ค้นหา-พัฒนา ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ทางแก้ไขโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลขาดครู

ค้นหา-พัฒนา ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ทางแก้ไขโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลขาดครู

โรงเรียนบ้านหนองหลวง จังหวัดตาก ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นทีป่าบนเขาสูงติดชายแดน ห่างจากตัวจังหวัดราว 200 กม. เส้นทางการสัญจรค่อนข้างต้องใช้เวลาการเดินทาง 4-5 ชม.​ ทำให้ครูที่ย้ายมาบรรจุได้ครบเกณฑ์  4 ปีก็จะขอทำเรื่องย้ายออก จนเกิดปัญหาครูขาดแคลนที่ส่งผลกระทบกับการเรียนรู้ของนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง

จากปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีครูที่เกษียณรวมทั้งที่ขอย้ายออกไปแล้วรวมทั้ง 7 คน ​ทำให้ครูทั้งโรงเรียนเหลือเพียง 9 คน ซี่งจะต้องทำการสอนหนังสือเด็กนักเรียนตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.3 จำนวน  234 คน โดยทางโรงเรียนต้องแก้ไขปัญหาด้วยการให้ครูสอนแบบคละรายวิชาไปก่อน

โรงเรียนบ้านหนองหลวงเป็นหนึ่งในอีกหลายโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีสภาพปัญหาเรื่องครูขาดแคลนและโยกย้ายบ่อย​นำมาสู่ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  ซึ่งพยายามค้นหาต้นแบบการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ด้วยแนวทางการลงพื้นที่ค้นหานักเรียนฐานะยากจนที่มีผลการเรียนและคุณลักษณะที่เหมาะสมมาเรียนต่อเพื่อกลับไปบรรจุเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิด​

แก้ปัญหาระยะยาว
สร้างการเรียนรู้ที่ดีขึ้นให้นักเรียน

อีก 4 ปีข้างหน้า โรงเรียนบ้านหนองหลวงจะมีตำแหน่งว่างจากครูที่จะเกษียณอายุ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ทำงานร่วมมือกันหลายฝ่ายวางแผนลงพื้นที่ค้นหาเด็กในพื้นที่ให้การสนับสนุนจนกว่าจะเรียนจบและกลับมาเป็นครูพร้อมดูแลต่อเนื่องในช่วงแรกที่กลับมาบรรจุเป็นครู

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นโครงการที่ส่งผลดีและแก้ปัญหาระยะยาวเรื่องครูโยกย้ายบ่อย ครูไม่เพียงพอ บริบทของโรงเรียนบ้านหนองหลวงอยู่บนดอยสูง บุคลากรมีจำนวนจำกัดบริหารทรัพยากรท่ามกลางความขาดแคลน  ทำให้เห็นด้วยกับโครงการนี้มากทั้งการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วนเพื่อไปสรรหาบุคลากรทำให้เราได้ครูที่อาศัยอยู่ภูมิลำเนา เข้าใจวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และสามารถสื่อสารกับนักเรียน ครู ชุมชน ผู้ปกครองเป็นอย่างดี”​

​คณาธิป สอนเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองหลวง กล่าว

ปัญหาเรื่องครูโยกย้ายบ่อยสำหรับที่โรงเรียนพอมีตำแหน่งเปิดรับก็จะมีครูมาบรรจุเอาตำแหน่งไว้ก่อน พอครบ 4 ปีก็ย้ายออกจนเป็นเรื่องปกติ   พอครูย้ายออก ครูที่เหลืออยู่ก็จะมารับหน้าที่ช่วยสอนเพิ่มทำให้เด็กได้เรียนแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างเช่นภาษาไทยที่ก่อนหน้านี้ก็ผลสัมฤทธิ์ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว พอครูภาษาไทยย้ายออกไปพร้อมกันสองคนครูวิชาอื่นก็จะมาช่วยสอนให้ได้ตามตัวชี้วัดพื้นฐานไม่ได้เจาะลึกแบบที่ครูประจำวิชาที่เขาถนัดมากกว่า ทำให้ผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยที่ผ่านมายิ่งแย่ลง

เปิดโอกาสให้โรงเรียนปลายทาง
มีส่วนร่วมคัดเลือกว่าที่ครูของตัวเอง

อีกจุดเด่นของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คือการเปิดให้โรงเรียนปลายทางที่จะรับครูไปบรรจุในอนาคต ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือกว่าที่ “ครู” ของตัวเอง ต่างจากเดิมที่ต้องคอยลุ้นว่าจะมีใครมาสมัคร

​ ผอ.คณาธิป เล่าให้ฟังว่า ได้เข้าไปมีส่วนในการสัมภาษณ์ทั้งช่วงที่วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ และ ช่วงที่ลงพื้นที่จริง ทำให้ทางโรงเรียนได้คัดเลือกนักเรียนที่มีความเหมาะสม มีปฏิภาณ ไหวพริบ อิริยาบถ พฤติกรรมที่เหมาะสมกับการเป็นครู และบทบาทความเป็นผู้นำที่จะไปร่วมทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงกับชุมชน​ยิ่งเขาเป็นนักเรียนที่เคยที่เรียนโรงเรียนนี้มาก่อน เป็นคนนชุมชนรู้ทั้งภาษาปกาเกอะญอ เข้าใจวิถีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ยิ่งจะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเรื่องการสื่อสารที่เป็นเรื่องสำคัญไม่เพียงแค่กับนักเรียนแต่ยังรวมถึงผู้ปกครองและชุมชนอีกด้วย

สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา
สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กในพื้นที่

“สำหรับนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเราได้เห็นถึงความมุ่งมั่นเต็มร้อยของเขา​ผ่านการตอบคำถาม ปฏิภาณไหวพริบ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราได้เห็นพื้นฐานของเขา บางคนพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่ดี หรือใครมีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหนก็จะได้ไปพัฒนาในช่วงการเรียน เป็นการเติมเต็มให้เขาเพื่อทำให้เขาจบออกมาเป็นครูที่มีความพร้อมมีคุณภาพ เพราะแต่ละพื้นที่ก็จะมีบริบทไม่เหมือนกันการลงพื้นที่ไปคัดเลือกตามความเป็นจริงจะทำให้เกิดการเตรียมตัวเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ ที่ดีขึ้น”​

สำหรับประเด็นการยื่นโอกาสให้เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ถือเป็นเรื่องที่ดี หลายครั้งที่ประเด็นนี้ถูกมองข้ามทั้งที่มีการกำหนดให้กฎหมายที่ต้องสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ซี่งโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นทำให้เกิดความเท่าเทียมเป็นไปได้จริง และไม่ใช่แค่ดีตรงให้โอกาสเด็กในพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนต่อแล้วกลับมามีงานทำ แต่ยังเป็นตัวอย่างให้น้อง ๆ ในท้องถิ่นได้เห็นและมีแรงบันดาลใจที่จะตั้งใจเรียนเมื่อรู้ว่าเรียนจบมาแล้วจะมีงานดี ๆ ทำในพื้นที่ไม่ต้องออกไปหางานที่อื่น