เมื่อเด็กเกินครึ่งไม่ได้กินอาหารเช้า ตามติดการเดินทางเพื่อสร้าง “ความมั่นคงทางด้านอาหาร”

เมื่อเด็กเกินครึ่งไม่ได้กินอาหารเช้า ตามติดการเดินทางเพื่อสร้าง “ความมั่นคงทางด้านอาหาร”

เด็กเกินครึ่งไม่ได้กินอาหารเช้า” 

นี่คือผลสำรวจที่น่าตกใจ  อันเกี่ยวพันกับเรื่องสำคัญคือ “ความมั่นคงทางด้านอาหาร” ซึ่งเป็นวิกฤตที่รอวันปะทุ ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น จากที่เด็กนักเรียนต้องล็อกดาวน์อยู่บ้านพร้อมกับปัญหาความยากจน 

กสศ. และภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันพัฒนา “โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบของการจัดการเชิงระบบในสถานศึกษา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์” เพื่อวิจัยและพัฒนาให้เกิดต้นแบบของระบบการจัดการอาหารที่มีคุณภาพของโรงเรียน 

แค่อาหารกลางวันไม่เพียงพอ

ถึงแม้รัฐจะมีการสนับสนุนอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) แก่นักเรียนทุกคนในระดับอนุบาล – ประถมศึกษาปีที่ 6 ในอัตราอาหารกลางวัน 20 บาทต่อคนต่อวัน (ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไปในอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน) และอาหารเสริม (นม) อัตราจัดสรรคนละ 7.37 บาทต่อวัน จำนวน 200 วันต่อปี

ทว่าเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาส ยังพบปัญหาขาดการได้รับอาหารคุณภาพอีก 165 วัน รวมไปถึงเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ยากจนและด้อยโอกาสซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนค่าอาหารในโรงเรียนเลย 

นอกจากนี้ยังพบว่าแม้เด็กจะได้รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียน แต่ความยากจนขัดสน ความเร่งรีบในการประกอบอาชีพ รวมถึงการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของอาหารเช้าของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่งผลให้นักเรียนยากจนพิเศษจำนวนมากไม่ได้รับประทานอาหารเช้า หรือได้รับประทานอาหารเช้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เพียงพอ ทั้งที่อาหารมื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก

เด็กวัยเรียนจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าตามโภชนาการ เพื่อการเจริญเติบโตด้านร่างกายและสติปัญญา เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน ถ้าเด็กได้ธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะมีภาวะซีด เป็นโรคโลหิตจาง ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้โดยตรง ทำให้สมาธิและความจำไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังเจ็บป่วย ขาดเรียนบ่อย เรียนไม่รู้เรื่อง ทำให้ผลการเรียนไม่ดี ผลการศึกษายังระบุว่าเด็กที่ขาดสารอาหารมีแนวโน้มเรียนไม่จบอีกด้วย 

ต้นแบบของระบบการจัดการอาหารที่มีคุณภาพของโรงเรียน

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการและที่ปรึกษาโครงการ ฯ กล่าวว่า

“โครงการอาหารเช้าของ กสศ.เป็นโครงการที่สนับสนุนเรื่องอาหารเช้าสำหรับนักเรียนยากจนในพื้นที่ห่างไกลในพื้นที่ 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ทั้งหมด 23 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 80% ขึ้นไป โครงการนี้มีนักเรียนได้รับประโยชน์ 2,026 คน

อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการและที่ปรึกษาโครงการ ฯ

“ความเสมอภาคทางการศึกษานั้น เราไม่ได้มองแค่ให้เด็กต้องไปโรงเรียนแล้วได้เรียนหนังสือ ไม่ใช่แค่มีจักรยาน มีเงินเสียค่าเทอม แต่เด็กต้องมีความพร้อมที่จะเรียนหนังสือ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ ภาวะสุขภาพและโภชนาการของเด็ก ถ้าเด็กมีสภาพร่างกายและภาวะโภชนาการไม่พร้อมที่จะเรียนหนังสือ แม้ว่าเด็กได้ไปโรงเรียนและมีค่าเทอมแต่เด็กก็จะเรียนไม่รู้เรื่อง”

นอกจากนี้แล้ว อ.สง่ายังระบุว่า “ภาวะโภชนาการดี” คือการได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการครบสามมื้อ ทั้งมื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น 

“สำหรับมื้อกลางวัน ถ้ามาโรงเรียน รัฐบาลสนับสนุนให้เด็กหัวละยี่สิบบาท ก็ไม่มีปัญหา มื้อเย็นเด็กอาจจะได้กินบ้างไม่ได้กินบ้างตามประสาเด็กกลุ่มเปราะบางหรือเด็กยากจน แต่สำหรับมื้อเช้าเราสำรวจออกมาแล้วพบว่าเด็กเกินครึ่งไม่ได้กินอาหารเช้า

“ถ้าเด็กไม่ได้กินอาหารเช้า ผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาและร่างกายจะเกิดขึ้น มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งบอกว่าเด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้าจะมีสมาธิเรียนที่ด้อยกว่าเด็กที่ได้กินอาหารเช้า จึงเกิดโจทย์คำถามขึ้นว่า เด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้าจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร”

โครงการนี้จึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายเพื่อทดลองหารูปแบบโครงการอาหารเช้าร่วมกัน

“แนวคิดของโครงการคือ โรงเรียนจะมีวิธีการทำให้เด็กได้กินอาหารเช้าอย่างไร ต้องทดลองหารูปแบบทำอาหารเช้าให้เกิดความยั่งยืนและถาวร ทำอย่างไรให้ท้องถิ่น อบต. ชุมชน คนในพื้นที่ลุกขึ้นมารับผิดชอบอาหารเช้าให้กับเด็ก ให้กับลูกหลานของเขา”

อ.สง่าย้ำว่า หนึ่ง ต้องปลุกให้ท้องถิ่นลุกขึ้นมาบรรจุโครงการอาหารเช้าไว้ในแผนท้องถิ่นให้ได้ในปี 2565 สอง ต้องปลุกให้พ่อแม่พึ่งพาตนเองด้วย พ่อแม่เด็กที่พอจะมีเงินซื้ออาหารเช้า แต่มองไม่เห็นความสำคัญและไม่มีเวลาทำอาหารเช้าให้ลูกหลานกิน ก็ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญ แล้วตื่นเช้าขึ้น เจียดเวลาส่วนหนึ่งมาเจียวไข่ ต้มไข่ ผัดข้าว ทำอะไรให้ลูกกินก่อนมาโรงเรียน 

“การปรับแผนของโรงเรียนคือ  เมื่อเปิดเทอมแล้วโรงเรียนจะมีวิธีบริหารจัดการอาหารเช้าอย่างไร รูปแบบอาจเป็นโรงเรียนออมเงินเพื่อเป็นอาหารเช้าสำหรับเด็ก เมื่อโครงการของ กสศ.ประสบความสำเร็จแล้ว เราจะจัดเวทีถอดบทเรียนว่าโครงการอาหารเช้าในจังหวัดที่ทดลองทำ ผลออกมาเป็นอย่างไร แล้วจะจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเสนอรัฐบาลให้มีการดูแลเรื่องอาหารเช้าอย่างจริงจัง อันนี้คือเส้นทางการทำงานของเราต่อไปในอนาคต”