ครูรัก(ษ์)ถิ่น สร้างโอกาสทางการศึกษา จุดเริ่มต้นสู่การพัฒนายั่งยืนพื้นที่ชายขอบ​

ครูรัก(ษ์)ถิ่น สร้างโอกาสทางการศึกษา จุดเริ่มต้นสู่การพัฒนายั่งยืนพื้นที่ชายขอบ​

โรงเรียนบ้านบก ต.ห้วยข่า อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งในโรงเรียนชายขอบที่ประสบปัญหาครูโยกย้ายบ่อยมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนต้องสะดุดในช่วงที่ครูเก่าย้ายรอครูใหม่กลับมาบรรจุ กลายเป็นปัญหาที่ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลให้เพิ่มมากขึ้น

“ตอนนี้ที่โรงเรียนมีนักเรียน  167  คน เปิดสอนอนุบาลถึง ม.3  มีครู 14 คน เป็นครูท้องถิ่นแค่คนเดียว ครูจากต่างถิ่นส่วนใหญ่ที่ย้ายมาพอครบ 4 ปี 6 เดือน  4 ปี 8 เดือนก็ทำเรื่องขอย้ายตามโควตา ล่าสุดเพิ่งทำเรื่องอนุมัติการขอย้ายไปสองคน ในแง่การเรียนของเด็กก็ได้รับผลกระทบเพราะขาดความต่อเนื่อง อย่างตำแหน่งที่รับมาบรรจุเป็นครูผู้ช่วย  เริ่มงานก็ต้องมาปรับตัวเข้ากับบริบทชุมชน กับนักเรียน พอเข้าที่ก็ย้ายไปที่อื่น คนใหม่มาก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่เป็นวงจรแบบนี้มาเรื่อย ๆ”

แก้ปัญหาครูโยกย้าย เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน

อ่วง สุธรรมมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบก เล่าให้ฟังว่า  โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นอีกหนึ่งในความพยายามที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยแนวทางต้นแบบการสร้างครูในระบบปิดด้วยการเฟ้นหานักเรียนในพื้นที่มาบ่มเพาะทั้งวิชาการ และทักษะการเป็นผู้นำชุมชนเพื่อกลับไปบรรจุเป็นครูในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองที่จะช่วยแก้ปัญหาครูโยกย้ายได้อย่างยั่งยืน

“ต้องขอบคุณ กสศ. ที่เล็งเห็นความสำคัญของท้องถิ่นที่เข้ามาช่วยสนับสนุนแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนชายขอบ ซึ่งเชื่อว่าครูรัก(ษ์)ถิ่นจะช่วยแก้ปัญหาได้แน่นอน ประเด็นแรกจะทำให้ครูที่มาจากในพื้นที่ไม่ย้ายออกไปไหน  ทำให้ครูประหยัดพลังงานไม่ต้องเดินทางไกลประหยัดเวลา และที่สำคัญเขาเป็นเด็กที่มาจากในชุมชนจึงไม่ต้องปรับตัวมาก ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ภาษาซึ่งที่นี่มีภาษาถิ่นที่แปลกเพราะมาจากศรีสะเกษกับลาวปนกันกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่คนจากที่อื่นต้องปรับตัวเรียนรู้ แต่ถ้าเป็นครูที่มาจากคนในพื้นที่ก็จะทำความเข้าใจกับนักเรียนได้ดี”

เปิดโอกาสโรงเรียนปลายทางร่วมคัดเลือกครูของตัวเอง

กระบวนการคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่เปิดให้ทางโรงเรียนปลายทางได้มีส่วนร่วมคัดเลือกว่าที่ครูของโรงเรียนด้วยนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้รู้จักตัวตน ภูมิหลัง ที่สำคัญคือเข้ากับหลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส  รวมทั้งการได้กลับมาฝึกงานที่โรงเรียนเป็นระยะทำให้เขาได้ปรับตัวเข้ากับโรงเรียน คุ้นเคยเหมือนเป็นบุคลากรของโรงเรียนเมื่อมาบรรจุก็ไม่ต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติมสามารถเริ่มต้นเดินหน้าสอนได้ทันที

“ยิ่งเขาเป็นคนในหมู่บ้านยิ่งทำให้การสอน การทำงานกับชุมชนเป็นไปได้ดี โดยเฉพาะในฐานะครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ไม่ใช่แค่การสอนหนังสือแต่ยังต้องเป็นนักพัฒนาชุมชน การทำงานร่วมกับพื้นที่ย่อมง่ายขึ้นเพราะเขาเป็นคนในชุมชนเอง คนอีสานเขารักลูกหลานตัวเอง ยิ่งเป็นลูกหลานที่เรียนหนังสือ เขาจะยิ่งให้กำลังใจ ตรงนี้ย่อมได้รับแรงเสริมอีกหลายเท่าจากผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น”​

สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในพื้นที่สนใจการเรียนมากขึ้น

อีกด้านหนึ่งโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในพื้นที่เห็นตัวอย่างความสำเร็จ จากเด็กที่ฐานะยากจนแต่ถ้าตั้งใจเรียนมีความมุ่งมั่นก็จะสามารถจบมาเป็นครูเหมือนกับรุ่นพี่ของพวกเขา จากเดิมที่ส่วนใหญ่จบ ม.3 แล้วต้องออกไปทำงานที่ต่างจังหวัด

โครงการนี้ไม่ใช่แค่ให้โอกาสเด็กคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นอีกต้นแบบสำคัญที่สร้างการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนพื้นที่ห่างไกล ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยจุดเริ่มต้นที่มาจากการศึกษา ​