เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากรคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากรคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

4+1 ขั้นตอนสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษายุคโควิด-19

-ขั้นตอนสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาดที่เป็นตัวเร่งให้เด็กจำนวนหนึ่งหลุดจากระบบการศึกษา หนึ่ง ต้องเปิดโรงเรียนให้ได้เร็วที่สุด สอง ทบทวนการลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษา สาม มีมาตรการสินเชื่อเพื่อการศึกษา  สี่ สนับสนุนความช่วยเหลือพิเศษให้กับเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยง

-เปิดเรียนเร็วที่สุดอาจไม่ได้หมายถึงในทันที แต่ต้องมีแผนการชัดเจนและคำนึงถึงการเชื่อมโยงผู้เรียนกับการศึกษาเข้าหากันให้ได้ เนื่องจากการจัดการศึกษาในช่วงโควิด-19 ที่เป็นอยู่ มีสภาพที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้เด็กรู้สึกว่าห่างไปจากการศึกษา 

-เด็กบางคนพอไม่ต้องมาโรงเรียน สถานะยิ่งไม่มีความแน่นอน พอประกอบเข้ากับปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว เขาก็คิดว่าถึงจะหลุดจากระบบการศึกษาไปก็ไม่ต่างกัน ดังนั้นการเปิดห้องเรียนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้บรรยากาศการเรียนรู้กลับมา อาจไม่ต้องเปิดเต็มเวลาทุกวันเหมือนเดิม แต่ควรจัดเวลาให้ผู้เรียนผู้สอนได้พบปะ ทบทวนปัญหาจากการเรียนทางไกลและได้ประเมินผลซึ่งหน้า

-จากนั้นต้องทบทวนเรื่องค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมด ว่ามีส่วนไหนที่ลดได้ ซึ่งอาจลดหรืองดเว้นไปในช่วงเทอมปลายของปีการศึกษานี้ ต่อเนื่องถึงต้นปีการศึกษาหน้า 

-เด็กที่เจอผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 แต่มีความประสงค์ที่จะศึกษาต่อ ต้องมีระบบสินเชื่อเพื่อการศึกษาที่ดอกเบี้ยต่ำ ใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ เป็นทางเลือกให้เขาได้มีหนทางเรียนต่อ ทั้งนี้อาจพิจารณายกเว้นการผ่อนชำระในช่วง 1-3 ปีแรก เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นในภายหลังจึงค่อยปรับมาตรการให้เหมาะสมตามลำดับ

-อีกกระบวนการหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือความช่วยเหลือพิเศษในรูปแบบของทุนการศึกษา แต่ในเมื่อสถานการณ์ทำให้มีเด็กเสี่ยงหลุดมากขึ้น จึงต้องเร่งสำรวจคัดกรองเด็กที่ไม่มีความพร้อมให้พบ แล้วหาทุนการศึกษาเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ให้เขายังมีกำลัง มีความหวังพอที่จะอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้

-การให้ทุนการศึกษาควรมีกรอบพิเศษเพิ่มเติม สำหรับเด็กและเยาวชนที่สูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครองไปในสถานการณ์โควิด-19 และมองถึงการให้ทุนระยะยาวที่มากกว่า 1 ปี หรือเพียงช่วงชั้นใดหนึ่ง แต่จะต้องสร้างระบบหรือเครือข่ายดูแลเด็กเยาวชนกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ ให้เด็กสามารถอยู่ในการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่เอื้อต่อการเติบโตต่อไปได้ โดยการมอบความช่วยเหลือพิเศษนี้ ควรพิจารณาจากสภาพความพร้อมในการเรียนหรือการใช้ชีวิตเป็นรายกรณีไป

ปลดล็อกการ ‘ควบคุม’ จากระบบการศึกษาไทย

-การกระจายอำนาจไปยังตัวผู้เรียน จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับโลกในปัจจุบันและอนาคต ด้วยพลวัตของยุคสมัย เด็กเยาวชนรุ่นใหม่จึงได้มีโอกาสรู้ เห็น ทดลอง และมีทางเลือกในการสร้างประสบการณ์ชีวิตที่เปิดกว้างมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการพื้นที่เรียนรู้ด้วยตนเองที่หลากหลายไม่จำกัด 

-คนรุ่นก่อนต้องอยู่ในห้องเรียน ด้วยเหตุผลว่าไม่ได้มีโลกอื่นรองรับมากนัก แต่วันนี้เราทำไม่ได้แล้วกับคนรุ่นใหม่ ที่เขาได้เห็นโลกที่เปิดกว้างมากกว่า

-ระบบการศึกษาบ้านเรายังมีลักษณะของการ ‘ควบคุม’ ห้องเรียนหรือผู้เรียนให้เป็นไปในทางเดียวกัน ด้วยเนื้อหาวิชาเรียนชุดเดียวกัน และในช่วงเวลาเดียวกัน จึงกลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่ลงล็อก ระหว่างความต้องการเรียนรู้ของผู้เรียนกับวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาของผู้สอน ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นปัญหาต่อไปในระยะยาว

-การศึกษาไทยจำเป็นต้องปลดล็อกชุดความคิด ที่ว่านักเรียนชั้นเดียวกันต้องเรียนเหมือนกัน ทำการบ้านเหมือนกัน นี่คือการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์สำหรับคนรุ่นนี้และรุ่นถัดๆ ไปอีกแล้ว เราต้องเพิ่มช่องทางให้มีรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับชีวิตมากขึ้น เช่น โฮมสกูล หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านออนไลน์หรือกึ่งออนไลน์ในบางวิชา ให้เขาเลือกเนื้อหาการเรียนที่สนใจในเวลาที่ต้องการได้

-ตอนนี้เราจัดการศึกษาออนไลน์โดยย้ายห้องเรียนไปไว้บนจอ แล้วควบคุมเด็กไว้เหมือนเดิมในสิ่งที่ครูกำหนดให้ ทำให้ประโยชน์จริงๆ สูญหายไป เพราะระบบการเรียนออนไลน์ควรเปิดช่องให้แต่ละคนที่มีการเรียนรู้ต่างกัน 

-บางวันคนหนึ่งพร้อม อีกคนไม่พร้อม บางวันเขามีเรื่องที่สนใจแวบเข้ามา อยากติดตามหาคำตอบ หรือบางวันอาจรู้สึกเฉื่อยเนือยอ่อนล้าไม่พร้อมเรียน เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการได้ว่า จะทำอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมายที่ตนเองตั้งไว้ แต่ตอนนี้เด็กไม่มีโอกาสได้ทำอย่างนั้น เพราะเขาถูกควบคุมไว้ทุกชั่วโมงตามเวลาที่กำหนด ต้องเข้ามานั่งเรียนเวลาเดียวกันทั้งหมด นี่คือการควบคุมการเรียนรู้ ที่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนไปถึงเป้าหมายของตนเอง

-การปลดล็อกในเรื่องนี้ไม่ง่ายหรือทำได้ในเร็ววัน แต่เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันคิด เพื่อเดินหน้าไปสู่การจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน ให้เป็นการเรียนรู้ที่สนุก ในเนื้อหาวิชาที่ชอบที่สนใจ  การเรียนรู้แบบนี้ก็จะเกิดขึ้นจริงได้ แน่นอนว่าในกระบวนการเปลี่ยนแปลง จะต้องมีความความวุ่นวายตามมา แต่ถ้าเราไม่ปลดล็อกวันนี้ การศึกษาในลักษณะควบคุมก็จะดำเนินต่อไป ซึ่งจะทบทวีปัญหาในวันข้างหน้าได้มากยิ่งกว่า