เรียนออนไลน์ ไม่ (จำเป็น) ต้องจ่ายค่าเน็ต เรียนรู้ตัวอย่างจากต่างประเทศ ว่ารัฐซัพพอร์ตการเรียนออนไลน์อย่างไรบ้าง ?

เรียนออนไลน์ ไม่ (จำเป็น) ต้องจ่ายค่าเน็ต เรียนรู้ตัวอย่างจากต่างประเทศ ว่ารัฐซัพพอร์ตการเรียนออนไลน์อย่างไรบ้าง ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนในทุกพื้นที่ทั่วโลกต้องหยุดชะงัก หลายประเทศปรับตัวด้วยการเน้นเรียนและสอนผ่านออนไลน์แทน แต่แน่นอนว่า การเรียนและสอนผ่านออนไลน์มีความท้าทายหลายอย่าง ทั้งอุปกรณ์ไอที (แล็ปท็อป, แท็บเล็ต, หรือมือถือ) ที่ไม่พร้อม​ สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร รวมไปถึง ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สร้างภาระแก่นักเรียนและครูผู้สอนจนเกินแบกรับไหว

แม้กระทั่งประเทศที่ค่อนข้างเตรียมพร้อมเรื่องการเรียนรู้ดิจิทัลมาเกินทศวรรษ อย่างเอสโทเนียและเกาหลีใต้ ยังเจอความท้าทายเช่นกัน แต่ประเทศเหล่านี้ก็จัดการและขับเคลื่อนให้การเรียนการสอนออนไลน์เกิดขึ้นได้โดยไร้รอยต่อ หรือเกิดอุปสรรคต่อผู้เรียนและผู้สอนน้อยที่สุด

พวกเขาใช้วิธีการอย่างไรบ้าง มาเรียนรู้ไปพร้อมกันเลยดีกว่า

1. เกาหลีใต้

แม้เกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างครอบคลุมทุกโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ทันทีที่เจอวิกฤตโควิด-19 และต้องปรับการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ เกาหลีใต้ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อรับมือเช่นกัน อันได้แก่

เร่งขยายโครงข่ายและสาธารณูปโภคด้านโทรคมนาคมทันที
แม้เกาหลีใต้จะมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและครอบคลุมทั้งประเทศอยู่แล้ว แต่เนื่องจากไม่เคยมีการทดลองใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อเรียนและสอนออนไลน์โดยนักเรียนและครูไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกันมาก่อน จึงทำให้กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีเกิดความกังวลว่าเครือข่ายอาจล่มได้ นั่นนำไปสู่ภารกิจแรก คือการเร่งขยายโครงข่ายและสาธารณูปโภคด้านโทรคมนาคมนั่นเอง

ในเกาหลีใต้นั้นมีแพลตฟอร์ม e-learning หลักจำนวน 2 แพลตฟอร์ม ที่รองรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมไปจนถึงมัธยม ได้แก่ KERIS (Korea Eduction and Research Information Service) และ EBS (Education Broadcasting System) ทั้งนี้รัฐบาลได้จัดสรรเซิร์ฟเวอร์เพิ่มให้แก่ 2 แพลตฟอร์มนี้ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานได้พร้อมกัน 3 ล้านคน

นักเรียนสามารถยืมอุปกรณ์ไอทีจากโรงเรียนได้
ปกติโรงเรียนในเกาหลีใต้จะมีอุปกรณ์ไอที เช่น แล็ปท็อปและแท็บเล็ตอยู่แล้ว เมื่อต้องเรียนออนไลน์ ภาครัฐจึงมีนโยบายให้นักเรียนสามารถยืมอุปกรณ์ไอทีจากโรงเรียนไปใช้ที่บ้านได้ โดยจะให้สิทธิแก่นักเรียนยากจนก่อน นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนร่วมบริจาคอุปกรณ์ไอทีส่งเสริมให้เด็กเกาหลีสามารถเรียนออนไลน์โดยไร้อุปสรรคด้วย

นโยบายพิเศษ​ Zero-Rating เพื่อให้นักเรียนและครูใช้อินเทอร์เน็ตฟรี
ภาครัฐเกาหลีใต้ได้ร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคม 3 เจ้าใหญ่ ได้แก่ KT, LG, และ SK และออกมาตรการ Zero Rating โดยจะไม่มีการเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตในยามที่นักเรียนและครูเข้าใช้งานแพลตฟอร์ม e-learning ทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงการดูคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการเรียนรู้ต่างๆ ด้วย

 

