“เรียนรู้” “สำรวจ” “ออกแบบ” ความสุขให้เด็กๆ เพราะความสุขสร้างได้
โดย นีท เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

“เรียนรู้” “สำรวจ” “ออกแบบ” ความสุขให้เด็กๆ เพราะความสุขสร้างได้

ผลสำรวจขององค์การยูนิเซฟ (2563) พบว่า เด็กและเยาวชนมีความเครียด ความวิตกกังวลเนื่องจากผลกระทบต่างๆ จากสถานการณ์โควิด หากเราปล่อยไว้แบบนี้อาจจะไม่เป็นผลดีต่อเด็ก นีทจึงอยากชวนทุกคนมาพูดคุยกันเรื่อง “เรียนรู้” “สำรวจ” “ออกแบบ” ความสุขให้เด็กๆ เพราะความสุขสร้างได้

บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่า การสอนเรื่องความสุขให้เด็กๆ นั้นยาก เพราะเราอาจจะไม่รู้ว่าต้องอธิบายอย่างไร ยกตัวอย่างแบบไหน เพราะมันดูเป็นนามธรรมไปเสียหมด โดยส่วนตัวนีทคิดว่า มีทฤษฎีความสุขหนึ่งที่ทำให้ความสุขสามารถเข้าใจ เห็นภาพ และจับต้องได้ง่าย นั่นคือ ทฤษฎีความสุขของเซลิกแมน (Seligman, 2011) 

เซลิกแมนบอกว่า มีด้วยกันอยู่ 5 อย่างนะ ที่หล่อหลอมจนกลายเป็นหน้าตาแห่งความสุขของคนเรา ซึ่งเรียกว่า PERMA โดยมีความหมายดังนี้ 

(*ในการยกตัวอย่าง นีทจะขอยกตัวอย่างที่เชื่อมโยงกับความสุขของเด็กๆ )

ตัว P เป็นความสุขที่เด็กได้เจอกับเรื่องราวดีๆ ที่ทำให้เรายิ้มได้ เช่น ฉันมีความสุขมากที่ได้ดูการ์ตูน, ฉันมีความสุขมากที่วันนี้ครูใจดี, ฉันไปซื้อไอติมรสโปรดทัน 
ตัว E เป็นความสุขที่เด็กได้ทำงานอดิเรก เช่น ฉันมีเวลาไปปลูกต้นไม้ ฉันมีเวลาไปซ้อมเต้น ฉันมีเวลาไปวาดรูป
ตัว R เป็นความสุขที่เด็กมีคนรัก เช่น ฉันมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนในครอบครัว เพื่อน หรือครู เป็นต้น
ตัว M เป็นความสุขที่เด็กมีความตั้งใจในการทำสิ่งต่างๆ เช่น ฉันช่วยแม่ล้างจาน เพราะฉันไม่อยากให้แม่เหนื่อย เป็นต้น
ตัว A เป็นความสุขที่เด็กประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจจะเป็นความสำเร็จเล็กๆ หรือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ เช่น วันนี้ฉันทำการบ้านเสร็จ วันนี้ฉันไม่ลืมของไปโรงเรียน วันนี้ฉันกินข้าวหมด ฉันสอบเปียโนผ่าน ฉันว่ายน้ำได้ที่หนึ่ง

พอเรารู้ว่าความสุขนั้นมี 5 ตัวประกอบกัน แล้วเราจะสอนเด็กๆ อย่างไรดีนะ เพราะจะให้เราพาเด็กๆ มานั่ง แล้วสอนว่า “ลูกฟังนะคะ ความสุขประกอบด้วยกัน 5 ตัว…” ก็คงจะไม่ได้ นีทมี 1 เกมมาแนะนำคือ “เกมแปะกระดาษ” วิธีการเล่นเกมนี้ ไม่ซับซ้อนเลยค่ะ เพียงแค่เรา

  1. เตรียมกระดาษโพสต์-อิท
  2. แบ่งกระดาษโพสต์-อิทให้ทุกคนที่จะเล่นเกมนี้
  3. ให้แต่ละคนวาดสัญลักษณ์ของตนเองบนโพสต์-อิททุกแผ่น โดยขอให้สัญลักษณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
  4. ให้ทุกคนออกสำรวจรอบๆ บ้านตนเองว่า อะไรที่ทำให้ฉันมีความสุขบ้าง โดยอาจจะตั้งโจทย์ให้สอดคล้องกับ PERMA เช่น อะไรที่ทำแล้วมีความสุข, ใครทำให้ฉันมีความสุข, พฤติกรรมที่ฉันได้ช่วยคนอื่นแล้วมีความสุข (อาจจะแปะกระดาษที่สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนั้น เช่น ฉันช่วยแม่ซักผ้า อาจจะไปแปะโพสต์-อิทที่เครื่องซักผ้า), สิ่งที่ทำสำเร็จในวันนี้ เป็นต้น 
  5. ชวนทุกคนมาแชร์คำตอบของตนเอง

นีทเชื่อว่าเกมนี้จะช่วยทำให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องความสุขได้อย่างสนุก เข้าใจง่าย และสอดคล้องกับเรื่องราวในชีวิตจริงของตนเองด้วยค่ะ 

