กยากจน, เด็กที่มีความบกพร่องหรือผู้พิการ และเด็กที่มีปัญหาทางสังคม ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ตอกย้ำด้วยคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา O-Net และ Pisa ของประเทศไทยในภาพรวมก็ตกต่ำลงอย่างมาก

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ผอ.ธีรรัตน์ทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมในขณะนั้น จึงเริ่มต้นจุดประกายชักชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานทางภาคการศึกษาแต่รวมถึงภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมมากว่า 100 คนมาร่วมกันในวันแรก ซึ่งทุกคนที่ยินดีมาร่วมมีตำแหน่ง “ใหญ่” ที่สุดหรือมีบทบาทสำคัญจากแต่ละหน่วยงานมาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน

“ตอนนั้นเรายังไม่ได้เรียกว่าสมัชชา แต่เราเรียกว่าจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้สุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นผู้ที่ห่วงใยการศึกษาของเยาวชน เราไม่ได้มีหน้าที่จัดการศึกษา แต่มาเติมเต็มภาคการศึกษาที่ข้าราชการทำไม่ได้หรือทำได้ไม่เต็มที่”

ปัญหาร่วม 100 ประเด็นถูกถกเถียงระหว่างหน่วยงาน และทำให้พบว่าข้อมูลเด็กและเยาวชนของแต่ละที่ไม่ตรงกันเพราะแต่เดิมต่างคนต่างทำ จึงนำมาสู่การสร้าง “ฐานข้อมูลขนาดใหญ่” ที่มีความถูกต้อง และทุกหน่วยสามารถใช้วิเคราะห์ร่วมกันได้ โดยให้อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานีเป็นผู้ดำเนินการ

หลอมรวมคนมีใจ ไว้ตรงกลางเป็นไข่แดง

โจทย์ที่ 1 สำเร็จได้ด้วยข้อมูลจากหลากหลายฐาน ซึ่งหมายถึงการประสานขอข้อมูลจากแทบทุกหน่วยงานในจังหวัด กลไกเดียวกับโจทย์ที่ 2 คือเด็กด้อยโอกาสที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ได้มีโอกาสทางการศึกษาทัดเทียมกับเด็กปกติ โดยสมัชชาเข้าไปสนับสนุนในการจ้างครู 24 คน ประจำอยู่ใน 24 โรงเรียนเพื่อให้มีห้องเรียนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องโดยเฉพาะ

โจทย์นี้ไม่ใช่เพียงการสนับสนุนเงินเดือนครู แต่คือความร่วมมือที่ดึงทั้ง ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษ และโรงพยาบาลสุขภาพจิตเข้ามาทำงาน มีการอมรมให้ครูมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กเหล่านี้

“นี่คือปัญหาของทั้งจังหวัด อบจ.ทำคนเดียวไม่สำเร็จ เพราะเราไม่มีผู้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง  แต่การดึงคนที่มาจากทุกส่วน ที่ปกติเขาไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาทำ ไม่มีเงินเดือนให้ จึงต้องเป็นคนที่ที่มีใจ คนที่เสียสละ และคนที่เห็นประโยชน์ของเยาวชนเป็นที่ตั้ง รวมถึงผู้บริหารหรือหัวหน้างานของพวกเขาก็ต้องเห็นด้วย”

ซึ่งการจะรวมคนเหล่านั้นไว้ด้วยกัน เลขาธิการของสมัชชาที่ทำหน้าที่ผู้ประสานก็ต้องมีศักยภาพ ทั้งในแง่การสื่อสารการเจรจาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งผู้เชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกัน และมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำให้กลไกการทำงานถูกขับเคลื่อนไปได้อย่างคล่องตัว  อบจ.จึงมีบทบาทสำคัญมากทั้งเรื่องของการระดมผู้คน แหล่งทุน และเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของคนในพื้นที่

“แหล่งธรรมะ” สอนทักษะในชีวิตจริง

“เราขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองคนดีแหล่งธรรมะ เรามีท่านพุทธทาสภิกขุที่สวนโมกข์เป็นทุนอยู่แล้ว และมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรอยู่แล้ว” ผอ.ธีวัฒน์เล่าถึงโจทย์สุดท้าย ที่จะใช้ธรรมะในการกล่อมเกลาให้เด็กที่ต้องเผชิญกับปัญหาทางสังคมกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

โดยเน้นการสอนเชิงประจักษ์ ไม่ใช่การท่องจำ และไม่ได้วัดกันด้วยเกรดเฉลี่ย แต่เป็นครูที่เข้าอมรมหลักสูตรทำหน้าที่สังเกตุการณ์เด็กที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เด็กมีทักษะในการดำรงชีวิตที่ไม่ได้มีแค่หลักสูตรในห้องเรียน

ทั้งนี้สถานศึกษาในจ.สุราษฎร์ธานีมีมากกว่า 1,000แห่ง การดำเนินงานใน 3 โจทย์ข้างต้นจึงไม่ได้ทำในทุกที่ แต่เปิดโอกาสให้สถานศึกษาที่มีความต้องการในรูปแบบที่แตกต่างกันได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามบริบทของตนเอง

ปัจจุบันสมัชชาการศึกษาสุราษฎร์ธานี มีสมาชิกแกนนำ 400 คนในทุกอำเภอ และขยายขอบเขตการทำงานออกเป็น 7 ด้าน หนึ่งในนั้นคือการหยุดวงจรเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ที่ทำงานร่วมกับ กสศ.

โดยได้ช่วยเหลือช่วยเด็กให้กลับเข้าสู่การศึกษาไปแล้ว 10 อำเภอ (จากทั้งหมด19อำเภอ) แน่นอนว่าการระดมเงินช่วยเหลือเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ในระยะยาวจังหวัดจะต้องเสริมกลไกส่วนอื่นเข้าไป เพื่อสร้างเด็กเยาวชนต้นแบบ ที่มีแผนการช่วยเหลือดูแลและสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาตามรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทชีวิตต่อไป