2. อังกฤษ

เมื่อโรงเรียนต้องปิดเพราะโรคระบาด และนักเรียนต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน เด็กอังกฤษก็เจอกับปัญหาไม่มีอุปกรณ์ไอทีใช้งานเช่นกัน ผลสำรวจจาก Ofcom ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2020 มีครอบครัวอังกฤษราว 9% ที่ไม่มีอุปกรณ์ไอทีให้เด็กเรียนรู้  อังกฤษออกนโยบายขับเคลื่อนให้เด็กและครูยังสามารถเรียนและสอนได้อย่างราบรื่น ในยุคที่ต้องทำผ่านออนไลน์ ดังนี้

กระจายอุปกรณ์เรียนรู้ให้ถึงมือนักเรียนกลุ่มยากจน
ภาครัฐอังกฤษได้มีนโยบายให้กระจายอุปกรณ์ไอที เช่น แล็ปท็อป, แท็บเล็ต รวมถึงตัวส่งสัญญาณ 4G (4G router) ให้แก่นักเรียนกลุ่มยากจน โดยเริ่มแจกจ่ายและกระจายเครื่องมือการเรียนรู้ในช่วงปีการศึกษา 2020-2021

ร่วมหารือกับบริษัทโทรคมนาคมให้ยกเว้นค่าบริการ
นอกจากช่วยจัดหาอุปกรณ์เรียนรู้แล้ว ภาครัฐยังได้หารือกับบริษัทโทรคมนาคมเจ้าใหญ่ให้ช่วยยกเว้นค่าบริการอินเทอร์เน็ตเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะในยามที่นักเรียนและครูเข้าใช้งานแพลตฟอร์ม e-learning 

3. เอสโทเนีย

แม้โรงเรียนทุกแห่งในเอสโทเนียจะมีคอมพิวเตอร์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพอยู่แล้ว แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด จนเด็กนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ ก็มีเด็กบางส่วนที่ไม่มีอุปกรณ์เรียนรู้พื้นฐานเช่นกัน แน่นอนว่า เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ของนักเรียนขาดช่วง ภาครัฐเอสโทเนียจึงมีการรับมือดังต่อไปนี้

จัดทำภารกิจส่งมอบอุปกรณ์เรียนรู้ให้ถึงมือเด็ก
ไม่ใช่เด็กเอสโทเนียทุกคนจะมีแล็ปท็อปหรือแท็บเล็ตที่บ้าน สำหรับเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ โรงเรียน ท้องถิ่น และองค์กรอาสาสมัคร จะร่วมมือกันในการจัดหาและส่งมอบอุปกรณ์การเรียนรู้ให้ถึงมือเด็ก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้อย่างไม่ขาดช่วงนั่นเอง

จัดทีมนักเทคโนโลยีด้านการศึกษา เพื่อเสริมทัพคุณครู
นอกจากส่งเสริมเด็กให้เข้าถึงการเรียนรู้ออนไลน์อย่างไม่ตกหล่นแล้ว เอสโทเนียยังส่งทีมนักเทคโนโลยีด้านการศึกษาไปช่วยเสริมทัพคุณครูด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การเรียนการสอนออนไลน์จะสามารถส่งต่อความรู้ได้โดยไม่ต้องเจอสัญญาณขัดข้อง หรือปัญหาทางเทคนิคต่างๆ

 

4. สิงคโปร์

ทันทีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ สิงคโปร์ได้ประกาศปิดโรงเรียน และเน้นการเรียนรู้ Home-Based Learning ทันที โดยให้นักเรียนทุกคนเรียนออนไลน์จากบ้าน แต่แน่นอนว่า ภาครัฐสิงคโปร์ได้ออกมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือให้การเรียนออนไลน์เป็นไปอย่างมีคุณภาพด้วย ได้แก่

นักเรียนสามารถยืมอุปกรณ์ไอทีจากโรงเรียนได้
นักเรียนกลุ่มยากจน หรือกลุ่มที่ไม่มีอุปกรณ์ไอทีไว้เรียนรู้ที่บ้าน สามารถยืมอุปกรณ์ เช่น  แล็ปท็อป และแท็บเล็ต จากโรงเรียนได้ 

แจกอุปกรณ์ตัวต่อ USB ที่มาพร้อมเน็ตฟรี

ภาครัฐสิงคโปร์ ได้จัดสรรและแจกจ่ายอุปกรณ์ตัวต่อ USB ที่มาพร้อมเน็ตฟรีให้แก่นักเรียนบางส่วน โดยอุปกรณ์นี้เรียกว่า “ดองเกิล” (dongle) ซึ่งเมื่อเสียบดองเกิลเข้ากับคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อป ก็จะช่วยให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้การเรียนรู้ไม่ต้องสะดุดนั่นเอง

ที่มา :