ถัดมาค่ะ เราควรพาเด็กๆ สำรวจความสุขของตนเองให้เป็นนิสัย โดยเราอาจจะถามเด็กๆ ทุกตอนเย็นว่า วันนี้หนูมีความสุขไหมคะ เพราะว่าความสุขเป็นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เด็กเจอ ซึ่งหากเราชวนเด็กๆ สำรวจอารมณ์ในทุกวัน ก็จะช่วยให้เราและเขาเห็นว่าอารมณ์ในแต่ละวันเป็นอย่างไร และถ้าหากวันไหนที่เด็กไม่มีความสุข เราจะได้ช่วยเขาดูแลจิตใจได้อย่างทันทีค่ะ โดยนีทก็มีเครื่องมือน่ารักๆ มาแนะนำอีกหนึ่งเครื่องมือในการสำรวจความสุข คือ “emoji ดอกไม้”

ขั้นเตรียมอุปกรณ์

  1. นำกระดาษแข็งมาตัดเป็นรูปดอกไม้ โดยให้มีทั้งหมด 7 กลีบ (เพื่อให้ดอกไม้ 1 กลีบใช้ได้ 1 สัปดาห์)
  2. นำกระดาษที่ตัดเป็นรูปดอกไม้มาติดกับไม้ (อาจจะเป็นตะเกียบ ดินสอ และอื่นๆ) เพื่อให้ดูเป็นดอกไม้จริงๆ อาจจะทำใบไม้แปะที่ลำต้นด้วยก็ได้

วิธีการใช้

  1. ให้เราและเด็กไปหยิบ “emoji ดอกไม้” แล้วสำรวจว่า “วันนี้ฉันมีความสุขไหม” โดยเราอาจจะเขียน หรือวาดสัญลักษณ์ก็ได้ เช่น หน้ายิ้ม หน้าร้องไห้ เป็นต้น 
  2. ให้เราและเด็กมาแชร์กันว่า “วันนี้ฉันมีความสุขไหม”
  3. หลังจากที่แชร์เสร็จ ขอให้ผู้ใหญ่และเด็กๆ ถามคำถามเพิ่ม แล้วช่วยกันคิดหาคำตอบ ดังนี้
    หากเด็กเล่าว่ามีความสุข ให้ถามต่อว่า “ แล้ววันนี้หนูยังอยากทำอะไรให้มีความสุขเพิ่มอีกไหมคะ”
    หากเด็กเล่าว่าไม่มีความสุข ให้ถามต่อว่า “แล้วเราจะทำอย่างไรดีกับสิ่งที่มาทำให้เราทุกข์”
  4. พอเราหาคำตอบได้ ก็อย่าลืมทำนะคะ เพื่อให้เรามีความสุขเพิ่มมากขึ้นค่ะ

เทคนิคการช่วยคิด

นีทเชื่อว่า ในขั้นตอนที่ 3 ของการเล่น “emoji ดอกไม้” อาจจะเป็นขั้นตอนที่ผู้ปกครองต้องช่วยเด็กๆ มากที่สุด (ยิ่งเมื่อเด็กๆ เขาเล่าว่าตนเองไม่มีความสุข) เพราะมันเป็นขั้นตอนการออกแบบ ให้เด็กๆ ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ตนเองสามารถสร้างความสุขได้ แม้ว่าวันนี้จะไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร โดยนีทขอสรุปเทคนิคการช่วยเด็กคิดแบบง่ายๆ เป็น 2 ตัวอย่างนี้ค่ะ 

  1. เด็กคิดว่า พอจะแก้ปัญหาที่มาทำให้ตนเองทุกข์ได้

เราลองให้เด็กๆ เขาแก้ปัญหาดูนะคะ แล้วถ้าเขาแก้ปัญหาเสร็จ ให้ชวนเขามาเล่น “emoji ดอกไม้” อีกครั้งค่ะ โดยถามเขาว่า “หนูมีความสุขไหมที่แก้ปัญหาได้” ซึ่งการถามเขาแบบนี้จะเป็นการสอนว่า “ถ้าเราแก้ปัญหาได้ ความทุกข์จะหายไป ความสุขจะค่อยๆ กลับมา” ซึ่งก็เป็นความสุขในตัว A (ความสุขที่เด็กประสบความสำเร็จ) นั่นเองค่ะ

2. เด็กคิดว่า เขาแก้ปัญหาไม่ได้ เขาเหนื่อยมาก

เราอาจจะชวนเด็กๆ ให้ไปพัก ผ่อนคลายอารมณ์ก่อน เพื่อให้เขาได้ปรับใจ เติมพลัง (ซึ่งตรงนี้จะเป็นการสร้างความสุขในตัว P คือความสุขที่เด็กได้เจอกับเรื่องราวดีๆ) พอเขาปรับใจเสร็จ ก็ลองชวนเขาแก้ปัญหาดูนะคะ 

นีทเชื่อว่า ความสุขเป็นเรื่องที่เราค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ สร้างขึ้นมาได้ค่ะ นีทจึงอยากชวนให้ผู้ปกครองลองนำเครื่องมือที่นีทแนะนำไปปรับใช้และเล่นกับเด็กดูนะคะ

อ้างอิง :